หอการค้า ชงแก้วิกฤตแรงงาน แก้ กม.จ่ายราย ชม.-เพิ่มสิทธิคนว่างงาน

โควิดฉุดความสามารถจ่ายเงินเดือนของเอกชนหดเหลือ 4.6% จากปีก่อน 5.07% สภาหอการค้าฯ จับมือ กมธ.แรงงาน วุฒิสภา ตั้ง 4 คณะทำงาน วางแนวทางขอจ่ายรายชั่วโมง วางแก้วิกฤตขาดแคลนแรงงาน พร้อมเตรียมแผนรองรับการเจรจา CPTPP-FTA เพิ่มความเข้มงวดเรื่องสิทธิแรงงาน ตามมาตรฐาน ILO ฉบับที่ 87 และ 98
 
นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์แรงงานและพัฒนาฝีมือแรงงาน เปิดเผยว่า หอการค้าฯได้หารือกับ พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ประธานคณะกรรมาธิการการแรงงาน วุฒิสภา และคณะ ถึงประเด็นปัญหาแรงงานไทยและแรงงานต่างด้าวที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ต่ออุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้น ส่งผลให้ในอนาคตมีโอกาสจะขาดแคลนแรงงานเป็นจำนวนมาก จึงเห็นชอบให้ตั้งคณะทำงานร่วมภาครัฐและเอกชน เพื่อแก้ไขปัญหาแรงงาน 4 คณะ
 
“ผลกระทบต่อโควิด-19 ทำให้ความสามารถการจ่ายเงินเดือนของผู้ประกอบการลดลงจากปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 5.07% ปีนี้ลดลงมา 4.6% จึงต้องการอนุโลมให้จ่ายค่าแรงในรายชั่วโมง 45 บาทต่อชั่วโมง ไม่น้อยกว่า 4 ชั่วโมงต่อวัน และไม่เกิน 8 ชั่วโมงต่อวันด้วย และข้อเสนอการให้ผู้ประกอบการสามารถนำค่าใช้จ่ายด้านเงินเดือนค่าจ้างแรงงานมาใช้หักภาษีได้ 3 เท่า ในช่วงระหว่าง COVID-19”
 
สำหรับคณะทำงาน 4 คณะ ประกอบด้วย 1) คณะทำงานเพื่อดูแนวทางของประเทศไทยต่ออนุสัญญาขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 87 และ 98 เกี่ยวกับมาตรฐานสากลเกี่ยวกับความตกลงระหว่างประเทศด้านสิทธิแรงงานและสิทธิมนุษยชน เพื่อเตรียมสำหรับการเจรจาข้อตกลงเปิดเขตการค้าเสรี ทั้ง FTA Thai-EU, CPTPP, RCEP 2) คณะทำงานการส่งเสริมการเพิ่มผลิตภาพแรงงาน และพัฒนาฝีมือแรงงาน เพื่อแก้ปัญหาการขอยื่นรับรองหลักสูตรของสถานประกอบการ และรับรองหลักสูตร e-Learning โดยจัดทำ
 
ขั้นตอนลดการใช้ดุลพินิจเจ้าหน้าที่ในการรับรอง เป็นต้น 3) คณะทำงานการจัดตั้งศูนย์ข้อมูลแรงงาน (big data) ประเทศไทย จัดทำ digital platform ที่สามารถ matching ระหว่างสถานประกอบการกับแรงงานว่าอุตสาหกรรมหรือบริการขาดแคลนแรงงานจำนวนเท่าไร และ 4) คณะทำงานการจ้างงานรายชั่วโมงเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการในสถานการณ์โควิด-19 ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน
 
“เรื่องแรงงานเป็นหนึ่งในประเด็นการเจรจาการค้า หากเรื่องใดที่ไทยยังไม่สามารถทำได้ จำเป็นต้องขอสงวนไว้ขอเวลาปรับตัว บางเรื่องกฎหมายไทยถือว่ามีความพร้อมแล้ว เช่น เรื่องสิทธิเสรีภาพไทย มี พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน มีสหภาพแรงงานต่างด้าว สามารถออกความคิดเห็นยื่นข้อเรียกร้องได้ ยืนยันได้ว่าทุกบริษัท ทุกอุตสาหกรรม ให้ความสำคัญในเรื่องนี้ ประเด็นสำคัญ ต้องเตรียมเพื่อให้กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศมีแนวทางการเจรจาในอนาคต”
 
อย่างไรก็ตามที่ผ่านมา หน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ความร่วมมือตามข้อเสนอมาตรการช่วยเหลือด้านแรงงานของหอการค้าฯเป็นอย่างดี ทั้งการเพิ่มสิทธิประโยชน์การว่างงาน เนื่องจากเหตุสุดวิสัย รับเงินกรณีว่างงาน 62% (ไม่เกิน 90 วัน) และเลื่อนเวลาส่งเงินสมทบของนายจ้างและผู้ประกันตน มาตรา 33 และ 39 การขยายเวลาการลดอัตราเงินสมทบของนายจ้างและลูกจ้าง จาก 5% เหลือ 2% เพิ่มเติมอีก 3 เดือน ตั้งแต่เดือนกันยายน-พฤศจิกายน 2563 การขยายมาตรการผ่อนปรนให้แรงงานต่างด้าว MOU ที่มีวาระการจ้างงานครบ 4 ปี อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว และสามารถทำงานได้ถึง 31 มีนาคม 2565
 
นายชนินทร์ ชลิศราพงศ์ รองประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์แรงงานและพัฒนาฝีมือแรงงาน และนายกสมาคมอุตสาหกรรมทูน่าไทย กล่าวว่า สิ่งที่ภาคเอกชนเป็นห่วงคือ ปัญหาในการขาดแคลนแรงงานในกลุ่มอุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร ซึ่งจะเป็นอุปสรรคในการขับเคลื่อนการส่งออก และเศรษฐกิจประเทศในช่วงที่ปัญหาโควิด-19 ยังคงจะอยู่ต่ออีก 1-2 ปีจากนี้ แม้เอกชนจะนำเครื่องจักรเข้ามาช่วย แต่แรงงานก็ยังมีความสำคัญในอุตสาหกรรมดังกล่าวอยู่มาก
 
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ
วันที่ 2 พฤศจิกายน 2563  

@Admin TVBC

สนใจสมัครสมาชิกหรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

ฝ่ายเลขานุการฯ
โทร: 02-018-6888 ต่อ 4340
Email: tvbc.secretariat@gmail.com

:)