“สรท.”ชี้ส่งออกไตรมาส4ฟื้น ปรับคาดการณ์ปีนี้ติดลบ 7%

สรท.ประเมินส่งออกไตรมาส4 ฟื้นตัวรับเศรษฐกิจและการค้าโลกฟื้นตัว ปรับคาดการณ์ปี 2563 ทำติดลบลดลงจากเดิม -8% อยู่ที่ -7%ส่วนปี 2564 คาดขยายตัว 5% ปัจจัยสินค้าเกษตร อาหาร หนุน
 
นางสาวกัณญภัค ตันติพิพัฒนพงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เปิดเผยว่า สรท. ปรับคาดการณ์การส่งออกไทยในปี 2563 ติดลบลดลงมาอยู่ที่7% จากเดิมที่คาดไว้ที่ติดลบ 8 - 10 % เนื่องจากการส่งออกในช่วงครึ่งปีหลังโดยเฉพาะไตรมาส 3 ที่ติดลบน้อยลงเมื่อเทียบกับช่วงเดือนพ.ค.ที่การส่งออกของไทยติดลบมากสุด จากปัจจัยเศรษฐกิจและการค้าโลกที่เริ่มฟื้นตัวการปรับประมาณการเศรษฐกิจทั่วโลกที่เป็นไปทิศทางดีขึ้นจากช่วงต้นปี อาทิ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) และ  ธนาคารโลก(เวิล์ดแบงค์) ,การฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนและสหรัฐ รวมถึงดัชนีทางเศรษฐกิจที่เริ่มขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง อาทิ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรมการผลิต(Manufacturing Purchasing Manager Index (PMI) ที่ระดับมากกว่า 50
 
จากปัจจัยต่างๆทำให้ทิศทางการส่งออกไทยที่เริ่มกลับมาฟื้นตัวอีกครั้งซึ่งเห็นได้จากอัตราการหดตัวของการส่งออกที่เริ่มลดลงอย่างต่อเนื่องจากจุดต่ำสุดในเดือนพ.ค. 2563 เช่นเดียวกับการหดตัวน้อยลงของการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม รวมถึงสินค้ากลุ่มที่สามารถขยายตัวได้ อาทิ ผักผลไม้แช่เย็นแช่แข็งแปรรูป อาหารสำเร็จรูป สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ และสินค้ากลุ่ม work from home อาทิ สินค้าเฟอร์นิเจอร์ สะท้อนให้เห็นถึงเศรษฐกิจในภาค real sector ที่เริ่มฟื้นตัวในทิศทางที่ดีขึ้น
 
การส่งออกของไทยในช่วงไตรมาส 4 คาดว่าจะฟื้นตัวโดยขณะนี้มียอดคำสั่งซื้อสินค้าเข้ามาเพื่อรับช่วงเทศกาลปลายปี และอยู่ในระหว่างการส่งสินค้าตามที่กำหนด ซึ่ง 3 เดือนที่เหลือหากส่งออกเฉลี่ยเดือนละ1.9 หมื่นล้านดอลลาร์ การส่งออกทั้งปีของไทยจะติดลบ 7%
 
“สรท.ประเมินการส่งออกในปี 2564 จะขยายตัว 5 % ซึ่งมีปัจจัยหลักมาจากการที่เศรษฐกิจโลกฟื้นตัว และการส่งออกของไทยเริ่มเป็นบวกมากขึ้นในหลายตลาด นอกจากสหรัฐและจีนที่มีการขยายตัวต่อเนื่องแม้จะมีปัญหาสงครามการค้าและโควิด-19 ซึ่งคาดว่าสินค้าที่ไทยจะขยายตัวได้ดีจะเป็นสินค้าประเภทอาหาร เกษตร “
 
ทั้งนี้ สรท. มีข้อเสนอแนะเพื่อผลักดันการส่งออก ได้แก่ การเร่งประชาสัมพันธ์สร้างความเชื่อมั่นประเทศคู่ค้า ในเรื่อง Thai Covid-19 Recovery การแก้ไขปัญหาต้นทุน
 
โลจิสติกส์ที่เพิ่มขึ้นของอัตราค่าระวางและค่าบริการภายในประเทศ (Local Charge) ปัญหาปริมาณระวาง/ปริมาณตู้สินค้าไม่เพียงพอต่อความต้องการ การรักษาเสถียรภาพค่าเงินบาทให้อยู่ในระดับที่ 34 บาทต่อดอลลาร์
 
นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานสรท. กล่าวว่า การส่งออกในเดือน ก.ย.ที่ติดลบเพียง 3.86% ถือเป็นการสะท้อนให้เห็นว่าการค้าโลกเริ่มทำธุรกิจกันมากขึ้น ซึ่งไทยได้ผ่านจุดต่ำสุดของการส่งออกมาแล้ว ขณะนี้อยู่ในช่วงของการฟื้นตัว ซึ่งถือว่าเป็นสัญญาณที่ดี  โดยในช่วง 3 เดือนที่เหลือของปีนี้การส่งออกของไทยน่าจะส่งออกเฉลี่ย 1.9-2 หมื่นล้านดอลลาร์ ทำให้การส่งออกทั้งปีของไทยติดลบไม่เกิน 7 %
 
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ต้องระวังคือ การแพร่ระบาดของโควิด-19 รอบสองในกลุ่มประเทศยุโรป โดยจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ต่อวัน (New Case) ในหลายประเทศที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว อาทิ ฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี เนเธอร์แลนด์ส่งผลให้มีการกลับมาประกาศใช้นโยบายล็อคดาวน์มาใช้ เป็นระยะเวลาอย่างต่ำ 1 เดือน เพื่อยับยั้งความรุนแรงของการระบาด เช่น ฝรั่งเศส เยอรมัน สเปน ค่าเงินบาทที่ยังคงแข็งค่า การนำเข้าที่ยังชะลอตัวต่อเนื่อง นอกจากนี้ยังมีเรื่องของการประกาศการนำเข้าสินค้าใหม่ของอินเดีย ซึ่งเป็นการจำกัดการนำเข้าและการห้ามนำเข้าสินค้าไทย ซึ่งการประกาศดังกล่าวไม่ได้มีหนังสือเวียนแจ้งล่วงหน้า ส่งผลให้เป็นอุปสรรคต่อการส่งออกสินค้าไทย เช่น ยางล้อรถยนต์ โทรทัศน์สี เครื่องปรับอากาศ เป็นต้น
 
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
วันที่ 4 พฤศจิกายน 2563    

@Admin TVBC

สนใจสมัครสมาชิกหรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

ฝ่ายเลขานุการฯ
โทร: 02-018-6888 ต่อ 4340
Email: tvbc.secretariat@gmail.com

:)