ธุรกิจ ดีลิเวอรีอาเซียน หนุนเศรษฐดิจิทัลโต
ธุรกิจ‘ดีลิเวอรีอาเซียน’หนุนเศรษฐดิจิทัลโต หลังโรคโควิด-19 เล่นงานภูมิภาคนี้ก็ทำให้พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไปหันมานิยมใช้บริการส่งอาหารมากขึ้นจนทำให้ธุรกิจนี้เติบโต 34%
ธุรกิจดีลิเวอรี หรือธุรกิจส่งของ ส่งอาหารตามบ้านช่วยหนุนเศรษฐกิจดิจิทัลในอาเซียนขยายตัวท่ามกลางการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ขณะที่ธุรกิจการเดินทางและธุรกิจเรียกใช้บริการรถยนต์ที่เคยเติบโตอย่างมากในภูมิภาคนี้กลับเป็นธุรกิจที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการระบาดของไวรัสโคโรนา สายพันธุ์ใหม่
รายงานประจำปีของบริษัทยักษ์ใหญ่อินเทอร์เน็ตโลกอย่างกูเกิ้ล เทมาเส็ก บริษัทเพื่อการลงทุนของรัฐบาลสิงคโปร์ และเบน แอนด์ คัมพานี บริษัทที่ปรึกษาสัญชาติสหรัฐ ระบุว่า
ธุรกิจการเดินทางและธุรกิจเรียกใช้บริการรถยนต์หดตัว 13% ในแง่ของผู้บริโภคที่เข้ามาใช้บริการเนื่องจากพฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนไปในช่วงโควิด-19 ระบาด เนื่องจากมาตรการต่างๆของภาครัฐ รวมถึงมาตรการล็อกดาวน์และมาตรการคุมเข้มในเรื่องต่างๆ
ข้อบังคับด้านการเคลื่อนที่ใน10 ชาติสมาชิกสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้(อาเซียน)เพื่อให้ประชาชนรักษาระยะห่างทางสังคมส่งผลกระทบโดยตรงต่อธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการขนส่งของระบบเศรษฐกิจดิจิทัล อาทิ ธุรกิจการเดินทาง และธุรกิจใช้บริการรถรับจ้าง ขณะที่ผู้คนที่อยู่บ้านเป็นส่วนใหญ่ใช้เวลาเพิ่มขึ้นกับการจับจ่ายซื้อหาสินค้าและบริการทางอินเทอร์เน็ตและบริการส่งอาหาร
รายงานชื่อ “e-Conomy SEA 2020 report" พบว่า หลังจากโรคโควิด-19 เล่นงานภูมิภาคนี้ ก็ทำให้พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไป โดยหันมานิยมใช้การบริการส่งอาหารมากขึ้น จนทำให้ธุรกิจนี้เติบโต 34% และธุรกิจขายของชำทางออนไลน์ขยายตัว 33% ส่วนธุรกิจด้านการศึกษาเพิ่มขึ้น 22% และธุรกิจวิดีโอสตรีมมิงขยายตัว 21%
รายงานชิ้นนี้ ได้ทำการสำรวจผู้ตอบแบบสอบถามจำนวน 4,700 คนทั่วประเทศสิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย ไทย เวียดนาม และฟิลิปปินส์เพื่อติดตามการบริโภคในรูปแบบดิจิทัลของประเทศเหล่านี้ที่เปลี่ยนแปลงไปในช่วงก่อนและหลังจากเกิดการระบาดของโรคโควิด-19
แกร็บ และโกเจ็ก ผู้จัดหาซูเปอร์แอพฯและสร้างอาณาจักรธุรกิจที่มีฐานอยู่ที่การให้บริการเรียกรถรับจ้างเริ่มปรับมาเน้นธุรกิจให้บริการส่งของและส่งอาหารเพื่อความอยู่รอดท่ามกลางการระบาดของโควิด-19 เริ่มจากในสิงคโปร์ แกร็บได้เปิดตัวคลาวด์คิทเช่นอันดับที่ 56 ในภูมิภาคเมื่อเดือนต.ค.เพื่อให้บริการออร์เดอร์อาหารทางออนไลน์ ปัจจุบัน ธุรกิจส่งอาหารนี้ทำรายได้ให้แก่บริษัทสตาร์ทอัพยักษ์ใหญ่แห่งนี้ในสัดส่วนกว่า 50%ของรายได้โดยรวม
“การระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้ผู้เล่นในธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มต้องกลับมาคิดแผนขยายธุรกิจใหม่อีกรอบ และนี่เป็นหนึ่งในความพยายามล่าสุดของเราและเป็นส่วนหนึ่งในพันธกิจของเราที่จะสนับสนุนหุ้นส่วนทางการค้าของเราในการสร้างธุรกิจดิจิทัลของพวกเขา”ดิลิป รูสเซนาลี ผู้อำนวยการอาวุโสแผนกจัดส่งสินค้าของแกร็บ สิงคโปร์ กล่าว
ช่วงก่อนเกิดการระบาดของโรคโควิด-19 ธุรกิจให้บริการเรียกรถรับจ้างถูกมองว่าเป็นธุรกิจที่มีการเติบโตสูงในอาเซียน โดยกูเกิ้ล เทมาเส็ก และเบนแอนด์คัมพานี ออกรายงานเมื่อปีที่แล้ว ระบุว่า ความต้องการในธุรกิจให้บริการเรียกรถรับจ้างจะขยายตัว5เท่าจากผู้ใช้งานจริงจำนวน 8 ล้านคนในปี 2558 เป็นจำนวนกว่า 40 ล้านคน
ก่อนที่ธุรกิจจะเจอปัญหารายได้หดหายอย่างที่เป็นอยู่ในทุกวันนี้เพราะอุตสาหกรรมท่องเที่ยวได้รับผลกระทบอย่างหนัก และรัฐบาลทุกประเทศในอาเซียนปิดพรมแดนเพื่อสกัดกั้นการระบาดของโรคโควิด-19 ธุรกิจการเดินทางออนไลน์เฟื่องฟูมาก ขยายตัวจาก 19.4 พันล้านดอลลาร์ในปี 2558 เป็น 34.4 พันล้านดอลลาร์เมื่อปีที่แล้ว
ทราเวลโลกา บริษัทให้บริการจองตั๋วเดินทาง ซึ่งเป็นหนึ่งในบริษัทสตาร์ทอัพที่มีมูลค่าทางการตลาดมากที่สุดของอินโดนีเซีย ถูกกดดันให้ปลดพนักงาน 10% หรือประมาณ 100 คนในช่วงต้นเดือนเม.ย.เพื่อลดต้นทุนธุรกิจหลังจากบริษัทถูกเรียกร้องเงินคืนจากลูกค้าที่แผนการเดินทางได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19
แม้ว่าไวรัสโคโรนา สายพันธุ์ใหม่จะทำให้เศรษฐกิจของภูมิภาคย่ำแย่ ผลศึกษาปี 2563 ยังคงคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจดิจิทัลของภูมิภาคในปีนี้จะมีมูลค่า 100,000 ล้านดอลลาร์และในปี 2568 จะมีมูลค่า300,000 ล้านดอลลาร์ซึ่งสะท้อนรายงานคาดการณ์ของปีที่แล้ว
แต่เศรษฐกิจดิจิทัลของสิงคโปร์ที่ถูกโจมตีจากไวรัสมฤตยูตัวนี้ หดตัว 24% จากที่มีมูลค่า 12,000 ล้านดอลลาร์ในปี 2562 เหลือเพียง 9,000 ล้านดอลลาร์ในปีนี้ ถือเป็นประเทศเดียวในอาเซียนที่เศรษฐกิจดิจิทัลหดตัว ขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านอื่นๆขยายตัว
เวียดนามและอินโดนีเซียเป็นประเทศที่มีอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัลเป็นตัวเลขสองหลัก เศรษฐกิจดิจิทัลของเวียดนามขยายตัว 16% จาก 12,000 ล้านดอลลาร์ในปี 2562 เป็น 14,000 ล้านดอลลาร์ในปีนี้ ส่วนประเทศที่มีประชากรมากที่สุดของภูมิภาคอย่างอินโดนีเซีย มีอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัล 11% จาก 40,000 ล้านดอลลาร์ในปี 2562 เป็น 44,000 ล้านดอลลาร์ในปีนี้
ส่วนไทย มาเลเซีย และฟิลิปปินส์มีอัตรการเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัล 6-7% โดยเศรษฐกิจดิจิทัลของไทยขยายตัวจาก 16,000 ล้านดอลลาร์ในปี2562 เป็น 18,000 ล้านดอลลาร์ในปีนี้ มาเลเซีย ขยายตัวจาก 10,700 ล้านดอลลาร์เป็น 11,400 ล้านดอลลาร์ ขณะที่ฟิลิปปินส์ขยายตัวจาก 7,100 ล้านดอลลาร์เป็น 7,500 ล้านดอลลาร์
รายงานฉบับนี้ ให้ความเห็นว่าอินโดนีเซียและเวียดนามจะเป็นประเทศที่มีอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจดิจิทัลสูงสุดไปจนถึงปี 2568 โดยคาดการณ์ว่ามูลค่าของธุรกิจอินเทอร์เน็ตในอินโดนีเซียจะเติบโตประมาณ 23% เป็น 124,000 ล้านดอลลาร์ในระยะ 5 ปี ส่วนเวียดนามคาดว่าจะมีอัตราการเติบโตที่ 29% มีมูลค่า 52,000 ล้านดอลลาร์
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
วันที่ 11 พฤศจิกายน 2563