เส้นทางรถไฟจีน-ลาว กับโอกาสทางการค้าของไทย
รถไฟความเร็วสูงเชื่อมจีนกับลาวเปิดตัวอย่างเป็นทางการไปแล้วเมื่อวันที่ 2 ธันวาคมที่ผ่านมา การเชื่อมโยงทางรางดังกล่าวถือเป็นมิติใหม่ของการสร้างความเชื่อมโยงระหว่างประเทศในอาเซียนกับจีนที่น่าจับตามอง ค่าที่การขนส่งผ่านระบบรางเป็นการขนส่งที่มีราคาย่อมเยาว์ที่สุด ทางรถไฟเส้นนี้จึงได้รับความสนใจอย่างมากจากหลายภาคส่วนในไทย แม้ว่าการเชื่อมโยงระบบรางดังกล่าวจะยังไม่มาถึงไทยในขณะนี้ แต่หลายฝ่ายในไทยก็เชื่อว่า เส้นทางรถไฟดังกล่าวจะเข้ามาเปลี่ยนแปลงการขนส่งและการเดินทางไม่มากก็น้อย
ก่อนหน้าเส้นทางรถไฟจีน-ลาว จะเปิดตัว มีการจัดสัมมนาออนไลน์ในหัวข้อ “รถไฟจีน-สปป.ลาว ประเมินโอกาสและความท้าทายของผู้ประกอบการไทย” โดยมีผู้เข้าร่วมเสวนา 7 ท่าน ได้แก่ คุณมงคล วิศิษฏ์สตัมภ์ กงสุลใหญ่ ณ นครคุนหมิง ดร.พิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ รองอธิบดีกรมการขนส่งทางราง กระทรวงคมนาคม คุณอู๋ เจี้ยนเลี่ย ประธานบริหารและกรรมการผู้จัดการ บริษัทยูนนาน อินเตอร์คอนติเนนทัล มัลติโมเดล เรลเวย์ โลจิสติกส์ คุณสุรชัย วิชาชัย ผู้อำนวยการกลุ่มยุทธศาสตร์และแผนงาน สำนักงานพาณิชย์ จังหวัดหนองคาย คุณมนนิภา โกวิทศิริกุล ประธานหอการค้าจังหวัดหนองคาย และคุณวัลภา สถิรชวาล ประธานสมาพันธ์โลจิสติกส์ไทย ดำเนินรายการโดย ดร.ศิวัสน์ เหลืองสมบูรณ์ ผู้อำนวยการอาวุโส บมจ.ธนาคารกสิกรไทย ซึ่งมีข้อมูลที่น่าสนใจและน่าจะเป็นประโยชน์สำหรับผู้ที่สนใจ
กงสุลใหญ่มงคลกล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อเรื่อง “โอกาสทางธุรกิจและความท้าทายของผู้ประกอบการไทยกับเส้นทางรถไฟจีน-สปป.ลาว” ว่า รถไฟจีน-สปป.ลาว จะเชื่อมต่อจีน-ไทย โดยมีลาวเป็นข้อต่อที่สำคัญ รถไฟสายนี้สามารถขนได้ทั้งคนและสินค้า อีกทั้งยังมีความปลอดภัยและมีมาตรฐานสากล
ซึ่งจะช่วยส่งเสริมการค้าในจีนตอนใต้และภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ การมาถึงของรถไฟเส้นนี้จะเป็นการช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังโควิด-19 นอกจากนี้ไทยมีโอกาสที่จะค้าขายกับจีนซึ่งเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 รองจากสหรัฐอเมริกา และเป็นประเทศที่ประชากรมีกำลังในการซื้อสูงได้ในหลายด้าน ทั้งการขายสินค้าสำหรับเด็กอ่อน ขายพืชผลทางการเกษตร หรือจะขายสินค้าสุขภาพก็ย่อมสามารถทำได้ และไทยยังเป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางที่ชาวจีนนิยมไปด้วย
เมื่อมองในมุมด้านการเมืองระหว่างประเทศ จีนมีข้อริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางที่ครอบคลุมความร่วมมือด้านต่างๆ ซึ่งรวมถึงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ส่งผลให้จีนสามารถเชื่อมโยงกับยุโรปและเอเชียกลางได้ ฉะนั้นรถไฟจีนลาวที่จะเชื่อมต่อกับไทยได้ในอนาคตจะทำให้ไทยสามารถเชื่อมต่อกับระบบรางและระบบถนนของจีนได้ต่อไป
ต่อมานายอู๋ เจี้ยนเลี่ย ประธานบริหารและกรรมการผู้จัดการ บริษัทยูนนาน อินเตอร์คอนติเนนทัล มัลติโมเดล เรลเวย์ โลจิสติกส์ กล่าวในหัวข้อ “บริการโลจิสติกส์บนเส้นทางรถไฟจีน-สปป.ลาวกับโอกาสของผู้ประกอบการไทย” โดยระบุว่า บริษัทของเขาเป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจของรัฐบาลมณฑลยูนนานและนครรัฐคุนหมิง ที่ให้บริการรถไฟขนส่งสินค้าตู้คอนเทนเนอร์ระหว่างประเทศไปยังหลายพื้นที่ทั้งในเอเชียกลาง เอเชียตะวันออกเฉียงใต้และยุโรป การที่มีรถไฟที่เชื่อมต่อไปยังสปป.ลาว ทำให้นครคุนหมิงเปลี่ยนจากพื้นที่ปลายสุดเส้นทางรถไฟจีนเป็นศูนย์กลางการขนส่งรถไฟของภูมิภาค ที่สามารถเชื่อมโยงไปยังเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้อีกด้วย
หลังจากนั้นเป็นการถามตอบเรื่อง “มุมมองจากภาครัฐและเอกชนไทยเกี่ยวกับโอกาสและความท้าทายจากเส้นทางรถไฟจีน-สปป.ลาว”
การเกิดขึ้นของรถไฟจีน-สปป.ลาว จะเปลี่ยนภาพการคมนาคม นำเข้า-ส่งออกระหว่างจีนกับอาเซียนหรือไม่อย่างไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องตลาดการค้าออนไลน์ข้ามพรมแดนของจีน :
คุณมงคล –
ในอดีตไม่มีระบบขนส่งทางรางที่ดีและต่อเนื่องเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้านเช่นทุกวันนี้ และในอนาคตเมื่อรถไฟรางคู่สายต่างๆเสร็จและเชื่อมต่อกันแล้วจะทำให้การส่งสินค้าไปจีนทางรางสะดวกมากขึ้น ฉะนั้นรถไฟจีน-สปป.ลาวจะเป็นการพลิกโฉมการเชื่อมโยงระหว่างประเทศในภูมิภาคนี้ เพราะรางชนิดนี้สามารถขนได้ทั้งคนและสินค้า ทำความเร็วได้ 160 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เดินทางตรงเวลา เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเพราะใช้พลังงานไฟฟ้า และเป็นการขนส่งที่พบคนน้อย เหมาะสำหรับยุคโควิด-19
รถไฟเส้นทางนี้ให้ประโยชน์กับทางไทยด้วย เพราะเราสามารถส่งสินค้าไปขายจีนได้ สำหรับโอกาสในการค้าของไทยกับพื้นที่มณฑลยูนนาน ส่วนใหญ่เป็นผลไม้ เช่น ทุเรียน มังคุด และสินค้าอีคอมเมิร์ซด้วย ฉะนั้นการมีรถไฟสายนี้จะช่วยให้ผู้ประกอบการมีตัวเลือกในการขนส่งสินค้าไปจีนมากขึ้น
การเชื่อมต่อระหว่างเอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วยรถไฟ จะเปลี่ยนโฉมการคมนาคมและการขนส่งระหว่างประเทศไปอย่างไร และนี่เป็นโอกาสและความท้าทายของผู้ประกอบการไทยอย่างไรบ้าง :
ดร.พิเชฐ –
รถไฟสายนี้เป็นโอกาสของผู้ประกอบการไทยอย่างแท้จริง เพราะเป็นทางเลือกใหม่ซึ่งจะส่งเสริมและเพิ่มขีดความสามารถด้านการค้าการลงทุนในประเทศที่อยู่ในเส้นทางนี้ ส่วนสินค้าเกษตรที่ไทยส่งไปขายเป็นหลักก็เหมาะที่จะขนส่งด้วยรถไฟ เพราะใช้เวลาน้อยกว่าการขนส่งรูปแบบอื่นและไม่แพงเท่าการขนส่งทางอากาศ
จังหวัดหนองคายได้มองถึงศักยภาพทางเศรษฐกิจของรถไฟสายนี้อย่างไร และมีแผนเชื่อมต่อด้านโลจิสติกส์ระหว่างฝั่งไทย-ลาวอย่างไร ทั้งด้านโครงสร้างพื้นฐานและระเบียบที่เกี่ยวข้อง และได้ประสานงานเรื่องดังกล่าวกับฝั่งลาวแล้วหรือไม่ :
คุณสุระชัย –
ทางจังหวัดได้เตรียมพร้อมแล้วในทุกด้านและมองว่าเส้นทางสายนี้เป็นโอกาสทางเศรษฐกิจ ทั้งการค้าการลงทุน การค้าบริเวณชายแดนและการค้าผ่านแดน สำหรับเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน หนองคายมีการเตรียมพร้อมด้วยการสร้างทางวงแหวนรอบนอกและมีการขยายจุดพักคอยบริเวณด่านศุลกากรด้วย นอกจากนี้ยังมีศูนย์รับรองแรงงานต่างด้าว มีด่านตรวจสัตว์น้ำและด่านตรวจอื่นๆ เพื่ออำนวยความสะดวก
หนองคายกำลังเป็นประตูสู่นานาชาติ ภาคธุรกิจมีความตื่นตัวมากน้อยเพียงใดและมีการลงทุนเพื่อรองรับการขยายตัวของเศรษฐกิจอย่างไร และมีเอกชนไทยข้ามไปลงทุนที่ลาวหรือไม่ :
คุณมนนิภา –
ประชาชนในท้องถิ่นและบริษัททัวร์ตื่นตัวด้านการท่องเที่ยวเป็นอย่างมาก แต่ก็มีความกังวลว่าสินค้าจะทะลักเข้าจังหวัด และหนองคายมีการเตรียมความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานแล้ว เช่นการทำสะพาน ระบบน้ำประปา และกำลังจะตั้งสำนักงานไฟฟ้าอีกแห่ง นอกจากนี้จะทำการพัฒนาความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจของผู้ประกอบการในท้องถิ่นด้วย สำหรับเรื่องแรงงาน ยังไม่มีแรงงานทักษะสูงหรือแรงงานที่พูดได้หลายภาษาเพียงพอ แต่คาดว่าจะสามารถดึงแรงงานจากจังหวัดข้างเคียงได้
การขนส่งสินค้าผ่านเส้นทางรถไฟจีนนี้เป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการในกลุ่มใดเป็นพิเศษนอกเหนือจากผู้ประกอบการด้านโลจิสติกส์ และผู้ประกอบการโลจิสติกส์ต้องเผชิญความท้าทายอย่างไรบ้าง :
คุณวัลภา –
การค้าที่หนองคายยังคงเติบโตแม้มีสถานการณ์โควิด ส่วนผู้ได้ประโยชน์จากเส้นทางนี้ส่วนใหญ่คือคนหนองคายและอีสานตอนบน อย่างไรก็ตามพื้นที่ตรงนี้สามารถพัฒนาจากการค้าชายแดนเป็นการค้าระหว่างประเทศได้ สำหรับอุปสรรคและความท้าทายในปัจจุบันคือ กฎระเบียบที่ไม่อำนวยนักและการขนถ่ายสินค้าซึ่งทำให้เสียเวลาและเสียแรงงาน และไทยสามารถสร้างห่วงโซ่คุณค่าในโลจิสติกส์ได้โดยใช้รูปแบบเดียวกับที่บ่อเต็น-โม่หาน นำมาปรับใช้กับหนองคาย-เวียงจันทน์ และไทยสามารถเป็นศูนย์กลางการขนส่งสินค้าได้
ความพร้อมของยูนนานที่เป็นประตูรับสินค้าจากไทย :
คุณมงคล –
จีนได้พัฒนาพื้นที่จุดผ่านแดนและพื้นที่ชายแดนโดยร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้าน นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษในพื้นที่รอยต่อ 3 ประเทศ คือ ลาวจีนและเวียดนาม ซึ่งถือเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพมาก การส่งสินค้าไทยไปยูนนานตอบสนองคนในยูนนานเป็นหลัก แต่เราสามารถใช้ระบบรางของจีนส่งสินค้าไปได้ทั้งประเทศจีน และไปยังรัสเซีย ยุโรปตะวันออกและเอเชียกลางได้ด้วย ในอนาคตจะมีการหารือเพิ่มเติมเพื่อให้มีการขนส่งสินค้าได้อย่างไร้รอยต่อ
ไทยพร้อมสำหรับการส่งสินค้าแบบมัลติโมเดลที่มีระบบรางเป็นแกนหลักมากน้อยแค่ไหน และมีโอกาสที่ไทยจะเป็นศูนย์กลางกระจายสินค้าของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากน้อยแค่ไหน :
ดร.พิเชฐ –
ไทยมีโอกาสเป็นศูนย์กลางการขนส่งสินค้ามาก สำหรับการเตรียมความพร้อมเชื่อมโยงทางรถไฟไทย-ลาว-จีน มีการเพิ่มขบวนรถไฟให้มากขึ้น โดยในระยะยาวจะมีการสร้างสะพานใหม่เพิ่ม และจะพัฒนารูปแบบการขนส่งสินค้า โดยใช้การตรวจสินค้าก่อนเข้าประเทศเพื่อความสะดวกรวดเร็วมากขึ้น จะสร้างเครนคร่อมทางรถไฟในอนาคต และพัฒนาพื้นที่นาทาของหนองคายให้เป็นวันสต็อปเซอร์วิสของการขนส่งสินค้า
ไทยมีทรัพยากรบุคคลเพียงพอสำหรับการเติบโตของภาคโลจิสติกส์ในอนาคตหรือไม่ :
คุณวัลภา –
การพัฒนาทรัพยากรบุคคลต้องทำร่วมกัน ตอนนี้มีการสอนเป็นคอร์สระยะสั้นและยาว และมีศูนย์ทดสอบสมรรถนะเพื่อสอบวัดระดับเพื่อยื่นเข้าทำงานต่อไป ปัจจุบันโลจิสติกส์เป็นมัลติโมเดลมากขึ้นเพราะมีการเชื่อมกับระบบรางแล้ว แต่ความพร้อมทางฮาร์ดแวร์ของไทยยังไม่พร้อมและต้องใช้เวลาอีกหลายปี ฉะนั้นเราควรพัฒนาความสามารถของคนในปัจจุบันเพื่อรองรับงานในอนาคต
ภาคเอกชนต้องการอะไรเพื่อให้หนองคายได้รับประโยชน์จากรถไฟเส้นนี้ในอนาคต :
คุณมนนิภา –
หนองคายมีโอกาสด้านการค้าและการลงทุน เพราะหนองคายเป็นเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ อยากให้ภาครัฐสนับสนุนหนองคายให้มากขึ้น อยากให้มีการตั้งบิสซิเนสเซนเตอร์ที่หนองคาย ต้องการศูนย์ของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยที่หนองคาย ตำรวจท่องเที่ยว และอยากให้ตั้งสถานกงสุลจีนที่หนองคายด้วย
ที่มา มติชนออนไลน์
วันที่ 12 ธันวาคม 2564