เวียดนามทิ้งห่างไทยเท่าตัว FDI 11 เดือนแรกกว่า 8.7 แสนล้าน
เวียดนามยังเนื้อหอม 11 เดือนแรกของปี 64 การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ(FDI) มีมูลค่ากว่า 8.7 แสนล้าน ทิ้งห่างไทยกว่าเท่าตัว สิงคโปร์ เกาหลี ญี่ปุ่น นำ 3 อันดับแรก ลงทุนมากสุด ผลพวงช่วยดันส่งออก-นำเข้าโต ทูตพาณิชย์ชี้ผลพวง FTA ที่ทำกับหลายประเทศช่วยดึงลงทุน
ข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ)ของไทย ช่วง 9 เดือนแรกปี 2564 มีโครงการที่ยื่นขอรับการส่งเสริมในไทยจำนวน 1,273 โครงการ เพิ่มขึ้นร้อยละ 23 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน คิดเป็นมูลค่าเงินลงทุนรวม 520,680 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 140 ในจำนวนนี้เป็นคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) จำนวน 587 โครงการ มูลค่าเงินลงทุน 372,068 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 220 โดยบีโอไอคาดการขอรับการส่งเสริมของไทยและต่างชาติในปีนี้จะมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 600,000 ล้านบาท
อย่างไรก็ดีเมื่อหันไปดูเวียดนาม หนึ่งในคู่แข่งสำคัญในการดึง FDI ในภูมิภาคอาเซียน พบตัวเลข 11 เดือนแรกปีนี้ทิ้งห่างไทยไปกว่าเท่าตัว
โดยสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ (สคต. / ทูตพาณิชย์) ณ กรุงฮานอย สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม รายงานโดยอ้างอิงข้อมูลสื่อของเวียดนามว่า กระทรวงวางแผนและการลงทุนของเวียดนามรายงานว่า การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ที่จดทะเบียนในเวียดนามช่วง 11 เดือนแรกของปี 2564 มีมูลค่า 26,460 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ(ประมาณ 873,180 ล้านบาท คำนวณที่ 33 บาทต่อดอลลาร์) เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยการจดทะเบียนเพิ่มทุนมีมูลค่ากว่า 8,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 26.7 ต่อปี
ในช่วงเวลาดังกล่าว โครงการที่ได้รับใบอนุญาตใหม่ 1,577 โครงการ มีมูลค่า 14,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 465,300 ล้านบาท) เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.76 แต่ลดลงร้อยละ 31.8 ในเชิงปริมาณ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนที่เหลือการซื้อหุ้นในธุรกิจเวียดนามรวมทั้งสิ้น 3,466 โครงการ
นักลงทุนต่างชาติลงทุนใน 18 ภาคส่วน โดยภาคการแปรรูปและการผลิตดึงดูดเงินทุนมากที่สุด (กว่า 14,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ คิดเป็นร้อยละ 53) รองลงมาคือภาคการผลิตและการจำหน่ายไฟฟ้า (กว่า 5,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) อสังหาริมทรัพย์ (2,410 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) และการค้าส่งและค้าปลีก (1,270 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ)
ใน 100 ประเทศที่ลงทุนในเวียดนามในช่วงเวลาดังกล่าว สิงคโปร์เป็นผู้นำด้วยเงินทุน 7,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ คิดเป็น ร้อยละ 28.7 ของเงินลงทุนทั้งหมด เกาหลีใต้อันดับสองด้วยเงินทุนกว่า 4,360 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และญี่ปุ่นเป็นอันดับสามด้วย เงินทุน 3,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
เมืองที่ดึงดูดเงินทุนจากการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศมากที่สุด ได้แก่ ลองอาน (3,760 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) นครโฮจิมินห์ (ประมาณ 3,430 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) และเมืองไฮฟอง (มากกว่า 2,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ)
ด้านมูลค่าการส่งออกของภาคการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (รวมถึงน้ำมันดิบ) มีมูลค่าประมาณ 220,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 19.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และคิดเป็นร้อยละ 73.6 ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดของเวียดนาม มูลค่าการนำเข้าของภาคการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (ไม่รวมน้ำมันดิบ) มีมูลค่า 195,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 29.5 และคิดเป็นร้อยละ 65.5 ของมูลค่าการนำเข้าทั้งหมดของเวียดนาม
สคต. ณ กรุงฮานอย ให้ความเห็นว่า เวียดนามยังคงเป็นจุดหมายที่น่าสนใจในด้านการลงทุน เนื่องจากนโยบายการส่งเสริมการลงทุน รวมทั้งความตกลงการค้าเสรี ( FTA) ที่เวียดนาม ลงนามกับประเทศต่างๆ ในหลาย ๆ กรอบ เป็นโอกาสที่ดีสำหรับเวียดนามในการต้อนรับโครงการลงทุนใหม่ เพื่อเข้าร่วมห่วงโซ่อุปทานระดับโลก ขณะเดียวกันถือเป็นโอกาสสำหรับนักลงทุนของไทยเช่นกันในการพิจารณาเข้ามาลงทุนในเวียดนามศึกษาตลาดและขยายการ ลงทุนในเวียดนามในภาคธุรกิจต่าง ๆ โดยเฉพาะภาคการแปรรูปสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมสนับสนุน เนื่องจากเป็นอุตสาหกรรมที่ผู้ประกอบการเวียดนามยังขาดเทคโนโลยีและความสามารถในการผลิต และใช้โอกาสจากข้อตกลงการค้าต่าง ๆ ที่เวียดนามได้ลงนาม
ที่มา ฐานเศรษฐกิจ
วันที่ 11 ธันวาคม 2564