Gen Z  มีผลต่อการส่งออกไทยอย่างไร ทำไมต้องศึกษาพฤติกรรมการการบริโภค?

"พาณิชย์" ชี้เป้าผู้ประกอบการไทยเกาะติดผู้บริโภคกลุ่ม Gen Z ในจีน หลังกำลังเป็นกลุ่มผู้บริโภคสำคัญและมีกำลังซื้อสูง แนะศึกษาพฤติกรรมการบริโภค และวางแผนในการทำตลาดป้อนความต้องการ 
 
Gen Z เป็นกลุ่มที่เกิดระหว่างปี 2538-2552 กำลังจะกลายเป็นกลุ่มประชากรขนาดใหญ่ ที่มีอยู่ประมาณ 280 ล้านคน คิดเป็น 18.1% ของประชากรทั้งหมด โดยคนเหล่านี้กำลังเข้าสู่การทำงาน และจะกลายเป็นกำลังหลักในการบริโภคในอนาคตอันใกล้ ซึ่งความต้องการของกลุ่มผู้บริโภคเหล่านี้ เป็นโอกาสสำหรับสินค้าและบริการ โดยเฉพาะสินค้าในกลุ่มอาหารและเครื่องดื่มที่มีแนวโน้มเติบโตเพิ่มขึ้นและเป็นที่ต้องการของกลุ่ม Gen Z มากขึ้น
 
ดังนั้นพฤติกรรมการบริโภคของกลุ่ม Gen Z เช่น การเสพติดคือรักแท้ โดยผู้บริโภคยินดีจ่ายเพื่อสินค้าและบริการที่ตัวเองรักและพึงพอใจ เช่น อาหารที่มีไขมัน น้ำมัน น้ำตาลสูง และรสชาติจัด
 
ทำให้ร้านหม้อไฟ ชานม ของทอดเสียบไม้ อาหารตุ๋น และซุปหม่าล่า ได้รับความนิยมในแบรนด์ร้านอาหารต่างๆ และ จากการที่หมกมุ่นกับอาหารที่มีไขมัน น้ำมัน เกลือ และน้ำตาลสูง ได้ทำให้กลุ่ม Gen Z กลุ่มหนึ่งที่หันมาใส่ใจกับสุขภาพ มีความต้องการอาหารที่มีส่วนผสมออร์แกนิก แคลอรีต่ำ ไขมันต่ำ และมีความสมดุลทางโภชนาการ
 
กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) กระทรวงพาณิชย์ จึงได้ศึกษาตลาดคนกลุ่มนี้พบว่า Gen Z นิยมบริโภคตามเทรนด์ใหม่ๆ ทั้งอาหารและเครื่องดื่ม หากสร้างกระแสได้ ก็จะดึงดูดผู้บริโภคกลุ่มนี้ได้ ส่วนการปฏิสัมพันธ์ทางสังคมจีนเป็นสังคมลูกคนเดียวมานาน ทำให้รู้สึกขาดเพื่อน กลุ่ม Gen Z จึงมักเข้าร่วมปาร์ตี้บ่อยครั้ง
 
โดยเฉพาะในร้านอาหาร และร้านนั่งดื่ม เพื่อดื่มด่ำประสบการณ์ใหม่ ๆ รวมถึงนิยมหาประสบการณ์ในการบริโภค เช่น ร้าน Starbucks ที่มีการโปรโมต แนะนำความรู้เกี่ยวกับเมล็ดกาแฟประเภทต่าง ๆ การคั่ว การแปรรูปทีละขั้นตอน และวิธีการชงกาแฟในรูปแบบต่าง ๆ ทำให้ดึงดูดกลุ่ม Gen Z เข้าไปใช้บริการ นอกจากนี้ความคุ้มค่า ก็เป็นสิ่งที่กลุ่ม Gen Z ให้ความสำคัญ โดยจะเน้นเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่ดีกว่าด้วยจำนวนเงินที่น้อยที่สุด
 
นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) เปิดเผยว่า ปัจจุบันกลุ่ม Gen Z ได้กลายเป็นแรงผลักดันสำคัญในตลาดการบริโภคสินค้าในจีน แนวคิดและพฤติกรรมการบริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปของกลุ่มคน Gen Z  ภายใต้แรงกดดันทางเศรษฐกิจและผลกระทบของโควิด-19 ทำให้จำเป็นต้องลดค่าใช้จ่ายในการครองชีพ การเลือกซื้อสินค้าและบริการจึงมีความพิถีพิถันมากขึ้น พฤติกรรมการบริโภคข้างต้น
 
ไม่เพียงแต่สามารถนำมาปรับใช้ในด้านอุตสาหกรรมร้านอาหารเท่านั้น ผู้ประกอบการไทยยังสามารถศึกษาและปรับเปลี่ยนใช้ให้เข้ากับสินค้าและบริการของธุรกิจในด้านต่าง ๆ เพื่อครองใจผู้บริโภคชาวจีนยุคใหม่ เพราะการสร้างสินค้าที่ใช่ให้กับลูกค้าที่ใช่ จะเป็นหัวใจหลักของการทำการตลาดที่ยั่งยืน
 
ล่าสุดได้รับรายงานจาก น.ส.นันท์นภัส งามแม้น ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองเซี่ยเหมิน สาธารณรัฐประชาชนจีน ถึงโอกาสในการเจาะตลาดผู้บริโภคกลุ่ม Gen Z ในจีน ที่มีแนวโน้มเติบโตเพิ่มขึ้น และกำลังจะกลายเป็นกลุ่มผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อสูงในปัจจุบัน จึงเป็นโอกาสในการส่งออกสินค้าไทย เพื่อเจาะตลาดผู้บริโภคกลุ่ม Gen Z 
 
ทั้งนี้.กลุ่ม Gen Z เกิดระหว่างปี 2538-2552 ในปี 2564 มีจำนวนประมาณ 280 -300 ล้านคน คาดการณ์ว่าจะมีมูลค่าทางตลาด(มีค่าใช้จ่ายด้านการบริโภค) ในปี 2564 ประมาณ 5 ล้านล้านหยวนและปี 2578 คาดการณ์มูลค่าทางการตลาดของกลุ่ม Gen Z จะเพิ่มถึง 16 ล้านล้านหยวน 
 
ส่วนGen Y เกิดระหว่างปี 2523-2537 สถิติที่เผยในช่วงต้นปี 2565 จีนมีจำนวนประชากร Gen Y 315 ล้านคน มูลค่าการตลาด 6.68 ล้านล้านหยวน  อย่างไรก็ตามตัวเลขดังกล่าวเป็นตัวเลขประมาณการทางการตลาด 
 
สำหรับตัวเลขจากสำนักงานสถิติแห่งชาติจีน ( National Bureau of Statistics)  แบ่งเป็นช่วงอายุ ดังนี้ ปี 2564 มีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 1,412.60 ล้านคน (0-14 ปี 247.21 ล้านคน,15-64 ปี 964.81 ล้านคน และ 65 ปีขึ้นไป 200.59 ล้านคน)
 
ที่มา ฐานเศรษฐกิจ
วันที่ 26 กรกฏาคม 2565  

@Admin TVBC

สนใจสมัครสมาชิกหรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

ฝ่ายเลขานุการฯ
โทร: 02-018-6888 ต่อ 4340
Email: tvbc.secretariat@gmail.com

:)