"สหรัฐ-ญี่ปุ่น" ระดมสมองวางแผนรับมือโควิด-19 ทั่วโลก
"สหรัฐ-ญี่ปุ่น" ระดมสมองวางแผนรับมือโควิด-19 ทั่วโลก โดยไทย เป็นหนึ่งในประเทศที่ได้รับเชิญให้ร่วมผนึกกำลังขับเคลื่อน GAP เพื่อยุติระบาดโควิดและรับมือโรคอุบัติใหม่ในอนาคต
ทั่วโลกยังคงต่อสู้กับผลกระทบจากการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 และรับมือกับการกลายพันธุ์ของไวรัสชนิดนี้ ล่าสุดได้มีการระบาดสายพันธุ์ BA.4 และ BA.5 ในหลายประเทศ แอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐและโยชิมาสะ ฮายาชิ รัฐมนตรีต่างประเทศญี่ปุ่น ได้เป็นประธานร่วมในการประชุมระดับรัฐมนตรีต่างประเทศ ว่าด้วยแผนปฏิบัติการรับมือโควิด-19 ทั่วโลก (COVID-19 Global Action Plan Foreign Ministerial Meeting : GAP) ทางวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ เพื่อหารือแนวทางเร่งด่วน ในการเข้าถึงวัคซีน การรักษา และสร้างการมีส่วนร่วมทางการเมือง หวังยุติการระบาดใหญ่ครั้งนี้
ในการประชุมครั้งนี้ มีรัฐมนตรีต่างประเทศ และผู้แทนระดับสูงกว่า 25 ประเทศในสหภาพแอฟริกา เอเชีย องค์การอนามัยโลก (WHO) ธนาคารโลก และองค์กรระหว่างประเทศ หารือถึงความจำเป็นที่ต้องมีการประสานการทำงานระหว่างประเทศและแสดงเจตจำนงทางการเมือง เพื่อยุติการระบาดโควิด และเสริมสร้างความพร้อมมุ่งจัดการภัยคุกคามจากโรคอุบัติใหม่ในอนาคต
“ฮายาชิ” กล่าวถึงความสำคัญทั้งในการรักษาและเร่งออกมาตรการรับมือเพื่อเอาชนะการแพร่ระบาดโควิด โดยญี่ปุ่นได้แนวทางการมีส่วนร่วมที่ทำให้แน่ใจว่า คนทั่วโลกสามารถเข้าถึงวัคซีนอย่างเท่าเทียมกันผ่านการบริจาคทางการเงิน และการบริจาคยาผ่านโคแวกซ์ (COVAX) และย้ำว่า GAP จะอำนวยความสะดวกเรื่องการแบ่งปันข้อมูลและการประสานงานเพื่อดำเนินการช่วยเหลือและตอบสนองความต้องการของแต่ละประเทศผู้รับ
"เราต้องจัดการกับความเปราะบางในระบบธรรมาภิบาลและการเงินที่นำมาใช้ดูแลสุขภาพคนทั่วโลก รวมทั้งเสริมสร้างรากฐานสำหรับการป้องกัน เตรียมพร้อม และตอบสนองที่ดีขึ้นต่อวิกฤติสุขภาพในอนาคต" รัฐมนตรีต่างประเทศญี่ปุ่นกล่าวและประกาศเงินบริจาคของรัฐบาลญี่ปุ่นจำนวน 10 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 350 ล้านบาทเข้ากองทุน The Financial Intermediary Fund (FIF) ของธนาคารโลก
นอกจากนี้ ฮายาชิยังแสดงความตั้งใจที่จะเสริมสร้างความเป็นหุ้นส่วนระหว่างประเทศกับประเทศในภูมิภาคแอฟริกา ที่จะมีขึ้นในการประชุมนานาชาติโตเกียวครั้งที่ 8 ว่าด้วยการพัฒนาแอฟริกาในวันที่ 27-28 ส.ค. ที่ประเทศตูนิเซีย โดยญี่ปุ่นให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ ในการเสริมสร้างสถาปัตยกรรมด้านสุขภาพระดับโลก ในฐานะเจ้าภาพการประชุมสุดยอด G7 ครั้งต่อไป สู่เป้าหมายการบรรลุหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (UHC)
“บลิงเคน” กล่าวว่า โควิดชนิดกลายพันธุ์ยังสร้างความเสี่ยงระบาดระลอกใหม่ได้ทุกเวลา จึงเรียกร้องให้ประเทศพันธมิตร GAP แสดงความมุ่งมั่นทางการเมืองเพื่อหาแนวทางยุติการระบาดโควิดอย่างเป็นรูปธรรม ก่อนการประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติครั้งที่ 77 พร้อมกับยังเรียกร้องให้ประเทศพันธมิตรปรับปรุงการประสานงาน การเข้าถึงวัคซีน และการรักษาอย่างเท่าเทียมกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเพิ่มอัตราผู้รับวัคซีนเข็มกระตุ้นให้มากขึ้น รวมถึงฉีดวัคซีนให้กับเด็กอย่างทั่วถึง
นอกจากนี้ บลิงเคนยังย้ำถึงความจำเป็นในการต่อสู้กับภัยคุกคามด้านสุขภาพอื่นๆ ที่มีอยู่ตอนนี้ เช่น เอดส์ วัณโรค มาลาเรีย และฝีดาษลิง ที่คร่าชีวิตผู้คนอย่างต่อเนื่อง และกระตุ้นให้ประเทศต่างๆ มีส่วนร่วมในกองทุน FIF ของธนาคารโลก
“ทีโดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส” ผู้อำนวยการ WHO ย้ำเตือนว่า ขณะนี้ยอดผู้ติดเชื้อควิด-19 ทั่วโลกที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งมีความจำเป็นต้องหยุดการแพร่ระบาดไวรัสนี้ให้เร็วที่สุด และต้องเพิ่มอัตราการฉีดวัคซีนให้กับเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ผู้สูงอายุ และกลุ่มเสี่ยงทั้งหมด เพื่อบรรลุเป้าหมายขององค์การอนามัยโลกที่จะครอบคลุมการฉีดวัคซีนโควิดให้ถึง 70% ในทุกๆประเทศ
“ดอน ปรมัตถ์วินัย” รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ กล่าวว่าไทยให้คำมั่นจะทำงานร่วมกับประชาคมระหว่างประเทศ ในการยุติการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยเร็วที่สุด โดยบังคับใช้มาตรการที่บูรณาการและเปิดให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการรับมือโควิดอย่างครอบคลุม เพื่อช่วยลดแรงกดดันต่อระบบสาธารณสุข
ดอนกล่าวย้ำความสำคัญของการทำงานร่วมกับชุมชนในการลดผลกระทบจากโควิด-19 ต่อประชาชน รวมทั้งกลุ่มเปราะบาง โดยคำนึงถึงผลกระทบต่อทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิต นอกจากนี้ ได้เน้นประเด็นสำคัญที่ประชาคมระหว่างประเทศต้องดำเนินงานร่วมกัน ได้แก่ 1.การเสริมสร้างความเข้มแข็งของระบบสาธารณสุขผ่านการบรรลุเป้าหมายเรื่องหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าอย่างต่อเนื่องการพัฒนาขีดความสามารถของบุคลากรด้านสาธารณสุข และการสร้างบุคลากรฯ ในประเทศที่มีรายได้ต่ำและรายได้ปานกลางให้เพียงพอต่อความต้องการ
(2)การส่งเสริมการเข้าถึงมาตรการป้องกันทางการแพทย์อย่างยั่งยืนและเท่าเทียม โดยเพิ่มขีดความสามารถในการผลิตในประเทศกำลังพัฒนา และเสริมสร้างความเข้มแข็งของห่วงโซ่อุปทาน และ
(3)การลงทุนในด้านการฝึกอบรมและการเสริมสร้างขีดความสามารถของบุคลากรด้านสาธารณสุขในภูมิภาคและระดับโลกในส่วนของไทย
ทั้งยังมีโครงการด้านการพัฒนาที่เป็นความร่วมมือระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้านได้ครอบคลุมหลากหลายสาขาด้านสาธารณสุข อาทิ การบริหารจัดการและการเสริมสร้างความเข้มแข็งของโครงสร้างพื้นฐานการป้องกันและการควบคุมโรคไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่ได้รับเชิญให้ร่วมผนึกกำลังขับเคลื่อน GAP ร่วมกับประเทศพันธมิตรด้านสาธารณสุขโลกและองค์การระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง เพื่อยุติการแพร่ระบาดของโควิด-19 และผลักดันความคืบหน้าในการเตรียมความพร้อมรับมือกับโรคอุบัติใหม่ในอนาคตอย่างยั่งยืน
ไทยมีบทบาทร่วมเป็นประเทศที่ผลักดันการดำเนินการในสาขาที่ 4 เรื่องการสนับสนุนบุคลากรทางสาธารณสุขการดำเนินการตามข้อริเริ่ม GAP จะมีการสานต่อในการประชุมระดับสูงที่คาดว่าจะมีขึ้นในระหว่างการประชุมสมัชชาสหประชาชาติครั้งที่ 77 สมัยที่ 77 ในเดือน ก.ย.นี้
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
วันที่ 26 กรกฏาคม 2565