"วิกฤตขาดแคลนแรงงาน" คลื่นลูกใหม่ซัด ศก.ไทย จมหาย

เข้าสู่ครึ่งหลังของปี 2565 อย่างเต็มตัว ท่ามกลางสารพัดปัจจัยเสี่ยงที่ยังอยู่ และมีแนวโน้มจะเพิ่มความกังวลมากขึ้นเรื่อยๆ โดยผลกระทบของการระบาดโควิด-19 ทำให้ช่วง 2 ปีกว่าที่ผ่านมา เห็นภาพคนตกงานแบบไม่ทันตั้งตัว และอีกจำนวนไม่น้อยที่แม้มีเวลาตั้งตัว แต่ก็แทบตั้งรับไม่ทัน โดยในภาวะปัจจุบันเมื่อโควิดเริ่มคลายตัวลง ธุรกิจสามารถเดินหน้าต่อได้ ก่อความหวังให้ภาคการผลิตและภาคบริการอีกครั้ง
 
วิกฤตแรงงานคลื่นลูกใหม่ :
 
แต่ความหวังก็มาพร้อมวิกฤตรูปแบบใหม่ คือ การขาดแคลนแรงงาน เนื่องจากปัจจุบันไทยเข้าสู่สังคมสูงวัย คนรุ่นใหม่วัยทำงานมีไม่เพียงพอ รวมถึงผู้ที่มีความพร้อมในการสร้างครอบครัว กลับมีลูกน้อยลง โดยข้อมูลจากสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ประมาณการว่าประชากรวัยแรงงาน (15-59 ปี) มีแนวโน้มลดลงจาก 43.26 ล้านคน หรือ 65% ในปี 2563 และข้อมูลแรงงานในระบบประกันสังคม พบว่า พนักงานลูกจ้างในระบบประกันสังคม (มาตรา 33) เมื่อเดือนเมษายน 2563 มีจำนวนกว่า 11.73ล้านคน เทียบกับเดือนเมษายน 2565 มีจำนวน 11.23 ล้านคนหายไปกว่า 5 แสนคน ที่ยังไม่สามารถกลับเข้าสู่ระบบได้
บวกกับจำนวนแรงงานต่างด้าวที่หายไปบางส่วน เพราะโควิดทำให้คนกลุ่มนี้ต้องเลือกกลับประเทศต้นทาง โดยข้อมูลจากกระทรวงแรงงาน ในเดือนพฤษภาคม 2565 พบว่าจำนวนแรงงานต่างด้าวในระบบมีประมาณ 2,161,578 คนแบ่งเป็น แรงงานมีฝีมือและอื่นๆ จำนวน 226,523 คน และแรงงานทั่วไป จำนวน 1,935,055 คน ซึ่งความต้องการแรงงานในขณะนี้ เป็นแรงงานฝีมือที่มีทักษะสูงเป็นหลัก โดยเฉพาะในภาคบริการ อาทิ ธุรกิจร้านอาหาร ธุรกิจโรงแรม ที่เป็นธุรกิจเกี่ยวข้องกับภาคการท่องเที่ยวเป็นหลัก
 
เมื่อสอบถามกลุ่มธุรกิจต่างๆ ยืนยันขาดแคลนแรงงานจะกลายเป็นปัญหานับจากเปิดประเทศ จะรุนแรงแค่ไหน อยู่ที่แรงงานคืนถิ่น แรงงานต่างด้าว และแรงงานใหม่ ยอมกลับเข้าระบบ หลายเสียงบอกรวมทุกอุตสาหกรรมขาดกันเป็นล้านคน และกำลังก่อศึกชิงแรงงานที่รุนแรงอีกครั้ง!
 
ธุรกิจโรงแรมเจอปัญหาใหญ่ :
 
ละเอียด บุ้งศรีทอง ที่ปรึกษาสมาคมโรงแรมไทย (ภาคเหนือตอนบน) เปิดเผยว่า ปัญหาในภาคการท่องเที่ยวที่พบตอนนี้ คือ การจ้างงาน หรือการขาดแคลนแรงงานฝีมือ แรงงานทักษะที่มีประสบการณ์ และมีคุณภาพในการให้บริการ โดยมีบางโรงแรมที่จำนวนห้องพักกับจำนวนพนักงานไม่ได้สอดคล้องกัน เนื่องจากช่วงเกิดโควิด-19 ที่ผ่านมา รักษาการจ้างงานไว้ไม่ไหว จึงต้องเลิกจ้างไปบางส่วน ทำให้เมื่อกลับมาเปิดให้บริการแบบเต็มรูปแบบใหม่อีกครั้ง การจ้างงานกลับคืนมาก็ไม่สามารถทำได้ทันที เพราะแรงงานบางส่วนก็ปรับเปลี่ยนอาชีพไปแล้ว เดินทางกลับภูมิลำเนา หรือคาดหวังค่าจ้างที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้ผู้ประกอบการต้องยอมชะลอการจ้างงานคืนก่อน เพราะการจ้างงานจะต้องใช้เงินทุนมากพอสมควร รวมถึงการวางแผนในอนาคตอีก 3-6 เดือนข้างหน้า จะมีอะไรเกิดขึ้นและสร้างผลกระทบอีกหรือไม่ ทำให้ผู้ประกอบการต้องสร้างความปลอดภัยให้ธุรกิจของตัวเองมากที่สุดก่อน
 
การบริหารจัดการจ้างลูกจ้างแบบไม่ประจำก่อน เพื่อรอให้ความต้องการ (ดีมานด์) กลับมาเต็มที่ หรือรอความชัดเจนในหลายปัจจัยก่อน อาทิ ค่าจ้างแรงงานที่อาจมีการปรับเพิ่มขึ้น ซึ่งหากมีการปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำอีก ก็ต้องยอมรับว่าส่งผลกระทบกับผู้ประกอบการที่ต้องแบกรับต้นทุนเพิ่มขึ้นแบบสาหัสมากกว่าเดิมแน่นอน พูดง่ายๆ ก็คือตายกับตาย เพราะคงไม่สามารถสู้ได้ เนื่องจากธุรกิจเพิ่งเริ่มกลับมาฟื้นตัว และยังไม่สามารถฟื้นตัวได้ดีเท่าที่ควร รวมถึงต้นทุนที่เพิ่มขึ้นในส่วนของสินค้าและวัตถุดิบที่ไม่สามารถควบคุม หรือต่อรองได้ ซึ่งจะเป็นผลกระทบต่อเนื่องถึงการจ้างงานอยู่แล้ว จึงเป็นสิ่งที่เราต้องบริหารจัดการให้ดี
 
“สิ่งที่รัฐบาลออกมา แนวคิดต่างๆ สวนทางกับความเป็นจริง ที่ไม่รู้ว่าจะต้องทำตามให้ได้อย่างไร เนื่องจากบางแนวคิดไม่สามารถทำได้จริง แบบไม่รู้จะปฏิบัติได้อย่างไร รวมถึงแนวคิดของรัฐบาลที่ออกมาบางอย่างเป็นระยะสั้นแบบเดือนต่อเดือน ทั้งที่ภาคธุรกิจไม่สามารถวางแผนแบบระยะสั้นได้ ความจริงควรที่จะบอกออกมาให้ชัดเจนว่าแผนระยะ 6 เดือนถึง 1 ปีข้างหน้าจะเป็นอย่างไร เพื่อให้สามารถเดินหน้าต่อได้อย่างเหมาะสมกับสถานการณ์” นางละเอียดกล่าว
 
ความกังวลใจในการเกิดระบาดโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ ตอนนี้ผู้ประกอบการทุกคนติดตามข่าวสารอย่างต่อเนื่อง และระมัดระวังตัวเองอย่างเข้มข้นอยู่แล้ว มีการปฏิบัติตามมาตรการด้านสาธารณสุข อาทิ โควิดฟรีเซตติ้ง ที่ตอนนี้ทำแบบเป็นความปกติวิถีใหม่ หรือนิวนอร์มอลแล้ว ซึ่งที่ผ่านมาเราอยู่กับนิวนอร์มอลมา 2 ปีกว่า ทำให้เราไม่สามารถมัวแต่กลัวจนไม่เดินไปข้างหน้าได้ รวมถึงในโลกนี้มีเชื้อโรคอีกมากมายที่ทุกคนต้องลุกขึ้นมาต่อสู้ และป้องกันตัวเอง ทั้งยังต้องสร้างมาตรฐานเพื่อขยับไปข้างหน้าด้วยกันให้ได้
 
ประเมินว่าไตรมาส 4/2565 ภาคการท่องเที่ยวไทยจะดีขึ้นกว่าปัจจุบันแน่นอน สะท้อนได้จากการฟื้นตัวของนักท่องเที่ยวต่างชาติ ที่ทยอยเข้ามาเที่ยวไทยเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง แต่เราไม่ได้คาดหวังว่าจะดีเท่าปี 2562 หรือช่วงก่อนเกิดการระบาดโควิด-19 เนื่องจากช่วงปีดังกล่าวถือเป็นปีที่ดีที่สุดของภาคการท่องเที่ยวไทย
 
ร้องระงมขาดแคลนแรงงาน :
 
ด้าน ชำนาญ ศรีสวัสดิ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) เปิดเผยว่า วิกฤตการขาดแคลนแรงงานในภาคบริการ โดยเฉพาะธุรกิจโรงแรม ตอนนี้แรงงานหายไปจริงๆ ไม่ได้เป็นเรื่องพูดเล่นแน่นอน เพราะการระบาดโควิด-19 ที่ผ่านมา ส่งผลให้แรงงานถูกเลิกจ้างจำนวนมาก ทำให้ในขณะนี้ที่ภาคการท่องเที่ยวเริ่มทยอยฟื้นตัว ธุรกิจมีความต้องการแรงงานมากขึ้นอีกครั้ง แต่แรงงานส่วนใหญ่ที่ถูกเลิกจ้างไปยังไม่มีความมั่นใจในการกลับเข้าสู่ธุรกิจโรงแรมใหม่อีกครั้งว่าจะมีความมั่นคงในชีวิตได้มากน้อยเท่าใด จึงอยากให้เสนอให้รัฐบาลสนับสนุนและสร้างความมั่นใจให้ธุรกิจใจภาคการท่องเที่ยวมากขึ้นผ่านโครงการระยะสั้นและระยะยาวของรัฐบาล ตามแนวคิดที่รัฐบาลวางไว้ แต่อยากให้เห็นเป็นรูปเป็นร่างที่ชัดเจน ลงมือปฏิบัติจริงมากขึ้น ไม่ใช่มีเพียงแนวคิดหรือแผนงานเท่านั้น
 
“อยากให้รัฐบาลสนับสนุนให้โรงแรมขนาดเล็กได้รับใบอนุญาตประเภท 2 เพื่อเข้าถึงแหล่งเงินกู้ (ซอฟต์โลน) มากขึ้น เนื่องจากหากโรงแรมขนาดเล็กกลับมาเปิดบริการได้มากขึ้น ก็หมายถึงการจ้างงานกลับคืนมา มีเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจเพิ่มมากขึ้น” นายชำนาญกล่าว
 
ภาคผลิตเจอปัญหาเดียวกัน :
 
นอกจากวิกฤตแรงงานที่ขาดแคลนในภาคธุรกิจบริการแล้ว ยังเห็นในภาคการผลิตด้วย โดย สุชาติ จันทรานาคราช รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) สายงานแรงงาน เปิดเผยว่า ธุรกิจที่ใช้แรงงานเข้มข้นทั้งภาคการผลิต ส่งออก และก่อสร้างยังคงประสบกับภาวะการขาดแคลนแรงงานโดยรวมกว่า 700,000 คน ที่เป็นผลจากการระบาดโควิดที่ผ่านมา โดยประเมินว่า หากภาคการท่องเที่ยวและบริการฟื้นตัวดีกว่านี้ จะกดดันต่อปัญหาแรงงานขาดมากขึ้น และที่สุดจะกระทบต่อเศรษฐกิจไทยเป็นวงกว้างได้
 
เมื่อเศรษฐกิจไทยมีความเสี่ยงในเรื่องการขาดแคลนแรงงาน ที่ดูจะน่าเป็นกังวลมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซ้ำเติมกับปัจจัยลบที่ถาโถมเข้ามาแบบไร้ทีท่าว่าจะหยุดได้อย่างไร ทั้งเงินเฟ้อ ของแพง ต้นทุนพลังงานพุ่ง ค่าเงินบาทอ่อน คงถึงเวลาที่รัฐบาลต้องงัดทุกเล่ห์ทุกกล เพื่อโชว์ฝีมือในการแก้ไขปัญหาสักที และสกัดไม่ให้เป็นอีกวิกฤตข้ามปี
 
ที่มา มติชนออนไลน์
วันที่ 18 สิงหาคม 2565

@Admin TVBC

สนใจสมัครสมาชิกหรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

ฝ่ายเลขานุการฯ
โทร: 02-018-6888 ต่อ 4340
Email: tvbc.secretariat@gmail.com

:)