เศรษฐกิจเข้าโค้งไตรมาส4 "โงหัว & หงายหลัง" ธุรกิจกุมขมับดอกเบี้ย-ค่าไฟ-โควิดขาขึ้น
จับชีพจรเศรษฐกิจไทยปี 2565 หลังผ่าน 2 ไตรมาสแรกของปี มีสัญญาณดีขึ้น แต่ยังเป็นการฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป เนื่องจากมีปัจจัยเสี่ยงดั้งเดิมและปัจจัยใหม่ๆ ล้อมหน้าล้อมหลังและยากจะสลัดออกได้ ถือเป็นแรงถ่วงช่วงที่เหลือของปีนี้ ทำให้เศรษฐกิจเดินหน้าไม่คล่องตัวมากนัก และยังมีเสียงสะท้อนจากภาครัฐ ภาคเอกชน ในทิศทางที่แตกต่างกัน แม้ส่วนใหญ่มองภาพรวม “เครื่องชี้เศรษฐกิจ” ส่งสัญญาณการฟื้นตัว หลังรัฐบาลทยอยผ่อนคลายมาตรการต่างๆ จนเกือบเท่าปกติ ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับมาคึกคัก แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ายังมีความกังวลว่าไทยยังเผชิญปัญหารอบด้านที่ยังคงส่งแรงกระแทกหนักหน่วง อีกหลายปัจจัย ทั้งแรงสะสมจากราคาสินค้าแพงขึ้นๆ ทุกวัน ค่าบริการ/ค่าเดินทางก็เพิ่มขึ้นมาก ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อพุ่ง ตามข้าวของและค่าครองชีพสูงขึ้น จากนี้ต้องกุมขมับจากค่าไฟฟ้าจ่อปรับราคา ดอกเบี้ยเข้าสู่ภาวะขาขึ้น กระแสขอปรับค่าแรงงานรายวัน รวมถึงเสถียรภาพทางการเมืองในประเทศและระดับโลก ทำให้ภายในใจประชาชนคงตื่นกลัวเพราะไม่รู้ชัดว่า อนาคต เป็นอย่างไร!!!
คลื่นใหม่ซัดเศรษฐกิจไทย :
หลังจากไทยรับมรสุมลูกแรกซัดจากโควิด ยังไม่ทันได้ลืมตาอ้าปาก ก็เจอมรสุมลูกสองด้วยสงครามรัสเซีย-ยูเครนเข้ามาเป็นตัวแปรสำคัญ หลังต้องเผชิญราคาน้ำมันโลกแตะระดับ 110-120 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ทำให้ราคาน้ำมันขายปลีกในไทยสูงถึง 35 บาทต่อลิตร จากราคาขึ้นชั่วพริบตา ส่งผลให้ราคาต้นทุนสินค้าปรับขึ้นเช่นกัน เมื่อผู้ประกอบการแบกรับต้นทุนนำเข้าไม่ไหวต้องขอปรับราคาสินค้า โดยเฉพาะหมวดอุปโภค-บริโภคที่ล้วนเป็นสิ่งจำเป็นต่อการดำเนินชีวิตแพงขึ้น อีกทั้งเดือนกันยายน-ธันวาคมปีนี้ อาจเจอการปรับค่าไฟฟ้าเพิ่มเกือบ 5 บาทต่อหน่วย สร้างความเดือดร้อนแก่ประชาชนถึงรายจ่ายต้องแบกรับเพิ่ม เมื่อเทียบกับรายรับยังเท่าเดิมก็ต้องร้องโอดโอยไปตามๆ กัน
ขณะเดียวกันหนี้ครัวเรือนรอวันระเบิด หลังเกิดปรากฏการณ์สินค้าแพงเป็นสารเร่งเงินเฟ้อพองตัว โดยเดือนมิถุนายนเงินเฟ้อพุ่ง 7.6% สูงสุดรอบ 13 ปี ซ้ำร้ายเงินบาทอ่อนค่าเคลื่อนไหวระดับ 36-37 บาทต่อเหรียญสหรัฐ โดยอ่อนค่าตามทิศทางเงินเหรียญสหรัฐแข็งค่าจากแรงหนุนที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สกัดเงินเฟ้อโดยปรับดอกเบี้ยนโยบายสู่ระดับ 2.25%-2.50% ในการประชุมเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคมที่ผ่านมา ทำให้ช่องว่างระหว่างดอกเบี้ยสหรัฐกับไทยกว้างขึ้นและอาจมีผลถึงเสถียรภาพด้านการเงินประเทศ ร้อนถึงเสาหลักไทยอย่าง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ออกมาส่งสัญญาณว่าถึงเวลาต้องผ่อนคันเร่งเพื่อหันมาสกัดเงินเฟ้อ รวมถึงรักษาส่วนต่างดอกเบี้ยไม่ให้ห่างจนกระทบต่อการเคลื่อนย้ายเงินทุนและค่าเงินบาทผันผวน โดยการส่งสัญญาณสะท้อนว่าไทยกำลังเข้าสู่สภาวะดอกเบี้ยขาขึ้นท่ามกลางเศรษฐกิจยังอ่อนแอ นักวิเคราะห์ฟันธงไทยน่าจะปรับขึ้นดอกเบี้ย 3 รอบ รอบละ 0.25% ไปอยู่ที่ 1.25% ต่อปี
เอสเอ็มอีกังวลภาวะเปราะบาง :
แสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย กล่าวว่า รู้สึกหนักใจต่อเศรษฐกิจจากนี้ เพราะยังมีความเสี่ยงต่อสถานการณ์ที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ปรับดอกเบี้ยขึ้น ขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ก็ส่งสัญญาณเตรียมขึ้นดอกเบี้ย อาจส่งผลกระทบต่อผู้มีรายได้น้อย ซึ่งจะเห็นได้เลยว่าประชาชนเผชิญปัญหาการเงิน ส่งผลให้อำนาจซื้อก็ลดลงจากภาวะเงินเฟ้อ รวมถึงต้นทุนพลังงาน ค่าครองชีพสูงขึ้น และวัตถุดิบต่างๆ ของผู้ประกอบการที่เป็นเอสเอ็มอีก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน รวมถึงสิ่งที่จะตามมาคือปัญหาหนี้ ซึ่งการปรับอัตราดอกเบี้ย จากที่ทราบอยู่แล้วว่าหนี้ครัวเรือนสูงประมาณ 90% ของจีดีพี และเริ่มเกิดสถานการณ์ผิดนัดชำระหนี้จะมากขึ้น
อีกทั้งผลกระทบปัจจุบันเริ่มจากต้นทุนพลังงานปรับตัว ส่งผลให้ราคาสินค้าแพงก็ทำให้เงินเฟ้อขยายตัว ค่าครองชีพประชาชนขยายวงกว้าง และมาโดนซ้ำด้วยค่าไฟกำลังปรับขึ้นเป็น 5 บาทต่อหน่วย เป็นปัจจัยที่สร้างปัญหาให้หนี้ครัวเรือนสูงขึ้น กำลังใจกำลังซื้อในการใช้เงินของประชาชนค่อยๆ หดตัวลงไป ดังนั้น ปัญหาหลักที่รัฐต้องคุมให้อยู่คือราคาน้ำมันให้ไม่สูงเกินไป หากควบคุมน้ำมันได้จะทำให้ทุกภาคส่วนลดต้นทุนไปได้มาก และจะกล้ากลับมาใช้เงิน สถานการณ์อาจคลี่คลายไปในทางที่ดี
หอค้าหวังไตรมาส3เริ่มสดใส :
วิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย ฉายภาพเศรษฐกิจไตรมาส 3/2565 ว่า ยังมีแรงส่งจากภาคการผลิตและภาคการส่งออก รวมถึงถ้าการท่องเที่ยวเป็นไปตามคาดจะเข้ามาช่วยได้มาก ถึงแม้จะมีปัญหาเงินเฟ้อทั่วโลก แต่ด้วยความที่เพิ่งพ้นจากโควิด แต่ละประเทศก็ต้องกลับมาดำเนินธุรกิจจากการค้าระหว่างกัน ไม่ว่าจะวัตถุดิบ หรือสินค้าสำเร็จรูปยังมีแรงส่งดีต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม คาดหวังจากการท่องเที่ยวเป็นหลัก เนื่องจากภาคท่องเที่ยวเชื่อมโยงถึงภาคบริการอื่นอีกมาก หากการท่องเที่ยวกลับมาภาคบริการก็จะพลิกฟื้น
เศรษฐกิจอาจฟื้นขึ้นจริงๆ ช่วงปี 2566 มีโอกาส ถ้าไตรมาส 4/2565 เริ่มมีความชัดเจนการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นจนไปเทียบกับระดับก่อนโควิดได้ในไตรมาสสุดท้าย หรือใกล้เคียง มองแค่ 8-10% ของก่อนโควิดอาจไม่ใช่เรื่องจำนวนคน แต่เรื่องของมูลค่าการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยว หลังจากนี้จะเป็นการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม เชิงสุขภาพ ดังนั้น นักท่องเที่ยวเข้ามาจะเป็นนักท่องเที่ยวคุณภาพที่มีรายได้สูงเข้ามาใช้จ่ายในประเทศ จะช่วยให้การท่องเที่ยวขยายตัวได้มากขึ้น เนื่องจากการส่งออกดีอยู่แล้ว ถ้าได้ท่องเที่ยวกลับมา การบริโภคดีขึ้น เชื่อว่าเศรษฐกิจจะกลับเข้าสู่สมดุลและเศรษฐกิจจะดีได้ด้วยตัวเอง
ธุรกิจทัวริสต์ชูท่องเที่ยวนำทัพ :
ชำนาญ ศรีสวัสดิ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) กล่าวว่า ถ้าสถานการณ์โดยรวมยังปกติเช่นนี้ การท่องเที่ยวที่เป็นตัวขับเคลื่อนหลักจะช่วยให้เศรษฐกิจฟื้นกลับมาในไตรมาส 3/2565 ได้แน่นอน หากมองย้อนไปตั้งแต่ต้นปีมีนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น 2 ล้านคนในเดือนพฤษภาคม-มิถุนายนเพิ่มขึ้นเป็นหลักแสน และอาจเพิ่มถึงเดือนละ 1 ล้านคน โดยเป้าที่ภาคเอกชนตั้งไว้ที่ 7-10 ล้านคน อาจเกิดขึ้นจริงตามที่คาดการณ์ ขณะเดียวกันความกังวลเรื่องฝีดาษลิง และโควิดรอบใหม่ยังคงมีอยู่ แต่ถ้าคิดว่าเศรษฐกิจจะต้องเดินหน้าต่อ ความกังวลจะลดลง เพราะประชาชนต้องนึกถึงปากท้องเป็นหลัก
ดังนั้น จากที่รัฐคลายมาตรการต่างๆ มากขึ้นถือว่ากล้าหาญมากแล้ว อีกทั้งศักยภาพของไทยมีความพร้อมมากหลังท่องเที่ยวซบเซามาอย่างหนัก แต่ถ้าจะให้นักท่องเที่ยวเข้าเป้า และเข้าถึงฝันให้เร็วก็ควรลดข้อจำกัดลงอีก เช่น เพิ่มจำนวนที่นั่งบนเครื่องบินให้เต็มลำ และเพิ่มไฟลต์บินมากขึ้น เนื่องจากปัจจุบันเที่ยวบินกลับมาวิ่ง 30% ของปี 2562 อยากให้เพิ่มขึ้นเป็น 30-45% รัฐต้องเจรจากับสายการบินต่างๆ เพื่อหาทางออกร่วมกันให้ท่องเที่ยวเดินหน้าต่อแบบไม่สะดุด
เศรษฐกิจในโหมดระมัดระวัง :
รติ พันธุ์ทวี นายกสมาคมโฆษณาแห่งประเทศไทย หนึ่งในอุตสาหกรรมที่ใกล้ชิดภาคธุรกิจและภาคประชาชน กล่าวถึงมุมมองต่อเศรษฐกิจไทยจากนี้ว่า ผลกระทบจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน พลังงานแพง เงินเฟ้อและดอกเบี้ยโลก ย่อมกระทบต่อการนำเข้าและต้นทุนผลิตและราคาสินค้า จึงมองว่าเป็นเรื่องที่โดนเหมือนกันทั่วโลก และยังเชื่อว่านักท่องเที่ยวทั่วโลกยังเดินทางออกนอกประเทศน้อยอยู่ ตอนนี้ยังเป็นเดินทางเพื่อธรุกิจและแรงงานระดับผู้บริหารตกค้าง ขณะที่โรคระบาดทั้งโควิด-ฝีดาษลิง และยังไม่มั่นใจต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ ความผันผวนลงทุนอย่างเงินดิจิทัล รวมถึงบทเรียนจาก 2 ปีที่ผ่านมา ที่ตกงาน หรือปิดกิจการแบบไม่ตั้งตัว ยังมีผลจิตวิทยาของการใช้ชีวิตนอกบ้านและการใช้จ่ายเพื่อท่องเที่ยว พฤติกรรมใช้จ่ายน้อยกว่าปกติเทียบก่อนเกิดโควิดระบาดและค่าครองชีพสูงขึ้น หนี้ครัวเรือนสูง คนเริ่มไม่มีรายได้เท่าเดิม จะเป็นแรงกดดันเศรษฐกิจไตรมาส 3อาจต่อถึงไตรมาส 4 น้อยกว่าที่คาดหวังไว้ พูดได้ว่า เศรษฐกิจยังอยู่ในโหมดต้องระมัดระวัง อย่างน้อยก็ 6 เดือนจากนี้
จากความเห็นข้างต้น เมื่อพิจารณาจากสถานการณ์ปัญหาที่ยังมีความเสี่ยงทิ่มแทงให้เศรษฐกิจบอบช้ำ โดยภาพรวมคาดว่าจะชัดเจนขึ้นในช่วงครึ่งหลังปี 2565 ยังเป็นการคาดการณ์บนความคาดหวังกับทางรอดที่ยังพอเป็นแสงสว่าง เพื่อตั้งรับทุกความเสี่ยงอาจเกิดขึ้นทุกเมื่อ แต่รัฐต้องงัดทุกหมัดเด็ดกลเม็ดใหม่มาช่วยดันเศรษฐกิจฟื้นให้จงได้ ก่อนวิกฤตใหม่จะเข้ามาทักทายให้เสียวสันหลัง เศรษฐกิจดีขึ้นหรือแย่ลง ยังต้องติดตาม
ที่มา มติชนออนไลน์
วันที่ 1 สิงหาคม 2565