โอกาสความร่วมมือไทย – คูเวต ด้านอาหารและการพัฒนา รองรับการเปลี่ยนแปลงบริบทโลก
คูเวตเป็นประเทศหนึ่งที่มีบทบาทสำคัญด้านพลังงาน อย่างไรก็ดี ไทยยังสามารถส่งเสริมความร่วมมือกับคูเวตในด้านอื่นได้อีกมาก รวมถึงสาขาอาหาร และความร่วมมือเพื่อการพัฒนา
ในสาขาอาหาร ปัจจุบัน คูเวตประสบความท้าทายจากการต้องนำเข้าอาหารเกือบทั้งหมดจากต่างประเทศ เนื่องจากสามารถผลิตอาหารและสินค้าเกษตรภายในประเทศได้เพียงร้อยละ 0.5 ของ GDP ทั้งนี้ คูเวตเป็นประเทศที่มีกําลังซื้อสูงและนําเข้าอาหารจากแหล่งต่าง ๆ ทั่วโลก โดยเก็บภาษีในอัตราต่ำเพียงร้อยละ 5 โดยเฉพาะอาหารฮาลาล จึงเป็นโอกาสสำหรับไทยในการส่งเสริมผลิตภัณฑ์เกษตรและอาหารในตลาดคูเวต นอกจากนี้ เมนูอาหารไทยได้รับความนิยมในคูเวตด้วย
แนวทางการต่อยอดอาหารไทยในคูเวต :
(1)ส่งเสริมการนําเข้าผลิตภัณฑ์อาหารของภาคเอกชนไทยมายังคูเวต เช่น การนำเข้าสินค้าอาหารประเภทเนื้อไก่ ไข่ไก่ อาหารแปรรูป เข้ามาจัดจำหน่ายในซูเปอร์มาร์เก็ตที่อยู่ภายใต้การดำเนินธุรกิจของสหกรณ์ผู้บริโภคคูเวต (Union of Consumer Cooperative Societies) ซึ่งมีสาขาทั่วประเทศกว่า 400 แห่ง มีส่วนแบ่งการตลาดกว่าร้อยละ 60 ของประเทศในอนาคต ทั้งนี้ การรักษาคุณภาพของอาหารให้สะอาดและปลอดภัยอยู่เสมอนับว่าเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง เนื่องจากคูเวตเข้มงวดในเรื่องมาตรฐานอาหารอย่างยิ่ง
(2)ส่งเสริมอาหารไทยและขนมไทย (Soft power) นำเสนอผ่านโอกาสต่าง ๆ เช่น การจัดงานเลี้ยงบุคคลสำคัญในคูเวตที่ร้านอาหารไทย Oriental Cuisine สาธิตการทําข้าวเหนียวมะม่วงน้ำดอกไม้ เพื่อเผยแพร่ในสื่อของคูเวต และจัดกระเช้าข้าวเหนียวมะม่วงมอบแก่บุคคลสําคัญของคูเวต นอกจากนั้น ยังนำเสนอผลไม้ขึ้นชื่อของไทยอย่างทุเรียนหมอนทอง
ในอีกด้านหนึ่ง ไทยและคูเวตยังสามารถส่งเสริมความร่วมมือเพื่อการพัฒนา รวมถึงสาขาการศึกษา เช่น ทุนการศึกษาจากมหาวิทยาลัยคูเวตในระดับปริญญาตรีคณะวิศวกรรมศาสตร์และปิโตรเลียมให้แก่นักเรียนไทยเนื่องในโอกาสครบรอบ 60 ปี ความสัมพันธ์ไทย – คูเวตในปี 2566 ซึ่งมหาวิทยาลัยคูเวตได้มอบทุนการศึกษาแก่นักเรียนไทยจํานวน 6 ทุน ตั้งแต่ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2022/2023 (กันยายน 2565) เป็นต้น นอกจากนี้ ยังสามารถส่งเสริมความร่วมมือเพื่อการพัฒนากับมูลนิธิ Rahma International Society โดยเชื่อมโยงกับโครงการโรงเรียนยุวทูตความดีฯ ได้อีกด้วย
จากความร่วมมือดังกล่าวถือเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อไทยไม่เพียงแต่ด้านการค้า แต่รวมไปถึงด้านการศึกษาและความช่วยเหลือที่จำเป็นอื่น ๆ ซึ่งส่งผลต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนทั้งสองประเทศท่ามกลางสถานการณ์โลกที่ไม่แน่นอน ดังนั้น เพื่อรักษาความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างไทยและคูเวตให้มั่นคงและยั่งยืน ภาครัฐควรส่งเสริมการแลกเปลี่ยนความร่วมรู้และความเข้าใจในด้านอื่น ๆ เพิ่มเติม เพื่อเพิ่มขีดความสามารถให้กับประเทศไทยต่อไป (ข้อมูลจาก สถานเอกอัครราชทูต ณ คูเวต)
ที่มา globthailand
วันที่ 1 สิงหาคม 2565