การพัฒนาที่ยั่งยืน ไม่สามารถทำได้โดยลำพัง
เวทีสัมมนา Sustainability Forum 2023 ที่ “หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ” จัดขึ้นระดมสมองจากภาครัฐ ภาคเอกชน และองค์กรระหว่างประเทศ วานนี้ (30 พ.ย.) เห็นตรงกันว่าการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ไม่สามารถทำให้สำเร็จได้โดยลำพัง จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนช่วยกันคนละไม้คนละมือ เพราะการลงทุนที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และการพัฒนาที่ควบคู่กับการสร้างความยั่งยืน ไม่ใช่เป็นภาระของบริษัทใดบริษัทหนึ่ง แต่เป็นสิ่งที่ทุกบริษัทจะต้องดำเนินการและต้องเชื่อมโยงกับการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศสมาชิกสหประชาชาติทั้ง 193 ประเทศ ที่รับรองเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ไปก่อนหน้านี้
การพัฒนาที่ยั่งยืนจำเป็นต้องฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพ ดังนั้น “ผู้นำภาคธุรกิจ” ทุกขนาดในประเทศไทยต้องลงทุน "ระบบนิเวศ" ที่ส่งเสริมให้เกิดความหลากหลายทางชีวภาพ ไม่ใช่เพียงทำให้เกิดการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) เท่านั้น แต่ต้องทำให้การดำเนินธุรกิจเกิดการสูญเสียน้อยที่สุด ทำให้เกิดการส่งคืนกลับธรรมชาติมากกว่าการหาประโยชน์จากธรรมชาติ ที่สำคัญต้องทำให้มีพื้นที่ดูดซับคาร์บอนมากกว่าการปล่อยคาร์บอนออกมา ที่สำคัญการลงทุนด้าน “ระบบนิเวศ” กับการดำเนินงานทางด้านสภาพภูมิอากาศและความหลากหลายทางชีวภาพต้องมีความเชื่อมโยงกัน
“การพัฒนาที่ยั่งยืน” รัฐบาลจะต้องกำหนดเป็นนโยบายที่ชัดเจน มีรูปแบบการจัดหาระดมเงินทุนภายในประเทศ จัดหาทรัพยากรมาสนับสนุนเกี่ยวกับการเรียนรู้นำไปสู่การเกิดสังคมคาร์บอนต่ำให้เกิดขึ้นอย่างแท้จริง แม้ว่าจะมีข้อมูลว่าสถาบันการเงินกว่า 60% ให้ความสำคัญการพิจารณาการปล่อยกู้ในเรื่องการรับผิดชอบความหลากหลายทางชีวภาพ เกณฑ์ธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม แต่มีธุรกิจเพียง 6% เท่านั้นที่ลงทุนเกี่ยวกับเรื่อง Green หรือทำให้เกิดผลกระทบเชิงบวกต่อสิ่งแวดล้อมเท่านั้น จึงจำเป็นที่ทุกคนจากทุกภาคส่วนของประเทศต้องตระหนักถึงความสำคัญของธรรมชาติ ต้องร่วมกันคุ้มครองความหลากหลายทางชีวภาพ เพื่อทำให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ให้เกิดขึ้นได้จริง
อย่างไรก็ตาม ในการประชุม COP27 ที่สาธารณรัฐอาหรับอียิปต์ มีความพยายามผลักดันให้มีการ “จัดตั้งกองทุนว่าด้วยความสูญเสียและความเสียหาย” สำหรับกลุ่มประเทศและชุมชนที่เสี่ยงต่อวิกฤติสภาพภูมิอากาศ โดยประเทศที่พัฒนาแล้วจะต้องลงงบประมาณปีละ 2 ล้านดอลลาร์ และผลักดันให้ชดใช้ความสูญเสียและความเสียหาย (Loss and Damage) ให้กับประเทศที่ได้รับผลกระทบซึ่งเป็นสิ่งที่นานาประเทศ รวมทั้งประเทศไทยต่างคาดหวังว่าจะสามารถเกิดขึ้นเป็นจริงได้ ซึ่งการเรียกร้องให้ประเทศพัฒนาแล้วจ่ายเงินชดเชยนี้ เป็นหัวข้อที่ประเทศกำลังพัฒนาเสนอขึ้นมาตั้งแต่มีการประชุม COP ครั้งแรกเมื่อปี 1995
หากมีการผลักดันให้ชดใช้ความสูญเสียและความเสียหาย (Loss and Damage) ให้กับประเทศที่ได้รับผลกระทบ จะเป็นผลดีสำหรับประเทศไทยที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพียง 0.8% เป็นอันดับที่ 22 ของโลก แต่ได้รับผลกระทบลำดับที่ 9 ของโลก และมีความสูญเสียและความเสียหายจากสภาพภูมิอากาศ Global Climate Risk Index 2021 ในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา ที่เผชิญกับเหตุการณ์สภาพภูมิอากาศสุดขั้ว 146 ครั้ง สร้างความสูญเสียต่อชีวิต 0.21 ต่อประชากร 1 แสนคน และเกิดความเสียหาย 7,719.15 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 0.82% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP)
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์