เปิดวิสัยทัศน์ "ชาย เอี่ยมศิริ" ว่าที่ "ดีดี" คนใหม่ พาการบินไทยพ้นแผนฟื้นฟู

อุตสาหกรรมการบินเริ่มฟื้นตัวจากโควิด-19 และทำให้บริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) ที่อยู่ในแผนฟื้นฟูกิจการประเมินจำนวนผู้โดยสารจะขยายตัวต่อเนื่องสอดคล้องเทรนด์การท่องเที่ยวของทั่วโลกที่เริ่มฟื้นตัว ซึ่งปัจจุบันการบินไทยกลับมาเปิดให้บริการเส้นทางบินราว 70% หากเทียบช่วงก่อนเกิดโควิด-19 และมีอัตราบรรทุกผู้โดยสาร (เคบิ้นแฟกเตอร์) สูงอยู่ที่ 85%
 
อย่างไรก็ดี จากการฟื้นตัวของผู้โดยสารส่งผลให้รายได้จากการดำเนินงานของการบินไทย กลับมาใกล้เคียงช่วงก่อนเกิดโควิด-19 โดยปัจจุบันมีความสามารถทำรายได้จากการดำเนินงานอยู่ที่ 12,000 ล้านบาทต่อเดือน ใกล้เคียงสถานการณ์ปกติเทียบกับช่วงก่อนเกิดโควิด-19 ที่มีรายได้จากการดำเนินงาน 15,000 ล้านบาทต่อเดือน และถือเป็นรายได้ที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง หากเทียบกับช่วงเกิดโควิด-19 ที่การบินไทยมีรายได้ต่ำสุดจากการดำเนินงานเพียง 200 ล้านบาทต่อเดือน
 
ชาย เอี่ยมศิริ รักษาการประธานเจ้าหน้าที่สายการเงินและการบัญชี บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยถึงวิสัยทัศน์ที่จะนำมาบริหารองค์กรหลังได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ในวันที่ 1 ก.พ.2566 โดยระบุว่า ปัจจุบันการบินไทยอยู่ในจุดที่สามารถมีรายได้จากการดำเนินงานเพิ่มเข้ามาอย่างต่อเนื่อง เพราะแนวโน้มการเดินทางของผู้โดยารเริ่มกลับมาฟื้นตัว ประกอบกับในช่วงที่ผ่านมาการบินไทยได้ทำตามแผนฟื้นฟูในส่วนของการปรับลดค่าใช้จ่าย และต้นทุน รวมไปถึงขายสินทรัพย์ที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์
 
ส่งผลให้ขณะนี้ถือได้ว่าการบินไทยผ่านพ้นวิกฤตของการหยุดเลือดไหล และกำลังเข้าสู่ช่วงของการหารายได้อย่างต่อเนื่องเพื่อทำให้องค์กรเติบโตอย่างยั่งยืน ซึ่งแผนดำเนินงานที่จะนำมาใช้ในการบริหารองค์กรการบินไทยหลังรับตำแหน่งนั้น จะเน้นหลัก 3 ส่วนสำคัญ คือ
 
1.การสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholders) โดยเฉพาะผู้โดยสารที่เป็นลูกค้าของเรา จะมุ่งเน้นการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการให้ตอบโจทย์ความต้องการ
 
2.เจ้าหนี้ ซึ่งกลุ่มนี้เป็นส่วนสำคัญที่การบินไทยต้องให้ความสำคัญ เพราะเจ้าหนี้เป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่ต้องอยู่ร่วมกับการบินไทย แม้จะออกจากแผนฟื้นฟูแล้วการทำธุรกิจก็ยังต้องมีเจ้าหนี้และลูกหนี้เสมอ ดังนั้นการบินไทยจะให้ความสำคัญกับการชำระหนี้ ต้องไม่ผิดนัดชำระ ซึ่งที่ผ่านมาก็ทำมาตลอด อีกทั้งจะต้องมีการสื่อสารทำความเข้าใจกับเจ้าหนี้เพื่อสร้างความมั่นใจอยู่เสมอ
 
3.พนักงาน ส่วนนี้เป็นหัวใจหลักของการขับเคลื่อนองค์กร ต้องสร้างความเชื่อมั่นกับพนักงานซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับทุกอย่างในองค์กร หากพนักงานมีความเชื่อมั่นต่อองค์กร ก็จะทำให้แผนฟื้นฟูหรือแผนบริหารจัดการงานทุกอย่างสำเร็จไปในทิศทางเดียวกัน โดยปัจจุบันการบินไทยและสายการบินไทยสมายล์ ซึ่งเป็นบริษัทลูก มีพนักงานร่วมกันราว 14,900 คน
 
“ผมมีความมั่นใจว่าจะสามารถนำบริษัทฯ ออกจากแผนฟื้นฟูได้เร็วกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ในปี 2568 อย่างแน่นอน เพราะที่ผ่านมาปีกว่าเราพิสูจน์ตัวเองมาตลอดกว่าการบินไทยเปลี่ยนไปแล้ว ซึ่งไม่มีใครคิดว่าจะมาถึงวันนี้ วันที่เราสามารถหารายได้และมีกระแสเงินสดสูงถึง 3 หมื่นล้านบาท โดยไม่ได้พึ่งพาใคร พนักงานก็เสียสละ คู่ค้าก็ให้ความร่วมมือ จึงอยู่มาได้ถึงวันนี้ ดังนั้นการเดินต่อไปจึงมั่นใจมากว่าทำได้แน่นอน แม้แต่เจ้าหนี้ก็มั่นใจและพร้อมให้กู้ตลอดเวลา”
 
รวมทั้งในขณะนี้การบินไทยอยู่ในจุดที่คุมต้นทุนได้แล้ว ดังนั้นในปี 2566 เป็นต้นไปจะเป็นช่วงของการหารายได้กับเงินที่มีอยู่ต้องต่อยอดมีรายได้เพิ่มมากขึ้น หาประโยชน์และทำให้เงินเหล่านี้พอกพูน ซึ่งตนมีแนวคิดที่จะนำกระแสเงินสดในมือไปลงทุนให้ได้ประโยชน์ อาทิ การฝากเงิน โดยอยู่ระหว่างการพิจารณาอัตราดอกเบี้ยเงินฝากดอลลาร์ ซึ่งอยู่ที่เกือบ 3% เมื่อเทียบกับอัตราดอกเบี้ยเงินบาทที่ไม่ถึง 1% เป็นต้น
 
นอกจากนี้ การบินไทยยังอยู่ระหว่างนำสินทรัพย์ประเภทอาคารมาเปิดเช่าเพื่อหารายได้เพิ่มขึ้น เช่น อาคารสำนักงานใหญ่การบินไทย สาขาวิภาวดี และยังมีสินทรัพย์สำนักงานทั้งในและต่างประเทศที่อยู่ระหว่างประกาศขาย ไม่ว่าจะเป็นเชียงใหม่ พิษณุโลก โรม (อิตาลี) อังกฤษ อินโดนีเซีย และฮ่องกง แต่สินทรัพย์เหล่านี้การบินไทยจะทำการขายต่อเมื่อมีข้อเสนอราคาที่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน เพื่อประโยชน์สูงสุดขององค์กร
 
“ตอนนี้การบินไทยเราผ่านพ้นช่วงที่ต้องเร่งขายสินทรัพย์เพื่อหากระแสเงินสดแล้ว แต่เราก็ยังคงประกาศขายสินทรัพย์ที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ เพื่อหาเงินให้องค์กรไปใช้ประโยชน์สูงสุด แต่ไม่ได้มีความจำเป็นเร่งด่วนในการขาย จะต้องหาข้อเสนอที่มีผลตอบแทนสูงสุด หรืออาจมีความเป็นไปได้ในการปรับแผนไม่ขายแต่เป็นการประกาศเพื่อปล่อยเช่าแทน ซึ่งจะทำให้การบินไทยมีรายได้เข้ามาอย่างต่อเนื่อง”
 
ขณะเดียวกัน การบินไทยยังมีแผนผลักดันหน่วยธุรกิจย่อยที่มีศักยภาพนำไปต่อยอดจัดตั้งเป็นบริษัทใหม่ ร่วมทุนกับพันธมิตรเพื่อสร้างรายได้เพิ่ม อาทิ ครัวการบิน คาร์โก้ ฝ่ายช่างหรือศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน โดยปัจจุบันการบินไทยยังอยู่ระหว่างศึกษาแผนและจัดหาพันธมิตรที่สนใจเข้าร่วมลงทุน ซึ่งคาดว่าจะเกิดขึ้นหลังจากนี้ เพราะถือเป็นช่วงที่การบินไทยต้องมองหาโอกาสของการต่อยอดธุรกิจ
 
ทั้งนี้ ผลการดำเนินงานของการบินไทยในปัจจุบัน ถือได้ว่าเป็นช่วงของการทำนิวไฮอย่างต่อเนื่อง โดยเริ่มมีกำไรจากการดำเนินงานตั้งแต่เดือน พ.ค.2565 และในเวลานี้มีกระแสเงินสด (cash flow) ที่ดีมากอยู่ในระดับ 3 หมื่นล้านบาท 
 
ดังนั้นแผนต่อไปนอกจากขับเคลื่อนการชำระหนี้ตามแผนฟื้นฟูกำหนดแล้ว การบินไทยจะโฟกัสการหารายได้ และจะสร้างผลประโยชน์ตอบแทนจากเงินสดในมือที่มีอยู่ให้มากขึ้น
 
สำหรับปัญหาด้านอื่นๆ ของการบินไทยในเวลานี้ ยอมรับว่าอาจเป็นเรื่องสภาพในเครื่องบินที่ได้รับการร้องเรียนจากผู้โดยสารว่าเกิดการชำรุด เช่น ที่วางแขนหลุด เบาะขาด สีเบาะจาง และสกปรก ซึ่งปัญหาดังกล่าวไม่ได้มีความเสียหายทั้งหมด เป็นเพียงบางจุดในเครื่องบิน 1 ลำเท่านั้น และอยู่ระหว่างการเร่งปรับปรุง แต่ยอมรับว่าการซ่อมบำรุงอุปกรณ์ต่างๆ ภายในเครื่องบินต้องใช้เวลาในการสั่งออเดอร์และส่งมอบ เพราะอุปกรณ์ทุกชิ้นต้องได้รับการรับรองตามาตรฐานการบิน ไม่สามารถซื้ออะไหล่อื่นมาเพื่อปรับเปลี่ยนได้
 
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ ออนไลน์
 

@Admin TVBC

สนใจสมัครสมาชิกหรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

ฝ่ายเลขานุการฯ
โทร: 02-018-6888 ต่อ 4340
Email: tvbc.secretariat@gmail.com

:)