"ท่องเที่ยว" ฟุ้งปี 70 ต่างชาติทะลักเข้าไทย 80 ล้านคน โกยรายได้ 5 ล้านล้านบาท
กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ได้จัดการประชุมเพื่อเตรียมความพร้อมในการต้อนรับนักท่องเที่ยว ผ่านกิจกรรมสร้างเครือข่ายและเตรียมความพร้อมให้กับบุคลากรด้านการท่องเที่ยว ภายใต้แนวคิด “การเป็นเจ้าบ้านที่ดี” รองรับกระแสการเดินทางของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่กำลังจะหลั่งไหลเข้าประเทศไทยมากขึ้น หลังวิกฤติโควิด-19 คลี่คลาย
นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า กระทรวงการท่องเที่ยวฯตั้งเป้าหมายปี 2570 หรือในอีก 5 ปีข้างหน้า จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางมาประเทศไทยมากถึง 80 ล้านคน เติบโต 2 เท่า เมื่อเทียบกับปี 2562 ก่อนโควิด-19 ระบาด ทำให้ในปี 2570 จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติมากกว่าประชากรไทยซึ่งปัจจุบันมี 70 ล้านคน โดยจะสร้างรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติ 5 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากฐานรายได้ฯ 1.93 ล้านล้านบาทเมื่อปี 2562
ขณะที่เป้าหมายปี 2566 กระทรวงการท่องเที่ยวฯคาดการณ์ว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติ 25 ล้านคน ฟื้นตัว 60% เมื่อเทียบกับปี 2562 หนุนสร้างรายได้รวมจากทั้งตลาดในและต่างประเทศที่ 2.4 ล้านล้านบาท ฟื้นตัว 80% หลังจากจีนเปิดประเทศ ยกเลิกมาตรการกักตัวขาเข้า เริ่มมีผลตั้งแต่วันที่ 8 ม.ค.2566 เป็นต้นไป
“ก่อนจะถึงเวลานั้น ประเทศไทยต้องเร่งเตรียมบุคลากรให้พร้อมรองรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ จึงมอบหมายให้ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา รับผิดชอบเรื่องนี้ร่วมกับกรมการท่องเที่ยวและกระทรวงแรงงานเพื่อเร่งพัฒนาทักษะบุคลากรของไทย ซึ่งยอมรับว่าขณะนี้มีปัญหาขาดแคลนแรงงานภาคท่องเที่ยวและบริการอยู่มาก ขณะเดียวกันประเทศไทยต้องเตรียมพร้อมเรื่องการรักษาความปลอดภัยให้กับนักท่องเที่ยวด้วย”
++ “แอตต้า” จี้เร่งฟื้นเที่ยวบินอินเตอร์ฯ
นายศิษฎิวัชร ชีวรัตนพร นายกสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (แอตต้า) กล่าวว่า เป้าหมายจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ 80 ล้านคนในอีก 5 ปีข้างหน้าจะเป็นจริงได้หรือไม่นั้น มองว่าก่อนจะพูดถึงว่าจะมีตัวเลขนักท่องเที่ยวเท่าไร จะเป็นจริงได้ต้องมีเที่ยวบินเข้าประเทศไทยก่อน ไม่เช่นนั้นจะเอาอะไรขนนักท่องเที่ยวมา
“ส่วนจะมีนักท่องเที่ยวจีนเป็นสัดส่วนเท่าใด เบื้องต้นมองว่าในปี 2570 มีจำนวนนักท่องเที่ยวจีนเดินทางเข้าไทยไม่น้อยกว่า 15 ล้านคน แต่ยังต้องรอให้เศรษฐกิจจีนกลับมาแข็งแกร่งก่อน จึงจะเห็นภาพชัดเจนยิ่งขึ้น เพราะตอนนี้ในจีนยังมีการระบาดของโควิด-19 หนักมาก”
++ ความปลอดภัย “ไทย” รั้งอันดับท้ายๆ ของโลก
นายพิพัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า ประเทศไทยจำเป็นต้องเร่งเตรียมความพร้อมในฐานะเจ้าบ้านที่ดี ซึ่งเป็นส่วนสำคัญทำให้ประเทศไทยเคยมีรายได้ด้านการท่องเที่ยวมากเป็นอันดับ 4 ของโลกเมื่อปี 2562 เพื่อรองรับกระแสการเดินทางฟื้นตัวอย่างรวดเร็วจากวิกฤติโควิด-19 ที่ทำให้ภาคการท่องเที่ยวหยุดชะงักมา 3 ปี
ขณะที่อันดับความปลอดภัยของนักท่องเที่ยวต่างชาติของประเทศไทย ยังติดอันดับท้ายๆ ของโลก โดยข้อมูลจาก World Economic Forum (WEF) ในปี 2564 ระบุว่าประเทศไทยถูกจัดอันดับด้านความมั่นคงและความปลอดภัยของนักท่องเที่ยวอยู่ที่อันดับ 92 จากทั้งหมด 117 ประเทศ โดยได้รับคะแนนประเมินที่ 4.3 ต่ำกว่าคะแนนประเมินเฉลี่ยของประเทศในกลุ่มอาเซียนที่ 5.4
ส่วนข้อมูลดัชนีความปลอดภัย (Safety Index) ของเว็บไซต์แนะนำการซื้อประกัน “The Swiftest” เปิดเผยว่า ประเทศไทยเป็น 1 ใน 12 ประเทศ จาก 25 ประเทศในเอเชีย ที่อยู่ในกลุ่มจุดหมายปลายทางที่เสี่ยงตายที่สุด จากการจัดอันดับ 50 ประเทศทั่วโลก ที่เป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยว
++ เปิดสถิติทัวริสต์บาดเจ็บ-เสียชีวิตในไทย
ทั้งนี้ จากสถิตินักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศไทย 40 ล้านคนในปี 2562 พบว่ามีจำนวนประสบอุบัติเหตุได้รับบาดเจ็บ 531 ราย และเสียชีวิต 296 ราย แบ่งเป็นเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางบก-จราจร 69 ราย อุบัติเหตุทางบก-ไม่จราจร/กิจกรรมทางบก 9 ราย อุบัติเหตุทางน้ำ-โดยสาร/ขนส่ง 2 ราย อุบัติเหตุทางน้ำ-ไม่โดยสาร/กิจกรรมทางน้ำ 83 ราย และอาชญากรรม 6 ราย
โดยจังหวัดที่เหตุเกิดสูงสุด 3 อันดับแรกในปี 2562 พบว่าอันดับที่ 1 คือ จ.ภูเก็ต ในพื้นที่ตำบลป่าตอง กะรน และราไวย์ จำนวน 133 ราย คิดเป็น 16.1% ของจำนวนเหตุทั่วประเทศ อันดับที่ 2 จ.สุราษฎร์ธานี ในพื้นที่เกาะสมุย เกาะพะงัน และเกาะเต่า จำนวน 97 ราย คิดเป็น 11.72% และอันดับที่ 3 จ.พังงา ในพื้นที่ตำบลพรุใน คึกคัก และเกาะพระทอง จำนวน 80 ราย คิดเป็น 9.6%
ด้านสถิตินักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศไทย 11 ล้านคนในปี 2565 พบว่ามีจำนวนประสบอุบัติเหตุได้รับบาดเจ็บ 99 ราย และเสียชีวิต 151 ราย แบ่งเป็นเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางบก-จราจร 41 ราย อุบัติเหตุทางบก-ไม่จราจร/กิจกรรมทางบก 6 ราย อุบัติเหตุทางน้ำ-โดยสาร/ขนส่ง 7 ราย อุบัติเหตุทางน้ำ-ไม่โดยสาร/กิจกรรมทางน้ำ 12 ราย และอาชญากรรม 6 ราย
โดยจังหวัดที่เหตุเกิดสูงสุด 3 อันดับแรกในปี 2565 พบว่าอันดับที่ 1 ยังคงเป็น จ.ภูเก็ต ในพื้นที่ตำบลกะรน ป่าตอง และราไวย์ จำนวน 73 ราย คิดเป็น 29.2% ของจำนวนเหตุทั่วประเทศ ส่วนอันดับที่ 2 จ.ชลบุรี ในพื้นที่ตำบลหนองปรือ บางละมุง จำนวน 34 ราย คิดเป็น 13.6% และอันดับที่ 3 จ.สุราษฎร์ธานี ในพื้นที่เกาะพะงัน เกาะเต่า และเกาะสมุย จำนวน 26 ราย คิดเป็น 10.4%
++ ชูนโยบายความปลอดภัย 7 ด้าน
ทั้งนี้ ได้มอบนโยบายเรื่องความปลอดภัย 7 ด้านแก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่
1.ยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินนักท่องเที่ยว ด้วยการกำหนดขีดความสามารถในการรองรับนักท่องเที่ยวในการจัดกิจกรรม (Carrying Capacity) ทั้งภายในอาคาร เช่น คอนเสิร์ต ผับ บาร์ และร้านอาหาร รวมถึงภายนอกอาคาร เช่น อีเวนต์ต่างๆ โดยใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการควบคุมจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยวที่จะเข้าไปในพื้นที่ เพื่อป้องกันการเกิดเหตุการณ์ซ้ำ ดังเช่น เหตุการณ์ไฟไหม้ผับ Mountain B จ.ชลบุรี รวมถึงการยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของนักท่องเที่ยว ลดอัตราการเกิดเหตุการณ์ฉุด ชิง วิ่งราว ลักทรัพย์ ฉ้อโกง
2.ความปลอดภัยในการขับขี่ยานพาหนะ รถยนต์เช่า และรถมอเตอร์ไซค์เช่าของนักท่องเที่ยวต่างชาติ ด้วยการมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องหมั่นตรวจสอบ ทั้งสภาพถนน ป้ายบอกทาง สัญญาณไฟจราจรต่างๆ สภาพพาหนะ และสภาพผู้ขับขี่ยานพาหนะ
3.ความปลอดภัยทางน้ำ ทั้งทางคลอง แม่น้ำ และทะเล หลังเกิดโศกนาฏกรรมเรือล่มซ้ำแล้วซ้ำเล่า ทำการท่องเที่ยวไทยเสียหายไม่ต่ำกว่า 5 หมื่นล้านบาท
4.จัดทำมาตรฐานภาคบังคับกิจกรรมท่องเที่ยวแคมปิ้ง (Camping) ซึ่งกำลังได้รับความนิยมอย่างมากจากนักท่องเที่ยว
5.ยกระดับอาสาสมัครท่องเที่ยวและกีฬา (อสทก.) ให้มีสิทธิ์และศักดิ์เทียบเท่าอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ทั้งการรับรองสถานะอย่างเป็นทางการ มีการจัดทำมาตรฐาน มีค่าตอบแทน มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย และอื่นๆ โดยตั้งเป้าหมายมี อสทก. 1 คน ต่อ 1 หมู่บ้าน หรือคิดเป็นทั้งหมด 80,000 คนทั่วประเทศ เพิ่มจากปัจจุบันที่มีเพียง 3,000 คน และปีนี้น่าจะเพิ่มได้อีก 10,000 คน เพื่อรองรับการจัดอีเวนต์ส่งเสริมการท่องเที่ยวต่างๆ และเป็นหูเป็นตาช่วยดูแลความปลอดภัยแก่นักท่องเที่ยว
6.ยกระดับ 1 จังหวัด 1 ชุดไลฟ์การ์ด (Lifeguard) โดยเฉพาะจังหวัดติดพื้นที่ทะเล ด้วยการพัฒนาหลักสูตรรักษาความปลอดภัยในกิจกรรมทางน้ำเพื่อความยั่งยืน ทั้งนี้มีแนวคิดเสนอให้จัดหางบประมาณเพื่อซื้อเจ็ตสกีอย่างน้อย 1 ลำในแต่ละพื้นที่ เป็นยานพาหนะในการช่วยชีวิตได้ทันเวลา เพราะสามารถเข้าถึงผู้ประสบเหตุในพื้นที่น้ำตื้นหรือร่องหินโสโครกได้
7.รณรงค์เรื่องการเป็นเจ้าบ้านที่ดี อยากให้มีโรดแมปแผนส่งเสริมการเป็นเจ้าบ้านที่ดีของแต่ละหน่วยงาน ให้เกิดการบูรณาการการทำงานระหว่างภาครัฐและเอกชน
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ ออนไลน์