จ่อชง ครม.ใหม่ปูพรม FTA ติดปีกส่งออกไทย
กรมฯอยู่ระหว่างศึกษาผลกระทบ FTA กับคู่ค้าใหม่ ๆ และรับฟังความเห็นผู้มีส่วนได้เสีย ก่อนนำเสนอขอความเห็นชอบครม. เพื่อพิจารณาเปิดเจรจา FTA กับประเทศใหม่ ๆภายในปี 2566
ปี 2565 ล่าสุด การค้าระหว่างประเทศของไทย (ส่งออก+นำเข้า) มีมูลค่ารวม 590,259 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือกว่า 20.59 ล้านล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นการค้ากับประเทศคู่สัญญาความตกลงเขตการค้าเสรี (FTA) ที่ปัจจุบันไทยมี FTA 14 ฉบับกับ 18 ประเทศ คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 60% ของการค้าไทยกับโลก
ขณะที่ภาคเอกชนที่เป็นผู้ส่งออกจี้ให้รัฐบาลเร่งเจรจาจัดทำความตกลง FTA กับประเทศ / กลุ่มประเทศใหม่ เพื่อสร้างแต้มต่อและเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของการส่งออกสินค้าไทย “ฐานเศรษฐกิจ” สัมภาษณ์ นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ (จร.) กระทรวงพาณิชย์ เพื่ออัพเดตความก้าวหน้าสถานะการเจรจา FTA ใหม่ ๆ ของไทย
นางอรมน กล่าวว่า ภารกิจเร่งด่วนในการเจรจา FTA ที่ต้องเดินหน้าก่อนที่ตนจะหมดวาระการดำรงตำแหน่งในเดือนกุมภาพันธ์ปี 2567 มีหลายฉบับ ล่าสุดที่ประสบความสำเร็จและมีความคืบหน้าคือ การนับหนึ่งเปิดเจรจาจัดทำความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ (CEPA) หรือ FTA ไทย-สหรัฐฯอาหรับเอมิเรตส์(ยูเออี) ในวันที่ 16-18 พฤษภาคม 2566 โดยยูเออีเป็นเจ้าภาพจัดประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสเป็นครั้งแรก ตั้งเป้าจะแล้วเสร็จภายใน 6 เดือนหรือสิ้นปีนี้ หรือต้นปี 2567
++ลุยถก 4 FTA เร่งสรุปผล
ส่วน FTA กับสมาคมการค้าเสรียุโรป (EFTA) ที่ไทยทำในนามกลุ่มอาเซียน จะมีการนัดเจรจารอบที่ 5 ในเดือน มิ.ย.2566 คาดจะสรุปผลได้ภายใน 2 ปี เช่นเดียวกับ FTA ไทย-ศรีลังกา และ FTA อาเซียน-แคนาดากรมฯจะเร่งหาข้อสรุปการเจรจา ภายในครึ่งแรกปี 2567 ขณะที่ FTA ไทย-สหภาพยุโรป (EU) ได้นัดเจรจากับหัวหน้าคณะเจรจาฝ่ายอียูในเดือนกรกฎาคมนี้ เพื่อวางแผนปฏิทินการเจรจา และวางโครงสร้างรูปแบบการเจรจา โดยจะเริ่มเจรจารอบแรกเดือนกันยายน 2566 ตั้งเป้าหาข้อสรุปให้ได้ภายใน 2 ปี (2568)
++ดัน 4 FTAใหม่จ่อชง ครม.
ขณะที่วาระเร่งด่วนในเรื่อง FTA กรมฯอยู่ระหว่างมอบสถาบันวิจัยจากภายนอกศึกษาเรื่องประโยชน์ และผลกระทบการจัดทำ FTA กับคู่ค้าใหม่ ๆ เช่น อิสราเอล ภูฏาน กลุ่มพันธมิตรแปซิฟิก (เปรู ชิลี เม็กซิโก โคลัมเบีย) และเกาหลีใต้ ซึ่งรวมถึงการรับฟังความเห็นผู้มีส่วนได้เสีย โดยจะดำเนินการให้แล้วเสร็จ และนำเสนอขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อพิจารณาเปิดเจรจา FTA กับประเทศใหม่ ๆ ข้างต้นภายในปี 2566 รวมถึงการเจรจาทบทวนความตกลง FTA ที่มีความตกลงไปแล้ว
ส่วน FTA ที่มีผลบังคับใช้แล้วก่อนหน้านี้ และอยู่ระหว่างการทบทวนความตกลง ณ ปัจจุบันมี 5 กรอบความตกลง ได้แก่ 1.อาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ ตั้งเป้าจบในปีนี้ 2.อาเซียน-จีน เป้าหมายจบปี 2567 3. ความตกลงการค้าสินค้าของอาเซียน เป้าหมายจบ ปี 2568 4.อาเซียน-อินเดีย อยู่ระหว่างหารือแผนการเจรจา และ 5.อาเซียน-เกาหลีใต้ อยู่ระหว่างศึกษา เพื่อเตรียมเปิดทบทวน
++คู่ค้ากีดกัน-เพิ่ม FTA ดูดลงทุน
“มีบางประเทศคู่ค้าได้นำมาตรการที่เป็นอุปสรรค หรือกีดกันการค้ามาใช้ โดยไม่แจ้งล่วงหน้า หรือไม่มีเวลาให้ปรับตัว เช่น กำหนดให้ต้องขอใบอนุญาตนำเข้า ให้นำเข้าสินค้าได้เฉพาะบางท่าเรือ/ท่าอากาศยาน ที่กำหนดไว้เท่านั้น การนำเรื่องสิ่งแวดล้อม และสภาพภูมิอากาศ มาเชื่อมโยงกับมาตรการทางการค้า หรือนโยบายการค้าที่ออกมาใหม่ เช่น มาตรการ CBAM มาตรการ deforestation ของสหภาพยุโรป ซึ่งกรมฯ ต้องหารือกับภาคเอกชนเพื่อร่วมกันแก้ปัญหา และนำข้อมูลไปใช้เจรจากับประเทศคู่ค้าต่อไป”
อย่างไรก็ตามหน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชน ผู้เกี่ยวข้องของไทย ต้องเร่งปรับตัว และเตรียมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของโลก ทั้งในด้านภูมิรัฐศาสตร์(Geopolitics) การเปลี่ยนแปลงนโยบายทางการเมืองและเศรษฐกิจของประเทศมหาอำนาจ การนำมาตรการกีดกันทางการค้ารูปแบบใหม่มาใช้ และต้องเร่งพัฒนาศักยภาพของไทยในหลาย ๆ ด้าน เพื่อรักษาความสามารถทางการแข่งขันของประเทศ และเพื่อให้ไทยยังคงเป็นที่สนใจของนักลงทุนต่างประเทศ เช่น การจัดทำเอฟทีเอ ใหม่ๆ การปฏิรูป/พัฒนากฏหมายเพื่ออำนวยความสะดวกการค้าและการลงทุน การพัฒนาศักยภาพแรงงาน การเชื่อมโยงการผลิตของไทยกับห่วงโซ่อุปทานหรือการผลิตโลก เป็นต้น
++เพิ่มค้า FTA 85%ไทยค้าโลก
อย่างไรก็ดี นางอรมน ระบุว่า กรมเจรจาการค้าฯ ได้ตั้งเป้าหมายเพิ่มสัดส่วนการค้าไทยกับประเทศคู่สัญญา FTA ทั้งเก่าและใหม่ เป็น 80-85% ในปี 2570 ของการค้ารวมที่ไทยค้ากับโลก จากปัจจุบัน FTA ที่ไทยมี 14 ฉบับกับ 18 ประเทศคิดเป็นสัดส่วน 60.9% ที่ไทยค้ากับทั่วโลกในปี 2565
ขณะเดียวกันยัง FTA ที่กรมฯมีแผนจะทำในอนาคต ซึ่งจะมีส่วนสำคัญในการผลักดันเป้าหมายการเพิ่มสัดส่วนการค้าดังกล่าวให้ได้ตามเป้าหมาย เช่น FTA ไทย-สหราชอาณาจักร(UK) ไทย-กลุ่มพันธมิตรแปซิฟิก(ชิลี เปรู เม็กซิโก โคลัมเบีย) FTAไทย-กลุ่ม GCC (ซาอุดีอาระเบีย บาห์เรน โอมาน กาตาร์ คูเวต) ไทย-อิสราเอล ไทย-ภูฎาน ไทย-กลุ่มประเทศแอฟริกาใต้(SACU) และไทย-เกาหลีใต้ เป็นต้น
ที่มา : ฐานเศรษฐกิจ