4 หน่วยงานเศรษฐกิจเตรียมหารือรัฐบาลใหม่เตรียมพร้อมจัดทำงบประมาณฐานศูนย์
สศช.เตรียมหารือสำนักงบฯเตรียมรับการจัดทำงบประมาณแบบ Zero Budgeting ชี้การจัดทำงบประมาณแบบนี้มีทั้งข้อดีและข้อเสีย คาดยังไม่สามารถได้ในปีงบประมาณ 67 เนื่องจากต้องใช้ข้อมูลจำนวนมากในการจัดทำงบประมาณแบบฐานศูนย์ คาดทำได้ในปีงบประมาณ 68
Key points
- พรรคก้าวไกลมีการจัดทำ MOU ร่วมกับพรรคร่วมรัฐบาล โดยประเด็นหนึ่งคือการทำงบประมาณแบบฐานศูนย์ หรือ zero-based budgeting
- การจัดทำงบประมาณแบบนี้ถือว่าเป็นเรื่องใหม่ที่ประเทศไทยไม่เคยทำมาก่อน โดยทุกหน่วยงานต้องชี้แจงความต้องการใช้งบประมาณในแต่ละปีโดยไม่อิงกับข้อมูลในอดีตแต่ต้องสอดคล้องกับความจำเป็นและภารกิจในอนาคต
- สภาพัฒน์ได้หารือเบื้องต้นกับสำนักงบประมาณ โดยจะมีการหารือกับ 4 หน่วยงานเศรษฐกิจทั้งกระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ และแบงก์ชาติเกี่ยวกับแนวทางการจัดทำงบประมาณลักษณะนี้ก่อนจะหารือกับรัฐบาลใหม่ต่อไป
- คาดว่าการทำงบประมาณแบบฐานศูนย์จะเริ่มได้เร็วที่สุดในปีงบประมาณ 2568 เนื่องจากต้องชี้แจงทำความเข้าใจกับทุกหน่วยราชการก่อน
นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวถึงการจัดทำงบประมาณแบบฐานศูนย์ (zero-based budgeting) ซึ่งพรรคก้าวไกล ในฐานะพรรคที่เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลจะนำระบบการจัดทำงบประมาณแบบนี้มาใช้ในการจัดทำงบประมาณของประเทศว่าในเรื่องนี้ สศช.ได้หารือกับสำนักงบประมาณในหลักการเบื้องต้นว่าการจัดทำงบประมาณแบบนี้สามารถทำได้หรือไม่เพราะถือเป็นเรื่องใหม่ที่ประเทศไทยไม่เคยใช้มาก่อน
ทั้งนี้การจัดทำงบประมาณแบบ zero-based budgeting จะเป็นการจัดทำงบประมาณที่ไม่ได้อิงกับข้อมูลในอดีตแต่หน่วยงานต้องมีการชี้แจงโดยคาดการณ์ไปข้างหน้าว่างบประมาณที่ใช้นั้นมีงบประมาณอะไรบ้าง มีความจำเป็นอย่างไร ซึ่งต่างจากการทำงบประมาณแบบเดิมที่หน่วยงานราชการจะได้รับการจัดสรรงบประมาณโดยอ้างอิงจากวงเงินงบประมาณแบบเดิมและปรับเพิ่มขึ้นหรือลดลงจากปีงบประมาณที่ผ่านมาเป็นเปอร์เซ็นต์
นายดนุชาระบุว่าในเบื้องต้นคาดว่าหากมีการใช้งบประมาณแบบ zero-based budgeting นั้นมีทั้งข้อดีและข้อเสีย โดยข้อดีคือการสะท้อนการใช้งบประมาณไปในอนาคต แต่ข้อเสียก็คือเป็นระบบการจัดทำงบประมาณแบบที่ต้องใช้ฐานข้อมูลจำนวนมาก ต้องมีการเตรียมความพร้อมกับทุกหน่วยงานราชการมาก เพราะระบบงบประมาณเป็นระบบใหญ่ผูกพันไปทุกภาคส่วนทั้งหน่วยงานราชการส่วนกลาง ระบบการเบิกจ่ายของส่วนท้องถิ่น รวมไปถึงสถานศึกษาและสถานพยาบาลด้วยซึ่งคาดว่าจะไม่สามารถทำได้ในการจัดทำงบประมาณในปี 2567 คาดว่าจะเริ่มทำได้ในปีงบประมาณ 2568 หรือปี 2569
นอกจากนั้นจะต้องหารือกับพรรคการเมืองที่จะเข้ามาเป็นรัฐบาล และ 4 หน่วยงานเศรษฐกิจได้แก่ สศช. สำนักงบประมาณ กระทรวงการคลัง และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ว่าแนวทางการจัดทำงบประมาณแบบ zero-based budgeting สำหรับประเทศไทยนั้นเหมาะสมที่จะทำทุกๆปีงบประมาณ หรือทำทุกๆ 5 ปี เพราะมีรายละเอียดและรูปแบบในการจัดทำที่แตกต่างกัน
“การจัดทำงบประมาณแบบฐานศูนย์ หรือ zero-based budgeting เป็นเรื่องใหม่ที่ต้องทำความเข้าใจกับทุกภาคส่วน เพราะระบบงบประมาณเป็นระบบใหญ่ และเกี่ยวข้องผูกพันกับทุกภาคส่วนของประเทศ คาดว่าหากจะปรับเปลี่ยนระบบการจัดทำงบประมาณของประเทศมาใช้ในระบบนี้จริงต้องมีการทำความเข้าใจ ซักซ้อมกับทุกหน่วยงาน รวมทั้งทำฐานข้อมูลต่างๆให้มีความพร้อมด้วย”นายดนุชา กล่าว
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ