"อาคม" ชี้ตั้งรัฐบาลช้าไม่กระทบเศรษฐกิจ
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง กล่าวถึงผลกระทบทางเศรษฐกิจที่อาจเกิดขึ้น หากมีปัญหาการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ล่าช้าว่า การประเมินมุมมองของหลายองค์กร ทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน รวมทั้งหน่วยงานต่างประเทศ จะพิจารณาจากความต่อเนื่องของนโยบายเศรษฐกิจ
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง กล่าวถึงผลกระทบทางเศรษฐกิจที่อาจเกิดขึ้น หากมีปัญหาการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ล่าช้าว่า การประเมินมุมมองของหลายองค์กร ทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน รวมทั้งหน่วยงานต่างประเทศ จะพิจารณาจากความต่อเนื่องของนโยบายเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในเรื่องการสร้างขีดความสามารถในอนาคต ซึ่งในส่วนของไทย ที่ผ่านมาต่างชาติมองว่าการลงทุนก็มีความชัดเจนว่าจะลงทุนในเทคโนโลยีชั้นสูง
"มุมมองการขยายตัวทางเศรษฐกิจ เป็นเรื่องของปัจจัยภายนอกมากกว่าที่จะเข้ามากระทบ ส่วนปัจจัยภายใน ในแง่การบริหารเศรษฐกิจมีความเข้มแข็งอยู่แล้ว อัตราการเติบโตแม้ว่าตัวเลขจะไม่ได้สูงมากนัก แต่ในแง่เสถียรภาพ ทั้งด้านการคลัง และด้านการเงิน อยู่ในเกณฑ์ดี ต่างชาติมีความเชื่อมั่นเรื่องโครงสร้างเศรษฐกิจ และเสถียรภาพการคลังของประเทศ" นายอาคม กล่าว
รมว.คลัง กล่าวว่า ในปีนี้มั่นใจว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ตามที่คาดไว้ และอาจจะเร่งตัวขึ้นสวนกระแสเศรษฐกิจโลกที่คาดว่าจะชะลอลง ซึ่งสะท้อนจากตัวเลขการส่งออกที่หดตัวในช่วงที่ผ่านมา แต่มีเรื่องที่ต้องแก้ไขในบางหมวดสินค้าที่เร่งส่งออกให้มากขึ้น ในส่วนของสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ทั้งธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ธนาคารเพื่อการส่งออกและการนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) และ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทยเอสเอ็มอี (SME BANK) ก็เข้ามาเชื่อมต่อ ถ้าขาดเงินในช่วงใด ก็พร้อมให้ความช่วยเหลือสินเชื่ออย่างต่อเนื่อง
ส่วนการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ที่อาจล่าช้าออกไปนั้น รมว.คลัง กล่าวว่า คงต้องรอให้รัฐบาลใหม่เข้ามาดูงบประมาณ ซึ่งตามปฏิทินก็ต้องเริ่มจัดทำกันแล้ว รัฐบาลใหม่ก็ต้องเข้ามาดูว่ามีส่วนไหนจะมีการปรับปรุงอย่างไร ส่วนมาตรการที่ดำเนินการไปแล้ว เช่น บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ก็มีการดำเนินการตามกฎหมายรอบปี 2564-2565 ได้ลงทะเบียนและจ่ายเงินไปหมดแล้ว ถ้าจะมีการปรับเปลี่ยน ก็ต้องขึ้นอยู่กับนโยบายของรัฐบาลใหม่
สำหรับการทำนโยบายรัฐสวัสดิการนั้น รมว.คลัง มองว่า ยังมีความจำเป็น โดยควรทำนโยบายการคลังที่มุ่งเป้ากลุ่มที่มีความเดือดร้อน การให้ช่วยเหลือแบบกว้างขวาง ในช่วงโควิด-19 ทุกอย่างก็คลี่คลายไปแล้ว ดังนั้นการใช้นโยบายการคลังก็ต้องมุ่งเป้าไปในทิศทางเดียวกับต่างประเทศ ที่หลายประเทศใช้เงินโควิดไปค่อนข้างเยอะก่อนหน้านี้
ส่วนความกังวลต่อนโยบายของรัฐบาลชุดใหม่นั้น ตนยังไม่รู้ เพราะต้องรอให้รัฐบาลชุดใหม่เข้ามาบริหารก่อน
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ