อียูบีบไทย ขอร่วมจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ 1 ล้านล้าน จับตาถก FTA รอบ 2 เข้มข้น

รศ.ดร.ปณิธาน วัฒนายากร ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงและการต่างประเทศ เปิดเผยกับฐานเศรษฐกิจ เกี่ยวกับประเด็น การเจรจาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลระหว่างไทย-กัมพูชา (overlapping claims areas – OCA) ซึ่งมีมูลค่านับล้านล้านบาทว่า เรื่องนี้เป็นความจำเป็นของทุกรัฐบาล และเป็นความ
 
จับตาถกเอฟทีเอไทย-อียูรอบ 2 เข้ม วงในเผยอียูรุกฆาตไทย ขอเปิดเสรีจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐแบบไร้เงื่อนไข หวังร่วมวงชิงเค้ก 1 ล้านล้าน สมาคมอุตฯก่อสร้างค้านหัวชนฝา ชี้ทุบผู้ประกอบการไทยเดี้ยง กรมเจรจาฯ ตั้งวงพร้อมถกรอบใหม่ 19 ประเด็น มั่นใจไทยไม่เสียเปรียบ
การเจรจาเพื่อจัดทำความตกลงการค้าเสรี (FTA)ไทยกับสหภาพยุโรป หรืออียู ที่มีสมาชิก 27 ประเทศ เป็นหนึ่งในเอฟทีเอใหม่ที่สำคัญ ที่ภาคเอกชนได้เรียกร้องให้ภาครัฐเร่งการเจรจา เพื่อเพิ่มแต้มต่อ และเพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้กับสินค้าและบริการของไทย เพื่อแข่งกับสินค้าจากหลายประเทศ เช่น จากเวียดนาม และสิงคโปร์คู่แข่งจากอาเซียนที่ได้บรรลุข้อตกลงเอฟทีเอกับอียู และมีผลบังคับใช้ไปแล้วก่อนหน้านี้
 
ขณะที่อียูเป็นหนึ่งในคู่หลักของไทย มีสัดส่วนประมาณ 7% ของการค้าไทยกับโลก(ส่งออก+นำเข้า)เป็นตลาดที่มีกำลังซื้อและมาตรฐานสูง ซึ่งการเจรจาเอฟทีเอไทย-อียูที่หยุดชะงักไปตั้งแต่ปี 2557 หลังไทยมีรัฐประหาร ทั้งสองฝ่ายได้ประกาศกลับมาเจรจาใหม่ในปี 2566 โดยรอบแรกจัดขึ้นวันที่ 18-22 ก.ย. 2566 ณ กรุงบรัสเซลส์ ของเบลเยียม ทั้งสองฝ่ายได้แลกเปลี่ยนข้อเสนอร่างความตกลงที่จะมีการเจรจากันใน 19 ประเด็น และการเจรจารอบที่ 2 จะจัดขึ้นในกรุงเทพฯ ระหว่างวันที่ 22-26 ม.ค. 2567 นี้
 
 
บีบไทยเปิดเสรีจัดซื้อจัดจ้าง
ทั้งนี้ หนึ่งประเด็นสำคัญในการเจรจา ที่ฝ่ายอียูเรียกร้องจากไทยคือ ขอให้มีการเปิดเสรีการจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ ซึ่งในแต่ละปีที่ผ่านมารัฐบาลไทยมีงบจัดซื้อจัดจ้างมากกว่า 1.2-1.4 ล้านล้านบาท รวมถึงในเรื่องการระงับข้อพิพาทในการลงทุนระหว่างภาคเอกชนกับรัฐ ให้สอดคล้องกับมาตรฐานของอียู ซึ่งทางผู้แทนฝ่ายอียูระบุชัดเจนในวงเจรจาว่า หากไทยไม่ยอมรับในประเด็นนี้ทางอียูจะไม่เปิดเสรีในเรื่องอื่น ๆ ให้กับไทย ซึ่งกระทรวงพาณิชย์มองว่าในเบื้องต้นไทยควรยอมรับหลักการเจรจาในเรื่องนี้ไปก่อน แล้วค่อยไปเจรจาในรายละเอียดว่าจะต้องมีกำหนดระยะเวลาให้ผู้ประกอบการภายในประเทศปรับตัวอย่างไร เหมือนกับกรณีประเทศเวียดนามที่ได้ทำข้อตกลงเอฟทีเอกับอียูไปก่อนหน้านี้
 
อย่างไรก็ตามจากการสอบถามความเห็นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องฝ่ายไทยทั้งภาครัฐและเอกชนส่วนใหญ่มองว่า ไทยยังไม่ควรเปิดเสรีในเรื่องการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ เพราะจะทำให้เอกชนไทยไม่สามารถแข่งขันกับนักลงทุนยุโรปที่มีเงินทุน และเทคโนโลยีที่ดีกว่า แต่กระทรวงพาณิชย์มองว่าหากไทยไม่ยอมในเรื่องนี้อาจทำให้การเจรจาเอฟทีไทย-อียูล้ม และจะกระทบศักยภาพการแข่งขันของประเทศในระยะยาว
 
 
ขณะที่ปัจจุบันอียูมีการจัดทำความตกลงการค้าเสรีครอบคลุมประเทศต่าง ๆ ที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับไทย อาทิ ญี่ปุ่น สิงคโปร์ และเวียดนามแล้ว ทำให้ประเทศเหล่านี้มีแต้มต่อทางการค้าเหนือไทย หากการเจรจาสำเร็จจะช่วยให้ไทยสามารถรักษาส่วนแบ่งตลาดในอียู โดยเฉพาะจากประเทศที่มีโครงสร้างสินค้าคล้ายคลึงกับไทยและมีเอฟทีเอกับอียู เช่น เวียดนาม ในหลายสินค้าอุตสาหกรรม
 
สมาคมฯก่อสร้างค้านสุดลิ่ม
นางสาวลิซ่า งามตระกูลพานิช นายกสมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ (TCA) กล่าวถึง การเจรจาเอฟทีเอไทย-อียู ที่อียูขอเงื่อนไขให้ต่างชาติสามารถเข้าร่วมการจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐของไทยได้ 100% โดยไม่ต้องร่วมกิจการร่วมค้า (Joint Venture) กับผู้รับเหมาในไทยว่า เรื่องนี้ทางสมาคมไม่เห็นด้วย เนื่องจากเป็นเงื่อนไขที่ไม่ได้ประโยชน์อะไรแก่ผู้รับเหมาและประเทศชาติ เช่น ต่างชาติสามารถเข้ามาจัดซื้อจัดจ้างมูลค่า 200 ล้านบาท, ต่างชาติไม่จำเป็นต้องมีถ่ายทอดเทคโนโลยี ฯลฯ ซึ่งประเด็นเหล่านี้ไม่ได้เป็นการส่งเสริมในอุตสาหกรรมก่อสร้าง
 
เงื่อนไขข้างต้นถามว่าผู้รับเหมามีความกังวลหรือไม่นั้น ปัจจุบันเรื่องนี้อยู่ในขั้นตอนของการเจรจา ซึ่งยังไม่ได้ออกไปสู่สาธารณะแต่เบื้องต้นทางกรมบัญชีกลางได้เชิญสมาคมฯไปหารือ โดยสมาคมฯได้มีการยื่นหนังสือหารือในประเด็นเหล่านี้แล้ว ซึ่งเป็นการชี้ให้เห็นถึงการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ รวมทั้งในวงการอุตสาห กรรมก่อสร้างไม่ควรเปิดให้ต่างชาติเข้ามาร่วมจัดซื้อได้แบบเสรี
 
“เมื่อมีการจัดซื้อจัดจ้างแบบเสรี หากต่างชาติเข้ามาในกรณีที่เกิดเหตุด้านความปลอดภัยหรือมีปัญหาในด้านสิ่งก่อสร้างที่ดำเนินการ เขาสามารถเดินทางกลับประเทศได้เลย เพราะไม่ได้อาศัยอยู่ในไทย ซึ่งเขาจะต้องรับผิดชอบตามกฎหมายไทยหรือไม่ ประเด็นนี้ยังไม่มีความชัดเจน เรื่องนี้ภาครัฐควรพิจารณาว่าคุ้มหรือไม่กับการเปิดโอกาสให้ต่างชาติเข้ามาร่วม ซึ่งจะส่งผลให้ประชาชนได้รับความเสี่ยงไปด้วย”
 
งบจัดจ้างปี 67 ใช้ไปพลาง 7.8 หมื่นล.
นางสาวทิวาพร ผาสุข รองอธิบดี กรมบัญชีกลาง ในฐานะโฆษกกรมบัญชีกลาง กล่าวว่า เม็ดเงินลงทุนขอบงภาครัฐในปีงบประมาณ 2567 อยู่ที่ 20% ของวงเงินงบประมาณรายจ่าย 3.4 ล้านล้านบาท อย่างไรก็ดี ยังไม่สามารถสรุปได้ว่าเม็ดเงินในภาพรวมของการจัดซื้อจัดจ้างในปีงบประมาณ 2567 นี้จะอยู่ที่เท่าไร เนื่องจากงบประมาณยังไม่มีผลบังคับใช้ และในสัดส่วน 20% ดังกล่าว ยังรวมถึงงบประมาณที่ใช้สำรองรายจ่ายกรณีฉุกเฉินด้วย
 
อย่างไรก็ดี ระหว่างรองบประมาณปี 2567 มีผลบังคับใช้ ได้มีการใช้งบไปพลางก่อนเพื่อให้เม็ดเงินการลงทุนของรัฐลงสู่ระบบเศรษฐกิจ โดยงบประมาณจัดซื้อจัดจ้างจากการใช้งบไปพลางก่อนอยู่ที่ 78,264 ล้านบาท มูลค่าโครงการรวม 73,684 ล้านบาท และเป็นจำนวนโครงการ 293,450 โครงการ
 
กรมเจรจาฯพร้อมถกรอบ 2
ด้าน นางสาวโชติมา เอี่ยมสวัสดิกุล อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ (จร.) กระทรวงพาณิชย์ เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเจรจาเอฟทีเอไทย-อียูรอบที่ 2 ระหว่างวันที่ 22-26 มกราคมนี้ โดยมีตนเป็นหัวหน้าคณะเจรจาฝ่ายไทย ซึ่งทั้งสองฝ่ายจะมีการเจรจากลุ่มย่อยระดับผู้เชี่ยวชาญใน 19 ประเด็น ซึ่งฝ่ายไทยได้เตรียมผู้เชี่ยวชาญในแต่ละประเด็นจากหลายกระทรวงที่เกี่ยวข้องร่วมเจรจา เวลานี้มีความพร้อมแล้วเกือบ 100%
 
สำหรับในประเด็นการจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐที่อียูต้องการให้ไทยเปิดเสรี คงได้เจรจาต่อรองผลประโยชน์กันว่าไทยสามารถเปิดเสรีได้หรือไม่ หรือเปิดได้แค่ไหน มีระยะเวลาให้ไทยปรับตัวได้หรือไม่ และอียูจะให้อะไรกับไทยบ้าง เพราะทั้งสองฝ่ายต่างมีประเด็นที่เป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่ต้องเจรจาต่อรองกัน ไม่ใช่เฉพาะเรื่องการจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐเท่านั้น ซึ่งเป็นเบสิคในการเจรจาต่อรองอยู่แล้ว โดยในส่วนของการเปิดเสรีการค้าสินค้าที่ไทยต้องการเข้าถึงตลาดอียูได้มากขึ้นจากการลดภาษีและการอำนวยความสะดวกต่าง ๆ เช่น ในสินค้าเกษตร และอุตสาหกรรม มีกลุ่มใดบ้างที่อียูจะเปิดเสรีลดภาษีให้ไทยเป็น 0% ทันที หรือเป็น 0 ใน 5 ปี 10 ปี หรือไม่เปิดเลย เป็นต้น
 
“เอฟทีเอกับอียูเป็นเอฟทีเอที่มีมาตรฐานสูง ซึ่งฝ่ายไทยโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (ภูมิธรรม เวชยชัย) ได้มอบนโยบายว่า ขอให้เจรจาและสรุปผลภายใน 2 ปี หรือภายในปี 2568 เพื่อเพิ่มศักยภาพการค้า การลงทุนระหว่างไทยและอียูอย่างมีนัยสำคัญ ขณะที่อียูก็อยากมีเอฟทีเอกับเราเพื่อเข้าถึงตลาดสินค้า และอื่น ๆ ในไทยมากขึ้น ทั้งนี้การเจรจายังเป็นรอบแรก ๆ อาจจะยังไม่มีข้อตกลงอะไร แต่จะเป็นลักษณะคุยกันให้เคลียร์ว่า สิ่งที่แต่ละฝ่ายต้องการคืออะไร ซึ่งมีเรื่องต้องเจรจาหารือกันอีกมาก เบื้องต้นทางคณะเจรจาคงไม่กล้าไปเปิดอะไรเสรีโดยพลการอย่างแน่อน ทุกเรื่องต้องมีการเจรจาต่อรองกัน”
 
ครม.ไฟเขียวจัดซื้อจัดจ้างรับถกอียู
 ขณะที่นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำนักนายกรัฐมนตรี แถลง(16 ม.ค. 2567) ว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้เห็นชอบข้อเสนอของกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ว่าด้วยข้อเสนอนโยบายการกำหนดเงื่อนไขว่าด้วยการสร้างความสามารถทางด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมในประเทศ อันเกิดจากการจัดซื้อจัดจ้างจากต่างประเทศของภาครัฐ โดยสภานโยบายการศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือเงื่อนไข OFFSET (การชดเชยให้มีการตอบแทน) ซึ่งเป็นมาตรการเพื่อรองรับการเจรจาเอฟทีเอไทย-อียูรอบที่ 2 โดยกำหนดให้การจัดซื้อจัดจ้างที่ใช้งบประมาณของภาครัฐ หรือการใช้งบประมาณของภาครัฐร่วมกับภาคเอกชนในโครงการจัดซื้อจัดจ้างขนาดใหญ่ที่มีมูลค่าตั้งแต่ 1,000 ล้านบาทขึ้นไป
 
 โดยให้ครอบคลุมสาขาอุตสาหกรรมและเทคโนโลยี ดังต่อไปนี้ อุตสาหกรรมเป้าหมาย ว่าด้วยอุตสาหกรรมวัสดุ อุตสาหกรรมดิจิทัล อุตสาหกรรมอวกาศ อุตสาหกรรมป้องกันประเทศและบรรเทาสาธารณะภัย อุตสาหกรรมการแพทย์และสุขภาพ อุตสาหกรรมการขนส่งและโลจิสติกส์ และอุตสาหกรรมพลังงานขณะที่เทคโนโลยี เป้าหมายให้ครอบคลุมจีโนมิกส์และเทคโนโลยีชีวภาพ เทคโนโลยีวัสดุและนาโนเทคโนโลยี เทคโนโลยีดิจิทัลและปัญญาประดิษฐ์ (AI) เทคโนโลยีสีเขียว เทคโนโลยีพลังงาน และเทคโนโลยีสะอาด เทคโนโลยีการสัญจร
 
 อนึ่ง สหภาพยุโรป หรืออียู มี 27 ประเทศ ได้แก่ ออสเตรีย เบลเยียม บัลแกเรีย ไซปรัส เช็ก เดนมาร์ก เอสโตเนีย ฟินแลนด์ ฝรั่งเศส เยอรมนี กรีซ ฮังการี ไอร์แลนด์ อิตาลี ลัตเวีย ลิทัวเนีย ลักเซมเบิร์ก มอลตา เนเธอร์แลนด์ โปแลนด์ โปรตุเกส โรมาเนีย สโลวะเกีย สโลวีเนีย สเปน สวีเดน และโครเอเชีย ซึ่งหากบรรลุข้อตกลงจัดทำเอฟทีเอสำเร็จจะเป็นเอฟทีเอที่มีจำนวนสมาชิกคู่สัญญามากที่สุดของไทย
 
สำหรับเอฟทีเอไทย-สหภาพยุโรป (อียู) จะเจรจากันใน 19 ประเด็นหลัก ได้แก่ (1) การค้าสินค้า (2) กฎถิ่นกําเนิดสินค้า (3) พิธีการศุลกากรและการอํานวยความสะดวกทางการค้า (4) มาตรการเยียวยาทางการค้า (5) มาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช (SPS) (6) อุปสรรคทางเทคนิคต่อการค้า (TBT)(7) การค้าบริการและการลงทุน (8) การค้าดิจิทัล (9) ทรัพย์สินทางปัญญา (10) การแข่งขันและการอุดหนุน (11) การจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ (12) การค้าและการพัฒนาที่ยั่งยืน (13) วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) (14) รัฐวิสาหกิจ (15) พลังงานและวัตถุดิบ (16) ระบบอาหารที่ยั่งยืน (17) ความโปร่งใสและหลักปฏิบัติที่ดีด้านกฎระเบียบ (18) การระงับข้อพิพาท และ (19) บทบัญญัติเบื้องต้น บทบัญญัติทั่วไป บทบัญญัติสุดท้าย บทบัญญัติเกี่ยวกับสถาบัน และข้อยกเว้น
 
 
ที่มา: ฐานเศรษฐกิจ
 

@Admin TVBC

สนใจสมัครสมาชิกหรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

ฝ่ายเลขานุการฯ
โทร: 02-018-6888 ต่อ 4340
Email: tvbc.secretariat@gmail.com

:)