"ซีอาร์จี" ชี้ร้านอาหารโตแรง แนะระวังต้นทุน-โฟกัสทำกำไร
แผนเคลื่อนทัพธุรกิจอาหาร 5 ปี ของ "ซีอาร์จี" ลุยทุ่มงบก้อนโต 6,000 ล้านบาท เพื่อเปิดร้านอาหารแบรนด์เดิม และเพิ่มแบรนด์ใหม่ มองโอกาส "ซื้อและควบรวมกิจการ" ตลอดจนการ "ร่วมทุน" กับพันธมิตร สร้าง "ทางลัด" การเติบโตของรายได้โตเกือบ "เท่าตัว" ทำเงินแตะ 3 หมื่นล้านบาท
ขณะที่ปี 2567 ลงทุน 1,000 ล้านบาท เปิดร้านอีก 100 สาขา ผลักดันรายได้อยู่ที่ 1.6 หมื่นล้านบาท เติบโต 14%
“ซีอาร์จี” ธุรกิจร้านอาหารในเครือเซ็นทรัล และเป็น “บิ๊กโฟร์” ของผู้เล่นรายใหญ่ที่มีร้านอาหารและแบรนด์ในพอร์ตโฟลิโอมากมาย จำนวนสาขาที่ให้บริการนับพัน รวมถึงสร้างรายได้ระดับ “หมื่นล้านบาท” จากขุมทรัพย์ตลาดมูลค่าระดับ “แสนล้านบาท” มองเทรนด์ปี 2567 ร้านอาหารประเภทชาบู ปิ้งย่าง ยังมาแรง ขานรับพฤติกรรมผู้บริโภคกิน 5 มื้อ ไม่เว้นกระทั่งดึกดื่นเที่ยงคืน จับตาค่าแรงขึ้นรอบใหม่ วัตถุดิบ ค่าไฟ ยังกดดัน “ต้นทุน” ธุรกิจให้สูง
ชาบู ปิ้งย่างโต รับพฤติกรรมคนไทยกิน 5 มื้อ
นายณัฐ วงศ์พานิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป จำกัด (CRG) เปิดเผยว่า ภาพรวมธุรกิจร้านอาหารปี 2567 คาดการณ์เติบโต 5-7% มีมูลค่า 4.8 แสนล้านบาท สูงกว่าปีก่อนที่ตลาดรวมอยู่ที่ 4.3 แสนล้านบาท โดยหมวดหมู่ร้านอาหารที่ยังเติบโต ได้แก่ ร้านอาหารบริการด่วนหรือคิวเอสอาร์ เช่น ไก่ทอดเคเอฟซี ส่วนที่ร้อนแรงจะเป็นประเภทร้านชาบู ปิ้งย่าง ที่มีผู้เล่นเข้ามาทำตลาดกันอย่างคึกคัก
นอกจากนี้ พฤติกรรมผู้บริโภคที่หนุนให้ธุรกิจร้านอาหารยังขยายตัว คือการกลับมารับประทานอาหารนอกบ้านมากขึ้น หากเทียบกับตอนเกิดโรคโควิด-19 ระบาด บริการส่งอาหารหรือดิลิเวอรี ครองสัดส่วนได้ 80% เพราะร้านอาหารปิดให้บริการ และบางรายมองโอกาสทำรายได้โดยไม่ต้องมีหน้าร้าน จึงปิดสาขาไปด้วย
ทว่า ปัจจุบันการนั่งทานที่ร้านหรือได-อิน และการซื้อกลับบ้านมีสัดส่วนกลับมา 80% และดิลิเวอรี 20% ถือเป็นจุดสมดุลของตลาดแล้ว อีกเทรนด์สำคัญคือ พฤติกรรมคนไทยมีการรับประทานอาหาร 5 มื้อต่อวัน จากเดิม 3 มื้อต่อวัน ได้เพิ่มมื้อบ่าย และมื้อดึก กลายเป็นโอกาสหรือ Occasion การทานอาหารหลากหลายมากขึ้น
“ตลาดสุกี้กำลังถูกท้าทายอย่างมาก เพราะมีแบรนด์ผู้เล่นน้องใหม่เข้ามาและสร้างการเติบโตร้อนแรงมาก ใครจะคิดว่าผู้บริโภคจะไปทานสุกี้ตอนตี 1 ตี 2 ตอนนี้อ็อคเคชันการทานอาหารเปลี่ยนไป จากกิน 3 มื้อ ขยับเป็น 4 มื้อ และ 5 มื้อ ไปกินมื้อดึกที่ร้าน ทำให้ร้านอาหารที่เปิดตั้งแต่ 3 ทุ่มถึงตี 3 เติบโต รวมถึงแบรนด์นักล่าหมูกระทะของเราด้วย จากเดิมมื้อดึกจะเป็นการสั่งดิลิเวอรี และใช้บริการไดรฟ์ทรู”
แผน 5 ปี “ซีอาร์จี” ลุยลงทุน 6,000 ล้านบาท
“ซีอาร์จี” เป็นบิ๊กโฟร์ธุรกิจร้านอาหาร การขับเคลื่อนธุรกิจเพื่อสร้างการเติบโต ได้วางแผน 5 ปี เตรียมงบลงทุน 6,000 ล้านบาท เพื่อขยายร้านอาหาร โดยผลักดันแบรนด์และร้านเดิม (Same Store)ให้เติบโตขึ้น อีกต่างยังมองการเติบโตแบบก้าวกระโดดหรือ Inorganic ด้วยการหาแบรนด์ใหม่ๆมาเสริมพอร์ต ผ่านการซื้อและควบรวมกิจการ(M&A) การร่วมทุน
นอกจากนี้ จะเห็นการลุยตลาดต่างประเทศ โดยผสานจุดแข็งของกลุ่มธุรกิจโรงแรมเซ็นทารา เป็นต้น จากที่ผ่านมา มีการผนึกพันธมิตรบริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ โออาร์ ลุยธุรกิจร้านกาแฟในประเทศเวียดนาม
ทั้งนี้ ตามแผน 5 ปี บริษัทยังวางเป้าหมายรายได้ทะยานสู่ 3 หมื่นล้านบาท เติบโตเกือบเท่าตัว จากปี 2567 ที่บริษัทตั้งเป้ารายได้รวมอยู่ที่ 1.66 หมื่นล้านบาท เติบโต 14% จากปี 2566 ปิดรายได้ 1.45 หมื่นล้านบาท เติบโต 13% และมีกำไรสุทธิ 479 ล้านบาท
“เราจะโตจากแบรนด์ที่มีและสาขาเดิม รวมถึงมองโอกาสโต Inorganic ด้วย ซึ่งการร่วมทุน ซื้อกิจการจะช่วยเพิ่มสปีดธุรกิจได้ โดยเป้าหมายนอกจากรายได้ เรายังต้องการรักษาความแข็งแกร่งการเป็นบิ๊กโฟร์ในธุรกิจร้านอาหารด้วย”
ปี67ขยาย100สาขาเติม2-3แบรนด์ใหม่เข้าพอร์ต
สำหรับปี 2567 แนวทางเคลื่อนธุรกิจร้านอาหาร ได้วางยุทธศาสตร์ Empowering EXCELLENCE, Embracing SUSTAINABILlTY ด้วย 4 กลยุทธ์หลัก ได้แก่ 1. GROW เติบโตด้วยศักยภาพ เน้นการเพิ่มยอดขายจากการเร่งขยายสาขาใหม่ 2. DRIVE : ขับเคลื่อนสู่เป้าหมาย 3.BUILD เสริมสร้างความแข็งแกร่ง ร่วมทุนพันธมิตร และ 4.EXPEDITE ผลักดันความยั่งยืนทุกมิติ
โดยการลงทุนวางงบ 1,000 ล้านบาท เพื่อเปิดร้านอาหารแบรนด์ต่างๆ ไม่ต่ำกว่า 100 สาขา โดยเฉพาะ 3 เรือธง ได้แก่ เคเอฟซี มิสเตอร์โดนัท และชินคันเซ็น ซูชิ (แบรนด์ร่วมทุน) ซึ่งเป็นแบรนด์ที่ทำยอดขายเกินระดับ 1,000 ล้านบาททั้งหมด
นอกจากนี้ บริษัทยังมองโอกาสในการซื้อกิจการ ร่วมทุนกับแบรนด์ใหม่ 2-3 แบรนด์ โดยความสนใจยังเป็นร้านอาหารประเภทชาบู สุกี้ยากี้ และปิ้งย่าง ส่วนคุณสมบัติพันธมิตรที่จะร่วมทุน ประกอบด้วย เจ้าของกิจการต้องมีความตั้งใจ มีไฟในการขยายธุรกิจ ไม่ใช่ขายกิจการได้เงินแล้วไป 2.เป็นร้านที่มีสาขาจำนวนหนึ่ง มีโอกาสเติบโต ไม่ใช่อิ่มตัว เช่น มี 10 สาขา ต้องเติบโตได้อีก 40 สาขา และ3.แบรนด์ที่มียอดขายสูง และมีศักยภาพทำกำไร
“ตลาดชาบู คนไทยชอบมาก เพราะมองเป็นอาหารต้มๆ เหมือนตอบโจทย์สุขภาพ และเป็นตลาดใหญ่ สะท้อนจากมีผู้เล่นเข้ามาท้าทายต่อเนื่อง ทั้งที่เคยถูกมองเป็นหมวดที่อิ่มตัว แต่แบรนด์ใหม่ที่เข้ามาเติบโต และสร้างเซ็กเมนต์ใหม่ ทานตอนกลางคืน บริษัทจึงมองโอกาสโตอีกมาก”
ขณะที่ปี 2566 ซีอาร์จี ใช้เงินลงทุนราว 800 ล้านบาท ขยายร้านอาหาร 140 สาขา ส่งผลให้มีร้านบริการลูกค้า 1,600 สาขา จาก 21 แบรนด์ เช่น เคเอฟซี โอโตยะ อานตี้ แอนส์ ส้มตำนัว สลัดแฟคทอรี่ นักล่าหมูกระทะ ฯ
โจทย์ใหญ่ระวังต้นทุน โฟกัสร้านทำกำไร
สำหรับโจทย์ท้าทาย ในการทำธุรกิจร้านอาหารปีนี้ ยังเป็นสถานการณ์เศรษฐกิจที่ฟื้นตัวช้า หนี้ครัวเรือนสูงขึ้น สะท้อนการดึงอำนาจซื้อของผู้บริโภค การแข่งขันธุรกิจร้านอาหารที่สูง เพราะเป็นตลาดที่ไม่มีกำแพง คู่แข่งเข้ามาได้ง่าย เนื่องจากลงทุนต่ำ เปิดร้านหากขาดทุนจะปิดกิจการทันที สอดคล้องกับข้อมูลไลน์แมน วงใน ระบุว่าปี 2566 มีร้านอาหารเปิดใหม่ 1 แสนร้าน แต่ 50% ปิดตัวลงตั้งแต่ปีแรก และ 65% ปิดตัวลงภายใน 3 ปี
"การขยายธุรกิจ ซีอาร์จี จึงโฟกัสการขยายสาขาของแบรนด์ และร้านที่ทำกำไร โดยเฉพาะพิจารณากำไรก่อนหักภาษี (EBITDA) ซึ่งในพอร์ตโฟลิโอ แบรนด์และร้านที่ทำยอดขายสูงอย่างเคเอฟซี มิสเตอร์โดนัท ฯ กำไรแกร่ง"
ทั้งนี้ปี 2566 บริษัทปิดร้านที่ไม่ทำกำไรราว 40 สาขา เช่น อร่อยดี และแกร๊บคิทเช่น บาย เอเวอรีฟู้ด ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเหมือนครัวกลาง รองรับบริการดิลิเวอรี และเป็นสาขาขนาดเล็กอยู่ในสถานีบริการน้ำมัน (ปั๊ม)
อีกปัจจัยเสี่ยงปี 2567 คือสถานการณ์ต้นทุน ทั้งวัตถุดิบ ราคาพลังงาน รวมถึงค่าแรงขั้นที่จะปรับเพิ่มขึ้นอีกระลอกกลางปี หลังจากต้นปีขยับขึ้นแล้ว ซึ่งธุรกิจร้านอาหารต้องใช้แรงงานจำนวนมาก อย่างซีอาร์จี มีพนักงานหน้าร้านให้บริการลูกค้าถึง 1.4 หมื่นคน อย่างไรก็ตาม บริษัทได้เตรียมแผนงานรองรับความเปราะบางและต้นทุนสูงไว้แล้ว
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ