"BOI" ชู 5 จุดแข็งไทย ก้าวสู่เบอร์ 1 อิเล็กทรอนิกส์อาเซียน

"บีโอไอ" คลอดมาตรการส่งเสริมลงทุนสำหรับแผงวงจรอเล็กทรอนิกส์ ดึงลงทุนคลัสเตอร์ซัพพลายเชน PCB ครั้งใหญ่ตั้งเป้าอีก 10 บริษัทระดับท็อปปักหลักในไทยหลังลงทุนแล้ว 10 ราย เงินลงทุนแสนล้านบาท "โซนี่" ขยายลงทุนสร้างอาคารรองรับการผลิตชิ้นส่วนอุปกรณ์เซมิคอนดักเตอร์ในไทย
 
คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บอร์ดบีโอไอ) ซึ่งมีนายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เป็นประธานเมื่อวันที่ 28 มี.ค.2567 เห็นชอบมาตรการส่งเสริมการลงทุนอิเล็กทรอนิกส์
 
นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า บีโอไอเห็นชอบปรับปรุงมาตรการส่งเสริมการลงทุนกิจการในกลุ่มแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ (Printed Circuit Board: PCB) ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ ยานยนต์ไฟฟ้า อุปกรณ์การแพทย์ เครื่องจักรระบบอัตโนมัติ และดิจิทัล
 
ทั้งนี้ เพิ่มเติมบัญชีประเภทกิจการที่ให้การส่งเสริมในกลุ่มแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ (PCB) ให้ครอบคลุมกิจการสนับสนุนที่สำคัญในห่วงโซ่อุปทานของ PCB ได้แก่
 
1.กิจการสนับสนุนการผลิต PCBได้แก่ Lamination, Drilling, Plating และ Routing
2.กิจการผลิตวัตถุดิบสำคัญสำหรับการผลิต PCBได้แก่ Copper Clad Laminate (CCL), Flexible CCL (FCCL) และ Prepreg 
3.กิจการผลิตวัตถุดิบและวัสดุจำเป็นอื่นสำหรับการผลิต PCB เช่น Dry Film, Transfer Film, Backup Board
 
ดันลงทุนอิเล็กทรอนิกส์แสนล้าน
 
รวมทั้ง PCB เป็นแผงวงจรที่รวบรวมชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และอุปกรณ์เซมิคอนดักเตอร์ (Chip) เพื่อเชื่อมการทำงานของชิ้นส่วนและควบคุมระบบต่างๆ ในผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้าทุกชนิด ถือเป็นขั้นตอนการผลิตที่มีความสำคัญที่สุดขั้นตอนหนึ่งในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ที่ผ่านมามีโครงการขอรับการส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรม PCB แล้ว40 บริษัท 
 
โดยเฉพาะจากจีน ไต้หวันและญี่ปุ่น ซึ่งปี 2566 มีมูลค่าลงทุนรวมกันกว่า 1 แสนล้านบาท และเป็นการลงทุนโดยบริษัทชั้นนำในอุตสาหกรรมนี้กว่า 10 ราย จากทั่วโลกที่มี 20 รายที่เป็นผู้นำ
 
รวมทั้งคาดว่าหลังจากมีการปรับปรุงมาตรการครั้งนี้แล้วไทยจะดึงดูดการลงทุน PCB ของรายใหญ่ของโลกอีก 10 รายเข้ามาลงทุนในไทยซึ่งจะสร้างคลัสเตอร์ของ PCB และจะมีการลงทุนเพิ่มขึ้นในส่วนแรกไม่ต่ำกว่า 1 แสนล้านบาทหรือโรงงานละกว่า 1 หมื่นล้านบาท รวมทั้งมีการลงทุนในซัพพลายเชนที่เกี่ยวข้องต่อเนื่องซึ่งแต่ละรายจะมีซัพพลายเชนที่เกี่ยวข้องทั้งไทยและต่างประเทศกว่า 200-400 ราย
 
นอกจากนี้ จะได้รับสิทธิประโยชน์ยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักร ยกเว้นอากรขาเข้าวัตถุดิบที่นำมาผลิตเพื่อส่งออก และยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสูงสุด 8 ปี โดยจำแนกตามความสำคัญของวัตถุดิบ เทคโนโลยี และขนาดการลงทุน
 
“ไทยเป็นฐานการผลิต PCB อันดับ 1 ของอาเซียน หากไทยสามารถช่วงชิงโอกาสในการสร้างซัพพลายเชนของการผลิต PCB ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ได้อย่างครบวงจร ก็มีความเป็นไปได้สูงที่จะก้าวสู่การเป็นฐานการผลิตอิเล็กทรอนิกส์ชั้นนำในตลาดโลกได้ในอนาคต” นายนฤตม์ กล่าว
 
ทั้งนี้ การลงทุนอิเล็กทรอนิกส์ในไทยถือว่าขยายตัวขึ้นสูงมากจากการลงทุนเพื่อรองรับกระแสการโยกย้ายฐานการผลิตครั้งใหญ่จากแรงกดดันของปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ของโลก โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงอย่างอิเล็กทรอนิกส์ โดยปีที่ผ่านมาขอส่งเสริมการลงทุนอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ 3.4 แสนล้านบาท เป็น PCB 1 แสนล้านบาท
 
นอกจากนี้คณะทำงานของไทยใช้ความพยายามเต็มที่ชักจูงการลงทุนของอิเล็กทรอนิกส์ต้นน้ำให้เข้ามาลงทุนในไทย ซึ่งขณะนี้มีโรงงานผลิตแผ่นเวเฟอร์ที่จะเข้ามาลงทุนทั้งแบบที่เป็นโรงงานเวเฟอร์ที่มีซิลิคอนคาร์ไบด์ โรงงานออกแบบชิป และโรงงานทดสอบและดีไซด์ชิปซึ่งเป็นการลงทุนขนาดใหญ่ที่กำลังจะเกิดขึ้น ทำให้เรามีความได้เปรียบในการผลิตเซมิคอนดักเตอร์และชิปขั้นสูงในระยะต่อไป
 
ทั้งนี้ข้อได้เปรียบของประเทศไทยในการเป็นฐานการผลิตอิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูง ชิป และเซมิคอนดักเตอร์ขั้นสูงในไทยก็คือ
 
1.เรื่องของความพร้อมในเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน
 
2.การมีไฟฟ้าและพลังงานสะอาด 
 
3.การมีน้ำที่พอเพียงเพราะอุตสาหกรรมนี้ใช้น้ำมาก
 
4.มีบุคลากรที่มีความรู้และมีความเชี่ยวชาญซึ่งขณะนี้ประเทศไทยได้เร่งสร้างบุคลากรด้านนี้โดยร่วมกับบริษัทที่เข้ามาลงทุนเพื่อให้มีจำนวนบุคลากรที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญด้านอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มขึ้น
 
และ 5.การมีตลาดรองรับการลงทุนขนาดใหญ่ทั้งในประเทศ และการส่งออกไปต่างประเทศ โดยในประเทศมีความต้องการเซมิคอนดักเตอร์มากขึ้นเรื่อยๆ 
 
“โซนี่” ขยายลงทุนเซมิคอนดักเตอร์
 
บริษัท โซนี่ เซมิคอนดักเตอร์ โซลูชั่นส์ คอร์ปอเรชั่น เปิดฐานทัพใหม่อาคารผลิตเซมิคอนดักเตอร์ที่บริษัท โซนี่ ดีไวซ์ เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด (SDT) เพื่อเป็นศูนย์กลางการผลิตในการประกอบชิ้นส่วนอุปกรณ์เซมิคอนดักเตอร์ โดยเป็นโรงงานประกอบเซนเซอร์รับภาพ สำหรับการใช้งานในยานยนต์ และอุปกรณ์แสดงผลต่างๆ ตลอดจนการผลิตอุปกรณ์เลเซอร์ เป็นจำนวนมาก สำหรับนำไปใช้งานภายในศูนย์ข้อมูล
 
ในอนาคตโซนี่วางแผนว่าจะขยายโรงงานการผลิตที่อาคาร 4 เพื่อให้สอดคล้องกับแนวโน้มของตลาดเซมิคอนดักเตอร์ที่จะขยายตัวเพิ่มขึ้นทั่วโลกในเวลาอันใกล้นี้ ในขณะเดียวกันยังวางแผนที่จะเพิ่มอัตราการจ้างงานในท้องถิ่นอีกกว่า 2,000 ตำแหน่ง ซึ่งสนับสนุนการขยายอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ในไทย
 
นายทาเคชิ มะสึดะ กรรมการผู้จัดการ บริษัท โซนี่ ดีไวซ์ เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า อาคารใหม่ช่วยให้โซนี่ส่งมอบผลิตภัณฑ์ที่เป็นที่ต้องการของลูกค้า ซึ่งจะขยายตลาดระยะกลางและระยะยาวได้มากขึ้น ขณะที่อาคารผลิตเซมิคอนดักเตอร์แห่งใหม่ใช้พลังงานสะอาด และบริษัท โซนี่ ดีไวซ์ฯ ตั้งใจทำมาตลอด ยืนยันได้จากการดำเนินธุรกิจโดยใช้พลังงานหมุนเวียน 100% อย่างต่อเนื่อง
 
ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ
 

@Admin TVBC

สนใจสมัครสมาชิกหรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

ฝ่ายเลขานุการฯ
โทร: 02-018-6888 ต่อ 4340
Email: tvbc.secretariat@gmail.com

:)