พาณิชย์ ชี้ สหรัฐตัด GSP กระทบไทย 19 ล้านเหรียญ เร่งเจรจาหาทางออก
พาณิชย์ เผยสหรัฐฯ ตัดสิทธิฯ GSP สินค้าไทยเพิ่มเติม 231 รายการ อ้างไทยไม่มีการเปิดตลาดสุกร ชี้ไทยเจรจาหาทางออก พร้อมกำหนดมาตรการรองรับผลกระทบ แนะ เอกชนปรับตัวเร่งแข่งขัน ด้านคุณภาพ มาตรฐานสินค้า
รายงานข่าวจากสำนักข่าวต่างประเทศ ระบุว่าประธานาธิบดีสหรัฐได้ประกาศตัดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP) สำหรับสินค้าไทยคิดเป็นมูลค่าถึง 25,000 ล้านบาท หลังจากสหรัฐฯไม่สามารถเจรจาเพื่อส่งออกเนื้อหมูเข้าไปในตลาดประเทศไทยได้ จึงมองว่าไม่ยุติธรรม จึงได้ประกาศตัด GSP โดยจะมีผลตั้งแต่วันที่ 30 ธันวาคม 2563 นี้เป็นต้นไป
ขณะที่ สำนักงานผู้แทนการค้าของสหรัฐ (ยูเอสทีอาร์) ได้ประกาศเมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2563 ที่ผ่านมา การตัดสิทธิ GSP สินค้าไทยมูลค่า 817 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ คิดเป็น 25,000 ล้านบาท เป็นผลมาจาก กระบวนการการเพื่อให้สหรัฐเข้าถึงตลาดสินค้าเนื้อหมูอย่างยุติธรรมและสมเหตุสมผล โดยการเจรจาในปัจจุบันไม่มีความก้าวหน้าเพียงพอ จึงเป็นเหตุทำให้สหรัฐฯ ซึ่งติดตามความก้าวหน้าในการบังคับใช้โครงการด้านการค้าเพื่อประโยชน์ของสหรัฐ
สำหรับรายชื่อสินค้าไทยที่จะถูกตัดสิทธิ GSP ซึ่งมีผลในวันที่ 30 ธันวาคม 2563 นี้ มีรายการสินค้า เช่น ชิ้นส่วนรถยนต์ เครื่องครัว อะลูมิเนียม หอย มะม่วง อาหารอบแห้ง รวมถึงสินค้าอิเลคทรอนิคส์บางชนิด โดยการประกาศตัดสิทธิ GSP ครั้งล่าสุดนี้ มีขึ้นหลังจากไทยถูกตัดสิทธิ์ GSP เมื่อเดือนเมษายน 2563 ที่ผ่านมามีมูลค่าสินค้า 1,300 ล้านดอลลาร์หรือราว 40,000 ล้านบาท
ด้านนายกีรติ รัชโน อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมฯได้รับการแจ้งจากสำนักงานพาณิชย์ในต่างประเทศ ณ กรุงวอชิงตัน ถึงประกาศประธานาธิบดีสหรัฐฯ (Presidential Proclamation) เกี่ยวกับผลการพิจารณาตัดสิทธิ GSP ของสหรัฐฯ ซึ่งครั้งนี้เป็นการทบทวนรายประเทศ (Country Practice) โดยเป็นเรื่องของการเปิดตลาดสินค้าและบริการ ในประเด็นการเปิดตลาดสินค้าเนื้อสุกรและผลิตภัณฑ์ เนื่องจากสหรัฐฯ เห็นว่าการเปิดตลาดสินค้าของไทยนั้น ไม่อยู่ในระดับที่เท่าเทียมและสมเหตุสมผล
โดยไทยได้ชี้แจงถึงกรณีดังกล่าวอย่างต่อเนื่องถึงผลกระทบด้านสุขภาพและสุขอนามัยของประชาชน แต่อย่างไรก็ดี การตัด GSP จะมีผลบังคับใช้วันที่ 30 ธันวาคม 2563 เป็นต้นไป ทั้งนี้ การตัดสิทธิฯ ดังกล่าวมีจำนวน 231 รายการ เป็นสินค้าที่มีการใช้สิทธิฯ จริงในปี 2562 จำนวน 147 รายการ มูลค่าการนำเข้าประมาณ 604 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นภาษีที่ต้องกลับไปเสียในอัตราปกติมูลค่าประมาณ 19 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
สำหรับสินค้าที่ได้รับผลกระทบ อาทิ อุปกรณ์ชิ้นส่วนยานยนต์และส่วนประกอบ พวงมาลัยรถยนต์ ล้อรถยนต์ กระปุกเกียร์ กรอบโครงสร้างแว่นตาทำด้วยพลาสติก เคมีภัณฑ์ เกลือฟลูออรีน ที่นอนและฟูกทำด้วยยางหรือพลาสติก หลอดและท่อทำด้วยยางวัลแคไนซ์ อะลูมิเนียมเจือแผ่นบาง เป็นต้น
“เดิมก่อนหน้านี้ประเทศไทยได้ถูกตัดสิทธิ GSP เมื่อเดือนเมษายน 2553 ที่ผ่านมา 573 รายการ ซึ่ง สินค้าไทยที่ใช้สิทธิ์ที่ถูกตัด จริง มีเพียง 315 รายการ โดยภายหลังจากถูกตัดสิทธิ์ ยอมรับว่าการส่งออกลดลงเฉลี่ย 10 % แต่ทั้งนี้ในรายการสินค้าดังกล่าว ยังมีบางรายการสินค้าที่ไทยส่งออกได้เพิ่มขึ้น แม้จะ เสียภาษีนำเข้า เหมือนเดิมและยังพบว่าบางรายการสินค้ามีการส่งออกไปในตลาดยุโรป จีน ฮ่องกง เอเชีย เพิ่มขึ้น เช่น กรอบแว่นตา พัดลม แผงควบคุม ที่เป็นรายการสินค้าที่สหรัฐตัด GSP ของไทย”
นายกีรติ กล่าวอีกว่า แม้ประเทศไทยจะถูกตัดสิทธิ GSP แต่ไม่ได้หมายความว่าการส่งออกสินค้าไทยไปตลาดสหรัฐจะไม่สามารถดำเนินการได้ซึ่งยังสามารถส่งออกได้เป็นปกติแต่เพียงเสียภาษีนำเข้าในอัตราเดิมเฉลี่ยประมาณ 34 % และ รายการสินค้าที่ถูกประกาศนั้นประเทศไทย ใช้สิทธิ gsp ไม่ใช่ทุกรายการดังนั้นผลกระทบที่เกิดขึ้น ไม่ได้มีมูลค่าสูงเพราะมีบางรายการที่ประเทศไทยไม่ได้ส่งออกสินค้าที่ถูกตัดสิทธิ์ไปตลาดสหรัฐ
ทั้งนี้ การให้สิทธิ GSP นั้นเป็นการให้ฝ่ายเดียวโดยสหรัฐฯ ซึ่งที่ผ่านมาไทยและสหรัฐฯ ได้มีการพูดคุยกันในเรื่องนี้มาโดยตลอดผ่านเวที TIFA (Trade and Investment Framework Agreement) โดยหลังจากนี้ กระทรวงพาณิชย์ จะเร่งดำเนินการในการประสานกับฝ่ายสหรัฐฯ ซึ่ง USTR ยินดีหากไทยจะหาทางออกร่วมกันในเรื่องดังกล่าว เนื่องจากสิทธิ GSP จะช่วยทำให้ผู้ส่งออกไทยและผู้นำเข้าสหรัฐฯ สามารถลดภาระภาษี ซึ่งจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจของทั้ง 2 ประเทศ
พร้อมกันนี้ กระทรวงพาณิชย์ได้เตรียมพร้อมมาตรการรองรับผลกระทบจากการระงับสิทธิฯ เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการไทยแล้ว โดยในเบื้องต้นวางแผนจัดกิจกรรมส่งเสริมการตลาดอย่างหลากหลาย อาทิ Online Business Matching สำหรับสินค้าที่มีความต้องการในตลาดสหรัฐฯ และตลาดใหม่ การจัดกิจกรรมส่งเสริมสินค้าไทยในงานแสดงสินค้าในสหรัฐฯ และตลาดใหม่ การส่งเสริมสินค้าไทยเข้าสู่แพลตฟอร์มออนไลน์ เพื่อให้ผู้ประกอบการไทยใช้ช่องทาง Cross border e-commerce เข้าสู่ผู้บริโภคในตลาดสหรัฐฯ และตลาดใหม่โดยตรง
ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ได้หารือ และทำความเข้าใจกับภาคเอกชนตลอดมา เพื่อเตรียมการรองรับและเน้นในเรื่องกลยุทธ์การตลาดที่ให้ความสำคัญเรื่องคุณภาพมาตรฐานสินค้ามากกว่าการแข่งขันด้านราคา เพื่อที่จะแข่งขันในตลาดได้ อย่างไรก็ดีกระทรวงพาณิชย์พร้อมที่จะเดินหน้าเจรจาเรื่องของการต่ออายุโครงการสิทธิพิเศษทางภาษีซึ่งสหรัฐให้สิทธิ GSP กว่า 3,500 รายการ โดยประเทศไทยใช้สิทธิ์อยู่ประมาณที่ 1,100 รายการนอกจากนี้พร้อมเดินหน้าเจรจาเพื่อทบทวนสิทธิ GSP ของไทยที่ถูดตัดออกไปด้วย
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ
วันที่ 31 ธันวาคม 2563