พาณิชย์ ชี้ ไบเดน นั่งเก้าอี้ผู้นำสหรัฐส่งผลบวกต่อการค้าไทย

พาณิชย์ ประเมิน โจ ไบเดน เป็นประธานาธิบดีสหรัฐ ส่งผลสงครามการค้าผ่อนคลาย ใช้นโยบายการค้าแบบพหุภาคีลุยเปิดตลาดการค้า คาดปีหน้าส่งออกไทยขยายตัว 4 %
 
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์  กล่าวถึงยุทธศาสตร์กระทรวงพาณิชย์ รองรับหลังการเปลี่ยนแปลงประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ว่า  กระทรวงได้ติดตามสถานการณ์ดังกล่าวมาโดยตลอดร่วมกับภาคเอกชน เมื่อนายโจ ไบเดน ชนะการเลือกตั้ง สิ่งที่คาดว่าจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงท่าทีก็คือ 1.สงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐ  แต่อาจผ่อนปรนลง  2.เรื่องอินโดแปซิฟิกของสหรัฐฯ กลุ่มประเทศมหาสมุทรอินเดียกับมหาสมุทรแปซิฟิคของสหรัฐฯ น่าจะยังอยู่โดยประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศอินโดแปซิฟิก  3.เงื่อนไขทางการค้าต่าง ๆ ทั้งสิทธิพิเศษทางภาษี (จีเอสพี)  การจัดการกับการทุ่มตลาด และมาตรการปกป้อง (เซฟการ์ด) จากการนำเข้าสินค้าจะยังคงอยู่แต่จะผ่อนปรนมากขึ้น
 
ส่วนความแตกต่างจากช่วงประธานาธิบดีโดนัล ทรัมป์ คือ 1.คาดว่าสหรัฐจะให้ความสำคัญกับการเจรจาทางการค้าในรูปแบบพหุภาคีมากขึ้น ผ่านองค์การการค้าโลก (WTO)  และที่ต้องจับตาการกลับมาใช้ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก( CPTPP) อีกครั้งหลังจากที่ยกเลิกในยุคของทรัมป์โดยอาจเพิ่มการทำข้อตกลงทางการค้าใหม่ เช่น เปิดเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) กับประเทศต่าง ๆ และอาจจะมีการนำเงื่อนไขด้านสิ่งแวดล้อม แรงงาน ทรัพย์สินทางปัญญา สิทธิมนุษยชนเป็นเงื่อนไขต่อรองหรือเจรจาทางการค้ามากขึ้น ซึ่งจะเป็นภาพรวมเดียวกันของทิศทางการค้าโลก ที่มีความผ่อนปรนมากขึ้น และจะส่งผลบวกต่อประเทศไทยเช่นกัน โดยเฉพาะคาดการณ์ว่า วัตถุดิบที่ไทยจะส่งไปจีนเพื่อผลิตสินค้าส่งออกไปยังสหรัฐอาจจะมีโอกาสเป็นไปได้มากขึ้น หากสงครามการค้าผ่อนคลายลงไทยก็จะได้รับประโยชน์ส่วนนี้ด้วย หรือประเทศไทยอาจจะใช้วิธีพหุภาคีเพื่อเจรจาต่อรองทางการค้าได้มากขึ้น
 
นอกจากนี้ยังได้สั่งการให้คณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนด้านการพาณิชย์ (กรอ.พาณิชย์) ร่วมมือกับอาเซียนใกล้ชิดยิ่งขึ้นเพื่อเจรจาต่อรองทางการค้าร่วมกัน และปรับรูปแบบการเจรจาทางการค้าเป็นอีคอมเมิร์ซมากขึ้น โดยต่อไปนี้จะให้ความสำคัญแพลตฟอร์มของสหรัฐ เช่น Amazon
 
นายจุรินทร์ กล่าวว่า การดำเนินนโยบายการค้าของสหรัฐจะลดความแข็งกร้าวลง ซึ่งจะส่งผลให้ไทยสามารถเจรจาทางการค้าแบบฉันมิตรกับสหรัฐได้มากขึ้น รวมทั้งไทยอาจพิจารณาเข้าร่วมเวทีการเจรจาเอฟทีเอใหม่ ๆที่มีสหรัฐฯร่วมอยู่ด้วย เรื่องสงครามการค้าจะยังอยู่แต่ไทยยังมีโอกาสส่งสินค้าไทยทดแทนสินค้าจีนในตลาดสหรัฐฯและสินค้าสหรัฐฯในตลาดจีนได้ และไทยอาจจะได้รับนักลงทุนที่ย้ายฐานการผลิตมายังไทยเพิ่มมากขึ้น ส่วนประเด็นการปฏิรูป WTO โดยสหรัฐจะให้ความสำคัญกับระบบพหุภาคีและกฎระเบียบทางการค้ามากขึ้น ซึ่งจะทำให้กลไก WTO เดินหน้าต่อได้ ทั้งการเลือกตั้งผู้อำนวยการใหญ่ และการแต่งตั้งสมาชิกองค์กรอุทธรณ์ ซึ่งจะส่งผลดีต่อไทย และการทบทวนสิทธิ จีเอสพีที่สหรัฐจะให้ความสำคัญกับมาตรฐาน สิ่งแวดล้อม แรงงาน สิทธิมนุษยชนมากขึ้น ซึ่งไทยต้องเร่งปรับตัว เพื่อสร้างโอกาสในการเจรจาทบทวนการคืนสิทธิ จีเอสพี ให้ไทยด้วย
 
สำหรับมูลค่าการค้าระหว่างไทยกับสหรัฐอเมริกาในช่วงปีที่ผ่านมาสหรัฐเป็นคู่ค้าอันดับที่ 4 ของประเทศไทย รองจาก อาเซียน จีน และญี่ปุ่น และในปี 2563 มูลค่าการค้าไทยสหรัฐเดือนม.ค.-ก.ย.มีมูลค่า 1.16 ล้านล้านบาท ส่งผลให้สหรัฐกลายเป็นคู่ค้าลำดับที่ 2 รองจากอาเซียน
 
ส่วนการส่งออกของไทยไปสหรัฐเดือนม.ค.-ก.ย. รวม 9 เดือนแรกของปี มีมูลค่าการค้า 7.9 แสนล้านบาท คิดเป็น 14.7%  ของมูลค่าการส่งออกรวมของไทย เพิ่มขึ้น 7.4%  เฉพาะเดือนก.ย.ปี 2563 เป็นบวกถึง 19.7%  โดยมีสินค้า 4 กลุ่มหลักเป็นตัวสำคัญประกอบด้วย อิเล็กทรอนิกส์ อาหาร เครื่องตกแต่งบ้านของใช้ในบ้าน อุปกรณ์วัสดุทางการแพทย์ เช่น ถุงมือยาง เป็นต้น
     
ทั้งนี้กระทรวงคาดการณ์ส่งออกปีนี้จะติดลบน้อยลงเหลือ -5ถึง - 6% จากเดิมที่คาดการณ์ว่าจะติดลบ7% ส่วนปี2564 คาดการณ์จะบวก4% สาเหตุ เพราะการส่งออกไทยไปจีนและสหรัฐ มีทิศทางที่ดีขึ้น ส่งผลให้ทั้งปีไทยติดลบน้อยลง
 
นายจุรินทร์ ยังกล่าวถึงความคืบหน้าในส่วนของการเตรียมพร้อมร่วม CPTPP ของไทยว่า ประเด็นดังกล่าวได้เข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาผลกระทบต่อการเข้าร่วม CPTPP สภาผู้แทนราษฎร แล้ว ซึ่งที่ผ่านมาทุกฝ่ายก็มีการปรับตัวเพื่อเตรียมพร้อมทุกด้านอยู่แล้วทั้งเรื่องของการครอบครองเมล็ดพันธุ์พืช ยา และเมื่อทุกฝ่ายมีความพร้อมและมีความเห็นไปทิศทางเดียวกันจึงตัดสินใจ
 
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
วันที่ 9 พฤศจิกายน 2563

@Admin TVBC

สนใจสมัครสมาชิกหรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

ฝ่ายเลขานุการฯ
โทร: 02-018-6888 ต่อ 4340
Email: tvbc.secretariat@gmail.com

:)