ธุรกิจโล่ง “โอไมครอน” ไม่แรง มู้ดจับจ่าย-อีเวนต์ได้ไปต่อ

ธุรกิจใจชื้น โควิดสายพันธุ์ใหม่ “โอไมครอน” ยังไม่รุนแรงเหมือนที่คาด เกาะติดสถานการณ์การแพร่ระบาดทั่วโลกและในประเทศใกล้ชิด วงการค้าปลีกชี้ประเมินสถานการณ์เบื้องต้นไม่กระทบกำลังซื้อ มู้ดจับจ่ายช่วงเทศกาลปีใหม่ เดินหน้าจัดอีเวนต์ช่วงโค้งสุดท้ายปลายปี กลุ่มผู้ค้าอัญมณี-เครื่องประดับเมืองจันท์ หวั่นกระทบนำเข้าพลอยดิบ วอนรัฐอย่าใช้มาตรการเข้มล็อกดาวน์
 
ดร.ฉัตรชัย ตวงรัตนพันธ์ นักวิชาการค้าปลีก เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ประเมินว่าสถานการณ์ของโควิดโอไมครอนในประเทศไทยขณะนี้ ไม่น่าส่งผลกระทบต่อภาพรวมกำลังการจับจ่าย และมู้ดของประชาชนในช่วงเทศกาลปีใหม่มากนัก
 
เนื่องจากที่ผ่านมาตั้งแต่มีการระบาดของไวรัสเกิดขึ้นถึงขณะนี้ คนไทยยังตั้งการ์ดป้องกันโควิดสูงอยู่ ทั้งเรื่องการสวมหน้ากากอนามัย ใช้เจลแอลกอฮอล์ล้างมือ รวมถึงด้านสุขอนามัยต่าง ๆ ที่เข้มงวดอยู่ อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าผู้ประกอบการในหลายภาคธุรกิจ ทั้งค้าปลีก ร้านค้า ร้านอาหาร ต้องประเมินสถานการณ์ และติดตามอย่างใกล้ชิด
 
ไม่กระทบมู้ดช่วงปีใหม่ :
 
“เชื่อว่าช่วงปลายปีมู้ดการจับจ่ายของประชาชนจะยังคงอยู่ เนื่องจากคนไทยเริ่มชินกับการระบาด รวมถึงมีการป้องกันเข้มงวด ส่วนหนึ่งก็ต้องการบรรยากาศเฉลิมฉลองปลายปี หากการระบาดของไวรัสโอไมครอนในไทยยังสามารถควบคุมได้ และไม่ทวีความรุนแรงมากกว่านี้ เชื่อว่าภาพรวมกำลังซื้อ บรรยากาศช่วงปลายปีจะยังคงอยู่แน่นอน”
 
ส่วนกิจกรรมช่วงปลายปีของธุรกิจค้าปลีกที่มีการเตรียมความพร้อมไว้แล้ว หากการระบาดไม่ได้เลวร้ายลง การจัดงานอีเวนต์แต่ละแห่งจะยังคงเดินหน้าปกติ เบื้องต้นขณะนี้หลายแห่งยังคงจัดกิจกรรมภายใต้มาตรการที่เข้มงวดอยู่แล้ว จะมีเพิ่มการเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์มากขึ้น
 
ค้าปลีกเดินหน้าจัดอีเวนต์ :
 
เช่นเดียวกับมุมมองของผู้ประกอบการค้าปลีก ซึ่งนาวสาวธีรนันท์ กรศรีทิพา รองกรรมการผู้จัดการ สายงานพัฒนาธุรกิจรีเทล เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ คอมเมอร์เชียล (ประเทศไทย) ผู้บริหารศูนย์การค้าสามย่านมิตรทาวน์ ที่ประเมินว่าการพบผู้ติดเชื้อโอไมครอนในประเทศไทยจะทำให้ประชาชนเดินทางท่องเที่ยวระหว่างประเทศลดน้อยลง ส่วนการท่องเที่ยวในประเทศ แม้จะมีการเดินทางท่องเที่ยวอยู่บ้าง แต่เชื่อว่ายังมีประชาชนและคนกรุงเทพฯอีกไม่น้อยที่เลือกจะใช้เวลาเฉลิมฉลองช่วงเทศกาลปีใหม่ในกรุงเทพฯ ผ่านแลนด์มาร์กต่าง ๆ ที่มีการจัดงาน
 
สำหรับสามย่านมิตรทาวน์เตรียมกิจกรรมในช่วงอาทิตย์สุดท้ายของเดือน ธ.ค. ซึ่งถือเป็นช่วงเพรสทีจซีซั่น โดยวางแผนทำอีเวนต์ลานนม ซึ่งเป็นไฮไลต์ของทางศูนย์ นอกเหนือจากการตกแต่งต้นคริสต์มาส และบรรยากาศปีใหม่ต่าง ๆ
 
ขณะนี้อยู่ระหว่างการประเมินสถานการณ์ และอยู่ในขั้นตอนทำตามระเบียบของศูนย์บริหารจัดการสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) และข้อกำหนดของกรุงเทพมหานคร โดยจะมีมาตรการป้องกันเข้มงวด และลดจำนวนคนที่สามารถเข้าร่วมงานได้ตามมาตรการรัฐ
 
มิสเตอร์.ดี.ไอ.วาย.ชี้ยังไม่ลดจับจ่าย :
 
นางสาวนรินติยา เสาวณีย์ ผู้จัดการฝ่ายการตลาด บริษัท มิสเตอร์.ดี.ไอ.วาย. เทรดดิ้ง (ประเทศไทย) ซึ่งปัจจุบันมีจำนวนกว่า 400 สาขาทั่วประเทศ กล่าวว่า แม้พบผู้ติดเชื้อโอไมครอนในไทย แต่พฤติกรรมการใช้บริการและมูลค่าการจับจ่ายของผู้บริโภคยังไม่เปลี่ยนแปลง อยู่ในระดับ 200-400 คนต่อวัน และ 200-250 บาทต่อคน เท่ากับช่วงที่ผ่านมา คาดว่าเป็นเพราะความเชื่อมั่นในการรับมือของรัฐบาล และความเข้มงวดของร้าน
 
อย่างไรก็ตาม บริษัทได้ยกระดับมาตรการป้องกันโรคให้เข้มงวดขึ้น ทั้งในส่วนของพนักงาน การจำกัดจำนวนผู้ใช้บริการในร้าน ด้านแผนจัดการงานฉลองเปิดสาขาใหม่ก็ยังเดินหน้าตามเดิม และพร้อมปรับตัวหากรัฐมีมาตรการควบคุมโรคโดยนำประสบการณ์ช่วงล็อกดาวน์มาปรับใช้
 
หวั่นกระทบนำเข้าพลอยดิบ :
 
นายกิตติ กันทรวิชัยวัฒน์ เลขาธิการสมาคมผู้ค้าอัญมณีและเครื่องประดับจันทบุรี กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การไม่อนุญาตให้ 8 ประเทศกลุ่มเสี่ยงสูงในทวีปแอฟริกาใต้เข้าไทย กระทบต่อธุรกิจอัญมณีและเครื่องประดับใน จ.จันทบุรี เนื่องจากวัตถุดิบพลอยแดงมากกว่า 50% นำเข้าจากโมซัมบิก และอีกหลายประเทศในทวีปแอฟริกา ทั้งแทนซาเนีย ไนจีเรีย มาดากัสการ์ ซึ่งเป็นแหล่งวัตถุดิบพลอย 60-70%
 
แม้ตอนนี้ผลกระทบยังไม่ชัดเจน ต้องรอประเมินสถานการณ์อีก 2 สัปดาห์ หากมาตรการห้ามเข้าประเทศเป็นระยะสั้นจะไม่มีผลกระทบมากนัก แต่ระยะยาวมีผลกระทบแน่นอน เพราะการสต๊อกสินค้ามีมูลค่าสูง มีผลกระทบต่อการผลิต เพราะปกติผู้ซื้อวัตถุดิบพลอยจะเดินทางไปดูสินค้าด้วยตัวเอง
 
โควิดทุบมูลค่าซื้อขายลดวูบ :
 
ตอนนี้ห้ามเฉพาะคนเข้า-ออก ยังขนส่งวัตถุดิบพลอยมาได้ตามออร์เดอร์ และมีการนำพลอยมาจัดประมูลใน กทม. ช่วงโควิด-19 ระบาดต่อเนื่อง 2 ปีที่ผ่านมา มูลค่าการค้าพลอยลดลงเหลือเพียง 20-30% จากข้อจำกัดในการเดินทางเข้าไทย และการประกาศปิดตลาดพลอยหลายครั้ง เนื่องจากสินค้าอัญมณีต้องดูด้วยสายตาและสัมผัสจริง ช่วงไตรมาส 3 ตลาดการซื้อขายพลอยฟื้นตัวดีขึ้น 40-50%
 
กลุ่มลูกค้าหลักคือ จีน อเมริกา ยุโรป โดยเฉพาะจีนประมาณ 60% จากที่โควิดคลี่คลาย และนโยบายเปิดประเทศของไทยตั้งแต่ 1 พ.ย. 2564 มีชาวต่างประเทศเดินทางเข้ามาซื้อ-ขายพลอยในรูปแบบ test and go ที่น่าเป็นห่วงคือแรงงานที่ลักลอบเข้ามาตามแนวชายแดน ทั้งนี้ เดือน ก.พ. 2565 สถาบัน GIT จะจัดงานเทศกาลนานาชาติพลอยและเครื่องประดับจันทบุรี ถ้าโควิดไม่รุนแรงลูกค้าต่างประเทศน่าจะเข้ามาซื้อขายไม่ต่ำกว่า 500 ล้านบาท
 
วอนรัฐอย่าล็อกดาวน์ :
 
ด้านนายชายพงษ์ นิยมกิจ ประธานหอการค้า จ.จันทบุรี และอุปนายกสมาคมผู้ค้าอัญมณีและเครื่องประดับจันทบุรี กล่าวเพิ่มเติมว่า โมซัมบิกเป็นแหล่งวัตถุดิบพลอยมากกว่า 70% การปิดกั้นการเดินทางจึงกระทบการผลิตอัญมณีและเครื่องประดับที่เพิ่งเริ่มฟื้นตัวขึ้น 40% จากปี 2563 ลดลงถึง 70-80% ธุรกิจอัญมณีและเครื่องประดับค่อนข้างอ่อนไหวตามสถานการณ์โควิด-19 เช่นเดียวกับการท่องเที่ยว
 
ถ้าปี 2565 สถานการณ์ยังยืดเยื้อ เดินทางไปซื้อวัตถุดิบหรือนำพลอยดิบเข้ามาขายไม่ได้ จะมีปัญหาด้านซัพพลาย เดิมคาดว่าปี 2565 ธุรกิจนี้จะค่อย ๆ ดีขึ้น แต่ถ้ามีมาตรการคุมการเข้า-ออกประเทศเข้มข้น กว่าตลาดจะกลับมาปกติจะใช้เวลา 2 ปี แต่งานเทศกาลนานาชาติพลอยและเครื่องประดับจันทบุรีที่จะมีขึ้นเดือน ก.พ. 2565 ไม่น่ากระทบ เพราะจะมีมาตรการควบคุมป้องกันเต็มที่ และเตรียมการผลิตรวมทั้งประสานประเทศคู่ค้าแล้ว ขอแค่รัฐบาลอย่าล็อกดาวน์ปิดประเทศ
 
ชี้ไม่กระทบนำเข้าวัตถุดิบพลอย :
 
นายสุเมธ ประสงค์พงษ์ชัย ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ GIT เปิดเผยว่า การพบผู้ติดเชื้อโอไมครอนในไทย และห้ามประเทศเสี่ยงในแอฟริกาเดินทางเข้าประเทศ ทำให้การนำเข้าพลอยล่าช้าหรือชะงักบ้าง แต่เฉพาะในกลุ่มพลอยเนื้ออ่อนซึ่งมีสัดส่วนนำเข้าเฉลี่ย 28-30%
 
ส่วนพลอยเนื้อแข็งซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักมีมูลค่าคิดเป็นสัดส่วน 60% ไม่กระทบ เพราะใช้วิธีการประมูลโดยมีตัวแทนของบริษัทอยู่แล้ว ส่วนพลอยชนิดอื่นที่เหลือ ไทยก็สามารถนำเข้าจากหลายประเทศ ไม่ได้นำเข้าเฉพาะจากแอฟริกา เชื่อว่าผลกระทบจะเป็นระยะสั้น เพราะเชื่อว่าผู้ผลิต ผู้ประกอบการไทย น่าจะปรับตัวและซื้อ-ขายผ่านระบบออนไลน์ได้
 
ส่วนการจัดเทศกาล “พลอยและเครื่องประดับจันทบุรี” ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่าง 3-7 ก.พ. 2565 ยังคงดำเนินการต่อแน่นอน เป้าหมายเพื่อกระตุ้นการซื้อสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับ ซึ่งจะมีส่วนช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว
 
ส่งออกอัญมณีฯยอดหด 51% :
 
ทั้งนี้ การส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับของไทยช่วง 10 เดือนของปี 2564 (ม.ค.-ต.ค.) มีมูลค่า 8,177.09 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 51.56% เป็นสินค้าส่งออกอันดับที่ 5 คิดเป็นสัดส่วน 3.67% ของสินค้าส่งออกโดยรวมของไทย แต่หากหักทองคำที่ยังมิได้ขึ้นรูป ซึ่งเป็นสินค้าที่มีความผันผวนออก การส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับที่แท้จริง มีมูลค่า 4,931.69 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 26.87%
 
สำหรับสินค้าสำคัญที่ส่งออกได้เพิ่มขึ้น เช่น เครื่องประดับเงิน เพิ่ม 20.51% เครื่องประดับทอง เพิ่ม 33.93% พลอยเนื้อแข็งเจียระไน เพิ่ม 35.69% เพชรเจียระไน เพิ่ม 35.26% เป็นต้น ส่วนตลาดส่งออกที่ขยายตัวดีขึ้น เช่น สหรัฐ เพิ่ม 54.64% อินเดีย เพิ่ม 67.76% สหราชอาณาจักร เพิ่ม 138.40% ญี่ปุ่น เพิ่ม 7.73% เบลเยียม เพิ่ม 16.41% ออสเตรเลีย เพิ่ม 20.07% สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เพิ่ม 35.37% สวิตเซอร์แลนด์ เพิ่ม 77.33% แต่ฮ่องกง ลด 0.55% เยอรมนี ลด 4.24%
 
ทั่วโลกจับตาสถานการณ์ :
 
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า สถานการณ์โควิด-19 สายพันธุ์ใหม่โอไมครอน ล่าสุดหลายประเทศระบุว่าแม้จะติดเชื้อได้ง่าย แต่ผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่อาการไม่รุนแรง ทำให้ทั่วโลกคลายความวิตกกังวลลง ขณะเดียวกันก็ติดตามสถานการณ์และผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นอย่างใกล้ชิด จนกว่าจะได้รับการยืนยันทางวิชาการหรือทางการแพทย์อย่างเป็นทางการ สถานการณ์ขณะนี้ความไม่แน่นอนยังมีสูง และหวั่นเกรงว่าโควิดโอไมครอนจะเป็นปัจจัยเสี่ยงส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก
 
เช่นเดียวกับเศรษฐกิจไทยที่เพิ่งฟื้นตัวหลังรัฐบาลเปิดประเทศและผ่อนคลายมาตรการ ประกอบกับหลายประเทศในภูมิภาคแอฟริกาเป็นตลาดส่งออกสินค้าไทย รวมทั้งเป็นแหล่งกำเนิดพลอยดิบที่ผู้ประกอบการไทยนำเข้ามาผลิตสินค้าอัญมณีภายในประเทศ ภาคธุรกิจ นักลงทุนไทยจึงต้องการให้ภาครัฐเร่งควบคุมป้องกันโอไมครอนเพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับภาคเศรษฐกิจ
 
ชี้โควิดใกล้เป็นโรคประจำถิ่น :
 
ขณะที่ นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า ความคืบหน้าการแพร่ระบาดของเชื้อโอไมครอนขณะนี้พบผู้ติดเชื้อใน 54 ประเทศ แบ่งเป็นการติดเชื้อภายในประเทศ 19 ประเทศ พบผู้ติดเชื้อจากผู้เดินทางเข้าประเทศอีก 35 ประเทศ ซึ่งไทยจัดอยู่ในกลุ่มหลัง และยังไม่มีรายงานการเสียชีวิตอย่างเป็นทางการจากสายพันธุ์โอไมครอนทั่วโลก สำหรับผู้ติดเชื้อโควิดโอไมครอนในไทย 1 ราย ที่เป็นชาวอเมริกัน เดินทางมาจากสเปนนั้น ล่าสุดยังไม่พบอาการใด ๆ เพิ่มเติม แต่ต้องกักตัวให้ครบ 14 วัน
 
นพ.จักรรัฐกล่าวว่า โควิดสายพันธุ์โอไมครอนส่วนใหญ่เมื่อติดเชื้อจะมีอาการน้อยมาก อาการหนักใส่เครื่องช่วยหายใจเกิดขึ้นบางรายเท่านั้น โดยรวมอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ ซึ่งในอนาคตอาจเป็นสัญญาณการเข้าสู่โรคประจำถิ่นของโควิด เนื่องจากการติดเชื้อที่เร็วแต่อาการน้อยของโอไมครอนจะสามารถเข้าแทนที่สายพันธุ์เดลต้าที่มีอาการรุนแรงในที่สุด
 
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ
วันที่ 8 ธันวาคม 2564        

@Admin TVBC

สนใจสมัครสมาชิกหรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

ฝ่ายเลขานุการฯ
โทร: 02-018-6888 ต่อ 4340
Email: tvbc.secretariat@gmail.com

:)