น้ำมัน-ค่าไฟพุ่งไม่หยุด กางแผนคุมราคาสินค้า
กางแผนคุมราคาสินค้าโค้งสุดท้าย กรมการค้าภายในชำแหละโครงสร้างต้นทุนสินค้า 9 กลุ่ม กระทบต้นทุนน้ำมัน-ค่าไฟเฉลี่ย 1-2% ยืนกรานกล่อมเอกชนตรึงราคาสินค้าไปจนถึงสิ้นปี 2564 มั่นใจสินค้าไม่ขาดตลาด พร้อมรับลูก “จุรินทร์” งัด “ธงฟ้า” ลดราคาสินค้าเป็นของขวัญปีใหม่ให้คนไทย
ภาระค่าครองชีพกำลังจะเป็นระเบิดเวลาที่รอวันปะทุ หลังจากเอกชนต้องเผชิญกับภาระต้นทุนการผลิตสินค้าปรับสูงขึ้นทั้งราคาน้ำมันที่กระทบต่อค่าขนส่ง ต้นทุนวัตถุดิบ หมูแพง น้ำมันพืชปรับขึ้นราคา ไปจนถึงต้นทุนแพ็กเกจจิ้งกระป๋องและพลาสติกปรับสูงขึ้น ทำให้ผู้หลายรายเตรียมพร้อมประกาศขยับราคารับปีใหม่ ขณะที่ประชาชนและเกษตรกรต้องเผชิญปัญหารายได้ลดลง การเลิกจ้างและหนี้ครัวเรือน อาจจะกระทบกำลังการจับจ่ายโค้งสุดท้าย
นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายในกล่าวถึงการดูแลราคาสินค้าไตรมาส 4 ว่า กรมติดตามภาวะสถานการณ์ราคาสินค้าอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะต้นทุนเรื่องราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้น จนส่งผลต่อราคาจำหน่ายปลีกในประเทศไทย
โดยการวิเคราะห์โครงสร้างต้นทุนราคาสินค้าจากปัจจัยการปรับขึ้นราคาน้ำมันจาก 25 บาทต่อลิตรเป็น 30 บาทต่อลิตรในสินค้า 8-9 กลุ่มเบื้องต้นประเมินว่า จะส่งผลต่อต้นทุนประมาณ 1% โดยสินค้ากลุ่มเครื่องดื่มประมาณ 0.4-5% แตกต่างกันตามน้ำหนักการบรรทุก
เช่น ขวดแก้วก็จะมีน้ำหนักมาก, สินค้าของใช้ประจำวันประมาณตั้งแต่ 0.03-2.00%, วัสดุก่อสร้าง 0-3% เช่น ปิโตรเคมี-น้ำมันเครื่องต่าง ๆ ประมาณ 1-1.5% ปัจจัยทางการเกษตรประมาณ 0.3-1.2%, บริภัณฑ์การขนส่ง 0.07-2.5% และอื่น ๆ ประมาณ 0.2%
“ตั้งแต่ต้นปี 2564 จนถึงปัจจุบันมีผู้ประกอบการยื่นขอปรับราคาและยื่นขอตั้งราคาสินค้าใหม่เข้ามาบ้าง ส่วนใหญ่จะเป็นการขอตั้งราคาใหม่ในสินค้ากลุ่มของใช้ส่วนตัว ส่วนที่ขอปรับราคากรมยังขอความร่วมมือให้ช่วยกันตรึงราคาไปจนถึงสิ้นปี 2564 ซึ่งจังหวะนี้ผู้ประกอบการส่วนหนึ่งยอมรับว่า ยังไม่ใช่ช่วงเวลาที่เหมาะสมจะปรับขึ้นราคาสินค้า เพราะกำลังซื้อผู้บริโภคด้วย ผู้ประกอบการการเองก็เข้าใจว่า หากปรับราคาจะมีผลต่อการจับจ่าย จากนี้ไปในปี 2565 จะหารือกับผู้ประกอบการเพื่อประเมินสถานการณ์อีกครั้งว่า ต้นทุนการผลิต การขนส่งต่าง ๆ เป็นอย่างไร”
“โดยมองว่าปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อต้นทุน เช่น ระดับราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก ทางกลุ่มโอเปก พลัส อาจจะทำให้ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกลดลง ราคาขายปลีกน้ำมันลดลง และปัจจัยการใช้กำลังการผลิตเดิม-ใหม่ ยอดขาด กำไรโดยภาพรวมเป็นอย่างไร ยังสามารถประคองไปได้หรือไม่ หลักการคงต้องให้ทุกฝ่ายอยู่ได้อย่างสมดุล ถ้าตรึงราคาจนผู้ผลิตอยู่ไม่ไหวก็ไม่ได้จะกระทบต่อการผลิต แต่จะปล่อยให้ขยับขึ้นราคาก็จะกระทบต่อผู้บริโภค” นายวัฒนศักย์กล่าว
ส่วนหลักเกณฑ์การพิจารณาปรับราคาสินค้าแต่ละชนิดจะพิจารณาจากหลายองค์ประกอบ เช่น ปริมาณสต๊อกที่เหลืออยู่มีมากน้อยเพียงใด เป็นสินค้าที่ผลิตจากต้นทุนช่วงที่มีการปรับขึ้นหรือไม่ และปัจจัยต้นทุนการผลิตมีการปรับขึ้น-ลงหรือไม่ การใช้ขนาดกำลังการผลิต โดยวิเคราะห์ลงไปถึงขนาดต้นทุนต่อหน่วย
ขึ้นค่าไฟกระทบอาหารแช่แข็ง :
อย่างไรก็ตาม ในปี 2565 จะการปรับขึ้น “ค่าไฟฟ้าผันแปร (Ft)” งวดเดือนมกราคม-เมษายน 2565 ซึ่งจะมีผลต่อราคาสินค้าแน่ ดังนั้น กรมจึงได้ศึกษาผลกระทบต่อต้นทุนในภาพรวม “เฉลี่ยที่ 0.4-2.0% ก็ไม่มากนัก” แต่จะมีผลต่อสินค้าแต่ละชนิดต่างกัน เช่น กลุ่มอาหารจะมีผลกระทบ 0.005-0.2% โดยเฉพาะอาหารประเภทแช่เย็นแช่แข็ง (โฟรเซ่น) จะมีต้นทุนการใช้ค่าไฟตู้แช่สูงกว่าอาหารประเภทอื่น อย่างไรก็ตาม ในภาพรวมยังต้องดูว่า ราคาสินค้านั้นมีความสมเหตุผลหรือไม่ หากปรับขึ้นในบางเวลาหรือเป็นต้นทุนถาวร“
ในการประชุมคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) ปี 2565 จะมีการพิจารณาทบทวนรายการสินค้าที่จับตามองหรือจับตามองเป็นพิเศษประจำปี 2565 กรมกำลังติดตามประเมินว่า จะมีการเพิ่มรายการสินค้าเข้า-ออกจากบัญชีควบคุมหรือไม่ เบื้องต้นจากสถานการณ์การปัญหาเชื้อโควิดสายพันธุ์ใหม่โอไมครอน ทำให้สินค้าป้องกันการแพร่ระบาด เช่น เจลแอลกอฮอล์ มีความต้องการใช้มากขึ้นก็ต้องติดตามดูว่า จำเป็นต้องใช้มาตรการควบคุมหรือไม่ ตามหลักที่กฎหมายให้อำนาจไว้ แต่ก็ต้องไม่ไปจำกัดผู้ประกอบการในการประกอบธุรกิจและไม่ให้กระทบต่อประชาชนจนเกินไป” นายวัฒนศักย์กล่าว
งัดมาตรการช่วยค่าครองชีพ :
นายวัฒนศักย์ได้กล่าวถึงแผนการจัดกิจกรรมช่วยลดค่าครองชีพ ซึ่งเดิมจะมี “โครงการจัดกิจกรรมธงฟ้า” นั้น ตามนโยบายก็ต้องจัดโดยพิจารณาให้สมเหตุสมผล เลือกจุดหรือพื้นที่ให้เหมาะสม เพื่อเข้าไปช่วยเป็นทางเลือกหนึ่งให้ผู้บริโภค หรือเมื่อสินค้ามีปริมาณลดลง โดยจะต้องไม่ไปแทรกแซงตลาด
อย่างไรก็ตาม ภาพรวมการดูแลสินค้าจะต้องดำเนินการคู่ขนานไปกับการกระตุ้นการใช้จ่าย ซึ่งกรมได้พัฒนาแอปพลิเคชั่น “DIT-GO” เพื่อส่งเสริมการซื้อขายสินค้าในร้านค้ารายย่อยที่เข้าร่วมโครงการ “ตลาดต้องชม” ซึ่งมีอยู่ 90 จุด
ผู้ผลิตเลือกตรึงราคา :
ล่าสุด “ประชาชาติธุรกิจ” ได้สอบถามไปยังผู้ผลิตสินค้าหลายราย ส่วนใหญ่เลือกที่จะ “ตรึงราคาสินค้า” ไว้ในช่วงนี้ โดยนายรัชตะ สุทธาพัฒน์ธานนท์ ผู้จัดการทั่วไป ประจำประเทศไทยและอินเตอร์เนชั่นแนล มาร์เก็ต บริษัท อีเลคโทรลักซ์ ประเทศไทย กล่าวว่า บริษัทอาศัยการจัดสรรทรัพยากรให้มีประสิทธิภาพเพื่อตรึงราคาสินค้าเอาไว้ในช่วงที่ต้นทุนต่าง ๆ ทั้งวัตถุดิบและค่าขนส่งเพิ่มสูงขึ้น
ซึ่งไปในทิศทางเดียวกับ “เพาเวอร์บาย” ที่นางสาวจิรันธนิน คำอักษร ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ฝ่ายการตลาด บริษัท เพาเวอร์บาย จำกัด กล่าวว่า บริษัทได้ผนึกกำลังกับพาร์ตเนอร์หลายรายเพื่อรับมือต้นทุนค่าขนส่งไม่ให้สูงจนส่งผลกระทบกับทั้งบริษัทและลูกค้า โดยนำการมีปริมาณสินค้าที่ต้องขนส่งเยอะมาปรับใช้จัดรอบรถขนส่งให้คุ้มค่าเชื้อเพลิงมากที่สุด พร้อมเพิ่มปัจจัยความคุ้มค่าของบริการส่งแบบมีค่าใช้จ่าย
เช่นเดียวกับธุรกิจสินค้ากีฬา-สุขภาพ นายวิศัลย์ วนะศักดิ์ศรีสกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท วอริกซ์ สปอร์ต จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายเสื้อผ้าและอุปกรณ์กีฬาภายใต้แบรนด์ “วอริกซ์” กล่าวว่า ช่วงปลายปีนี้จนถึงต้นปีหน้าต้องระมัดระวังการใช้งบฯต่อเนื่อง เพราะต้นทุนด้านต่าง ๆ ตั้งแต่วัตถุดิบเส้นด้ายไปจนถึงค่าโฆษณาที่เพิ่มขึ้น แต่ในทางกลับกันไม่สามารถปรับราคาขายขึ้นได้มากนัก เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจและกำลังซื้อ โดยจะเน้นเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารค่าการตลาดให้คุ้มค่ามากที่สุด ด้วยการนำบิ๊กดาต้าที่เก็บรวบรวมไว้มาใช้ ยิงโฆษณาตรงกลุ่มเป้าหมายที่สุด
ซี.เจ.โอดต้นทุนเพิ่ม :
นายวีรธรรม เศรษฐสิทธิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซี.เจ. เอ็กซ์เพรส กรุ๊ป จำกัด เจ้าของเชนค้าปลีก CJ Express, CJ Supermarke และ CJ MORE กล่าวว่า การล็อกดาวน์ เคอร์ฟิวส่งผลให้พฤติกรรมผู้บริโภคมองหาสินค้าอุปโภค-บริโภค ในชีวิตประจำวันที่ใกล้บ้านแทนการเดินทางไปซื้อสินค้าที่ไกลออกไป ทำให้กลุ่มร้านคอนวีเนียนสโตร์ไม่ได้รับผลกระทบจากกำลังซื้อ
ขณะที่ปัญหาเรื่องต้นทุนที่สูงขึ้น ทั้งจากราคาวัตถุดิบและค่าสาธารณูปโภคต่าง ๆ บริษัทไม่ได้รับผลกระทบ เนื่องจากมีการบริหารจัดการ ที่สามารถบาลานซ์ต้นทุนภายในได้เอง ตั้งแต่การผลิตไปจนถึงระบบโลจิสติกภายใน และมีการนำระบบ SAP Retail ที่ถูกออกแบบมาสำหรับธุรกิจค้าปลีกโดยเฉพาะ จึงทำให้สินค้าที่วางจำหน่ายภายในร้านอยู่ในระบบราคาที่ลูกค้าสามารถเข้าถึงได้
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ
วันที่ 9 ธันวาคม 2564