WHO เตือนประเทศร่ำรวย กักตุนวัคซีนไว้ฉีดเข็มกระตุ้นสู้โอไมครอน กระทบการจัดหาวัคซีนโควิดของประเทศยากจนกว่า

ดร.เคท โอไบรอัน (Kate O’Brien) ผู้อำนวยการด้านวัคซีนขององค์การอนามัยโลก (WHO) แถลงเตือนประเทศร่ำรวยเรื่องการกักตุนวัคซีนโควิดสำหรับใช้เป็นวัคซีนเข็มกระตุ้น เพื่อต่อสู้กับการแพร่ระบาดของเชื้อโควิดสายพันธุ์โอไมครอน โดยระบุว่า อาจส่งผลต่อการจัดหาวัคซีนของประเทศยากจนกว่าที่ยังมีอัตราการฉีดวัคซีนต่ำ
 
“ในขณะที่เรากำลังมุ่งหน้าไปสู่สถานการณ์ใดก็ตามของโอไมครอนที่กำลังจะเกิดขึ้น มีความเสี่ยงที่อุปทานวัคซีนของโลกกำลังกลับไปสู่ประเทศรายได้สูงที่กักตุนวัคซีนอีกครั้ง” ดร.โอไบรอันกล่าว พร้อมชี้ว่า การกักตุนวัคซีนจะไม่เป็นผลดีในทางระบาดวิทยาและการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด ยกเว้นแต่ว่าจะมีการกระจายวัคซีนไปยังทุกประเทศทั่วโลก
 
ปัจจุบัน หลายชาติตะวันตกได้เริ่มดำเนินการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น โดยพุ่งเป้าที่กลุ่มเสี่ยง ทั้งผู้สูงอายุและกลุ่มผู้มีปัญหาด้านสุขภาพ แต่การแพร่ระบาดที่รวดเร็วจนน่ากังวลของโอไมครอน ทำให้บางประเทศเริ่มขยายการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นให้ประชากรกลุ่มอื่น ขณะที่ WHO แนะนำให้มีการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นสำหรับผู้ที่มีปัญหาสุขภาพหรือผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนแบบเชื้อตาย (Inactivated Vaccine)
 
คำเตือนของ WHO มีขึ้นในระหว่างที่โครงการแบ่งปันวัคซีน COVAX มีปริมาณวัคซีนเพิ่มมากขึ้นในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา ซึ่งเป็นผลจากการบริจาคของประเทศร่ำรวย และการผ่อนคลายมาตรการของอินเดียที่อนุญาตให้มีการส่งออกวัคซีน
โดย ดร.โอไบรอันยังชี้ให้เห็นถึงปัญหาสำคัญสำหรับโครงการ COVAX คือวัคซีนจำนวนมากที่ประเทศร่ำรวยบริจาคเข้ามานั้นมีอายุการเก็บรักษาที่ค่อนข้างสั้น
 
อย่างไรก็ตาม สำหรับวัคซีนโควิดที่มีอยู่ ณ ปัจจุบัน สามารถพิสูจน์ให้ทั่วโลกเห็นแล้วว่า ประสบผลสำเร็จในการช่วยชะลอการแพร่ระบาดของโควิดและลดจำนวนผู้ป่วยหนักลงได้ โดยประเทศที่มีอัตราการฉีดวัคซีนต่ำนั้นจะเผชิญความเสี่ยงจากอันตรายของโควิดมากกว่าในขณะที่มีการเพิ่มขึ้นของเชื้อโควิดกลายพันธุ์
ซึ่งการแพร่ระบาดของโควิดโอไมครอน สร้างความกังวลว่าวัคซีนที่มีอยู่ในปัจจุบันอาจมีประสิทธิภาพลดลงในการต้านทานเชื้อไวรัส แม้ว่าล่าสุดบางบริษัท เช่น Pfizer จะแสดงความมั่นใจว่าการฉีดวัคซีน Pfizer ครบ 3 เข็ม สามารถต้านทานโอไมครอนได้
 
ที่มา the standard
วันที่ 10 ธันวาคม 2564

@Admin TVBC

สนใจสมัครสมาชิกหรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

ฝ่ายเลขานุการฯ
โทร: 02-018-6888 ต่อ 4340
Email: tvbc.secretariat@gmail.com

:)