RCEP เริ่ม 1 ม.ค. 65 รวมเรื่องที่ผู้ส่งออกต้องรู้ ก่อนบุกเขตการค้าเสรีใหญ่สุดในโลก
นับถอยหลังอีกไม่ถึง 1 เดือน ข้อตกลง RCEP จะบังคับใช้ใน 15 ประเทศ รวมทุกเรื่องที่ผู้ส่งออกควรรู้ ก่อนบุกเขตการค้าเสรีที่ใหญ่ที่สุดในโลก ประชากรกว่า 2 พันล้านคน
วันที่ 10 ธันวาคม 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากประเทศไทยยื่นให้สัตยาบัน ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค หรือ RCEP (Regional Comprehensive Economic Partnership) 15 ประเทศ เมื่อวันที่ 28 ตุลาคมที่ผ่านมา โดยข้อตกลง RCEP จะบังคับใช้ในประเทศสมาชิก 15 ประเทศ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2565 เป็นต้นไป
“ประชาชาติธุรกิจ” รวบรวมข้อมูลที่ผู้ประกอบการด้านส่งออกควรรู้ เพื่อเตรียมตัวสร้างโอกาสทางการค้าและการลงทุนในความตกลงที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ดังนี้
RCEP คืออะไร ?
RCEP เป็นเขตการค้าเสรี (FTA) ที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีสมาชิก 15 ประเทศ ได้แก่ อาเซียน 10 ประเทศ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ จีน ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ประชากรรวมกัน 2,300 ล้านคน (30.2% ของประชากรโลก) GDP รวมมูลค่า 28.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (33.6% ของ GDP โลก) และมูลค่าการค้ารวม 10.7 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (30.3% ของมูลค่าการค้าของโลก)
ประโยชน์ที่ไทยจะได้รับจาก RCEP :
สำหรับประโยชน์ที่ไทยจะได้รับจากความตกลง RCEP อาทิ สมาชิก RCEP ยกเลิกภาษีนำเข้าที่เก็บกับสินค้าไทย จำนวน 39,366 รายการ โดยลดภาษีเหลือ 0% ทันที จำนวน 29,891 รายการ เช่น ผลไม้สดและแปรรูป สินค้าประมง ยางพารา ผลิตภัณฑ์ยางรถยนต์และส่วนประกอบ พลาสติก เคมีภัณฑ์ ชิ้นส่วนอุปกรณ์ไฟฟ้า คอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ เป็นต้น
อีกด้านหนึ่ง ในปีแรกสินค้ากลุ่มอาหารนำเข้าหลายรายการจะมีภาษีเป็น 0% แบ่งเป็น
* กลุ่มประมงแช่แข็ง เช่น แซลมอน ทูน่า ซาร์ดีน ปลาหมึก กุ้งล็อบสเตอร์
* กลุ่มผักสด แช่เย็น แช่แข็ง เช่น มะเขือเทศ บร็อกโคลี กะหล่ำปลี ผักกาดหอม
* กลุ่มผลไม้ เช่น สับปะรดแห้ง ฝรั่ง มะม่วงแห้ง สตรอว์เบอรี่ ราสป์เบอรี่ แบล็กเบอรี่ มัลเบอรี่ ลำไย ส้ม ส้มแห้ง กีวี ลิ้นจี่ เงาะ
* สินค้ากลุ่มกาแฟ ชา เครื่องเทศ เช่น ซินนามอน
* สินค้ากลุ่มธัญพืช เช่น สาหร่าย
* สินค้ากลุ่มผักและผลไม้แปรรูป เช่น น้ำส้มโฟรเซ่น น้ำแอปเปิลมีค่าบริกซ์ไม่เกิน 20
อีกในส่วนของจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ จะลดและยกเลิกภาษีศุลกากรกับสินค้าที่ส่งออกจากไทย เพิ่มเติมจาก FTA ที่มีอยู่ในสินค้า เช่น ผลไม้สดและแปรรูป สินค้าประมง น้ำผลไม้ ยางพาราและผลิตภัณฑ์ยาง รถยนต์และส่วนประกอบ พลาสติก เคมีภัณฑ์ ชิ้นส่วนอุปกรณ์ไฟฟ้า และคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ เป็นต้น
นอกจากนี้ ความตกลง RCEP จะช่วยอำนวยความสะดวกทางการค้าแก่สมาชิก อาทิ สินค้าที่เน่าเสียง่ายจะได้รับการตรวจปล่อยพิธีการศุลกากรภายใน 6 ชั่วโมง และสินค้าปกติภายใน 48 ชั่วโมง และการขยายโอกาสในธุรกิจบริการของไทยสู่ประเทศสมาชิก RCEP เช่น ก่อสร้าง ค้าปลีก สุขภาพ ภาพยนตร์และบันเทิง เป็นต้น
นอกจากนี้ ยังทำให้ผู้ประกอบการการค้าออนไลน์มีตลาดกว้างขึ้น มีกฎเกณฑ์กติกาชัดขึ้น และผู้บริโภคของไทยจะได้รับความคุ้มครองมากขึ้น จากการนำเข้าสินค้าผ่านระบบออนไลน์ จากประเทศสมาชิก RCEP
ขณะเดียวกันไทยจะได้รับประโยชน์ในการที่มีผู้มาลงทุน สามารถส่งออกสินค้าบริการไปยังสมาชิกได้มากขึ้น อีกทั้งไทยจะมีทางเลือกในการนำเข้าวัตถุดิบและสินค้าทุนจากประเทศสมาชิกที่มีความหลากหลายขึ้น
ผู้ประกอบการควรเตรียมตัวอย่างไร ?
เมื่อช่วงต้นเดือนพฤศจิกายน 2564 นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ความตกลงฉบับนี้จะเป็นหนึ่งในเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยและสมาชิก RCEP จากวิกฤตโควิด-19
ซึ่งก่อนที่ความตกลง RCEP จะมีผลบังคับใช้ในปีหน้านี้ ผู้ประกอบการ โดยเฉพาะ SMEs ควรเร่งเตรียมความพร้อมทำความเข้าใจกฎเกณฑ์ทางการค้าต่าง ๆ ศึกษาพฤติกรรมของผู้บริโภคในตลาดประเทศสมาชิก RCEP เพื่อเตรียมวางแผนกลยุทธ์ทางธุรกิจ และพัฒนาสินค้าให้สามารถตอบสนองความต้องการของตลาด RCEP อย่างเต็มที่
ด้าน นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และนายกกิตติมศักดิ์ สมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ผู้ประกอบการต้องสร้างความเชื่อมั่นและภาพลักษณ์ที่ดีให้สินค้า และบริการ และต้องรับมือกับการเปลี่ยนแปลงใหม่ ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตอยู่เสมอ เพื่อให้ธุรกิจประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืน
ไม่เพียงผู้ประกอบการต้องพัฒนาสินค้าและบริการตัวเองเท่านั้น ภาครัฐต้องเข้ามาสนับสนุนการพัฒนาความสามารถการแข่งขันของผู้ประกอบการไทยสนับสนุนการส่งออกไปยังตลาดต่าง ๆ ตลาดใหม่ให้มากขึ้น และหาช่องทางการจำหน่าย เช่น โมเดิร์นเทรด งานแสดงสินค้า และการค้าผ่านช่องทางอีคอมเมิร์ซ
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ
วันที่ 10 ธันวาคม 2564