เพราะ TikTok คือทีวีของคน Gen Z เจาะกลยุทธ์ "#MoneyTok"
เปลี่ยนคลิปสั้นให้เป็นเงิน ที่กำลังเขย่าวงการจน Facebook ต้องขอลอกการบ้าน
HIGHLIGHTS
* ในปี 2021 TikTok มีรายได้ที่เกือบ 4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 1.34 แสนล้านบาท โดยที่เงินรายได้ส่วนใหญ่มาจากการโฆษณา และในปี 2022 มีการคาดการณ์โดยสำนักวิจัย eMarketer ว่ารายได้อาจจะเติบโตขึ้นไปอีก 3 เท่า หรือกว่า 1.2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 4.03 แสนล้านบาท ซึ่งจะมากกว่าทั้ง Twitter หรือ Snapchat รวมกัน
* ตัวเลขที่น่าตกใจคือ ถึงแม้จำนวนผู้ใช้งานจริงในเวลานี้จะอยู่ที่ราว 1 พันล้านคนทั่วโลก ซึ่งยังน้อยกว่า Facebook (2.9 พันล้านคน) และ Instagram (2 พันล้านคน) ของบริษัท Meta อยู่มากพอสมควร แต่ชาวโซเชียลกลับใช้เวลาอยู่กับ TikTok มากที่สุด โดยในสหรัฐอเมริกาจะมีผู้ที่ใช้เวลาอยู่กับ TikTok เฉลี่ยสูงถึงเดือนละ 29 ชั่วโมง
* “TikTok คือทีวีของคน Gen Z” คือความเห็นของผู้บริหารในบริษัทด้านการตลาด
* ปัจจุบันหากอยากจะลง TopView Ad หรือโฆษณาที่จะเด้งขึ้นบนหน้าฟีดของผู้ใช้ทุกคนเมื่อเปิดแอปพลิเคชัน จะต้องจ่ายเงินถึง 2.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 87 ล้านบาท แลกกับการขึ้นโฆษณาเป็นเวลา 1 วัน ซึ่งเพิ่มขึ้นเป็น 4 เท่าจากเมื่อปีกลาย
* ย้อนกลับไปในปี 2020 TikTok ตั้งงบประมาณเอาไว้ถึง 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อจ่ายเป็นรางวัลให้แก่เหล่าครีเอเตอร์ที่มียอดผู้ชม (View) ผ่านเกณฑ์ และตั้งเป้าว่าจะเพิ่มงบประมาณส่วนนี้ไปอีกให้ถึง 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐภายในระยะเวลา 3 ปีถัดมา หรือในปี 2023 และล่าสุดในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา เบลก แชนดลี และทีมได้เริ่มที่จะให้เหล่า ‘Top Creators’ ได้รับส่วนแบ่งจากโฆษณาที่แทรกอยู่ระหว่างคอนเทนต์ของพวกเขา
เกมเปลี่ยนแล้ว! จากที่เคยถูกมองในฐานะแอปพลิเคชันบันเทิงสมองด้วยคลิปการคัฟเวอร์ลิปซิงก์ เลียนแบบ หรือการเต้นตามน่ารักๆ วันนี้ TikTok เป็นได้ทุกอย่างที่ชาวโซเชียลอยากให้เป็น และพวกเขาเหล่านั้นอยากเป็นอะไรใน 60 วินาทีนั้น
และที่สำคัญคือไม่ว่าจะเป็นอะไรก็ตาม แต่มันหมายถึงรายได้มากมายมหาศาลที่จะเกิดขึ้นต่อทั้งครีเอเตอร์เอง และ TikTok ที่เวลานี้พวกเขาคือผู้นำเทรนด์ที่กำลังจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่สุดในวงการโฆษณา
โดยในปี 2021 TikTok มีรายได้ที่เกือบ 4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 1.34 แสนล้านบาท โดยที่เงินรายได้ส่วนใหญ่มาจากการโฆษณา และในปี 2022 มีการคาดการณ์โดยสำนักวิจัย eMarketer ว่ารายได้อาจจะเติบโตขึ้นไปอีก 3 เท่า หรือกว่า 1.2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 4.03 แสนล้านบาท ซึ่งจะมากกว่าทั้ง Twitter หรือ Snapchat รวมกัน
“พวกเขาคือภัยอันตรายของ Google และ Facebook” ปีเตอร์-แยน เดอ ครูน (Pieter-Jan de Kroon) ซีอีโอบริษัทด้านสื่อออนไลน์ Entravision MediaDonuts ฟันธง “TikTok เริ่มกินส่วนแบ่งในเรื่องงบการซื้อสื่อที่มากกว่าจำนวนผู้ชม”
เรื่องนี้ทำให้ยักษ์ใหญ่ในวงการโฆษณาออนไลน์อย่าง Google และ Facebook ที่ครองวงการมายาวนานร่วม 2 ทศวรรษ ต้องหยุดและหันกลับมาเฝ้ามองแอปของบริษัท ByteDance จากประเทศจีนด้วยความระแวดระวัง
โดยเฉพาะ Facebook ที่เคยเป็นผู้นำมาตลอด วันนี้พวกเขาไม่อายที่จะขอ ‘ลอกการบ้าน’ เกี่ยวกับวิธีการทำงานของ TikTok เพื่อหวังจะหยุดความเสื่อมถอยที่กำลังเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว
TikTok ทำอะไร ทำไมจึงสามารถสร้างปรากฏการณ์และความเปลี่ยนแปลงได้มากถึงขนาดนี้?
Swipe up! วิชาปัดขึ้นดูดวิญญาณ :
หลายคนรู้จัก TikTok ก็ในชื่อของ TikTok แล้ว แต่ความจริงก่อนที่จะมีการเปิดตัวอย่างเป็นทางการในตลาดทั่วโลก แอปนี้มีชื่อว่า Douyin (抖音) ซึ่งเป็นผลงานของบริษัท ByteDance ที่เปิดตัวและประสบความสำเร็จอย่างสูงภายในประเทศจีนเมื่อปี 2016
โดยแอปที่ใช้เวลา 200 วันในการออกแบบจากจุดเริ่มต้นจนเสร็จสิ้นกระบวนการเปิดให้ดาวน์โหลดได้ในประเทศจีน ได้รับความนิยมอย่างรวดเร็วในแดนมังกร มีจำนวนผู้ใช้ภายในปีแรกมากกว่า 100 ล้านคน มีผู้ที่ชมวิดีโอความยาว 60 วินาที มากกว่า 1 พันล้านคลิปทุกวัน
แต่ จางอี้หมิง ประธาน ByteDance มองว่าผลงานชิ้นโบแดงของพวกเขาสมควรที่จะขยายฐานไปสู่ระดับโลก “ในประเทศจีนมีจำนวนผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตแค่ 1 ใน 5 ของทั้งโลก ถ้าเราไม่ขยายฐานไประดับโลกก็เหมือนเราทิ้งฐานใหญ่ 4 ใน 5 ทิ้งไป ดังนั้นการลุยตลาดโลกจึงเป็นสิ่งที่ต้องทำ”
ว่าแล้วในเดือนกันยายนปี 2017 Douyin ก็เริ่มปรากฏตัวบนเวทีโลก แต่เปลี่ยนชื่อใหม่ให้เรียกง่ายขึ้นว่า TikTok ซึ่งใช้เวลาไม่นานก็ทะยานขึ้นแอปที่ถูกดาวน์โหลดสูงสุดในหลายประเทศ ซึ่งรวมถึงในประเทศไทยด้วย
ก่อนที่จะเติบโตอย่างไม่หยุดยั้งชนิดที่ต่อให้ทางการสหรัฐอเมริกาพยายามเตะตัดขาหวังให้ล้มคว่ำ แต่ความดีงามของแอป และการเกิดโรคระบาด (ไม่รวมความน่าเบื่อของ Facebook ที่ทำลายจุดเด่นของตัวเองหมดสิ้น) ทำให้ TikTok เริ่มเข้ามาอยู่ในใจคนมากขึ้นเรื่อยๆ
ตัวเลขที่น่าตกใจคือ ถึงแม้จำนวนผู้ใช้งานจริงในเวลานี้จะอยู่ที่ราว 1 พันล้านคนทั่วโลก ซึ่งยังน้อยกว่า Facebook (2.9 พันล้านคน) และ Instagram (2 พันล้านคน) ของบริษัท Meta อยู่มากพอสมควร แต่ชาวโซเชียลกลับใช้เวลาอยู่กับ TikTok มากที่สุด
โดยในสหรัฐฯ จะมีผู้ที่ใช้เวลาอยู่กับ TikTok เฉลี่ยสูงถึงเดือนละ 29 ชั่วโมง ซึ่งตัวเลขนี้มากกว่าตัวเลขผู้ใช้งาน Facebook และ Instagram ที่ใช้เวลากับแอปที่ 16 และ 8 ชั่วโมงต่อเดือน
TikTok คือทีวีของคน Gen Z :
สิ่งที่เกิดขึ้นนั้นไม่ใช่เรื่องของความบังเอิญหรือโชคดี หากแต่เป็นเพราะ ByteDance ได้พัฒนาอัลกอริทึมสำหรับ TikTok ที่จะเลือกคลิปที่มีความน่าสนใจในแบบที่น่าสนใจจริงๆ ขึ้นมาให้แก่ผู้ใช้ ทำให้เกิดความเพลิดเพลินในการใช้งาน และอยู่ในโลกของ TikTok คอยปัดขึ้นวนไปวันละหลายนาทีไปจนถึงหลายชั่วโมงโดยที่ไม่ทันรู้ตัว (แม้ว่าปัจจุบันคลิปจะขยายเวลาจาก 60 วินาทีไปถึง 10 นาทีได้แล้วก็ตาม)
เรียกว่า ‘พื้นฐาน’ นั้นดีอยู่แล้ว รอแค่จังหวะเวลาที่เหมาะสมที่จะปลดปล่อยทุกอย่างออกมาเท่านั้น ซึ่ง TikTok ใช้เวลาไม่นานในการเข้ามายึดพื้นที่ในหัวใจผู้คน โดย TikTok มีส่วนสำคัญในการสร้างครีเอเตอร์หน้าใหม่ให้เกิดขึ้นอย่างมากมาย โดยที่ใครก็สามารถแจ้งเกิดเป็น ‘ดาว TikTok’ ได้ เพราะง่ายต่อการที่คลิปจะกลายเป็น ‘ไวรัล’ ไม่นับการชาเลนจ์ที่มีขึ้นแทบทุกวัน ที่เหล่าเซเลบริตี้คนดังไปจนถึงอินฟลูเอ็นเซอร์และคนทั่วไปต่างพร้อมจะร่วมสนุกไปด้วยกัน
“TikTok คือทีวีของคน Gen Z” โจ ครองก์ (Jo Cronk) ประธานบริษัทด้านการตลาด Whalar กล่าวกับ Bloomberg “ถ้าคุณอยากทำให้แบรนด์ของคุณ สินค้าของคุณ บริการของคุณได้รับความสนใจจากคน Gen Z นี่คือสิ่งไม่สามารถจะต่อรองได้ในวันนี้”
จากยักษ์ใหญ่ไล่ยักษ์เล็ก สู่ยักษ์เล็กไล่ยักษ์ใหญ่ :
อย่างไรก็ดี ก่อนจะยืนหยัดได้อย่างแข็งแกร่งในวันนี้ TikTok เองก็เคยเจอช่วงเวลาที่ยากลำบากเหมือนกัน เมื่อช่วงที่พวกเขาเริ่มแจ้งเกิดได้มีการกล่าวหาว่าบริษัทเทคโนโลยีจากจีนกลายเป็นเป้าหมายในยุทธศาสตร์การต่อต้านประเทศจีนของสหรัฐฯ ตามนโยบายของโดนัลด์ ทรัมป์ อดีตประธานาธิบดี
ในขณะที่ Huawei แทบจะตายไปจากตลาด TikTok กลับสามารถเอาตัวรอดมาได้ ด้วย ByteDance ยอมขายหุ้นส่วนใหญ่ให้แก่ Oracle Corp และ Walmart ในปี 2020 ซึ่งนำไปสู่การสร้างงานในสหรัฐฯ มากกว่า 25,000 ตำแหน่ง
สุดท้ายเมื่ออดีตประธานาธิบดีทรัมป์ครบวาระ และโจ ไบเดน ได้รับการเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีคนใหม่ ทางด้าน ByteDance ก็ได้ยกเลิกการขายหุ้น และทำให้พวกเขากลับมาถือหุ้นทั้งหมด 100 เปอร์เซ็นต์ตามเดิม
สิ่งที่เพิ่มเติมก็คือการที่บริษัทคิดค้นโมเดลในการทำธุรกิจอย่างจริงจัง และคนที่มีความสำคัญอย่างมากคือ เบลก แชนดลี ประธานฝ่าย Global Business Solutions ของสำนักงานใหญ่ TikTok ในสหรัฐฯ ที่รัฐเท็กซัส ซึ่งเข้าร่วมบริษัทเมื่อปี 2019
แชนดลีซึ่งเคยอยู่ Facebook มานานถึง 10 ปี คือคนสำคัญที่มองออกว่าธุรกิจโฆษณาในแบบเดิมกำลังจะตาย และธุรกิจอื่นๆ ก็จะตายด้วยหากมัวแต่ทุ่มเงินลงไปให้กับรายการทีวีหรือโซเชียลเน็ตเวิร์กแบบเดิมๆ สิ่งที่ควรจะทำคือการคิดค้นโมเดลใหม่ๆ สำหรับยุคใหม่
โดยมีสายลมแห่งการเปลี่ยนแปลงที่ช่วยพัดพาในช่วงของโควิด ที่ผู้คนไม่สามารถออกไปไหนได้จึงต้องหาอะไรทำแก้เบื่อ TikTok ก็เป็นหนึ่งในเพื่อนคลายเหงาที่ดีที่สุดของผู้คนมากมาย หลายคนใช้เวลาอยู่บ้านเพื่อไถดูคลิปวิดีโอการชาเลนจ์ต่างๆ ไปจนถึงคลิปไวรัลในกระแส
หลายคนผันตัวเองมาเป็นครีเอเตอร์ สร้างสรรค์คลิปความยาว 60 วินาที จนเปลี่ยนสถานะกลายเป็น ‘ดาว’ ขึ้นมา ก็ทำให้ TikTok กลายเป็นดาวในดวงใจของคนทั่วโลกในเวลาอันรวดเร็วด้วยเช่นกัน
อย่าทำโฆษณา จงทำคลิป TikTok :
ในขณะที่ยักษ์ใหญ่อย่าง Facebook ทำให้การทำงานของแบรนด์ไปจนถึงเหล่าเอเจนซีต่างๆ ยากลำบาก ทั้งๆ ที่ยินดี (หรือจำใจ) จ่ายค่าโฆษณา (เอาแค่จู่ๆ คิดจะเปลี่ยนอัลกอริทึม หรือเปลี่ยนไซส์รูปก็ป่วนกันทั้งวงการแล้ว!) TikTok พยายามที่จะหาความร่วมมือกับทุกฝ่าย และที่สำคัญพวกเขามองขาดว่าโฆษณาในยุคอนาคตนั้นมีหน้าตาอย่างไร
“เวลาที่คนคิดถึงแบรนดิ้ง พวกเขายังคิดถึงทีวีอยู่ และผมคิดว่านั่นเป็นสิ่งที่ผิด” แชนดลีกล่าวในงานสัมภาษณ์ที่เทศกาลหนังเมืองคานส์ “เราควรจะนำเสนอวิธีใหม่ที่ดีกว่าวิถีโทรทัศน์แบบเดิมๆ ได้แล้ว”
เท่านั้นเองที่แชนดลีกับทีมของเขา ซึ่งประกอบไปด้วยเหล่านักวิศวกรคอมพิวเตอร์ นักวิเคราะห์ข้อมูล และตัวแทนฝ่ายขาย ซึ่งมีนับพันคนจากเซี่ยงไฮ้ไปถึงออสตินและวอร์ซอ ได้เริ่มต้นทำงานร่วมกับแบรนด์และเหล่าอินฟลูเอ็นเซอร์ในการที่จะคิดค้นวิธีการโฆษณาแบบใหม่ๆ
พวกเขาค้นพบวิธีในการทำไวรัลชาเลนจ์ เอฟเฟ็กต์วิดีโอสนุกๆ และคลิปวิดีโอขนาดเต็มจอที่เข้ากับหน้าจอสมาร์ทโฟนสมัยใหม่ที่มีขนาดใหญ่ ทำให้ทุกคนได้อิ่มเอมไปกับความบันเทิงเหล่านี้
โดยที่เอเจนซีบริษัทโฆษณาเองก็เริ่มความสนใจแพลตฟอร์มนี้มากขึ้นเรื่อยๆ จากการใส่เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของแผนการซื้อสื่อก็กลายเป็นส่วนสำคัญ จากที่เคยกะว่าจะทดลองทำดู ตอนนี้ใครไม่ใส่ TikTok เข้ามาในแผนโฆษณาถือว่าเชยอย่างยิ่ง
“มันไปไกลกว่าการทดลอง ตอนนี้คือเราต้องคิดว่าเราจะใส่เงินเข้ามาในแพลตฟอร์มนี้มากแค่ไหน” ไรอัน ดีเทิร์ต (Ryan Detert) ซีอีโอบริษัท Influential marketing firm กล่าว
ปัจจุบันหากอยากจะลง TopView Ad หรือโฆษณาที่จะเด้งขึ้นบนหน้าฟีดของผู้ใช้ทุกคนเมื่อเปิดแอป จะต้องจ่ายเงินถึง 2.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 87 ล้านบาท แลกกับการขึ้นโฆษณาเป็นเวลา 1 วัน ซึ่งเพิ่มขึ้นเป็น 4 เท่าจากเมื่อปีกลาย ซึ่งเมื่อเทียบกับโฆษณาความยาว 30 วินาทีของศึกอเมริกันฟุตบอล Super Bowl ที่มีราคา 6.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 218 ล้านบาทแล้ว จะเห็นได้ว่า Super Bowl มีแค่ปีละ 1 วัน แต่ TikTok สามารถทำรายได้จำนวนนี้ทุกวัน
“Don’t make ads. Make TikTok’s” คำขวัญนี้ของพวกเขาเริ่มเข้าเค้าแล้ว
ที่รักของเหล่าครีเอเตอร์ :
อีกสิ่งหนึ่งที่มีส่วนสำคัญในความสำเร็จวันนี้ของ TikTok คือเหล่าครีเอเตอร์ที่พร้อมทำคอนเทนต์ดีๆ ฮิตติดกระแสบนแพลตฟอร์มเสมอ
ย้อนกลับไปในปี 2020 TikTok ตั้งงบประมาณเอาไว้ถึง 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อจ่ายเป็นรางวัลให้แก่เหล่าครีเอเตอร์ที่มียอดผู้ชม (View) ผ่านเกณฑ์ และตั้งเป้าว่าจะเพิ่มงบประมาณส่วนนี้ไปอีกให้ถึง 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐภายในระยะเวลา 3 ปีถัดมา หรือในปี 2023
ล่าสุดในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา แชนดลีและทีมได้เริ่มที่จะให้เหล่า ‘Top Creators’ ได้รับส่วนแบ่งจากโฆษณาที่แทรกอยู่ระหว่างคอนเทนต์ของพวกเขา ซึ่งความจริงก็ไม่ใช่วิธีใหม่ แต่เป็นวิธีที่ YouTube นำมาใช้นานแล้ว และได้รับการร่วมมือที่ดีจาก Vlogger ทั้งหลาย
ครีเอเตอร์อย่าง อลิสซา แม็คเคย์ (Alyssa McKay) ซึ่งเคยทำงานพาร์ตไทม์ในร้านโยเกิร์ตในเมืองพอร์ตแลนด์ รัฐออริกอน และได้รายได้แค่ขั้นต่ำ แต่หลังจากที่หันมาทำคลิป TikTok แล้ว เธอสามารถทำเงินรายได้มากกว่าปีละ 1 แสนดอลลาร์สหรัฐ
รายได้ของแม็คเคย์มาจากการที่แบรนด์ใหญ่อย่าง Coach, Netflix หรือ Amazon Prime ยินดีที่จะจ่ายเงินให้แก่ครีเอเตอร์ที่มีผู้ติดตามมากถึง 9 ล้านคน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเด็กวัยรุ่นที่ไม่มีความคิดที่จะเข้า Facebook
เรื่องราวของแม็คเคย์เป็นแค่หนึ่งในหลายร้อยหลายพันหรือมากกว่านั้นที่เกิดขึ้นกับเหล่าครีเอเตอร์ทั่วโลก ที่กลายเป็นดาวเด่นขี้นมาในโลกของ TikTok
ที่เด็ดคือบรรดาครีเอเตอร์นั้นสามารถทำคอนเทนต์ชิ้นเดียว แต่หาเงินได้เพิ่มเป็น 2 ทาง โดยพวกเขาจะทำคลิปสำหรับ TikTok ก่อนที่จะนำมาโพสต์ซ้ำใน Reels ของ Facebook
“มันทำให้งานน้อยลง แต่ทำเงินได้เพิ่มเป็น 2 เท่า” มาเรีย ลุยซา ฟาน ซวีเทิน (Maria Luisa Van Zwieten เลเยอร์ (คอสเพลย์) สาวชาวดัตช์วัย 29 ปี เผยถึงเคล็ดลับในการสร้างรายได้ของเธอ
เมื่อ Facebook (และทุกที่) ต้องขอลอกการบ้านแบบโต้งๆ :
อีกเหตุผลหนึ่งที่มีส่วนช่วย TikTok ไม่น้อย คือการที่ Apple ปรับนโยบายการรักษาความปลอดภัยในเรื่องข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้ ซึ่งกระทบต่อ Facebook ที่ติดตามข้อมูลและกิจกรรมของผู้ใช้อย่างเงียบๆ (จนหลายคนหลอนว่านี่แอบฟังอยู่ใช่ไหม) และเมื่อมีโอกาสจึงปิดกั้นไม่ให้ติดตามข้อมูลอีก จนนำไปสู่ผลกระทบทางยอดรายได้ของ Meta อย่างรุนแรง
ในขณะที่ TikTok ไม่ได้พึ่งพาการติดตามข้อมูลแบบนั้น เพราะหัวใจสำคัญคือระบบปัญญาประดิษฐ์ที่จะดูว่าผู้ใช้นั้นชอบดูอะไร เช่น วิดีโอสัตว์เลี้ยง คลิปสเกตบอร์ด หรือคลิปลิปซิงก์
AI ของ TikTok จะจับคู่เนื้อหาให้แก่ผู้ใช้อย่างเนียนๆ ไม่เฉพาะแค่คอนเทนท์ แต่รวมถึงโฆษณาด้วย
สิ่งเหล่านี้กระทบต่อยักษ์ใหญ่ในวงการโฆษณาอย่าง Facebook และ Google เข้าอย่างจัง โดยเฉพาะฝ่ายแรกที่อยู่ไม่สุข เพราะจับสัญญาณได้ว่า ‘งานเข้า’ แล้ว และทำให้เวลานี้พวกเขาไม่มีทางเลือกอื่นนอกไปจากการพยายามไล่ตามเงาของคู่แข่งอย่างรีบเร่ง
เพราะพวกเขาเริ่มรู้ตัวแล้วว่าตอนนี้ในหมู่คนรุ่นใหม่ TikTok คือที่ 1 และ Facebook (ไปจนถึง Instagram) กำลังเป็นเรื่องของคนแก่ และสิ่งสะท้อนที่ดีที่สุดคือการที่รายได้และผลกำไรลดลงในไตรมาสที่ผ่านมา ซึ่งเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ที่พวกเขากลายเป็นบริษัทมหาชนเมื่อปี 2012
ล่าสุด Meta ได้ปรับเปลี่ยนหน้าตาฟีดใหม่ของ Facebook ไปจนถึงการเพิ่มความสำคัญของ Reels ฟังก์ชันวิดีโอสั้นๆ ที่ลอกการบ้านของ TikTok มาสักพักแต่ไม่สำเร็จสักที และยังโดนผู้ใช้ตำหนิว่ามีแต่คลิปที่ไม่ได้สนใจขึ้นมาเต็มไปหมด ขณะที่โพสต์ของเพื่อนหรือเพจที่ติดตามไว้กลับยิ่งลดน้อยลงไปทุกทีจนแทบจะหาไม่เจอแล้ว (และเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ทุกคนเบื่อ Facebook)
ส่วน Instagram ก็พยายามจะเดินตาม TikTok ด้วยเช่นกัน แต่สุดท้ายถูกกระแสต่อต้าน ทำให้ต้องยอมยุติการทดสอบ
อย่างไรก็ดี ไม่ใช่เฉพาะแค่ Facebook หรือ Instagram ที่พยายามเติม ‘คลิปสั้น’ เข้ามาในแพลตฟอร์ม เพราะ YouTube หรือ Snapchat เองก็จำเป็นต้องทำเช่นเดียวกัน
ไปให้ไกลที่สุดแล้วค่อยคิดว่าจะหยุดที่ไหน :
สำหรับอนาคต ByteDance ตั้งใจจะทำให้ TikTok ไปได้ไกลที่สุด และไปได้ทุกวงการด้วย
โดยในวงการโฆษณาที่ตอนนี้ต้องบอกว่าแม้เอเจนซีไปจนถึงแบรนด์ต่างๆ จะยังบอกว่า Meta ยังดีกว่าในแง่ของมูลค่าสื่อ ไปจนถึงการกำหนดโฆษณาที่จะนำไปสู่การขาย หรือการดาวน์โหลดแอปในเวลานี้ แต่ TikTok ก็มีความตั้งใจที่จะทำให้ทุกอย่างดีขึ้น และที่สำคัญที่สุดคือพวกเขากำลังพยายามทำให้แบรนด์ของบริษัทต่างๆ เข้าใจและ ‘ซื้อไอเดีย’ ในการทำคลิป TikTok มากกว่าจะทำโฆษณา
นอกเหนือจากนี้ พวกเขายังเจาะทะลวงวงการเพลงด้วยการทำตัวเป็น Music Distribution (ซึ่งศิลปินจำนวนมากได้อานิสงส์ดังแบบไม่รู้ตัวเพราะ TikTok เหมือนกรณีของ แสตมป์ อภิวัชร์ หรือเพลง ‘ทักครับ’ ของวง Lipta) ไปจนถึงวงการเกมและวงการแคสต์เกม
ขั้นต่อไปที่พวกเขาหวังไว้คือ การ ‘ละลาย’ ภาพระหว่างโซเชียลมีเดียกับแพลตฟอร์มช้อปปิ้งออนไลน์ โดยได้ร่วมมือกับมืออาชีพอย่าง Shopify โดยมีเป้าหมายที่จะให้สามารถเชื่อมโยงไปกับร้านค้าได้อย่างสะดวกที่สุด
ลองจินตนาการว่าจากที่เราเคยเห็นแต่ภาพหรือวิดีโอการเปิดตัวรองเท้าสนีกเกอร์รุ่นใหม่ และต้องหาลิงก์เพื่อสั่งซื้อของ ก็มาดูรีวิวสินค้าบน TikTok แล้วกดคลิกเดียวไปสู่ลิงก์ของร้านค้าในแอปได้ทันที ถ้าทำได้คือการที่พวกเขาจะเปิดศึกกับแพลตฟอร์มช้อปปิ้งออนไลน์อีกหลายที่ รวมถึง Amazon ด้วย
และความจริงคือ ByteDance ทำสำเร็จมาแล้วในประเทศจีนตั้งแต่ปี 2020 โดยนับตั้งแต่ที่ให้ช้อปปิ้งได้ภายในแอป มีการซื้อขายสินค้าบน Douyin ถึง 2.6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 8.74 แสนล้านบาทในปีแรก และเพิ่มขึ้นเป็น 3 เท่าใน 12 เดือนที่ผ่านมา
อย่างไรก็ดี จากสถานการณ์ภายในประเทศจีนที่ไม่มีอะไรแน่นอน ใต้การนำของพรรคคอมมิวนิสต์ที่มีอำนาจสามารถสั่งปิดกิจการใดๆ ได้ ซึ่งมีการส่งสัญญาณเตือนด้วยข้อกำหนด 30 ข้อเกี่ยวกับการกำหนดอัลกอริทึมสำหรับบริการออนไลน์อย่าง Douyin ซึ่งส่งผลให้จางต้องลงจากตำแหน่งซีอีโอเมื่อปีกลาย ทำให้พวกเขาต้องมองหาหนทางเสมอ
บุคลากรชั้นยอดอย่าง โจวโส่วจื่อ ถูกดึงตัวมาจาก Xiaomi เมื่อปีกลาย เพื่อเป็นซีอีโอคนใหม่ของ TikTok และผู้บริหารระดับสูงของ ByteDance หลายคน รวมถึง จูเหวินเจีย พ่อมดโค้ดดิ้งที่อยู่เบื้องหลังอัลกอริทึมที่เปลี่ยนแปลงโลก ได้ย้ายไปอยู่ในร่มของ TikTok แทน เป็นการส่งสัญญาณว่า TikTok อาจจะไม่ได้เป็นบริษัทจากจีนอีกต่อไป แต่จะเป็นบริษัทสากลในอนาคตเพื่อลดความเสี่ยงเรื่องปัจจัยทางการเมือง
เพียงแต่นั่นเป็นสิ่งที่อยู่ไกลตัวของเหล่าครีเอเตอร์ที่พร้อมจะสร้างสรรค์คลิปวิดีโอ ที่นอกจากจะสนองความสุขของตัวเองแล้วยังทำเงินรายได้มหาศาล ซึ่งเวลานี้ TikTok มีทุกอย่าง ไม่ใช่แค่ความบันเทิง แต่มีข่าวสาร ความรู้ ประวัติศาสตร์ ฮาวทู และอีกมากมาย เรียกได้ว่าเป็นอะไรก็ได้แล้วแต่จินตนาการ
เช่นเดียวกับเหล่าชาว TikTokers ที่พร้อมจะใช้จ่ายวันเวลาแบบโง่ๆ ไปกับการไถดูคลิปไปเรื่อยๆ เพราะทำงานทั้งวันมาก็เหนื่อยจะตายอยู่แล้ว ก่อนที่จะรู้ตัวอีกทีคือดึกมากแล้ว และสมควรจะวางมือถือเพื่อปิดไฟและเข้านอน
ที่มา the standard
วันที่ 4 สิงหาคม 2565