เอกชนชู "ท่องเที่ยว-ส่งออก-FDI" นำไทยฝ่าวิกฤติ โต้คลื่นเศรษฐกิจโลก
"กอบศักดิ์" ชี้วิกฤติเศรษฐกิจโลก ไทยโดนแค่หางมรสุม จี้เร่งดันท่องเที่ยว FDI เครื่องยนต์ใหม่ช่วยฟื้นเศรษฐกิจ สภาอุตฯ ชี้ 10 ปีไทยเผชิญ 6 คลื่นซัดกระหน่ำ เร่งแผนดัน 45 กลุ่มอุตฯอยู่รอด พร้อมต่อยอด 12 อุตฯสร้างรายได้ใหม่ สรท.ลุ้นส่งออกพุ่ง 10% เอสเอ็มอีฯ จี้รัฐหนุนรายย่อยโต
ในงานสัมมนา Thailand Survival ไทย..จะรอดอย่างไรในวิกฤติโลก ช่วง Special Talk : โอกาสและความเสี่ยงจากวิกฤติเศรษฐกิจ จัดโดยเครือเนชั่น มีผู้นำภาคเอกชนร่วมแสดงมุมมอง และนำเสนอแนวทางในการขับเคลื่อนภาคธุรกิจและเศรษฐกิจไทยให้เดินต่อไปข้างหน้า
นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย กล่าวว่า แนวโน้มวิกฤติเศรษฐกิจกำลังก่อตัวขึ้นในตลาดเกิดใหม่ (Emerging Market) โดยศรีลังกาเป็นแค่หนังตัวอย่าง ในระยะต่อไปเริ่มเห็นสัญญาณใน สปป.ลาว เมียนมา อัฟกานิสถาน กานา เป็นต้น ขณะที่สหรัฐฯเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession)ทางเทคนิคแล้ว จากเศรษฐกิจติดลบ 2 ไตรมาส และในอนาคตจะเห็น Global Recessions ในหลายประเทศพร้อมกัน ดังนั้นใน 1-2 ปีข้างหน้านี้ไทยต้องก้าวผ่านวิกฤติรอบนี้ไปให้ได้
ชี้ไทยโดนแค่หางมรสุม :
สำหรับไทยยังโชคดีที่ได้รับผลกระทบในรอบนี้ค่อนข้างน้อย โดนแค่หางมรสุมเมื่อเทียบกับหลายประเทศ จากยังมีปัจจัยพื้นฐานที่ดีจากภาคเกษตรที่มีผู้เกี่ยวข้องกว่า 35 ล้านคน โดยราคาสินค้าเกษตร ปาล์ม อาหารและอื่น ๆ ยังไปได้ และราคายังดี ภาคการท่องเที่ยวฟื้นตัวในจังหวะที่เหมาะสม คาดปีนี้จะมีนักท่องเที่ยวเข้ามากว่า 10 ล้านคน เงินบาทอ่อนค่าส่งผลดีต่อภาคการส่งออกที่มีคนเกี่ยวข้อง 3-4 ล้านคน นอกจากนี้ยังมีโอกาสใหม่ ๆ รออยู่ ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า พลังงานทดแทน ภาคเกษตร อาหารแห่งอนาคต อุตสาหกรรมปุ๋ย เป็นต้น
“เราดีค่อนประเทศ ในช่วงที่หลายประเทศเกิดวิกฤติ ดังนั้นต้องใช้โอกาสนี้ในการเพิ่มเครื่องยนต์ช่วยเคลื่อนเศรษฐกิจทั้งการท่องเที่ยว โครงสร้างพื้นฐาน ดึงการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ลงอีอีซี เป็นต้น หากใช้เวลาสะสม 1 ปี จะเกิดโมเมนตัมได้”
ภาคอุตฯเร่งปรับตัวครั้งใหญ่ :
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ในรอบเกือบ 10 ปีที่ผ่านมา ไทยเจอคลื่นมรสุมต่าง ๆ ที่มากระทบทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงตามลำดับ ได้แก่ ดิจิทัล ดิสรัปชั่น, สงครามการค้าสหรัฐฯ-จีน,โควิด-19, สงครามรัสเซีย-ยูเครน, ภาวะเศรษฐกิจโลกที่มีอัตราการเติบโตต่ำลง (Recession) และคลื่นลูกต่อไปคือ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ที่จะเป็นหายนะของมวลมนุษยชาติ
อย่างไรก็ดีในทุกวิกฤติยังมีโอกาสสำหรับประเทศไทย เช่น ดิจิทัล ดิสรัปชั่น ทำให้ภาคอุตสาหกรรมไทยมีการปรับเปลี่ยน หรือทรานส์ฟอร์มตัวเองเพื่อลดผลกระทบ, สงครามการค้าทำให้ไทยส่งออกไปสหรัฐฯได้เพิ่มขึ้น ต่างชาติย้ายฐานจากจีนมาไทยเพิ่มขึ้น, โควิด-19 เป็นโอกาสของธุรกิจด้านการแพทย์และอุปกรณ์เครื่องมือต่างๆ การผลิตชุด PPE เพื่อส่งออก, สงครามรัสเซีย-ยูเครน เป็นโอกาสในการส่งออกสินค้าอาหารไทยเพิ่มขึ้น และปีนี้คาดจะติดท็อปเทนประเทศผู้ส่งออกอาหารโลกได้ และการถดถอยทางเศรษฐกิจ ไทยยังมีโอกาสส่งออกเพิ่มจากแต้มต่อบาทอ่อนค่า และในครึ่งปีหลังจากภาคการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวจะเป็นตัวช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และเป็นโอกาสรองรับการลงทุนจากยุโรป รัสเซีย และอีกหลายประเทศที่กำลังมองหาที่เพื่อย้ายฐานการผลิตเข้ามาในภูมิภาคนี้ ซึ่งไทยเป็นหนึ่งในเป้าหมาย
“จากคลื่นมรสุมต่างๆ ข้างต้น จะทำให้เกิดการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทย ในส่วนของภาคอุตสาหกรรมเรากำลังคุยกันเรื่องความมั่นคงทางด้านซัพพลายเชน รวมถึงทางรอดของภาคอุตสาหกรรมไทยที่ทาง ส.อ.ท.เราได้มีการปรึกษาและวางแผนร่วมกัน ประกอบด้วย 2 ส่วนคือ FIRST INDUSTRIES หรืออุตสาหกรรมดั้งเดิมที่ใน ส.อ.ท.เรามีอยู่ 45 กลุ่ม อยู่ในโหมดจะทำอย่างไรให้เขาอยู่รอด ทำให้เข้มแข็งขึ้น โดยเสริมในเรื่องอินโนเวชั่น และการเข้าถึงแหล่งเงิน และส่วนที่ 2 ที่เป็นอนาคต ทางรอด และแสงสว่าง ที่กำหนดไว้ 3 อุตสาหกรรม ได้แก่ NEXT-GEN INDUSTRIES ใน 12 อุตสาหกรรมสมัยใหม่ รวมถึงเศรษฐกิจ BCG และสินค้าที่เกี่ยวกับ Climate Change”
สรท.ลุ้นส่งออกทั้งปีโต10% :
ด้าน นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวว่า การตั้งโจทย์เป็นสิ่งสำคัญ ทำอย่างไรถึงจะเอาตัวรอดไปให้ได้ โดยขอเปลี่ยนโจทย์จาก Thailand Survival เป็น “ไทยแลนด์ สู้ สู้” เพราะสิ่งสำคัญที่สุดคือการมองหาโอกาสและจุดแข็งของไทยว่าคืออะไร และวางกลยุทธ์เชิงรุกและรับ สำหรับภาคส่งออกในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาขยายตัวสูงมาก และยังขยายตัวต่อเนื่อง โดยครึ่งแรกของปีนี้ขยายตัว 12.7%
ทั้งนี้จากเงินบาทที่อ่อนค่า 17% ขณะที่ค่าเงินประเทศเพื่อนบ้านอ่อนค่า 4-5% ถือเป็นโอกาสที่ดีของการส่งออกไทย โดยมิติของการส่งออกด้านสินค้าเวลานี้ที่เด่นๆ ได้แก่ อาหารและสินค้าเกษตรที่ไทยส่งออกสัดส่วน 30% ของการส่งออกในภาพรวม ที่เด่น ๆ ได้แก่ “ข้าว” 6 เดือนแรกส่งออกแล้วมากกว่า 3.5 ล้านตัน เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนส่งออก 2 ล้านกว่าตัน มั่นใจว่าทั้งปีนี้ไทยจะส่งออกข้าวได้ 7-7.5 ล้านตัน “อาหาร” ตั้งแต่เกิดสงครามรัสเซีย-ยูเครน ทำให้โลกมีความต้องการอาหารมากขึ้น เดือนพ.ค.ไทยส่งออกกลุ่มอาหารขยายตัว 24-25% ภาพรวมครึ่งปีแรกขยายตัว 10% และ“น้ำตาล” ที่ครึ่งแรกขยายตัว 90% จากสามารถนำไปเป็นพืชพลังงานได้
ส่วนสินค้าอุตสาหกรรม ภาพรวม 6 เดือนแรก ยังขยายตัวเพียง 10% โดยกลุ่มยานยนต์ติดลบ 10% จากขาดแคลนชิปที่เป็นวัตถุดิบหลักในการผลิต ในครึ่งปีหลังต้องลุ้นว่า ปัญหาการขาดแคลนชิปจะกลับมาดีขึ้นหรือไม่ ส่วนที่ขยายตัวได้ดีเช่น เม็ดพลาสติก และสิ่งทอ
“ครึ่งปีแรกไทยส่งออกไทยขยายตัว 12% หากครึ่งปีหลังไม่โตหรือโตแค่ 5% ทั้งปีจะขยายตัวได้ที่ 6.2-8.7% แต่ถ้าครึ่งหลังโต 7.5% หมายความว่าทั้งปีส่งออกไทยจะโตได้ 10% ภายใต้กลยุทธ์รุก 2 รับ 2 โดยรุกคือ มองหาตลาดที่ยังมีโอกาสโตต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นอาเซียน ตะวันออกกลาง อินเดีย และการใช้ประโยชน์จากอาร์เซ็ป และรับ 2 คือ การบริหารสภาพคล่อง และลดต้นทุนการผลิต”
หนุน SMEs เคลื่อน ศก.ฐานราก :
นายแสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย กล่าวว่า วันนี้เอสเอ็มอีต้องเผชิญกับวิกฤติ 5 ส. ทั้งวิกฤตสุขภาพ เศรษฐกิจ สงคราม สังคม และสิ่งแวดล้อม ส่งผลต่อความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย ทั้งนี้ SMEs มีบทบาทสำคัญต่อโครงสร้างของประเทศ เป็นเศรษฐกิจฐานรากเช่นเดียวกับเกษตรกร ซึ่งแรงงานในภาค SMEs รวมกันแล้วกว่า 15 ล้านคน การเผชิญกับวิกฤติ ทำให้เกิดทั้งเรื่องของรายได้ลด ต้นทุนที่เพิ่มขึ้น ค่าครองชีพพุ่ง เงินเฟ้อ-เศรษฐกิจฝืด หนี้เพิ่ม และคนว่างงานเพิ่ม ดังนั้นการส่งเสริมในภาคอุตสาหกรรมขนาดใหญ่เติบโต ก็ต้องให้โอกาสกับ SMEs ในการเติบโตเช่นกัน
สำหรับในภาคการส่งออกประมาณ 8 ล้านล้านบาทต่อปี SMEs มีส่วนในการส่งออกราว 1 ล้านล้านบาทหรือ 12% มี SME ที่อยู่ในภาคการส่งออกทางตรงเพียง 2.5 หมื่นราย ขณะเดียวกันหลายฝ่ายระบุบาทอ่อนค่าส่งผลดีกับภาคส่งออก และท่องเที่ยว แต่ก็มีด้านลบ โดย 6 เดือนแรกปีนี้ดุลการค้าไทยติดลบแล้วกว่า 2.7 แสนล้านบาท ขณะที่ดุลการค้าในส่วนของผู้ส่งออก SMEs ติดลบไปราว 3 หมื่นล้านบาท
“ไทยยังมีโอกาสในการฟื้นเศรษฐกิจโดยใช้เศรษฐกิจฐานรากเป็นตัวขับเคลื่อนซึ่งต้องเร่งส่งเสริมตลาดนวัตกรรมนำการผลิต, การจัดหาแหล่งต้นทุนต่ำ ,การสร้างพลเมืองผู้ประกอบการที่มีธรรมาภิบาล,การสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจฐานราก, การแก้ไขกฎหมายลดความเหลื่อมล้ำ และเกษตรกรและ SMEs ต้องมีแต้มต่อ”
ชาวนาวอนรัฐช่วยต่อไร่ละพัน :
ด้าน นายปราโมทย์ เจริญศิลป์ นายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย กล่าวว่า เกษตรกรชาวนาทั่วประเทศ มี 4.6 ล้านครัวเรือน ประมาณ 16-18 ล้านคน มีพื้นที่ปลูกข้าวประมาณ 62 ล้านไร่ ซึ่งชาวนาเป็นฐานรากที่สำคัญของประเทศ อยากให้ฝ่ายต่างๆ ให้ความสำคัญ เพราะถ้าไม่มีชาวนา ก็ไม่มีข้าวรับประทาน ไม่มีการส่งออกเวลานี้ชาวนาเจอวิกฤติสงครามรัสเซีย-ยูเครน ปัจจัยการผลิตทั้งปุ๋ย ยา น้ำมัน ค่าแรงงานปรับขึ้นหมด ต้นทุนการผลิตสูงขึ้นมาก แต่ราคาข้าวเปลือกแนวโน้มต่ำลง สวนทางข้าวสารปรับขึ้นราคา สะท้อนว่ารัฐบาลยังให้การสนับสนุนเกษตรกรน้อย
“ในแต่ละปีไทยผลิตข้าวได้ประมาณ 30 ล้านตันข้าวเปลือก ช่วงที่ผ่านมาผลกระทบจากโควิดและสงคราม ทำให้ข้าวไทยส่งออกได้น้อย ประกอบกับต้นทุนการผลิตสูง หากไปเทียบกับเวียดนามและเพื่อนบ้านมีต้นทุนถูกว่า ทำให้การส่งออกข้าวชนิดเดียวกันของเราราคาสูงกว่าคู่แข่งขันมาก ถามว่าหากเป็นแบบนี้คู่ค้าจะซื้อของถูกหรือของแพง”
ปัจจุบันสถานะชาวนา เหมือนลูกที่ถูกลืม อยากให้พรรคการเมืองลงมาดูว่า ชาวนาต้องการอะไร ที่ผ่านมาเหมือนโดนถูกกระทำ ถูกตัดงบช่วยเหลือ และพอจะถึงมือชาวนาจริงกลับถูกเบียดบังไป ทั้งนี้ไม่ขออะไรมาก ขอให้ภาครัฐคงเงินช่วยเหลือในการลดต้นทุนการผลิตข้าวและค่าเก็บเกี่ยวข้าวให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว 1,000 บาทต่อไร่ ไม่เกินครัวเรือนละ 20 ไร่เพื่อนำไปต่อยอดลงทุนทำนา
ที่มา ฐานเศรษฐกิจ
วันที่ 5 สิงหาคม 2565