DITTO จัดทัพลุยงาน "การจัดการข้อมูลดิจิทัล" "ราชการ-ท้องถิ่นทั่วประเทศ" กว่าหมื่นล้าน
ธุรกิจการให้บริการออกแบบและพัฒนาระบบบริหารจัดการเอกสารและข้อมูลแบบครบวงจร หรือเรียกง่ายๆว่า “การจัดการข้อมูลดิจิทัล” เป็นอีกหนึ่งธุรกิจหลักของ DITTO ครอบคลุมตั้งแต่การออกแบบสถาปัตยกรรมข้อมูล “Data Architecture” เพื่อให้เกิดกระบวนการจัดการข้อมูลที่ดีตั้งแต่การจัดเก็บและนำไปใช้ บริการย้ายข้อมูล ไปยังตำแหน่งจัดเก็บข้อมูลที่ต้องการ
รวมถึงดูแลความต่อเนื่องการใช้งานระบบข้อมูล ทั้งการทำงานกับข้อมูลดิจิทัล ปัจจุบัน และ การจัดการกับข้อมูลอนาล็อกย้อนหลัง นำไปสู่การใช้งานข้อมูลแบบไฮบริดทั้งระบบให้เกิดประสิทธิภาพ และลดกระบวนการการทำงานขององค์กรให้เหลือน้อยที่สุด
ธุรกิจการจัดการข้อมูลดิจิทัล ของ DITTO มีตั้งแต่ การแปลงเอกสารเป็นรูปแบบดิจิทัล,จัดทำสารบัญเพื่อความสะดวกในการค้นหา, จัดเก็บอยู่ในระบบบริหารจัดการเอกสารหรือ ระบบจัดการข้อมูลในองค์กร ตลอดจนบริการพัฒนาซอฟต์แวร์ การจัดการเอกสารและบริหารระบบให้กับระบบธุรกิจ (BPO Service) และเพื่อให้การบริการครบวงจรยิ่งขึ้น DITTO จึงรุกเข้าสู่ธุรกิจ “ความปลอดภัยไซเบอร์” หรือ Cyber Security อีกด้วย
กล่าวได้ว่า DITTO ดำเนินธุรกิจการจัดการข้อมูลดิจิทัลครบวงจรอย่างแท้จริง
มูลค่าตลาดกว่าหมื่นล้าน
จากการสำรวจภาพรวมตลาดการจัดการข้อมูลดิจิทัลในปี 2563-2568 โดยบริษัท ฟรอส์ท แอนด์ ซัลลิวัน ระบุว่า ตลาดการจัดการข้อมูลดิจิทัลจะเติบโตจาก 729.1 ล้านบาท เป็น 11,886.6 ล้านบาท โดยเฉพาะตลาดภาครัฐซึ่งเป็นตลาดใหญ่มูลค่ากว่า 8 พันล้านบาท แต่เมื่อมี พ.ร.บ. การปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ หน่วยงานต่างจำเป็นต้องปฏิบัติตามกฎหมายคาดว่ามูลค่าน่าจะเพิ่มสูงกว่าหมื่นล้านบาทแน่นอน จึงเป็นทั้งโอกาสและความท้าทายของ “DITTO” ที่มีข้อได้เปรียบคู่แข่งเพราะมีประสบการณ์ในการทำงานภาครัฐมาก่อนใคร
ศาลยุติธรรมเป็นหน่วยงานราชการองค์กรแรกๆที่มีนโยบายปฏิวัติการจัดเก็บเอกสารใหม่ทั้งระบบจากกระดาษมาเป็นระบบดิจิทัล โดย DITTO ได้รับความไว้วางใจให้เป็นผู้ดำเนินการจัดเก็บเอกสารเข้าสู่ระบบดิจิทัลทั้ง 293 ศาลทั่วประเทศต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน
“ฐกร รัตนกมลพร” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ บ.ดิทโต้ (ประเทศไทย) จำกัด มหาชน “DITTO” เปิดเผยว่า ยังมีหน่วยงานภาครัฐอีกหลายหน่วยงานที่ใช้บริการของ DITTO เช่น โครงการแปลงข้อมูลสัญญาหลังโฉนดของกรมที่ดิน ซึ่งมีแผนนำข้อมูลที่ดินทั่วประเทศเข้าระบบดิจิทัลมาสักพักแล้วเพราะข้อมูลที่ดินมีเยอะมาก จึงเริ่มขยายผลไปต่างจังหวัดเพื่อบริการประชาชน ต่อไปคนที่อยู่กทม.ก็สามารถเช็คข้อมูลที่เชียงใหม่หรือภูเก็ตได้โดยไม่ต้องเดินทางไป
ล่าสุด DITTO เพิ่งได้โครงการจ้างนำเข้าข้อมูลที่ดิน เพื่อจดทะเบียนออนไลน์ทั่วประเทศปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ของกรมที่ดิน กระทรวงมหาดไทยอีก 1 โครงการเป็นโครงการต่อเนื่องจากของเดิม
นอกจากนี้ยังมีการนำเข้าข้อมูลสู่ระบบดิจิทัลของธนาคารเพื่อการเกษตร และสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) สำนักงานปลัดกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เป็นต้น ส่วนภาคธุรกิจเอกชนขนาดใหญ่ มี บริษัท ห้างเซ็นทรัล ดีพาร์ทเมนท์ สโตร์ จำกัด ปูนซีเมนต์ไทย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา บมจ.พรูเด็นเชียล ประกันชีวิต และโรงพยาบาลอีกหลายแห่ง
ปูพรมงานราชการ-ท้องถิ่นทั่วประเทศ
นายฐกร กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ปัจจุบันได้มีการประกาศใช้ พ.ร.บ. การปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2565 ออกมา ซึ่งจะช่วยกระตุ้นให้หน่วยงานราชการทุกองค์กรต้องเปลี่ยนจากกระดาษเป็นดิจิทัล โดยเฉพาะหน่วยงานพื้นฐานที่จัดเก็บข้อมูลหรือให้บริการประชาชน เช่น กระทรวงสาธารณสุข มหาดไทย การศึกษา รัฐสภา หรือหน่วยงานท้องถิ่น อบต. อบจ. ต้องพร้อมเป็นดิจิทัล
“ปัจจุบันหน่วยงานราชการพยายามอำนวยความสะดวกประชาชนในเรื่อง e-Service ต่อไปประชาชน เพียงเดินถือบัตรสามารถดูข้อมูลในระบบได้เลย แม้เอกสารในระบบราชการเองในการส่งข้อมูลจะไม่มีการส่งทางจดหมายแต่จะเป็นการส่งข้อมูล e -Electronic เพื่อให้หน่วยงานราชการตอบสนองประชาชนทันสถานการณ์”นายฐกรกล่าว
นายฐกร กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมา DITTO ได้ให้บริการด้านการบริหารจัดการระบบเอกสารรูปแบบดิจิทัลครบวงจร กับหน่วยงานราชการอยู่แล้ว แต่เมื่อกฎหมายบังคับใช้อย่างจริงจัง จึงมีเป้าหมายขยายผลให้ครบทั้งกระบวนการ เช่น ปัจจุบันได้งานศาลยุติธรรมก็จะขยายผล ไปยังสำนักงานอัยการ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมราชทัณฑ์ ซึ่งอยู่ในกระบวนการยุติธรรมเหมือนกัน
นอกจากนี้ ยังบุกตลาดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศ ทั้ง อบจ. เทศบาล อบต. ทั่วประเทศกว่า 8 พันแห่ง คาดว่ามูลค่าไม่ต่ำกว่า 3-4 พันล้านบาท ซึ่งบริษัทได้ทดลองบุกตลาดมาระยะหนึ่งแล้วโดยจัดทีมขาย เข้าไปขายโดยตรงและได้ร่วมมือกับตัวแทนจำหน่ายสินค้าของบริษัทในต่างจังหวัดซึ่งเป็นพันธมิตรธุรกิจ อีกด้วย
“ผมมองว่าเรายังขยายไปได้อีกมาก จากส่วนกลางไปถึงพื้นที่ตามจังหวัด ตลาดนี้ยังใหญ่และมีความสำคัญขึ้นเรื่อยๆ จะไปพร้อมกับไซเบอร์ ซีเคียวริตี้ ทำให้หน่วยงานราชการต่างๆสามารถบริหารจัดการเอกสารให้เป็นระบบดิจิทัลได้ไม่ต้องกลัวความผิดเพราะมีกฎหมายรองรับแล้วซึ่งมูลค่ารวมของหน่วยงานราชการคาดว่ามูลค่ากว่าหมื่นล้านบาท” ฐกร กล่าวทิ้งท้าย
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ