นายกฯ ติดตามคืบหน้าโครงการ "แลนด์บริดจ์” ดันระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้
โฆษกรัฐบาลเผย นายกฯ ติดตามความคืบหน้าโครงการ "แลนด์บริดจ์" เชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยกับทะเลอันดามัน ผลักดันการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้
นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ต้องการขยายรากฐานเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งเพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ เชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยกับทะเลอันดามัน ต่อยอดประโยชน์ที่ไทยตั้งอยู่ใจกลางคาบสมุทรอินโดจีน เป็นจุดยุทธศาสตร์ด้านการขนส่งและการค้าของเอเชีย
โดยสั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องศึกษาจัดทำโครงการเเลนด์บริดจ์ (LandBridge) ให้เป็นหนึ่งในโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและบริการด้านคมนาคม โดยบูรณาการรูปแบบการขนส่งเชื่อมโยง 2 ท่าเรือให้เชื่อมต่อถึงกันอย่างไร้รอยต่อ ส่งเสริมการขนส่งทางน้ำให้มีความทันสมัย เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันทางเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้ติดตามการดำเนินการ รวมถึงความคืบหน้าของโครงการดังกล่าวอย่างใกล้ชิด พร้อมได้เน้นยํ้าให้หน่วยงานศึกษา และออกเเบบอย่างรอบคอบและเหมาะสม รับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสีย ทั้งผู้ประกอบการ นักลงทุน รวมทั้งชุมชนให้ครบถ้วนทุกฝ่าย
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรียังกล่าวเพิ่มเติมว่า โครงสร้างพื้นฐานหลักของโครงการเเลนด์บริดจ์ Landbridge คือท่าเรือนํ้าลึกฝั่งอ่าวไทย ในจังหวัดชุมพร เเละท่าเรือนํ้าลึกฝั่งอันดามัน จังหวัดระนอง โดยมีเส้นทางเชื่อมโยงท่าเรือทั้ง 2 เเห่ง ระยะทางประมาณ 90 กิโลเมตร ได้แก่ ทางหลวงพิเศษขนาด 6 ช่องจราจร ทางรถไฟขนาดรางมาตรฐาน 2 ทาง โดยเกิดจากจุดได้เปรียบทางภูมิศาสตร์ของประเทศ การเป็นจุดยุทธศาสตร์ด้านการขนส่งและการค้าของเอเชีย ซึ่งโครงการ เเลนด์บริดจ์ Landbridge สามารถลดระยะทาง ร่นระยะเวลา ประหยัดค่าใช้จ่ายในการขนส่ง และอาจส่งผลให้เกิดอุตสาหกรรมต่อเนื่อง จนเป็นผลผลิตในรูปเเบบพร้อมใช้ได้อีกด้วย
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรียังกล่าวเพิ่มเติมว่า โครงการเเลนด์บริดจ์ Landbridge ดังกล่าวไม่เพียงแต่จะเป็นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งและโลจิสติกส์เท่านั้น แต่จะเป็นส่วนสำคัญของการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ หรือ Southern Economic Corridor : SEC ครอบคลุมพื้นที่จังหวัดชุมพร จังหวัดระนอง จังหวัดสุราษฎร์ธานี และจังหวัดนครศรีธรรมราช เพื่อพัฒนาเป็นศูนย์กลางของภาคใต้ในการเชื่อมโยงการค้าและโลจิสติกส์กับพื้นที่เศรษฐกิจหลักของประเทศ และภูมิภาคฝั่งทะเลอันดามัน (BIMSTEC) เป็นฐานการพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพและการแปรรูปเกษตรมูลค่าสูง และเพื่อยกระดับคุณภาพและมาตรฐานการท่องเที่ยวสู่นานาชาติ
ทั้งนี้ ปัจจุบัน โครงการเเลนด์บริดจ์อยู่ระหว่างรับฟังความคิดเห็นจากกลุ่มต่างๆ เช่น นักลงทุนต่างชาติในสายการเดินเรือต่าง ๆ ผู้ประกอบการชาวไทยและชาวต่างชาติ และการมีส่วนร่วมของประชาชน รวมทั้งยังดำเนินการศึกษาความเหมาะสม ประเมินผลกระทบสิ่งเเวดล้อม เเละวิเคราะห์รูปเเบบโมเดลการพัฒนาการลงทุน ควบคู่ไปกับการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะอย่างรอบด้าน โดยกระทรวงคมนาคมเล็งเห็นว่า หากโครงการ Landbridge แล้วเสร็จจะช่วยเพิ่มผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ในพื้นที่ภาคใต้จากร้อยละ 2 เป็นร้อยละ 10 เป็นระยะเวลาต่อเนื่องอย่างน้อย 10 ปี สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้เกือบ 500,000 ล้านบาท รวมทั้งจะเกิดโอกาสการจ้างงาน เพิ่มอาชีพใหม่ๆ ในชุมชน เพิ่มรายได้ และพัฒนาคุณภาพชีวิตในทุกพื้นที่
“นายกรัฐมนตรีวางยุทธศาสตร์การทำงานเพื่อวางรากฐาน พัฒนา เตรียมความพร้อมประเทศ และริเริ่มโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอย่างไร้รอยต่อ เชื่อมโยงแต่ละภาคของประเทศ และเชื่อมต่อไปยังภูมิภาคอาเซียน ทั้งทางถนน ทางราง ทางน้ำ และทางอากาศ อย่างต่อเนื่อง เพื่อก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจ และเป็นจุดศูนย์กลางที่สำคัญของภูมิภาค ซึ่งรวมทั้งการสนับสนุนการพัฒนาพื้นที่ตามแนวระเบียงเศรษฐกิจ ทั้งภาคเกษตรกรรม ภาคการท่องเที่ยว และภาคอุตสาหกรรมของประเทศให้มีประสิทธิภาพ ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน และพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไปพร้อมกันด้วย” นายอนุชาฯ กล่าว
ที่มา : ฐานเศรษฐกิจ