อาร์เซ็ป ภูมิศาสตร์เศรษฐกิจใหม่ 16 ชาติเตรียมลงนามสัปดาห์หน้า

ในช่วงการประชุมสุดยอดอาเซียน หรืออาเซียนซัมมิท ครั้งที่ 37 ระหว่างวันที่ 10-15 พ.ย.นี้ จะมีการประชุมสำคัญของสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศ
 
ในช่วงการประชุมสุดยอดอาเซียน หรืออาเซียนซัมมิท ครั้งที่ 37 ระหว่างวันที่ 10-15 พ.ย.นี้ จะมีการประชุมสำคัญของสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศ พร้อมประเทศคู่เจรจา โดยหนึ่งในการประชุมที่เป็นที่จับตามองคือการประชุมรัฐมนตรีความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (อาร์เซ็ป) เพื่อเตรียมการสำหรับผู้นำอาเซียนในการประชุมอาเซียนซัมมิท
 
อรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า สำหรับการประชุมรัฐมนตรีอาร์เซ็ป รัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน 10 ประเทศ กับคู่เจรจา 5 ประเทศ ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ จะหารือโค้งสุดท้ายก่อนการประชุมผู้นำอาร์เซ็ป ซึ่งความตกลงอาร์เซ็ปจะสนับสนุนการค้าและการลงทุนที่เปิดกว้าง ครอบคลุม และเป็นไปตามกฎกติกา รวมทั้งจะสร้างความแข็งแกร่งและรักษาความเชื่อมโยงให้กับห่วงโซ่การผลิตในภูมิภาค โดยเฉพาะการช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังได้รับผลกระทบจากโควิด-19
 
รายงานข่าวแจ้งว่า ในโอกาสนี้ ผู้นำอาร์เซ็ปยกเว้นอินเดีย จะร่วมการลงนามข้อตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค หรือ อาร์เซ็ป โดยรูปแบบจะเป็นการส่งเอกสารข้อตกลงอาร์เซ็ปให้แต่ละประเทศเวียนลงนามกันจนครบจำนวน คือ 15 ประเทศ จากสมาชิกทั้งหมด 16 ประเทศ ยกเว้นอินเดียจะบรรลุข้อตกลงกันไปก่อน แต่จะเปิดช่องเพื่อให้อินเดียสามารถเข้าร่วมได้ในภายหลัง
 
แม้การบรรลุข้อตกลงแบบไม่มีอินเดียอยู่ด้วยจะทำให้ความน่าสนใจของอาร์เซ็ปลดลง เพราะทั้งด้านจำนวนประชากร และมูลค่าจีดีพีจะลดลงไปแต่โดยภาพรวมอาร์เซ็ปยังมีความน่าสนใจในการค้าและการลงทุนต่อไป และที่สำคัญที่สุดคืออาร์เซ็ปจะเป็นจุดเชื่อมโยงซับพลายเชนที่สำคัญของโลก และประเทศไทยจะยึดกลยุทธ์ซับพลายเชนที่สำคัญของโลกไว้ได้
 
สำหรับขั้นตอนจากนี้ กระทรวงพาณิชย์เตรียมเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.)ให้ความเห็นชอบการขอลงนามข้อตกลงฯ หลังจากลงนามแล้วจะเข้าสู่ขั้นการพิจารณาของของรัฐสภา หากได้รับความเห็นชอบและให้สัตยาบันข้อตกลงฯก็จะถือว่าจบกระบวนการภายใน
 
ทั้งนี้อาร์เซ็ปกำหนดว่า ข้อตกลงจะมีผลบังคับใช้ได้ก็ต่อเมื่อ สมาชิกอาเซียน ครึ่งหนึ่งให้สัตยาบันและสมาชิกที่ไม่ใช่อาเซียน (Non-Asean) อีกครึ่งให้สัตยาบัน ดังนั้นกว่าจะมีผลบังคับใช้ได้จริงคาดว่าประมาณครึ่งหลังปีหน้า
 
สำหรับอาร์เซ็ปนับเป็นข้อตกลงการค้าขนาดใหญ่ที่สุดของโลกด้วยจำนวนประชากรเกือบครึ่งโลกจึงเป็นแหล่งผลิตและตลาดรองรับสินค้าที่สำคัญ โดยด้านการผลิตตามข้อตกลงการค้านี้กำหนดให้สามารถใช้แหล่งกำเนิดสินค้า(ROO) แบบสะสมในสมาชิกอาร์เซ็ปได้ จึงเรียกว่า“Made in Rcep”ซึ่งสอดคล้องกับศักยภาพประเทศไทยที่มีความสามารถการผลิตและมีแรงงานที่มีทักษะ สามารถใช้แต้มต่อนี้นำเข้าวัตถุดิบจากอาร์เซ็ปเพื่อมาผลิตและส่งออกโดยมีสิทธิพิเศษทางภาษีภายในสมาชิกฯเป็นข้อต่อรองที่สำคัญนับเป็นการวางกลยุทธ์การค้าระหว่างประเทศในอนาคตที่กำลังมีการแข่งขันสูงและมีเงื่อนไขทางการค้าและการลงทุนที่แตกต่างออกไปจากปัจจุบันมากขึ้น
 
สำหรับท่าทีอินเดียล่าสุด ในการประชุมอาเซียน-อินเดีย เมื่อก.ย.ที่ผ่านมา อินเดียแสดงท่าทีให้ความสำคัญกับอาเซียน พร้อมย้ำท่าทีต่ออาร์เซ็ปว่าอินเดียเป็นส่วนหนึ่งของอาร์เซ็ปขณะที่ประธานอาเซียนปีนี้คือเวียดนามก็ย้ำกลับเช่นกันว่าอินเดียยังเป็นส่วนหนึ่งของอาร์เซ็ปเสมอ 
 
จากท่าทีดังกล่าว แม้การลงนามครั้งนี้จะไม่มีอินเดียร่วมอยู่ด้วยแต่เมื่อสถานการณ์เศรษฐกิจโลกเปลี่ยนไปจากปัจจัยการระบาดโควิด-19 และผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐซึ่งล่าสุดแต่ยังไม่ท้ายสุดโจ ไบเดน จะเป็นผู้คว้าชัยชนะจึงทำให้ภูมิศาสตร์เศรษฐกิจโลกจากนีี้จะเปลี่ยนไป การรวมกลุ่มเพื่อสร้างความเข้มแข็งต่อเศรษฐกิจภูมิภาคจึงเป็นกลยุทธ์ที่น่าจะถูกปัดฝุ่นมาใช้ใหม่ได้ในอนาคตอันใกล้นี้
 
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
วันที่ 8 พฤศจิกายน 2563 

@Admin TVBC

สนใจสมัครสมาชิกหรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

ฝ่ายเลขานุการฯ
โทร: 02-018-6888 ต่อ 4340
Email: tvbc.secretariat@gmail.com

:)