“โฮโลแกรม” สื่อสารแบบใหม่ พลิกโฉมการติดต่อยุคอนาคต

นับตั้งแต่โลกเผชิญการระบาดใหญ่ของโควิด-19 จนทำให้การเดินทางทั่วโลกหยุดชะงัก ทว่าการล็อกดาวน์ ไม่อาจหยุดยั้งกิจกรรมการติดต่อสื่อสารของมนุษย์ได้ “วิดีโอคอล” จึงกลายเป็นการสื่อสารยอดนิยมในยุคนิวนอร์มอลทันที ปัจจุบันการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต 4G หรือ 5G 
 
แทบเป็นสิ่งที่พบได้ทั่วไป จึงเป็นเรื่องง่ายสำหรับการประชุมทางไกลแบบ “วิดีโอคอนเฟอเรนซ์” อย่างซูม แต่ก็ยังมีข้อจำกัดหลายประการ เพราะเป็นการสื่อสารแบบ 2 มิติที่เห็นคู่สนทนาผ่านทางหน้าจอเท่านั้น
 
หากใครเป็นแฟนภาพยนตร์แนวไซไฟอย่าง สตาร์ วอร์ส หรือ สตาร์เทร็ก คงเห็นฉากการใช้ “โฮโลแกรม” สื่อสารระหว่างกันบ่อยครั้ง ในลักษณะของภาพ 3 มิติ ที่คู่สนทนาโผล่ขึ้นมาแบบเป็นรูปร่างเสมือนจริง โฮโลแกรมจึงกลายเป็นทางเลือกที่ทำให้การสื่อสารดูมีชีวิตชีวามากขึ้น
 
ด้วยสถานการณ์โควิดทำให้ “คริสตอฟ เกรนเจอร์-แฮร์” ผู้บริหารนาฬิกาแบรนด์หรู IWC Schaffhausen ไม่สามารถเดินทางไปงานแสดงสินค้าระดับโลกในประเทศจีนได้ เขาจึงใช้บริการฉายภาพโฮโลแกรม นำเสนอสินค้าให้กับผู้เข้าชมงานแทน ผนวกกับเทคโนโลยี 5G ทำให้ตัวเขาแม้จะอยู่ที่สวิตเซอร์แลนด์ แต่สามารถนำเสนอ พูดคุย หรือแม้กระทั่งทักทายผู้มาเยี่ยมชมบูทไม่ต่างจากที่ไปร่วมงานด้วยตัวเอง
 
เดวิด นุสบัม ผู้บริหารของพอร์ทัล (PORTL Inc.) บริษัทผู้ให้บริการโฮโลแกรมในรัฐแคลิฟอร์เนีย เปิดเผยกับบีบีซีว่า “เทคโนโลยีโฮโลแกรมทำให้เราสามารถส่ง เกรนเจอร์-แฮร์ จากออฟฟิศในเมืองชาฟฟ์เฮาเซน สวิตเซอร์แลนด์ ไปร่วมงานที่เซี่ยงไฮ้ได้ ด้วยการฉายภาพผ่านตู้กระจกรอบด้านความสูง 8 ฟุต ซึ่งสามารถฉายภาพที่มีขนาดเท่ากับคนจริง ๆ”
 
ภายในตู้ฉายโฮโลแกรมที่ตั้งอยู่ในงานที่เซี่ยงไฮ้ นอกจากเครื่องฉายที่ทำให้เห็นตัวบุคคลแล้ว ยังมีลำโพงเพื่อให้ได้ยินเสียงพูดของโฮโลแกรม ด้านหน้าตู้ยังมีกล้องและไมโครโฟนเพื่อให้ผู้ใช้โฮโลแกรม สามารถเห็นและมีปฏิสัมพันธ์กับคู่สนทนาจากต่างสถานที่ได้
 
การใช้งานแทบไม่ต่างจากวิดีโอคอล ผู้ใช้ที่ต้องการไปปรากฏตัวแบบข้ามโลก เพียงแค่มีกล้องมากกว่าหนึ่งตัว ฉากหลังสีขาว ชุดลำโพงและไมโครโฟน จากนั้นระบบซอฟต์แวร์ของพอร์ทัล จะทำการเชื่อมต่อสัญญาณผ่านระบบอินเทอร์เน็ต เพื่อฉายภาพของคุณไปยังตู้โฮโลแกรมของพอร์ทัลที่ติดตั้งอยู่ปลายทาง
 
“โฮโลแกรมแทบไม่มีสัญญาณหน่วงเลย หากไม่มีแผ่นกระจกของตู้กั้นอยู่ คุณคงคิดว่าคู่สนทนายืนอยู่ตรงหน้าจริง ๆ” นุสบัมกล่าว
 
ปัจจุบันระบบของพอร์ทัล เริ่มถูกใช้แพร่หลายในวงการธุรกิจ อาทิ เน็ตฟลิกซ์ และที-โมบาย หนึ่งตู้มีราคาตั้งแต่ 60,000 ดอลลาร์ หรือราว 2 ล้านบาท แน่นอนว่าค่อนข้างแพง ทว่าบริษัทกำลังเดินหน้าแผนทำตลาดให้มีราคาถูกลง
 
“อีกไม่กี่ปีข้างหน้า เทคโนโลยีโฮโลแกรมจะกลายเป็นเรื่องปกติของการสื่อสารระหว่างสำนักงาน”
นอกจากพอร์ทัล เทคโนโลยีนี้ได้รับความสนใจอย่างแพร่หลาย “ไมโครซอฟท์” ได้นำโฮโลแกรมมาดัดแปลงเป็นชุดหูฟังพร้อมแว่นคล้ายวีอาร์ ที่เรียกว่า HoloLens 2 สนนราคา 3,500 ดอลลาร์ หรือราว 117,000 บาท ถูกกว่าระบบของพอร์ทัลมาก แต่อาจไม่เสมือนจริงเท่า
 
ผู้ใช้งานจะต้องสวมชุดหูฟังทั้งสองฝ่าย โฮโลแกรมหรือภาพเสมือนของพวกเขาจะถูกฉายผ่านระบบแว่นด้านหน้า ซึ่งคล้ายกับว่าทั้งสองฝ่ายอยู่ตรงหน้าซึ่งกันและกัน
 
เกรก ซัลลิแวน ผู้อำนวยระบบเสมือนจริงของไมโครซอฟท์กล่าวว่า “ผู้ใช้งานทั้งสองแม้ตัวจะอยู่กันคนละฟากโลก แต่สามารถมองเห็นกันและกันราวกับว่าทำงานอยู่ในห้องเดียวกัน”
 
หากโฮโลแกรมพอร์ทัล เหมาะสำหรับการนำเสนอสินค้า หรือเจรจาทางธุรกิจ โฮโลแกรมของไมโครซอฟท์ก็เหมาะสำหรับการบริการทางธุรกิจ
บริษัท Thyssenkrupp กลุ่มธุรกิจวิศวกรรมของเยอรมนี ได้นำเทคโนโลยีนี้ใช้งานจริงแล้ว จากเดิมช่างเทคนิคต้องเดินทางไปทั่วโลกเพื่อทำการซ่อมบำรุงเครื่องจักร ตอนนี้วิศวกรเหล่านั้นเพียงแค่สวม HoloLens 2 เพื่อพูดคุยกับช่างเทคนิคท้องถิ่นในการแนะนำซ่อมบำรุง เช่นเดียวกับ “เจแปน แอร์ไลน์” ที่ใช้ในการฝึกฝนช่างเครื่องยนต์และลูกเรือของสายการบินที่อยู่ในต่างแดน
 
กอร์ดอน เวตสตีน อาจารย์ด้านวิศวกรรมไฟฟ้าและวิทยาการคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด มองว่า โฮโลแกรมเป็นวิธีการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพมากกว่าการประชุมทางไกลแบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์
 
“โฮโลแกรมทำให้คุณสามารถสบตา อ่านภาษากายคู่สนทนาได้อย่างละเอียด” อย่างไรก็ดี เวตสตีนเตือนว่า โฮโลแกรมอาจเป็นปัญหาได้เช่นกัน หากเทคโนโลยีนี้เหมือนจริงมากเสียจนผู้คนแยกไม่ออก
 
ผู้บริหารพอร์ทัลเชื่อว่า โฮโลแกรมจะเข้ามาแทนที่วิดีโอคอลในอีก 5 ปี ทั้งยังคาดการณ์ว่า การแสดงข้อมูลบนจอวิดีโอที่เห็นตามห้างสรรพสินค้า หรือสถานที่สาธารณะต่าง ๆ จะถูกแทนที่ด้วยโฮโลแกรม ในการนำเสนอเนื้อหาต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการถ่ายทอดสด หรือแบบบันทึกวิดีโอ
 
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ
วันที่ 18 ธันาคม 2564

@Admin TVBC

สนใจสมัครสมาชิกหรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

ฝ่ายเลขานุการฯ
โทร: 02-018-6888 ต่อ 4340
Email: tvbc.secretariat@gmail.com

:)