วันสารทจีน 2565 ตรงกับวันไหน วิธีทำบุญ ของไหว้ ข้อห้าม ทุกเรื่องต้องรู้
เดือนสิงหาคม 2565 นอกจากจะมีวันสำคัญอย่าง "วันแม่แห่งชาติ" ปีนี้ยังมีวันสำคัญสำหรับชาวจีนแต้จิ๋วคือ "วันสารทจีน" ซึ่งตรงกันพอดีในวันที่ 12 สิงหาคม นอกจากนี้วันดังกล่าวยังเป็น "วันพระ" อีกด้วย จึงนับเป็นโอกาสดีอย่างยิ่งที่จะทำบุญเพื่อความเป็นมงคลชีวิต
วันสารทจีน 2565 ตรงกับวันไหน ?
อย่างที่บอกไปข้างต้นว่าวันสารทจีน หรือ เทศกาลสารทจีน 2565 นั้น ตรงกับวันที่ 12 สิงหาคม หรือตรงกับเดือน 7 ตามปีปฏิทินทางจันทรคติของจีน ซึ่งปกติแล้วจะช้ากว่าปีปฏิทินทางจันทรคติของไทยประมาณ 2 เดือน ซึ่งตามปีปฏิทินทางจันทรคติของไทยวันสารทจีนจะตรงกับวันขึ้น 14 ค่ำ เดือน 9
ทั้งนี้ วันเพ็ญ 15 ค่ำเดือน 7 ตามปฏิทินจันทรคติจีน คือ วันเทศกาลจงเยฺวี๋ยน วันเทศกาล Zhongyuan ของจีน หรือ “วันสารทจีน” ซึ่งทุกครอบครัวจะทำพิธีเซ่นไหว้บรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว บางครั้งชาวจีนจึงเรียกวันดังกล่าวว่า GuiJie กุ่ยเจี๋ย หรือ Wangren Jie หวางเหรินเจี๋ย
* Gui = ผี ซึ่งเป็นคำเรียกคนที่ถึงแก่กรรมแล้ว
* Wangren = คนที่ตายไปแล้ว
* Jie = เทศกาล
ทฉะนั้น GuiJie หรือ Wangren Jie จึงแปลว่า เทศกาลเซ่นไหว้ผู้ซึ่งล่วงลับไปแล้ว ทั้งบรรพบุรุษ และภูตผีเร่ร่อน เพราะชาวจีนรู้สึกสงสารวิญญาณร้ายจึงทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้
สาเหตุที่เป็นวันนี้ เพราะตามความเชื่อเป็นวันที่ประตูนรกเปิดเพื่อให้วิญญาณร้ายออกมารับกุศลผลบุญ ในวันที่เช็งฮีไต๋ตี๋จะตรวจดูบัญชีวิญญาณคนตาย ส่งวิญญาณดีขึ้นสวรรค์ และส่งวิญญาณร้ายลงนรก
ตำนานวันสารทจีน :
วันสารทจีนเกี่ยวข้องกับหลายตำนาน “ประชาชาติธุรกิจ” ขอยกมาไว้เพียง 2 ตำนาน ดังนี้
ตำนานเทพตี้กวน เทพเจ้าแห่งเทศกาลจงหยวน :
เทพเจ้าประจำเทศกาลสารทจีนคือ เทพเจ้าจงหยวน หรือ ตี้กวนต้าตี้ อธิบดีแห่งคืนเพ็ญกลาง อีกทั้งในวันนี้ยังเป็นวันเทวสมภพของท่าน
เทพจงหยวนมีหน้าที่คอยคุมดูแลเทพมหาบรรพตทั้งห้า คุ้มครองภูเขา และแม่น้ำ จึงเปรียบเสมือนเจ้าที่ประจำเมืองของทุกเมือง หน้าที่ของท่านจะเกี่ยวข้องกับผู้คน ไม่ว่าจะเป็น
* ตรวจดูโชค-เคราะห์ของสรรพสัตว์
* ตรวจบัญชีความดี-ชั่วของมนุษย์
* การให้อภัยแก่ผู้สำนึกผิด
อีกทั้งท่านยังเป็นประธานดูแลการไหว้วิญญาณไร้ญาติ รับหน้าที่ไปเจรจากับราชาของวิญญาณเพื่อควบคุมบริวารไม่ให้มาทำร้ายมนุษย์ ด้วยเหตุนี้เองผู้คนในประเทศจีนและไต้หวันจึงมีการกินเจ เซ่นไหว้ท่าน แต่สำหรับประเทศไทยจะนิยมไหว้เจ้าที่ประจำบ้านภายใต้บัญชาของเทพจงหยวน หรือที่เรียกว่า “ตี่จู่เอี๊ย”
ตำนาน “มู่เหลียน” :
นอกจากเรื่องของเทพเจ้าประจำเทศกาลแล้ว ยังมีเรื่องเล่าตำนานที่ว่า ชายหนุ่มที่มีนามว่า “มู่เหลียน” ซึ่งเป็นผู้ที่เคร่งครัดในพุทธศาสนามาก ผิดกับมารดาของตน ที่ไม่เชื่อในนรกสวรรค์ และจิตใจบาป มีกรรมหนักทำให้ต้องลงไปอยู่ในนรก
หลังจากมารดาเสียชีวิต มู่เหลียนคิดถึงมารดาจึงถอดกายทิพย์เพื่อลงไปตามหา เห็นมารดากำลังอดอยาก จึงพยายามเข้าช่วยเหลือ มอบอาหารแก่มารดา แต่ไม่สามารถให้ได้ จึงจะขอยมบาลให้ตนรับโทษแทนมารดา
เวลานั้น พระพุทธเจ้าเสด็จลงมาโปรดพอดี จึงให้มู่เหลียนสวดคัมภีร์อิ๋ว หลันเผิน และถวายอาหารทุกปีในเดือนที่ประตูนรกเปิด กลายมาเป็นประเพณีการกราบไหว้บรรพบุรุษที่สืบทอดต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน
ไหว้อย่างไร ?
สำหรับการไหว้วันสารทจีน แบ่งไหว้ออกเป็น 3 ช่วง เพื่อไหว้ 3 สิ่ง ประกอบด้วย เจ้าที่ บรรพบุรุษ และ สัมภเวสี เริ่มจาก ช่วงเช้า สาย และบ่ายตามลำดับ
ของไหว้มีอะไรบ้าง ?
* การไหว้เจ้าที่และบรรพบุรุษ ของที่ใช้จะคล้ายกัน คือ ขนมเทียน ขนมเข่ง และ ของมงคลต่าง ๆ อาจเพิ่มเติมตามสะดวกของแต่ละบ้าน แต่การไหว้บรรพบุรุษจะเพิ่มเติมเสื้อผ้าชุดใหม่ หรือของใช้ที่จะส่งให้กับบรรพบุรุษ
* ส่วนการไหว้สัมภเวสีนั้น เน้นที่ของคาวหวาน และต้องไหว้นอกตัวบ้านเท่านั้น
เพื่อเสริมความสิริมงคล เพิ่มโชคลาภ ให้ชีวิตก้าวหน้ายิ่งขึ้น ต้องมีอาหารคาว-หวาน หรือผลไม้ซึ่งนำมาเป็นของไหว้ที่มีความหมายที่ดี ส่งเสริมด้านต่าง ๆ ของชีวิต เช่น
* ไก่ สื่อถึงความเจริญก้าวหน้าในชีวิต ควรใช้ทั้งตัวห้ามตัดส่วนใดออก
* เป็ด สื่อถึงความบริสุทธิ์ ควรเลือกตัวที่หัวสวย และ หนังเป็นสีขาว
* ปลา สื่อถึงเงินทอง ควรเลือกตัวที่ตาใส และ มีเกล็ดเรียงสวย
* หมูสามชั้น สื่อถึงความอุดมสมบูรณ์ ควรเลือกหมูที่มีเนื้อสีชมพูธรรมชาติ
* แอปเปิลแดง สื่อถึงสุขภาพที่แข็งแรง ควรเลือกที่มีผิวเรียบสวย ไม่มีร่องรอยถลอก
* กล้วยหอม สื่อถึงความเป็นครอบครัว และ ความราบรื่น ควรเลือกกล้วยที่มีเปลือกสีเหลืองทอง และ มีความโค้ง
* แก้วมังกร สื่อถึงความมั่งคั่ง และ ความเฮง ควรเลือกแก้วมังกรที่มีเปลือกสีแดงเข้ม ไม่มีสีเขียว
7 ข้อห้ามเทศกาลสารทจีน :
เนื่องจากเดือนนี้เป็นเดือนที่มีความเชื่อว่าประตูนรกเปิด ทำให้มีเหล่าวิญญาณมากมายเดินทางออกมาสู่โลก จึงมีข้อควรระวังไม่ควรทำโดยเฉพาะอย่างยิ่งในวันสารทจีน ดังนี้
1. ห้ามออกจากบ้านตั้งแต่ช่วงหัวคํ่าจนถึงช่วงดึก และห้ามขานรับเสียงเรียกแปลก ๆ เพราะวิญญาณไร้ญาติอาจตามเรากลับมาได้
2. ห้ามเหยียบกระดาษเงินกระดาษทอง เพราะเป็นสิ่งของที่เรามอบให้บรรพบุรุษ
3. ห้ามแต่งงานในเดือนนี้ เพราะเป็นเดือนปล่อยผี จึงนับว่าเป็นเดือนไม่มงคล
4. ห้ามเดินทางบ่อยหรือเดินทางไกล ๆ เพราะอาจมีโอกาสเกิดอุบัติเหตุได้
5. ห้ามซื้อบ้าน ย้ายบ้าน หรือเริ่มกิจการใหม่ เพราะวิญญาณอาจไปสิงอยู่ในที่เหล่านั้นในขณะที่ว่างอยู่
6. ห้ามเริ่มงานก่อสร้างใด ๆ เพราะอาจรบกวนวิญญาณของบรรพบุรุษที่อยู่ที่บ้านได้
7. ห้ามร้องเพลงและผิวปาก เพราะมีวิญญาณมากมายที่อิจฉาความสุขของมนุษย์ และอาจตามมาหลอกได้
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ
วันที่ 8 สิงหาคม 2565