พาณิชย์-เอกชน จับเข่าถกฟื้นส่งออก พลิกบวก 2-3% ลุ้นแรงกระตุ้นรบ.ใหม่
ผู้สื่อข่าวรายงาน ที่กระทรวงพาณิชย์ วันที่ 22 พฤษภาคม กระทรวงพาณิชย์ ประชุมร่วมกับผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (ทูตพาณิชย์) และภาคเอกชนในกลุ่มอุตสาหกรรมหลัก ซึ่งมีการแยกเป็นกลุ่มย่อย 8 กลุ่มตามภูมิภาค อาทิ กลุ่มประเทศอาเซียน กลุ่มประเทศตะวันออกกลาง กลุ่มประเทศเอเชียใต้ กลุ่มประเทศยุโรป กลุ่มสหรัฐอเมริกา กลุ่มเอเชีย เป็นต้น ซึ่งเป็นการประชุมเตรียมการที่ได้มีการรับฟังสถานการณ์รายประเทศและข้อเสนอจากทูตพาณิชย์ทั่วโลก
ขณะเดียวกันภาคเอกชนก็มีเสนอข้อกังวลและแนวทางผลักดันการส่งออกร่วมกับภาครัฐ ซึ่งผลการหารือจะสรุปเป็นภาพรวมเพื่อนำเสนอในการประชุมประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐเอกชน ด้านพาณิชย์ (กรอ.พาณิชย์) ในวันที่ 25 พฤษภาคมนี้ ซึ่งจะเป็นแผนงานร่วมที่รัฐและเอกชนต้องการผลักดันส่งออกให้กลับมาเป็นบวกในครึ่งหลังปี 2566 และนำไปสู่เป้าหมายส่งออกบวก 2-3% ในปีนี้
นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และประธานกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวภายหลังประชุมร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ ผ่านระบบประชุมทางไกลว่า การประชุมวันที่ 22 พฤษภาคมนี้ เป็นการลงลึกรายละเอียดในแต่ละกลุ่มตลาดเป้าหมาย ที่ได้แบ่งเป็น 8 กลุ่ม ซึ่งเป็นการแลกเปลี่ยนความเห็นและข้อเสนอที่จะผลักดันส่งออก เช่น แผนเจาะตลาดยุโรปผ่านบีซีจี ที่เกี่ยวกับการลดโลกร้อนและรักษ์สิ่งแวดล้อม ในทางปฏิบัติแต่ละประเทศยุโรปยังมีมาตรฐานและความต้องการแตกต่างกัน ก็อยากให้ทูตพาณิชย์ให้ความรู้ข้อมูลความต้องการหรือมาตรการอะไรที่ใช้แล้วเป็นหลักสากล หรือตลาดจีน ที่การนำเข้ายังต้องผ่านผู้นำเข้ารายใหญ่ไม่กี่ราย ก็อยากให้ความรู้เอกชนว่าจะเข้าถึงผู้นำเข้าที่มีบทบาทในจีนได้อย่างไร นอกจากนี้เอกชนเสนอการสอดแทรกเรื่องซอฟต์เพาเวอร์ของประเทศไทยกับทุกประเทศ เป็นต้น
“ปัจจัยกังวลของส่งออกตอนนี้ เป็นเรื่องกำลังซื้อโลกชะลอตัว จากเกิดภาวะเงินเฟ้อ จนหลายประเทศใช้การปรับขึ้นดอกเบี้ย กดดันกำลังซื้อในกลุ่มสินค้าลดลง โดยเฉพาะสินค้าคงทนจะขายได้ยากขึ้น จึงเสนอให้ทูตพาณิชย์เร่งหาตลาดใหม่ในแต่ละประเทศ ส่วนทิศทางส่งออก มองว่าจะฟื้นตัวเป็นบวกครึ่งปีหลัง และทั้งปียังคงมองโตได้ 2-3% ซึ่งกำลังติดตามนโยบายรัฐบาลใหม่ต่อการผลักดันส่งออกด้วย เรื่องการเมืองในประเทศไทยนั้น ต่างชาติยังไม่ได้แสดงความวิตก เพราะยังดำเนินการไปตามกรอบประชาธิปไตย แต่ก็ติดตามเรื่องการจัดตั้งรัฐบาลจะยืดเยื้อแค่ไหน”
นายวิศิษฐ์กล่าวถึงเรื่องแนวคิดรัฐบาลใหม่ หนึ่งในนโยบาย 23 ข้อที่ 8 พรรคลงเอ็มโอยู คือจะใช้ระบบงบประมาณศูนย์นั้น คงต้องลงลึกถึงรายละเอียดในส่วนที่จะเป็นรายรับนั้น มาจากกิจกรรมใดบ้าง ถ้าด้านรายรับมากพอ ที่จะบริหารประเทศในภาวะที่ยังต้องมีการกระตุ้นเศรษฐกิจควบคู่ไปด้วย ทั้งนี้ ถ้าเป็นงานเพื่อส่วนรวม พวกองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร สมาคมการค้าต่างๆ แต่ถ้าเป็นกิจการที่ตั้งขึ้นมาเพื่อความอยู่รอด เพื่อเลี้ยงชีพ เพื่อทำกำไร ต้องตั้งบวก ซึ่งต่างจากวิธีคิดของรัฐบาลในประเทศกำลังพัฒนาต่างๆ ที่พยายามสร้างหรือกระตุ้นเศรษฐกิจ จำเป็นต้องทำงบประมาณติดลบ คือมีรายจ่ายสูงกว่ารายรับ หรือที่เรียกว่างบประมาณขาดดุล อันนี้จำในการสร้างหรือขยายเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ นิยมใช้กันมาโดยตลอดถึงแม้จะต้องกู้เงิน
สำหรับกรณีการขยายเพดานหนี้ของรัฐบาลสหรัฐนั้น ไม่ใช่เรื่องตื่นเต้นสำหรับผู้ส่งออก เป็นแบบนี้มาหลายรอบแล้ว เป็นประเด็นทางการเมืองในสหรัฐเอง ที่เมื่อใกล้ครบกำหนดก็มักจะมีฝ่ายตรงข้ามกังวลว่าจะมีการกู้เงินเพื่อก็จะเพิ่มหนี้สาธารณะ แต่สุดท้ายเมื่อมีการชี้แจงและเห็นความจำเป็นว่าหากปล่อยให้เกิดระบบราชการชัตดาวน์ในสหรัฐจะเสียหาย ก็ต้องผ่านเพิ่มเพดานหนี้และปั๊มเงินลงในระบบเศรษฐกิจ แต่ที่ต้องติดตามคือมีผลจิตวิทยาต่อค่าเงินไทย อาจแกว่งและอ่อนค่าลง ซึ่งหากอยู่ในช่วง 34-35 บาทต่อเหรียญสหรัฐ ก็ยังพอรับได้ ดีต่อส่งออก แต่นำเข้าสินค้าอาจมีปัญหา หากรายใดนำเข้าวัตถุดิบเกิน 50% ของวัตถุดิบที่ใช้ผลิตเพื่อส่งออก
“ตอนนี้เราพยายามให้ความรู้และผลักดันสกุลเงินท้องถิ่นในการซื้อขาย เช่น กลุ่มซีแอลเอ็มวี เราก็ดันใช้เงินบาท และใช้สกุลกับที่ ธปท.ลงนามไว้กับญี่ปุ่น จีน มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ที่มีการซื้อขายด้วยสกุลบาทกับสกุลเงิน 4 ประเทศนี้ โดยไม่ใช่เงินเหรียญสหรัฐ เพราะช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เงินดอลลาร์สหรัฐแกว่งขึ้นลงเร็วมาก ทำให้เกิดความเสียหายต่อธุรกิจ แม้บางส่วนจะประกันความเสี่ยงค่าเงินก็ตาม” นายวิศิษฐ์กล่าว
ที่มา : มติชน