ราคาทุเรียนในจีนตก หลังไทย-เวียดนาม-ฟิลิปปินส์"ส่งออกทุเรียนเพิ่ม
ด่านศุลกากรหนานหนิง ประเทศจีน เผย เม.ย.66 ด่านโหย่วอี้กวนนำเข้าทุเรียนมีปริมาณมากกว่า 60,000 ตัน 3ชาติ "ไทย-เวียดนาม-ฟิลิปปินส์" ส่งออกทุเรียนไปจีน ช่วงชิงส่วนแบ่งตลาด ส่งผลราคาทุเรียนถูกลง ผอ.สคต.หนานหนิง ยัน ยังไม่กระทบราคาทุเรียนหมอนทองไทย
“ทุเรียน” ถือเป็นผลไม้ยอดฮิตของผู้บริโภคชาวจีน ในปี 2565 จีนนำเข้าทุเรียนจำนวน 825,000 ตัน คิดเป็น มูลค่า 4,030 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 132,990 ล้านบาท โดยในจำนวนนี้จีนนำเข้าทุเรียนจากไทย 780,000 ตัน หรือคิดเป็นสัดส่วน 94.55 % ของการนำเข้าทุเรียนของจีนทั้งหมด ซึ่งการนำเข้าทุเรียนส่วนใหญ่ผ่านการขนส่งทางบก ไปยังด่านศุลกากรของจีนในเมืองที่มีชายแดนติดกับเวียดนามโดยเฉพาะด่านโหย่วอี้กวน
เมื่อวันที่ 15 พ.ค. 2566 ศุลกากรหนานหนิง รายงานว่า ช่วงฤดูกาลผลไม้ทุเรียนตั้งแต่เดือนเม.ย.เป็นต้นมา ตัวเลขปริมาณการนำเข้าทุเรียนผ่านด่านโหย่วอี้กวนสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ ด่านโหย่วอี้กวนตั้งอยู่อำเภอระดับเมืองผิงเสียง เมืองฉงจั่ว เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง ประเทศจีน มีพื้นที่ติดกับจังหวัดลางเซิน ประเทศเวียดนาม เป็นด่านทางบกที่นำเข้าผลไม้อาเซียนที่สำคัญของประเทศจีน และเป็นด่านที่นำเข้าทุเรียนมากที่สุด
ช่วงเดือนม.ค.-มี.ค. 2566 ทุเรียนที่นำเข้าผ่านด่านโหย่วอี้กวนมีปริมาณ 61,000 ตัน ขยายตัว 633.6% และคิดเป็น 66% ของปริมาณทุเรียนนำเข้าทั้งประเทศจีน เฉพาะเดือนเม.ย.ด่านโหย่วอี้กวนนำเข้าทุเรียนมีปริมาณมากกว่า 60,000 ตัน ซึ่งสูงกว่าปริมาณการนำเข้ารวมของช่วง 3 เดือนแรกของปี
ช่วงเดือนม.ค.-เม.ย.ด่านโหย่วอี้กวนนำเข้าทุเรียนมากกว่า 120,000 ตัน เทียบกับช่วงเดือนม.ค.-มี.ค.แล้ว เพิ่มขึ้นเป็น 1 เท่าตัว ปริมาณดังกล่าวมีสัดส่วนคิดเป็น 39% ของปริมาณนำเข้าทุเรียนทั้งหมดของประเทศจีน ด้วยปริมาณนำเข้าทุเรียนเพิ่มขึ้น ทำให้ราคาจำหน่ายทุเรียนมีการลดลงอย่างเห็นได้ชัด
สาเหตุสำคัญที่ทำให้ราคาทุเรียนลดลงคืออุปทานของทุเรียนในตลาด กล่าวคือ เมื่อเดือนก.ค.2565 ทุเรียนเวียดนามได้รับอนุญาตให้เข้าประเทศจีน รวมถึงเมื่อเดือนม.ค. 2566 ทุเรียนฟิลิปปินส์ได้รับอนุญาตให้เข้าประเทศจีน ทำให้จำนวนทุเรียนในตลาดจีนเพิ่มขึ้นและช่องทางการนำเข้ามีความหลากหลายมากขึ้น ส่งผลให้มีทุเรียนคงคลังเพิ่มขึ้นในปีนี้ ดังนั้นทำให้ราคาจำหน่ายลดลงและการบริโภคได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นจากการตัดสินใจซื้อที่ง่ายขึ้นอันเป็นผลของกลไกราคาในตลาด
นอกจากนี้ ข้อมูลจากศุลกากรท่าเรือเส๋อโข่ว เมืองเซินเจิ้น ระบุว่า เดือนเม.ย ท่าเรือเส๋อโข่วนำเข้าทุเรียนเป็นจำนวน 3,000 ตู้คอนเทนเนอร์ และคาดว่า หลังจากที่ ทุเรียนฟิลิปปินส์ได้รับอนุญาตให้นำเข้าประเทศจีน ทุเรียนที่นำเข้าผ่านท่าเรือเส๋อโข่วจะมีจำนวนเพิ่มขึ้น
นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กล่าว ว่า ได้รับรายงานข้อมูลจากนางสาววรรณลดา รัตนพาณิช ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ (ผอ.สคต.) ณ เมืองหนานหนิง ณ เมืองเซี่ยเหมิน สาธารณรัฐประชาชนจีนถึงสาเหตุที่ทำให้ราคาทุเรียนในจีนลดลง ว่า ปัจจุบัน จีนอนุญาตนำเข้าทุเรียนสดจากต่างประเทศทั้งหมด 3 ประเทศ ได้แก่ ไทย เวียดนาม ฟิลิปินส์ ราคาขายส่งในช่วงต้นเดือนพ.ค. อยู่ที่
หมอนทองของไทย 36-48 หยวนต่อกิโลกรัม
หมอนทองของเวียดนาม 32-41 หยวนต่อกิโลกรัม
Puyat ของฟิลิปินส์ 37-45 หยวนต่อกิโลกรัม
แต่เนื่องจากเริ่มเข้าช่วงปลายฤดูกาลของทุเรียนภาคตะวันออกของไทยซึ่งมีปริมาณค่อยๆ ลดลง ทำให้ราคาจำหน่ายหมอนทองในตลาดจีนเพิ่มสูงขึ้น ราคาขายส่งทุเรียนหมอนทองไทยในวันที่ 16 พ.ค. ประมาณอยู่ที่ 52-58 หยวนต่อกิโลกรัม
ขณะเดียวกัน ทุเรียนก้านยาวของเวียดนามเพิ่มจำนวนมากขึ้น แต่ไม่มีผลกระทบต่อราคาจำหน่ายของทุเรียนหมอนทองไทย รวมถึงช่องทางขายปลีกทุเรียน เช่น ซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านขายผลไม้ ร้านขายของทางออนไลน์ และแผงลอย ส่งเสริมการจำหน่ายทุเรียนภายในช่วงเวลาเดียวกัน ทำให้ปริมาณของทุเรียนหมอนทองมีไม่เพียงพอกับความต้องการของผู้บริโภค มีผลทำให้ราคาจำหน่ายขยับตัวสูงขึ้น ดังนั้น ราคาจำหน่ายทุเรียนทางตลาดที่ลดลงนอกจากเกี่ยวข้องกับแหล่งนำเข้าที่เพิ่มขึ้นแล้ว ยังเกี่ยวข้องกับปริมาณการจำหน่ายและความต้องการของผู้บริโภคในทางตลาดด้วย
ทั้งนี้ ถึงแม้ว่าคู่แข่งทุเรียนของไทยในตลาดจีนเพิ่มขึ้น แต่ก็ยังไม่เกิดผลกระทบต่อทุเรียนไทยมากในระยะเวลาอันสั้น ทั้งนี้ ผู้ประกอบการไทยควรรักษาคุณภาพของทุเรียนไทยตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทางและเสริมสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับทุเรียนไทย เพื่อเพิ่มขีดความสามารถด้านการแข่งขันของทุเรียนไทยในตลาดจีน
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ