บทความพิเศษ : บทเรียนของไทย จากการเผชิญกับสถานการณ์ โควิด–19 ในสายตานักการทูต (ตอนที่ 1)

หากไม่เกิดโรคระบาดระดับโลกจากการติดเชื้อจากไวรัสโคโรนา สายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือโควิด-19 ผู้เขียนก็คงกำลังไปร่วมสังเกตการณ์กิจกรรมเฉลิมฉลองการครบรอบ 45 ปีของการปลดปล่อยภาคใต้ของเวียดนามที่นครโฮจิมินห์ในเดือนเมษายน 2563 แล้ว
 
แต่เนื่องจากการระบาดอย่างรุนแรงกว้างขวางทั่วโลกทวีขึ้นในช่วงสี่เดือนแรกของปีนี้ โดยเริ่มจากเมืองอู่ฮั่นในสาธารณรัฐประชาชนจีนความเคลื่อนไหวของประชากร กิจกรรมชุมนุมชน จึงถูกสั่งระงับ เทศกาลตรุษจีน ตรุษญวน สงกรานต์ อีสเตอร์ เหล่านี้ การประกอบอาชีพต่างๆ งานบริการที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อถูกสั่งระงับ ล็อกดาวน์ หรือแนะนำให้อยู่บ้าน ทำงาน จากบ้าน ประเทศจำนวนมากดำเนินมาตรการด้านสาธารณสุขที่คล้ายคลึงกัน แต่การวางน้ำหนักอาจจะแตกต่างกันในแต่ละประเทศ 
 
ประชาชนของประเทศส่วนใหญ่ซึ่งอยู่ในเอเชียได้แสดงให้เห็นว่าการใช้  หน้ากากอนามัยจะช่วยลดทอนโอกาสของการติดเชื้อจากทางอากาศ ในขณะที่ประชาชนในยุโรป อาทิ อิตาลี และสเปน ในโอกาสแรกๆ และสหรัฐฯ แม้ในปัจจุบันปฏิเสธที่จะใช้เพราะมีความเห็นว่า การใช้หน้ากากหมายถึงว่า ผู้สวมใส่ป่วย กว่าจะเห็นทางสว่างว่า นั่นคือความเชื่อที่หลงผิด ก็เสียชีวิตไปจำนวนมหาศาล
 
วิกฤติโควิด-19 ได้ฉายให้เห็นถึงสติปัญญาของผู้นำ ความสามารถของระบบ ความอดทนมีระเบียบวินัยของประชาชน ในการนำวางแผน เยียวยา ร่วมมือ และดำเนินชีวิตท่ามกลางความจำกัดและการเข้มงวด ของบรรดาประเทศต่างๆ ใหญ่ไปหาเล็ก เจริญไปสู่ยากจน เป็นประชาธิปไตยไปสู่ไม่เป็น  ประชาธิปไตย ซึ่งนำไปสู่ผลลัพธ์ที่แตกต่างกัน
 
ณ ขณะที่เขียนอยู่นี้ สหรัฐฯ มหาอำนาจของโลกติดอันดับหนึ่งของโลกของผู้ติดเชื้อ คือ เป็นจำนวน กว่า 1 ล้านราย เสียชีวิตประมาณ 70,000 ราย และมีแนวโน้มจะสูงขึ้น ภาพของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ดังปรากฏในสื่อมวลชนโลกแสดงออกถึงสภาวะผู้นำที่ไม่เชื่อถือวางใจในฝ่ายสาธารณสุข ควบคุมโรคติดต่อของตน ตำหนิติเตียนองค์การอนามัยโลก จีน ไม่ร่วมมือหรือให้การชี้นำผิดๆ กับผู้ว่าการมลรัฐต่างๆ หรือกับประชาชน (กรณีการปฏิเสธที่จะใส่หน้ากากอนามัย) 
สรุปคือ ไม่สามารถพึ่งพาได้ ไม่สามารถเป็นผู้นำในยามวิกฤติได้ ซึ่งตรงนี้ นายทรัมป์ทำคะแนนในฐานะผู้นำที่น่าจะต่ำกว่าผู้นำประเทศอื่นๆ เช่น จีน รัสเซีย ฝรั่งเศส เยอรมนี นิวซีแลนด์ เกาหลีใต้ สิงคโปร์ เป็นต้น (หมายเหตุ : น่าเสียดายที่สิงคโปร์วันนี้อยู่ในอาการน่าเป็นห่วงเพราะการหลั่งไหลเข้าประเทศของแรงงานต่างชาติและการประกอบกิจกรรมทางศาสนาของคนเข้าเมืองที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อของโรคไวรัสโควิด-19)
 
ในทางตรงกันข้าม ผู้นำที่แสดงความเด็ดขาดในการนำ วางแผน สามารถสร้างศรัทธา และมีวิสัยทัศน์สูงในบางประเทศได้สร้างความโดดเด่นขึ้นมา ได้แก่ ไต้หวัน ไอซ์แลนด์ เกาหลีใต้ และเยอรมนี โดยทั้งสี่ประเทศได้รับการชื่นชมสูงว่าเป็นเจ้าของสถิติประสบความสำเร็จควบคุมการระบาดได้ชะงัด
 
หากเป็นดังนั้น ก็ควรที่จะนับรวมถึงเวียดนามเป็นประเทศที่ 5 เพราะสามารถ จำกัดจำนวนผู้ติดเชื้อไว้ในวงเพียง 271 คน และไม่มีผู้เสียชีวิตแม้แต่    คนเดียว (จากจำนวนผู้ติดเชื้อ มีผู้รับการรักษาหายแล้ว 221 ราย) ขณะที่มีประชากรมากถึง 98 ล้านคน และมีพรมแดนทางบกติดต่อกับจีนซึ่งเป็นผู้ ก่อการระบาดอีกด้วย เนื่องเพราะมีความเด็ดขาดในการตัดสินใจปิดพรมแดน กับจีนตั้งแต่ 1 กุมภาพันธ์ นี้ และการใช้มาตรการคัดกรอง ตรวจตรา ควบคุม การเคลื่อนย้ายของประชาชน การล็อกดาวน์ให้พำนักอยู่ในที่พักอาศัยที่  เข้มงวด การตรวจคนเข้าเมืองจนกระทั่งการระงับการเข้า-ออกประเทศ ส่งผล ให้ควบคุมบริเวณการแพร่ระบาดและหยุดตัวเลขผู้ติดเชื้อผู้ป่วยลงสำเร็จติดต่อกัน และทำให้ฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว 
 
ซึ่งน่าจะไปสู่การผ่อนคลายการควบคุม การอนุญาตให้ประกอบอาชีพพื้นฐานที่ไม่เสี่ยงภัยต่อการติดเชื้อได้ ล่าสุด รัฐบาลเวียดนามได้ผ่อนคลายให้มีการผลิตและการประกอบธุรกิจ เปิดการบินและขนส่งภายในประเทศ เปิดโรงเรียนและมหาวิทยาลัยได้ แต่งดงานบริการที่ไม่สำคัญยิ่งไว้ก่อนตลอดจน ยังห้ามกิจกรรมที่มีการชุมนุมชน เช่น พิธีทางศาสนากีฬาบางประเภท เทศกาลงานพิธีต่างๆ ทั้งนี้ หัวใจของความสำเร็จคือ ความเข้มงวดของระบบระเบียบ การคัดกรอง รักษา ติดตามผล การมีวินัยสูงและการให้ความร่วมมือของประชาชน และการควบคุมระงับการเดินทางเข้าประเทศของคนต่างชาติ ผู้ใดได้รับอนุญาตให้เข้าประเทศจะต้องถูกกักตัวเป็นเวลา 14 วัน
 
---------------------------------------------------------------------------------------------
 
บทเรียนของไทยที่ได้รับจากการเผชิญกับโควิด-19 ในภาพกว้าง ดังนี้
 
1) คนไทยห่วงชีวิตอย่างยิ่งจากโรคโควิด-19 หันมาใส่หน้ากากอนามัยหรือผ้าอย่างกว้างขวาง ต่างจากการรณรงค์ให้ใส่หมวกกันน็อกขณะขับขี่   จักรยานยนต์ ซึ่งอุบัติเหตุที่ร้ายแรงก็ทำให้เสียชีวิตเช่นกัน เพราะเห็นถึงผลลัพธ์ชัดเจนจากการล้มตายเสมือนใบไม้ร่วง ที่อิตาลี สเปน และสหรัฐฯ เพราะทั้งทางการและประชาชนไม่เชื่อในความจำเป็นของการใส่หน้ากาก อนามัยและหลีกเลี่ยงที่ชุมนุมชน ดังนั้น ที่กล่าวว่า “เห็นโลงศพจึงหลั่ง น้ำตา” เป็นความจริงได้ก็เช่นนี้เอง ส่วนพวกไม่ให้ความร่วมมือในไทยก็มีบ้างแต่เป็นส่วนน้อย
 
2) การขาดแคลนหน้ากากอนามัยจนหามิได้ในตลาดหรือไม่มีเพียงพอที่ โรงพยาบาลเป็นเรื่องที่น่าอัศจรรย์จนถึงทุกวันนี้ กล่าวกันว่ามีการลักลอบสั่งซื้อไว้เพื่อเก็งกำไร เพื่อส่งออกไปยังจีนในช่วงต้นวิกฤติโควิด-19 ที่เมืองอู่ฮั่น และที่ประเทศอื่นๆ น่าชมเชยที่บริษัทตัดเย็บเสื้อเครื่องแบบ นักเรียนและอื่นๆ จำนวนหนึ่งหันมาตัดเย็บหน้ากากอนามัยเพื่อมอบแก่ ประชาชน อนึ่ง หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องเรื่องการผลิตและส่งออก หน้ากากอนามัยของเอกชนน่าจะทำงานได้เข้มแข็งกว่าที่ปรากฏ
 
3) หน่วยงานที่มีกำลังพลจำนวนมาก สมาคมแม่บ้าน การเรียกเกณฑ์    เหล่าทัพ รวมถึงตำรวจ ฝ่ายปกครอง ครู เหล่ากาชาด องค์การบริหารส่วนท้องถิ่น เหล่านี้ซึ่งมีกลไกการจัดองค์กร สถานที่ คน และงบประมาณ  น่าจะได้เข้ามาช่วยกันทำงานอาสาสมัคร เช่น โดยการ “ลงแขก” ผลิตหน้ากากผ้า ผลิตเจลล้างมือ อย่างเข้มแข็งขึ้น เพราะสถานการณ์โควิด-19 อาจกินเวลานานกว่าที่คาดหมาย จึงน่าประทับใจกับการเอาการเอางานของหน่วยงานต่างๆ อาทิ กองทัพอากาศที่เข้าให้การสนับสนุนทาง    ยุทโธปกรณ์ ในโครงการทัพฟ้าช่วยไทย ขนส่งข้าวสาร (จากจังหวัดยโสธร) แลกกับปลาแห้ง (จากจังหวัดภูเก็ต) ค่ายทหารทบ.ในจังหวัดต่างๆ ทำอาหารปรุงสุกแจกจ่ายหรือขนส่งหรือให้บริการแก่ประชาชนในบ้านเรือนห่างไกล เป็นต้น
 
วันก่อนก็มีข่าวเรื่องเจ้าหน้าที่เทศกิจนายหนึ่งมีแนวคิดดี คือตัดผมให้  ลูกน้อง เพราะยังไม่ให้เปิดร้านตัดผม ก็ยังแปลกใจว่า ทำไมคนซึ่งมีอำนาจ มากกว่าท่านนี้ ไม่คิดที่จะส่งหน่วยเคลื่อนที่ไปให้บริการตัดผมแก่ชุมชน เริ่มจากเด็กในชุมชนแออัดก่อนทำด้วยความตั้งใจและมีแผนงานตลอดเดือน ทุกวันนี้ เป็นที่ทราบกันว่าข้าราชการลูกจ้างของรัฐก็ทำงานน้อยลง คือ “ทำงานจากบ้าน” หรือผลัดกันหยุดอยู่แล้ว งานการก็มิได้มากเท่ากับปกติ คนที่ทำงานมิได้หยุดคือ แพทย์ พยาบาล บุคลากรสาธารณสุข ตำรวจ ทหาร ฝ่ายปกครอง เจ้าหน้าที่ด้านเทศกิจและหน่วยงานทั้งหลาย อย่างไรก็ดีหากมีกิจกรรมเพื่อสาธารณประโยชน์ ควรต้องกระจายข่าวแก่ ผู้ยากไร้ และให้สังคมรับทราบ
 
4) สิ่งที่พบเห็นว่ามีความตั้งใจทำงานยิ่งคือ ระบบสาธารณสุขโดยทั่วไปและศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. ที่น่ายินดียิ่งคือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของสาธารณสุขติดตามเรื่องนี้มาตั้งแต่วันที่ 13 มกราคม 2563 หลังจากตรวจพบผู้เดินทางคนป่วยชาวจีนจากเมืองอู่ฮั่นเดินทางเข้าในราชอาณาจักรเป็นรายแรก และตั้งด่านตรวจคัดกรองผู้เดินทางที่ด่านเข้า-ออกระหว่างประเทศทั้งหมด การทำงานเป็นทีมเวิร์ก การรายงานความคืบหน้าตั้งแต่ที่กระทรวงสาธารณสุข โดยผู้บริหารกรมและกระทรวง การรักษาสุขภาพในแง่มุมต่างๆ เสริมโดย นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน จิตแพทย์และโฆษกกระทรวง ซึ่งต่อมาได้รับความไว้วางใจให้ทำหน้าที่โฆษก ศบค. ถือว่าเป็นการมอบหมายงานสำคัญกับคนที่ถูกคนและถูกเวลา ซึ่งเขาอาศัยทักษะและพรสวรรค์ในฐานะจิตแพทย์ สามารถถ่ายทอดเรื่องการแพทย์การพยาบาลให้เป็นที่เข้าใจง่าย แพทย์ผู้นี้รู้วิธีการทำหน้าที่โฆษกที่ประสบความสำเร็จมากกว่าโฆษกอาชีพ
 
ในตอนต่อไป ผู้เขียนจะกล่าวถึงผลการตรวจพบชาวต่างชาติที่ติดเชื้อโควิด-19 ในปลายเดือนเมษายน 2563 มติคณะรัฐมนตรีให้ต่ออายุพระราชกำหนดฉุกเฉินอีก 1 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1-31 พฤษภาคม 2563 แนวคิดและแนวทางในการเพิ่มประสิทธิภาพในการควบคุมการเดินทางเข้า-ออกราชอาณาจักรของคนต่างชาติ เมื่อมีการอนุญาตให้เข้า-ออกไทยได้หลังวันที่ 31 พฤษภาคม 2563
 
 
คมกริช วรคามิน :
อดีตเอกอัครราชทูต ณ กรุงบูคาเรสต์ โรมาเนีย และมีเขตอาณาครอบคลุมสาธารณรัฐบัลแกเรีย
 
ที่มา : แนวหน้า
วันที่ 9 พฤษภาคม 2563
 

@Admin TVBC

สนใจสมัครสมาชิกหรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

ฝ่ายเลขานุการฯ
โทร: 02-018-6888 ต่อ 4340
Email: tvbc.secretariat@gmail.com

:)