บทความพิเศษ : ไปดูการจัดประชุมสมัชชาแห่งชาติครั้งที่ 13 พรรคคอมมิวนิสต์แห่งเวียดนาม
ข่าวการเมืองการต่างประเทศในสัปดาห์นี้ไม่มีอะไรร้อนแรงไปกว่านโยบาย ทิศทาง และวิสัยทัศน์ของเวียดนามในยุคใหม่ในอนาคตภายหลังการประชุมสมัชชาแห่งชาติครั้งที่ 13 พรรคคอมมิวนิสต์แห่งเวียดนาม ซึ่งเพิ่งจบลงหลังการประชุมระหว่างวันที่ 25 มกราคม-1 กุมภาพันธ์ นี้ ที่กรุงฮานอย เร็วขึ้นจากกำหนดเดิมหนึ่งวัน
ที่สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ถือเป็นธรรมเนียมทางการเมืองที่พรรคคอมมิวนิสต์แห่งเวียดนาม ก่อตั้งเมื่อปี 2473 ที่จะจัดการประชุมสมัชชาแห่งชาติทุกๆ 5 ปี โดยประมาณเพื่อศึกษาทบทวนผลการทำงานที่ผ่านไป ทั้งความสำเร็จ ความล้มเหลว สำหรับการกำหนดแนวทางในอนาคต โดยในครั้งนี้จะประกอบด้วย นโยบายและแผนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมระยะ 5 ปี ทิศทางระยะ 10 ปี และวิสัยทัศน์สำหรับ 25 ปี คือจนถึงปี 2588 นอกจากนี้ ที่ประชุมพรรคฯจะคัดเลือกผู้นำชุดใหม่ อาทิ คณะกรรมการกลางพรรค คณะกรรรมการการเมืองพรรค นายกรัฐมนตรี ประธานาธิบดี ประธานสภาแห่งชาติเพื่อเป็นการวางตัวสำหรับผู้นำในแต่ละเสาแห่งอำนาจการปกครอง ซึ่งภายหลังการประชุมเลือกตั้งผู้นำของพรรค ก็จะมีการเลือกตั้งในแต่ละสาขาเหล่านั้น อาทิ การเลือกตั้งทั่วไป นำไปสู่การเลือกตั้งภายในของแต่ละสาขาเพื่อยืนยันมติที่กำหนดไว้ตั้งแต่ที่ประชุมสมัชชาแห่งชาติของพรรคฯ ในอันที่จะขับเคลื่อนแนวนโยบาย ไปสู่ทิศทางและวิสัยทัศน์ที่กำหนดไว้
ผู้เขียนเคยทำงานเป็นนักการทูตสองเทอมที่กรุงฮานอย มีโอกาสติดตามสังเกตการณ์การประชุมสมัชชาแห่งชาติสองครั้งเป็นจังหวะเดียวกัน คือ ครั้งที่ 6 ซึ่งกำหนดแนวทางการปฏิรูปเศรษฐกิจแบบ “เปลี่ยนใหม่” (โด๋ยเม้ย) ตามกลไกตลาด และครั้งที่ 11 ซึ่งยืนยันแนวทางการปฏิรูปนี้พร้อมกับการบูรณาการกับระหว่างประเทศอย่างแข็งขัน
เวียดนามเตรียมการจัดการประชุมฯ โดยเริ่มต้นจากการเลือกตั้งผู้แทนระดับชาติจากท้องถิ่นและสาขาอาชีพต่างๆ จำนวน 1,587 คนจากสมาชิกพรรคฯ ทั่วประเทศจำนวน 5.1 ล้านคน (ประชากรเวียดนาม98 ล้านคน) ผู้แทนระดับชาติทั้งหมดนี้เข้าร่วมประชุมที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติเวียดนาม ที่เลขที่ 1 ถนนทัง ลอง ชานเมืองฮานอย ซึ่งเคยเป็นที่จัดประชุมระดับชาติและนานาชาติสำคัญๆ ที่ผ่านมาทางด้านกายภาพ ฝ่ายตำรวจและทหารจำนวนมากถึง 6,000 คนได้ทำการฝึกซ้อมการรักษาความปลอดภัย การจัดจราจรเส้นทางเดินรถเป็นแผนล่วงหน้าทราบทั่วกัน นอกจากนี้ มีการฝึกซ้อมสำหรับการต่อต้านการก่อการร้ายและการช่วยเหลือตัวประกันเผื่อไว้ในกรณีฉุกเฉิน
อนึ่ง เวียดนามได้เตรียมการด้านสาธารณสุข ระดมบุคลากรทางการแพทย์หลายร้อยคนเพื่อคัดกรองผู้ติดเชื้อโควิด-19 จากคณะผู้แทนระดับชาติซึ่งเข้าประชุม บุคคลในรัฐบาล แขกผู้มีเกียรติรวมทั้งสิ้น 4,299 คน เพื่อป้องกันการระบาดของโรคติดต่อนี้ ระหว่างการประชุมถึงสองครั้ง เนื่องจากเป็นการจัดประชุมขนาดใหญ่ที่สุดเป็นครั้งแรกภายหลังการระบาดของโรคนี้ทั่วโลกเมื่อปี 2563 และตลอดทั้งปีกลาย เวียดนามในฐานะประธานอาเซียนต้องจัดการประชุมอาเซียนทุกระดับและการประชุมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด เป็นแบบการประชุมออนไลน์ ทั้งนี้ เวียดนามประสบความสำเร็จอย่างมากในการป้องกันและควบคุมการระบาดฯ โดยใช้มาตรการต่างๆ อย่างเข้มงวด ส่งผลให้มีผู้ติดเชื้อเพียง 1,817 คน เสียชีวิตเพียง35 ราย และไม่มีการระบาดในชุมชนในช่วงเกือบสองเดือนที่ผ่านไปกระทั่งการติดเชื้อล่าสุดในสัปดาห์สุดท้ายของเดือนมกราคม แต่จำนวนยังไม่สูงนัก จึงต้องมีการคัดกรองอีก เพื่อให้การประชุมคัดเลือกผู้นำชุดใหม่เสร็จสิ้นลง เป็นที่น่าสังเกตว่าผู้เข้าร่วมประชุมมั่นใจมากจึงไม่มีผู้ใดใส่หน้ากากอนามัยเลย
อาจดูเป็นเรื่องแปลกแต่จริง ที่เวียดนามใช้กำลังตำรวจจำนวนหนึ่งไม่มากนักควบคุมสถานการณ์ความเรียบร้อยวันประชุมพรรคคอมมิวนิสต์และดำเนินมาตรการสาธารณสุขที่เด็ดขาดจนสามารถควบคุมการระบาดของโควิด-19 ในประเทศของตนได้อยู่หมัด ได้รับคำชมเชยทั่วโลก ว่าเป็นอันดับสองรองจากนิวซีแลนด์ ขณะที่เจ้าประชาธิปไตย เช่น สหรัฐอเมริกาสั่งการให้ใช้กองกำลังทหารถึง 25,000 คน เพื่อรายล้อมอาคารรัฐสภาสหรัฐฯ ป้องกันการก่อจลาจลของคนในชาติเดียวกันในวันพิธีสาบานตนของประธานาธิบดีโจ ไบเดน และเศรษฐกิจอันดับหนึ่งของโลกไม่สามารถหยุดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งคร่าชีวิตคนอเมริกันไปกว่า452,279 คนแล้ว
บรรดาผู้นำเวียดนามให้ความสำคัญต่อการปฏิรูปเศรษฐกิจแบบ “เปลี่ยนใหม่” เห็นได้จากคำกล่าวของนายฝ่าม บิ่นห์ มินห์ สมาชิกคณะกรรมการการเมืองพรรค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งเขียนบทความพิเศษโหมโรงยกตัวอย่างถึงพัฒนาการของการต่างประเทศเวียดนามในรอบ 35 ปีภายหลังการเปลี่ยนใหม่ ซึ่งผ่านห้วงเวลาท้าทายแต่ละช่วงๆ และนายเหวียน ฟู้ จ่อง เลขาธิการพรรคและประธานาธิบดี ซึ่งกล่าวในพิธีเปิดประชุมว่า การเปลี่ยนใหม่ หลังสมัชชาแห่งชาติครั้งที่ 6 เมื่อปี 2529 ได้เปิดเศรษฐกิจเวียดนามไปสู่โลก ส่งผลให้ประเทศประสบความสำเร็จ พัฒนาขึ้น ได้รับการยอมรับจากนานาชาติตลอด 35 ปีที่ผ่านไป “ดังนั้น จึงขอให้ที่ประชุมตั้งเป้าหมายนำประเทศไปสู่การเป็นประเทศสังคมนิยมที่ “พัฒนาแล้ว” ภายในกลางคริสต์ศตวรรษที่ 21 นี้” และขอให้ที่ประชุมสะท้อนแนวทาง “การเปลี่ยนใหม่” นี้ในการถกเถียงและลงมติด้วย กล่าวอีกนัยหนึ่ง นายเหวียน ฟู้ จ่อง ต้องการชี้นำให้ใช้การปฏิรูปเศรษฐกิจดังเช่น 35 ปีที่ผ่านไป มิหวนคืนสู่วิธีการวางแผนจากส่วนกลางตามระบอบสังคมนิยม อนึ่ง เป็นที่น่าสังเกตว่า ตั้งแต่ประชุมวันแรก ก็มีกระแสข่าวคาดคะเนว่านายเหวียน ฟู้ จ่อง จะได้รับการเลือกตั้งซ้ำให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรค เป็นเทอมที่สาม โดยเขาและผู้นำบางคนที่ครบวาระหรืออายุเกินกำหนด จะได้รับการยกเว้นเป็นเงื่อนไขเป็นพิเศษเพื่อให้ดำรงตำแหน่งต่อไป
ในท้ายที่สุด สมัชชาแห่งชาติครั้งที่ 13 ได้เลือกตั้งผู้นำในสี่เสาแห่งอำนาจ (ซึ่งมีรายละเอียดตรงกับที่ได้สดับตรับฟังมาจากแหล่งข่าวในเวียดนาม) และมีพิธีปิดการประชุมในเช้าวันที่ 1 กุมภาพันธ์ สรุปสาระสำคัญดังนี้
1). สี่ผู้นำสำคัญในคณะกรรมการกลางพรรคและคณะกรรมการการเมืองพรรค : นายเหวียน ฟู้ จ่อง (อายุ 77 ปี) ได้รับการเลือกตั้งซ้ำเป็นเลขาธิการพรรคเทอมที่สาม วาระ 5 ปี ขณะที่นายเหวียน ซวน ฟุ้ก (67 ปี) นายกรัฐมนตรีได้รับเลือกตั้งซ้ำ เช่นกัน และได้รับการคาดหมายว่าจะขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีนอกจากนี้ นายฝ่าม มินห์ จิ๊นห์ (63 ปี) ประธานคณะกรรมการองค์กรกลางพรรค คาดว่าจะเป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไป และนายเวือง ดิ่นห์ เหวะ (64 ปี) เลขานุการพรรค กรุงฮานอยคาดว่าน่าจะไปรับหน้าที่ประธานสภาแห่งชาติ ผู้นำสี่คนนี้และอีก 14 คน ประกอบขึ้นเป็นคณะกรรมการการเมืองพรรค ซึ่งเป็นองค์กรบริหารสูงสุดของพรรค อนึ่ง กำหนดการของการเลือกตั้งทั่วไปจะมีขึ้นในเดือนพฤษภาคม นี้ หลังจากนั้นสภาแห่งชาติจะเลือกตั้งประธานาธิบดีใหม่และนายกรัฐมนตรีใหม่ก่อนฝ่ายหลังจัดตั้งรัฐบาลชุดต่อไป
2). คณะกรรมการกลางพรรค : เป็นสมาชิกทางการ 180 คน และสมาชิกสมทบอีก 20 คน ในจำนวนนี้ 120 คน ได้รับเลือกตั้งซ้ำจากเทอมที่แล้ว ส่วนอีก 60 คนได้รับเลือกตั้งเป็นครั้งแรก ด้านอายุ แยกเป็นสามกลุ่ม ได้แก่ กลุ่มอายุต่ำกว่า 50 ปี จำนวน 17% (โดยคนที่อายุน้อยที่สุดคืออายุ 42 ปี) กลุ่มอายุระหว่าง 50-60 ปี จำนวน 63% และกลุ่มอายุ 61 ปีขึ้นไป จำนวน 20% ทั้งนี้มีสุภาพสตรี 19 คน และหนึ่งคนจากในนั้นอยู่ในคณะกรรมการการเมืองพรรค นอกจากนี้ มีการเลือกตั้งสมาชิกคณะกรรมการกลางพรรคเข้ารับหน้าที่ในสำนักเลขานุการคณะกรรมการกลางพรรค (5 คน) และคณะกรรมการตรวจสอบกลางพรรค (19 คน) อีกด้วย
3). สมัชชาแห่งชาติเห็นชอบต่อแนวทางการพัฒนาประเทศให้กลายเป็น “ประเทศพัฒนาแล้วตามแนวทางสังคมนิยม” โดยมีเป้าหมายที่จะเป็น ก) ประเทศกำลังพัฒนาด้วยอุตสาหกรรมที่มุ่งสู่ความทันสมัยและมีระดับรายได้ระดับต่ำ-ปานกลางภายในปี 2568, ข) ประเทศกำลังพัฒนาด้วยอุตสาหกรรมทันสมัยและมีระดับรายได้กลางขั้นสูงภายในปี 2573, ค) ประเทศพัฒนาแล้ว ที่มีระดับรายได้สูง ภายในปี 2588, และ ง) มีอัตราการเติบโตของจีดีพีถัวเฉลี่ยระดับ 6.5-7% ต่อปี ระหว่างปี 2564-2568
ขอเรียนเป็นข้อสังเกตเกี่ยวกับการจัดการประชุม การคัดเลือกและการเลือกตั้งผู้นำ และความเป็นไปได้ที่เศรษฐกิจเวียดนามจะทะยานขึ้นยิ่งๆ ไปอีกภายหลังการระดมความมั่นใจจากสมัชชาแห่งชาติครั้งที่ 13 ดังนี้
ประการแรก :
เวียดนามมีความกล้าหาญและความเชื่อมั่นในตนเองสูงที่จะจัดสมัชชาแห่งชาติครั้งนี้ตามรอบห้วงเวลา มิได้เลื่อนออกไป เพราะปัญหาโควิด-19 โดยเวียดนามดำเนินมาตรการทางสาธารณสุขอย่างเข้มงวดเด็ดขาดตลอด 1 ปีเต็มที่ผ่านมากระทั่งเปิดประชุม ซึ่งหากมีการติดเชื้อในหมู่คณะผู้แทนระดับชาติซึ่งเข้าประชุม ที่ประชุมนี้จะเป็นซูเปอร์สเปรดเดอร์ระดับประเทศทันที
ประการที่สอง :
การคัดเลือกและเลือกตั้งผู้นำในคณะกรรมการกลางพรรค นั้น เน้นที่ผู้มีอายุ คือ กลุ่มอายุ 50-60 ปี และกลุ่มอายุ 60 ปีขึ้นไป รวม 83% แสดงให้เห็นว่า พรรคมีความมั่นใจวางใจยิ่งในผู้มีประสบการณ์อยู่ในพรรคยาวนาน ซึ่งสองกลุ่มนี้คือบุคคลในระดับอายุที่เคยผ่านศึกสงครามกับอเมริกัน ความยากลำบากสมัยข้อพิพาทจีน-สหภาพโซเวียต การถูกปิดล้อมโดยนานาชาติ
สืบเนื่องจากปัญหากัมพูชา โดยเฉพาะนายเหวียน ฟู้ จ่อง วัย 77 ปี เป็นผู้นำอาวุโสที่คร่ำหวอดในพรรคมานาน มีคุณสมบัติที่เป็นคนมือสะอาด ได้รับการยอมรับได้รับเลือกตั้งแทบจะฉันทามติ จากที่ประชุม ข้อสำคัญคือเขาเห็นด้วยกับแนวทางปฏิรูปเศรษฐกิจแบบเปลี่ยนใหม่ ความเป็นมือเก่า คนดีและได้รับการยอมรับนี้เอง จึงทำให้นายสีจิ้น ผิง เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีนและประธานาธิบดีจีนมีสารแสดงความยินดีมายังนายจ่องอย่างรวดเร็วและมีความหมาย โดยกล่าวในตอนหนึ่งว่า “จีนและเวียดนามเป็นเพื่อนบ้านสังคมนิยมที่เป็นมิตรต่อกัน และเราทั้งสองเป็นประชาคมที่มีอนาคตของความสำคัญทางยุทธศาสตร์ร่วมกัน”
ประการที่สาม :
เวียดนามมีบรรดาปัจจัยตัวช่วยสนับสนุนให้เดินทางไปสู่นโยบายและแผนทิศทาง และวิสัยทัศน์ที่ต้องการไม่ยากนัก กล่าวคือ เวียดนามมีความวิริยอุตสาหะพร้อมด้วยวินัยสูง เสถียรภาพทางการเมือง ความมั่นคงทางทหาร ทรัพยากรธรรมชาติ ทรัพยากรบุคคล แรงงานหนุ่มสาวที่มีทักษะและค่าแรงยังต่ำ ความตกลงเอฟทีเอกับนานาประเทศจำนวนมาก การเป็นประเทศสมาชิกที่ได้รับการยอมรับในสหประชาชาติและประชาคมระหว่างประเทศต่างๆ การควบคุมโรคระบาดโควิด-19 จนอยู่หมัด ความสามารถที่จะคงอัตราเจริญเติบโตของจีดีพีสูงถึง 2.91% เมื่อปีกลาย ขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านและทั่วโลกติดลบ โดยเวียดนามคาดว่าตนจะกลับมามีการเจริญเติบโตของจีดีพีในระดับ 6.5 ได้ในปีนี้ ซึ่งเมื่อพิจารณาข้อได้เปรียบเหล่านี้ ก็ไม่น่าแปลกใจที่เวียดนามจะบรรลุเป้าหมายในนโยบายและแผน 5 ปี ทิศทาง 10 ปี และวิสัยทัศน์ 25 ปี จากนี้ได้อย่างไม่ยากเย็นนัก
อนึ่ง ขอกล่าวไว้ตรงนี้ถึงข้อคิดเห็นของนักวิชาการชาวเวียดนามสองคน ตามรายงานของสื่อมวลชนเวียดนาม คือ เวียดนามเอกซ์เพรส เมื่อเร็วๆ นี้ คนแรก ดร.เหวียน คัก ก๊วก บ๋าว ผู้อำนวยการสถาบันวิทยาการการคลัง มหาวิทยาลัยเศรษฐศาสตร์นครโฮจิมินห์ ได้แนะนำว่า เวียดนามจะต้องแสวงหาโมเดลเศรษฐกิจใหม่ เนื่องจากความเจริญก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และวิทยาการ โดยเฉพาะอุตสาหกรรม 4.0 จะผลักดันโมเดลใหม่ แทนโมเดลเดิมที่เน้นเพียงแรงงาน ทรัพยากร การลงทุนจากต่างประเทศ และการขับเคลื่อนการเติบโตจากกระแสอุปสงค์หรือความต้องการ แต่บัดนี้ ต้องมีนวัตกรรมและการเติบโตบนพื้นฐานของวิทยาศาสตร์และวิทยาการ อีกคนคือ นางฝ่าม จิ ลาน นักเศรษฐศาสตร์ อดีตผู้บริหารหอการค้าและอุตสาหกรรมเวียดนาม เห็นว่า เวียดนามจะต้องพัฒนาทางสถาบันอย่างสำคัญ คือ แบ่งปันทรัพยากรและทุนไปยังภาคเอกชน ธุรกิจขนาดกลาง-เล็ก และเกษตรกรยิ่งขึ้น ทั้งนี้เพื่อจะพัฒนาสถาบันเศรษฐกิจการตลาดอย่างแท้จริงและเต็มที่ในเวียดนาม นางลานได้แนะนำให้แก้ไขปัญหาทรัพยากรมนุษย์และโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งเปรียบเสมือนเป็นคอขวดขวางการพัฒนาอย่างจริงจังอีกด้วย
โดยสรุป เวียดนามฟันฝ่าปัญหา สิ่งท้าทาย การระบาดของโรคโควิด-19 จนสามารถจัดการประชุมสมัชชาแห่งชาติครั้งที่ 13ได้สำเร็จ ขณะที่มีการเปลี่ยนแปลงมีรัฐบาลใหม่ในสหรัฐฯ ซึ่งน่าจะไปด้วยกันได้ดี เพราะเวียดนามปฏิบัติตามพันธกรณีต่างๆ พิสูจน์ให้เห็นว่าได้ใช้กลไกการเลือกตั้งแบบสังคมนิยมๆ ตามรอบของเวลา โดยรวมเป็นเด็กดี พร้อมเดินไปข้างหน้า ไม่มีการใช้อำนาจจากปากกระบอกปืนเข้าควบคุมอำนาจดังประเทศเพื่อนบ้านอีกแห่งหนึ่งในขณะนี้แต่อย่างใด
เขียนโดย : คมกริช วรคามิน
- อดีตเอกอัครราชทูต ณ กรุงบูคาเรสต์ โรมาเนีย และมีเขตอาณาครอบคลุมสาธารณรัฐบัลแกเรีย
- ที่ปรึกษาสภาธุรกิจไทย-เวียดนาม
- ผู้แต่งหนังสือ “รวมงานเขียนเรื่องการต่างประเทศของไทยและเวียดนาม”
ที่มา หนังสือพิมพ์แนวหน้า
วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2564