“อาร์เซ็ป” หนุนผู้ผลิตไทยผงาด “สนั่น” แนะ 6 โอกาส 6 เร่งเปิดประตูการค้าโลก
“หอการค้าไทย” ฟันธงประโยชน์สินค้า บริการ และลงทุนของประเทศไทย หลัง “อาร์เซ็ป” มีผลบังคับใช้ 1 ม.ค.ที่ผ่านมา การันตีเป็นการสร้าง “6 โอกาส” ให้ผู้ประกอบการ แต่มี “6 เร่ง” ที่ต้องทำให้พร้อมรับแข่งขัน ดันไทยเข้า “ซีพีทีพีพี” เพราะถ้าไม่เข้าอาจเสียเปรียบการค้า การลงทุน เพราะการเข้าร่วมจะดึงดูดลงทุนเข้าไทยเป็นประตูสู่การค้าโลก
นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.ที่ผ่านมา ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) หรืออาร์เซ็ปมีผลบังคับใช้กับสมาชิกที่ให้สัตยาบันความตกลงแล้ว ได้แก่ อาเซียน 6 ประเทศจาก 10 ประเทศ คือ บรูไน กัมพูชา ลาว สิงคโปร์ ไทย และเวียดนาม และคู่เจรจาอีก 4 ประเทศ จาก 5 ประเทศ (ไม่รวมอินเดีย) คือออสเตรเลีย จีน ญี่ปุ่น และนิวซีแลนด์ ส่งผลให้อาร์เซ็ปกลายเป็นกรอบความตกลงการค้าเสรีที่ใหญ่ที่สุดในโลก
“อาร์เซ็ป” ค้าเสรีใหญ่สุดในโลก :
ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบกับความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้า สำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) หรือซีพีทีพีพี พบว่า อาร์เซ็ปมีขนาดผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) 25 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ใหญ่กว่า 2 เท่า ประชากร 2,200 ล้านคน มากกว่า 4 เท่า และมูลค่าการค้า 12.4 ล้านล้านเหรียญฯ มากกว่า 1.7 เท่า หรือจำง่ายๆ “30 30 30 ของโลก” หมายความว่าอาร์เซ็ปมีจีดีพี 30% ของจีดีพีโลก มีประชากร 30% ของประชากรโลก และมูลค่าการค้า 30% ของมูลค่าการค้าโลก
ในปีที่ผ่านมา ประเทศไทยส่งออกไปอาร์เซ็ปสัดส่วน 52% ของมูลค่าส่งออกไทยไปทั่วโลกและนำเข้าจากอาร์เซ็ป 70% ของมูลค่านำเข้าจากทั่วโลก โดยไทยขาดดุลการค้าอาร์เซ็ป 25,412 ล้านเหรียญฯ ส่วนใหญ่ขาดดุลกับจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และมาเลเซีย ส่วนที่เหลือไทยได้ดุลการค้าทั้งหมด
“อาร์เซ็ปทำให้ตลาดการค้าของไทยเปิดกว้างมากขึ้น และดึงดูดใจให้ต่างชาติมาลงทุนในไทยมากขึ้น เป็นโอกาสให้เอสเอ็มอีไทยเข้ามาเชื่อมในห่วงโซ่การผลิต ผู้ประกอบการจึงต้องเร่งปรับตัวให้ทันโอกาส เพื่อเป็นแรงส่งให้ไทยฟื้นฟูเศรษฐกิจได้เร็วขึ้น”
สร้าง “6 โอกาส” ผู้ประกอบการ :
อาร์เซ็ปยังทำให้มี “6 โอกาส” ดังนี้
1).โอกาสส่งออกเพิ่มขึ้น โดยสินค้า 29,891 รายการ มีโอกาสส่งไปขายในอาร์เซ็ปได้มากขึ้น เพราะสมาชิกลดภาษีนำเข้าเป็น 0% แล้ว ส่วนใหญ่เป็นโอกาสในตลาดเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น จีน นิวซีแลนด์ และออสเตรเลีย ในสินค้าผัก ผลไม้สดและแปรรูป, อาหารแปรรูป, เครื่องดื่ม, แป้งมันสำปะหลัง, ประมง, น้ำผลไม้, ยางพาราและผลิตภัณฑ์, รถยนต์และส่วนประกอบ เป็นต้น
2).โอกาสร่วมห่วงโซ่การผลิตของ “CJK” (จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้) หรือเป็นผู้ผลิตวัตถุดิบ หรือสินค้ากึ่งสำเร็จรูปป้อนให้กับทั้ง 3 ประเทศ
3).โอกาสลงทุนในธุรกิจบริการ โดยเฉพาะธุรกิจที่ไทยมีศักยภาพแข่งขัน เช่น ร้านอาหารไทย นวดเพื่อสุขภาพ และค้าปลีก
4).โอกาสขายสินค้าผ่านแพลตฟอร์มต่างๆของสมาชิกได้มากขึ้น
5).โอกาสยกระดับคุณภาพการผลิต เพราะสมาชิกอาร์เซ็ป ส่วนหนึ่งเป็นประเทศพัฒนาแล้ว และมีมาตรฐานสูง ทำให้ไทยต้องยกระดับมาตร ฐานการผลิตตาม เพื่อให้ส่งสินค้าไปขายได้ และ
6).โอกาสตรวจสอบสินค้าที่เร็วขึ้น เพราะอาร์เซ็ปมุ่งลดอุปสรรค อำนวยความสะดวก เช่น สินค้าเน่าเสียง่ายจะตรวจปล่อยพิธีการศุลกากรใน 6 ชั่วโมง สินค้าปกติใน 48 ชั่วโมง จากเดิมใช้เวลาหลายวัน
มี “6 เร่ง” ต้องปรับตัวรับแข่งขัน :
ขณะเดียวกัน แม้อาร์เซ็ปจะเป็นประโยชน์กับผู้ประกอบการไทย แต่ความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ทุกฉบับย่อมทำให้เกิดการแข่งขัน และอาจทำให้ผู้ประกอบการได้รับผลกระทบจากการนำเข้าสินค้าของประเทศสมาชิกที่เพิ่มขึ้นได้อาร์เซ็ปก็เช่นกันนั้น ดังนั้น จึงต้องเร่งปรับตัว โดยมี “6 เร่ง” ที่ต้องทำ เพื่อไม่ให้เสียโอกาส ได้แก่
1).เร่งศึกษาและเร่งใช้ประโยชน์จากการลดภาษีนำเข้าสินค้า ภายใต้กติกาของความตกลง
2).เร่งพัฒนาคุณภาพสินค้าให้มีมาตรฐาน เพื่อให้ส่งออกไปยังสมาชิกได้
3).เร่งปรับตัวทำการค้าออนไลน์และปรับตัวรับกฎ กติกาทางการค้าต่างๆ รองรับการแข่งขันกับสินค้าจากสมาชิกที่เข้ามาไทยมากขึ้น
4).เร่งบริหารจัดการ และตรวจสอบสินค้านำเข้า โดยเฉพาะสินค้าไร้คุณภาพ ที่เป็นอันตรายกับผู้บริโภค
5).เร่งให้มีแต้มต่อในการใช้วัตถุดิบภายในประเทศ เพื่อให้เกิดโอกาสกับเอสเอ็มอีไทย ในการเสนอขายสินค้าให้หน่วยงานภาครัฐ
6).เร่งแก้ปัญหาสินค้าจากประเทศสมาชิก ทะลักเข้ามาขายในไทย หากเร่งปรับตัวได้ อาร์เซ็ปจะเป็นโอกาสของผู้ประกอบการไทย
หนุนเข้าเป็นสมาชิก “ซีพีทีพีพี” :
สำหรับการเข้าร่วมซีพีทีพีพี นายสนั่น กล่าวว่า ภาคเอกชนสนับสนุนมาตลอด เพราะสมาชิกอาเซียน ทั้ง เวียดนาม สิงคโปร์ มาเลเซีย และบรูไนเป็นสมาชิกแล้ว ถ้าไทยไม่เข้า อาจเสียเปรียบการค้า การลงทุน ซึ่งการเข้าร่วม จะดึงดูดการลงทุนเข้าไทย และเป็นประตูสู่การค้าโลก แต่จะได้รับกับผลกระทบจากการลดภาษีนำเข้าให้สมาชิก และเผชิญกับการแข่งขันที่สูงขึ้น อีกทั้งต้องปรับกฎระเบียบต่างๆให้สอดคล้องความตกลง และมาตรฐานสากล หากไม่สามารถทำได้ จะเสียความน่าเชื่อถือ ทั้งด้านคุณภาพสินค้าและความน่าลงทุน
ส่วนข้อกังวลต่างๆ ทั้งการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ ยา การระงับข้อพิพาทระหว่างรัฐกับเอกชน ฯลฯ ต้องหาทางออกร่วมกันให้ได้ เช่น กำหนดเป็นข้อสงวนของไทยเพื่อนำไปเจรจากับสมาชิก ปรับกฎเกณฑ์ภายในให้มีความยืดหยุ่น มีมาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ ฯลฯ
“การเข้าร่วมหรือไม่ ต้องคำนึงถึงประโยชน์ของประเทศ และภาคการผลิต ทั้งเกษตร อุตสาหกรรม และบริการ โดยเฉพาะผู้ประกอบการรายย่อยที่ยังไม่พร้อมแข่งขัน แต่การเป็นสมาชิกความตกลงที่มีมาตรฐานสูง เป็นบททดสอบของไทย เพื่อปรับตัวเข้าสู่โลกการค้าสมัยใหม่ เพิ่มโอกาสขยายการค้าไปสู่ประเทศที่ไทยยังไม่มีเอฟทีเอ ทั้งแคนาดาและเม็กซิโก รวมถึง ประเทศที่แม้มีเอฟทีเอแล้ว แต่ยังยกเว้นภาษีไม่ครอบคลุมทุกสินค้า”.
ที่มา ไทยรัฐออนไลน์
วันที่ 13 มกราคม 2565