ที่ปรึกษาสภาธุรกิจฯ ร่วมงานสัมมนาออนไลน์ “BINH PHUOC PRIME GATEWAY TO CLV AND GLOBAL MARKET” 

เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2565  คุณคมกริช วรคามิน อดีตเอกอัครราชทูต ณ กรุงบูคาเรสต์ โรมาเนีย และที่ปรึกษาสภาธุรกิจไทย-เวียดนาม ได้เข้าร่วมเป็นวิทยากรในงานสัมมนาออนไลน์ Vietnam-Global Investment Target 2022, “BINH PHUOC PRIME GATEWAY TO CLV AND GLOBAL MARKET” บิ่งห์เฟื๊อก ประตูบานสำคัญสู่ กัมพูชา-ลาว-เวียดนาม และตลาดโลก จัดโดย Business Matching Unit, FTI, Becamex, IDC Corp Vietnam และ สภาธุรกิจไทย-เวียดนาม 
 
มีวิทยากรและแขกผู้มีเกียรติร่วมงานสัมมนา คุณอภิชิต ประสพรัตน์ รองประธาน ส.อ.ท. สายงานสมาชิกสัมพันธ์, คุณวีรกา มุทิตาภรณ์ กงสุลใหญ่ ณ นครโฮจิมินห์, คุณชิโนรส เบญจชวกุล รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ด้านทรัพยากรบุคคล และองค์กรสัมพันธ์ กลุ่มธุรกิจเกษตร-อุตสาหกรรมและอาหาร เวียดนาม, คุณปิยะกุล สุวรรณสัมฤทธิ์ ตัวแทนในประเทศไทยของบริษัท เบคาเม๊กซ์ เวียดนาม, คุณธาราบดี ซึ้งอดิชัยวิทย์ ผู้จัดการทั่วไป ธนาคารกรุงเทพ เวียดนาม และคุณคมกริช วรคามิน อดีตเอกอัครราชทูต ณ กรุงบูคาเรสต์ โรมาเนีย และที่ปรึกษาสภาธุรกิจไทย-เวียดนาม เข้าร่วมการสัมมนา
 
 
 
 
โดยคุณคมกริช วรคามิน อดีตเอกอัครราชทูต ณ กรุงบูคาเรสต์ โรมาเนีย และที่ปรึกษาสภาธุรกิจไทย-เวียดนาม ได้บรรยายในหัวข้อ “ทำไมถึงลงทุนในเวียดนาม” และกล่าวปิดงานสัมมนาไว้ดังนี้ 
 
“เหตุผลว่าทำไมถึงลงทุนในเวียดนามมี 4-5 ประการดังนี้
 
ประการแรก :
เวียดนาม เป็นประเทศเพื่อนบ้านทางด้านตะวันออกของไทย มีทรัพยากรธรรมชาติจำนวนมหาศาล เช่น น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ ถ่านหิน บ๊อกไซด์ แร่เหล็ก ผลิตผลทางทะเลเนื่องจากชายฝั่งทะเลยาวมากจากเหนือจรดภาตใต้ ป่าไม้ และที่ราบลุ่มในภาคเหนือลุ่มแม่น้ำแดงและในภาคใต้ลุ่มแม่น้ำโขง แม้ว่าพื้นที่ 2/3 ของประเทศจะเป็นที่ราบสูงก็ตาม เรียกได้ว่า มีทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ มีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ นิคมอุตสาหกรรมมากขึ้นทุกปีในจังหวัดต่าง ๆ เป็นพื้นฐานการพัฒนาประเทศ
 
ประการที่สอง :
เวียดนามมีประชากรประมาณ 100 ล้านคน 2/3 เป็นแรงงานจำนวนมากและในราคาถูกสำหรับการผลิตและการลงทุนของต่างประเทศ ค่าแรงขั้นต่ำยังย่อมเยาคือ 4.4 ล้านด่ง หรือ ประมาณ 192.1 ดอลล่าร์สหรัฐ/คน/เดือน (ยกกรณีฮานอย โฮจิมินห์ซิตี้) (บางคนอาจถือตัวเลข 3.7 ล้านด่ง หรือ 159.23 ดอลล่าร์สหรัฐ หรือ 5,275.21 บาท เป็นค่าแรงขั้นต่ำเฉลี่ยในภูมิภาคต่าง ๆ ทั้งประเทศ
 
ขอขอบคุณผอ.สคร. ณ นครโฮจิมินห์สำหรับข้อมูลนี้) แรงงานเกือบทั้งหมดได้รับการยอมรับว่ามีระเบียบวินัยและขยันขันแข็งไม่สร้างปัญหาใด ๆ ขณะที่เวียดนามกำลังก้าวเข้าสู่สังคมอุตสาหกรรม แรงงานเหล่านี้จะเป็นกำลังสำคัญต่อการผลิต เป็นผู้บริโภคจำนวนมหาศาลขณะเดียวกัน และประเทศกำลังได้รับประโยชน์จากการมีความตกลงยกเว้นภาษีทางการค้า เขตการค้าเสรีกับต่างประเทศหลากฉบับ อาทิ AFTA CPTPP RCEP FTA กับยุโรป  เป็นต้น 
 
 
 
เป็นที่ทราบกันอยู่ว่าเวียดนามมีความสัมพันธ์ทางการค้าใกล้ชิดกับประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ลาว กัมพูชา และจีน การเข้าทำการค้าและการลงทุนของประเทศไทยโดยใช้ประโยชน์จากความตกลงที่เวียดนามมีเหล่านี้ กรณีที่ประเทศไทยยังไม่มี น่าจะทำให้เกิดประโยชน์ คือพึ่งกันไปมาโดยได้ประโยชน์ร่วมกันได้
 
ประการที่สาม :
ความมีเสถียรภาพและมั่นคงทางการเมือง เวียดนามใช้การปกครองแบบอำนาจนิยมที่มีอุดมการสังคมนิยมมาร์กซิสม์-เลนินนิสม์ภายใต้การชี้นำของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งเวียดนาม ก่อตั้งมาตั้งแต่ปีค.ศ. 1930 อุดมการมีอิทธิพลอย่างมากตั้งแต่การต่อสู้เพื่อกอบกู้เอกราชต่อต้านการยึดครองของประเทศจักรวรรดินิยมอาณานิคมนำไปสู่การรวมประเทศจากสองภาคสมัยสงครามเข้าด้วยกันตั้งแต่ปี ค.ศ. 1975 เป็นต้นมา
 
จวบจนถึงปัจจุบัน มีประชากรเติบโตขึ้นรวมทั้งสิ้น 100 ล้านคน ประเทศมีชนกลุ่มน้อย 54 ชนชาติ อยู่ร่วมกันโดยปราศจากข่าวความขัดแย้ง การต่อสู้ระหว่างกันภายใต้การปกครองของชาวเหวียดหรือขิ่นห์ ซึ่งเป็นคนหมู่มากของประเทศ คือ มากกว่า 90% ด้วยการชี้นำของ Vietnam Fatherland Front ในอุดมการเดียวกันคือ ลัทธิมาร์กซิสม์-เลนินนิสม์
 
ในการพัฒนาประเทศ เวียดนามน่าจะมีรูปลักษณ์คล้ายกับจีนและรัสเซียเพราะใช้อุดมการเดียวกัน น่าจะคาดหมายความเป็นเอกภาพความสมานฉันท์ระหว่างกัน เวียดนามพัฒนาความสัมพันธ์ใกล้ชิดความสัมพันธ์พิเศษกับลาว กัมพูชา คิวบา เกาหลีเหนือ ทุกวันนี้ เวียดนามยังรักษาระดับความเป็นสังคมนิยมไว้อยู่ เพราะรักษาเหตุผลการคงความเป็นอยู่ (raison d’etre) แม้ว่าบรรดาประเทศสังคมนิยมจะเหลือน้อยลง แผ่วลงจากในอดีต ดังนั้น ด้วยปัจจัยเหตุผลนี้ เราจึงคาดหมายความต่อเนื่องของการเป็นสังคมนิยม การมีเสถียรภาพความมั่นคง ความแข็งแกร่งของลัทธิมาร์กซิสม์-เลนินนิสม์ต่อไป ความต่อเนื่อง ไม่ผันแปรเปลี่ยนแปลงอะไรอะไรง่ายๆ 
 
ประการที่สี่ :
การยอมรับจากต่างประเทศ เวียดนามได้รับการยอมรับยิ่งขึ้นจากต่างประเทศที่จะเป็นเจ้าภาพการประชุมสำคัญ ๆ เช่น เอเปค ก็ได้จัดมาแล้วสองครั้ง ไม่นับการประชุมนานาชาติอื่นๆ  เวียดนามได้รับการคัดเลือกโดยนาย Donald Trump ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ให้เป็นสถานที่จัดการประชุมสหรัฐฯ กับเกาหลีเหนือ เมื่อปีค.ศ. 1991 แม้ว่าการประชุมไม่นำไปสู่ความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ไปกว่านั้น แต่การเลือกกรุงฮานอยเป็นที่จัดการประชุมถือได้ว่าสร้างชื่อเสียงแก่เวียดนามอย่างมาก เพราะการเตรียมการทางด้านกายภาพ การจราจร การรักษาความปลอดภัย การรักษาระเบียบวินัย การควบคุมฝูงชนในช่วงการประชุมถือว่าสำคัญมาก เรียกได้ว่า ในสัปดาห์นั้น ๆ โลกจับตามองไปที่เวียดนามโดยแท้ อนึ่ง ในช่วงที่ผ่านไป เวียดนามเคยต้อนรับการเสด็จฯ การเยือนของประมุข ผู้นำจากต่างประเทศเสมอมา ดังนั้น เวียดนามจึงน่าจะมีความพรักพร้อมประสบการณ์ การเตรียมการที่พร้อมสรรพเหล่านี้น่าจะอธิบายว่าทำไม่ถึงลงทุนในเวียดนาม
 
ความเคลื่อนไหวล่าสุด เมื่อวันที่ 31 เดือนมีนาคม 2565 ที่ผ่านไป นายนิกรเดช พลางกูร เอกอัครราชทูต ณ กรุงฮานอย ได้เข้าพบนายฝ่าม หมิ่นห์ จิ๊นห์ สมาชิกคณะกรรมการการเมืองพรรคฯ และนายกรัฐมนตรีเวียดนาม สองฝ่ายได้หารือกันเพื่อกระชับความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจที่เข้มแข็งโดยจะส่งเสริมการค้าในทุกระดับให้สูงถึง 25,000 ล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ ภายในปีค.ศ. 2025  โดยส่งเสริมการอำนวยความสะดวกแก่การส่งสินค้าเกษตรและผลไม้ไทยผ่านเวียดนามไปยังจีนให้มีความคล่องตัวเป็นที่สุด 
 
 
 
 
นอกจากนี้ พัฒนาการลงทุนของไทยโดยผ่านหอการค้าและอุตสาหกรรมของไทย หรือ ThaiCham ซึ่งเพิ่งถูกจัดตั้งขึ้นใหม่ เพื่อให้การลงทุนไทยพุ่งสูงขึ้นสู่กลุ่มหนึ่งในห้าอันดับแรก (จากอันดับที่ 8 หรือ 9 ขณะนี้) โดยในสาขาพลังงานซึ่งมีสัดส่วนเป็น 1/3 ของการลงทุนของไทยในเวียดนามทั้งหมด และภาคอุตสาหกรรมสองประเทศเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทาน หรือ supply chain ที่เกื้อกูลกันและกัน ส่งเสริมความเป็นไปได้และศักยภาพของกันและกัน ไปสู่ปีที่ 50 ของความสัมพันธ์ทางการทูตในยุคปัจจุบันยิ่ง ๆ ขึ้นไป
 
เรียนท่านประธาน ท่านวิทยากร ผู้ร่วมรายการ
 
เกี่ยวกับเรื่องนี้ ผมเห็นว่าสองประเทศมีโอกาสและความเป็นไปได้สูงที่จะร่วมมือกัน ดังที่จังหวัดบิ่งห์เฟือก ได้ก้าวเข้ามาร่วมการประชุม Webinar “บิ่งห์เฟือก: ประตูบานสำคัญสู่กัมพูชา-ลาว-เวียดนาม และตลาดโลก” ในวันนี้ ประสบผลสำเร็จเป็นอย่างดี ขอให้สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย พิธีกรที่มีความสามารถเช่นวันนี้ จัดกิจกรรมเป็นประจำ เดือนหรือสองเดือนครั้งหนึ่งรวมทั้งประมวลคำถาม คำตอบไว้ การไปเยือนจัดร่วมกับจังหวัดต่าง ๆ ซึ่งผมรู้สึกเป็นเกียรติที่จะขอบพระคุณสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย วิทยากรผู้มีความรู้ความสามารถทุกท่าน และขอกล่าวปิดการประชุม Webinar ไว้ ณ โอกาสนี้”
 

ลิงค์คลิปวีดีโองานสัมมนา 
 
ที่มา สภาธุรกิจไทย-เวียดนาม
วันที่ 21 เมษายน 2565

@Admin TVBC

สนใจสมัครสมาชิกหรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

ฝ่ายเลขานุการฯ
โทร: 02-018-6888 ต่อ 4340
Email: tvbc.secretariat@gmail.com

:)