บทความพิเศษ : เมื่อวันหนึ่งครม.อาจไฟเขียวฟรีวีซ่านักท่องเที่ยวชาวจีน?

วันหนึ่งในอนาคต คณะรัฐมนตรีไทยอาจใจดีอนุญาตแก่บุคคลสัญชาติจีนจำนวน 1.4 พันล้านคนเดินทางเข้าประเทศสะดวกโยธินเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวที่จะมาถึง ทั้งนี้ เพราะไม่นานมานี้รัฐบาลอนุมัติให้ซาอุดีอาระเบียได้รับ ผ.-30 และไม่นานต่อมา ผ่อนผันให้บุคคลสัญชาติที่ขอรับ VOA-15 ที่ช่องทางอนุญาตทางอากาศ ได้รับการยกเว้นไม่ต้องกรอกแบบฟอร์ม ตม. 6
 
เพื่อลดความแออัดที่ด่านเข้าเมืองเป็นการชั่วคราว
การพิจารณายกเว้นและให้ผ.-30 แก่ซาอุดีอาระเบีย ไม่น่าแปลกใจเพราะไทยและซาอุฯ ได้ปรับความสัมพันธ์ทางการทูต หลังจากเหตุการณ์สังหารนักการทูต 3 คน และการเข้าไปลักขโมยเพชรซาอุฯโดยนายเกรียงไกร เตชะโม่ง ซึ่งส่งผลให้แช่แข็งความสัมพันธ์ความร่วมมือและแลกเปลี่ยนแรงงานและการท่องเที่ยวตลอดเวลา 30 ปีที่ผ่านไป แม้จะมีประชากรไม่มากนัก แต่ชาวซาอุฯและจากตะวันออกกลางมีฐานะเป็นเป้าหมายที่เข้าใจได้
 
ผ.-30 หรือการผ่อนผันเป็นเวลา 30 วัน คือการอนุญาตให้บุคคลสัญชาติต่างๆ จากตะวันตก ได้แก่ สหรัฐฯ แคนาดา อังกฤษ ยุโรป ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ เป็นต้น เดินทางเข้าประเทศเพื่อเป้าหมายส่งเสริมการท่องเที่ยว โดยไม่ต้องไปขอรับการตรวจลงตราหรือวีซ่า ซึ่งสิทธิพิเศษนี้มีมาช้านานตั้งแต่ข้าพเจ้าอายุยังน้อยขณะเข้าทำงานที่กระทรวงการต่างประเทศกระทั่งเกษียณอายุราชการ
 
ดังนั้น ประเทศอื่นๆ จึงคาดหมายให้ได้รับสิทธิประโยชน์นี้ (ซึ่งเป็นการให้ฝ่ายเดียว มิต้องตอบแทน เช่น มีความตกลงยกเว้นวีซ่าระหว่างกัน) และมีความสงสัยอยู่ในทีว่าทำไมประเทศตนมิได้รับหรือไม่ก็ผู้ประกอบการท่องเที่ยวของไทย (การบิน ท่องเที่ยว โรงแรม บริการ ภัตตาคาร ฯลฯ) ก็อดสงสัยไม่ได้ว่า น่าจะให้สิทธิพิเศษนี้แก่ประเทศใหญ่ๆ คนเยอะๆ เช่น จีน อินเดีย เพื่อคนชาติเหล่านี้มาท่องเที่ยวใช้จ่ายมากๆ ในไทย
 
นี่เป็นดำริที่เป็นมาช้านาน เพราะสองประเทศนี้เป็นประเทศไม่ห่างไกลนัก มีประชากรจำนวนมาก และสนใจมาท่องเที่ยวในประเทศไทย
 
อนึ่ง ก่อนโควิด-19 ระบาดรุนแรงเมื่อ 2 ปีก่อนรายงานสถิติเปิดเผยว่า ไทยเคยเป็นตลาดท่องเที่ยวที่ใหญ่ประสบความสำเร็จสูงมาก คือ มีนักท่องเที่ยวมาก เป็นจำนวนมากถึง 40.5-41 ล้านคน ในนี้เป็นคนจีนถึง 11 ล้านคน อีกจำนวนใหญ่มากมาจากอินเดีย ดังนั้น นโยบายเซตซีโร่ของรัฐบาลจีน ควบคุมประชากรมิให้เป็นโรคโควิด-19ห้ามคนจีนออกนอกประเทศเด็ดขาด ห้ามคนต่างชาติที่ไม่เกี่ยวข้องเข้าประเทศ ประกอบกับความสัมพันธ์กับสหรัฐฯ และในภูมิภาคอยู่ในสภาวการณ์ไม่เป็นมิตรหรือไม่ปกติ จึงล้วนทำให้ไทยพลอยฟ้าพลอยฝนไม่มีนักท่องเที่ยวจีนเป็นจำนวนมากอีกต่อไป
 
สัมพันธภาพไทย-จีนลึกซึ้งเหนียวแน่นมาตั้งแต่การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2518 ที่กรุงปักกิ่ง ประเทศไทยมิใช่ประเทศเล็กๆ เช่น ลาว กัมพูชา หรือประเทศในแอฟริกาที่ยากจนข้นแค้นอนุญาตให้คนจีนไปตั้งรกรากใหม่เป็นถนนๆ เมืองๆ หรือมองข้ามผลเสียของความตกลงยกเว้นวีซ่าหนังสือเดินทางธรรมดาเช่น ไทย-รัสเซีย ตั้งแต่สมัยพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี ยกจังหวัดหรือประเทศแก่รัสเซียให้มาตั้งเขตอิทธิพล เช่น ที่พัทยา จังหวัดต่างๆ ตามแนวฝั่งทะเล
 
รัฐบาลไทยยังเห็นประโยชน์จากการใช้อำนาจอธิปไตยกลั่นกรองและบันทึกสถิติคนจีนเข้า-ออกราชอาณาจักรเสมอมา เพราะเป็นการควบคุมที่กระทำได้ มิฉะนั้นจะไหลบ่าท่วมท้นได้เพราะไม่มีอะไรไปหยุดยั้ง น่าจะควบคุมจำนวนคนจีนเข้า-ออกได้ ไทยจึงได้มีสถานเอกอัครราชทูตและสถานกงสุลใหญ่ในจีนนับ 10 แห่ง อนึ่ง ประเทศที่มีความใกล้ชิดประหนึ่งเป็น “พี่น้องแต่เป็นคู่อาฆาต” (brother enemies) เช่น เวียดนาม หรือ ยิ่งใหญ่เป็นสังคมนิยมมาด้วยกัน เช่น รัสเซีย ก็ไม่ได้มีความตกลงยกเว้นวีซ่าหนังสือเดินทางธรรมดากับจีน เพราะเขาเหล่านี้ต้องระมัดระวังประเทศซึ่งมีประชากรที่มากที่สุดในโลก หากใครสงสัยก็น่าไปสืบค้นสถิติได้เพราะประเทศใดที่มีความตกลงล้วนเป็นลูกไล่ทั้งสิ้น
 
โดยสรุป ไทยควรรวบรวมรายได้คือค่าธรรมเนียมวีซ่าที่น่าจะปรับสูงขึ้นได้เท่าหนึ่งเพราะต่ำมากนานมากแล้ว เพราะคนต่างชาติสามารถชำระได้ ต่างจากชาวไทยเวลาไปขอวีซ่ากับต่างประเทศจ่ายเงินจำนวนสูงๆ และปรับปรุงแนวคิดการท่องเที่ยวให้เป็นฝ่ายรุกมากกว่าฝ่ายรับ ปฏิรูปการให้บริการปฏิเสธทัวร์ศูนย์เหรียญให้หมดไป พัฒนาความเป็นมืออาชีพ รักษาสภาพแวดล้อมและแนวปฏิบัติที่ทันสมัยกับมาตรฐานโลก เมื่อไปถึงระดับนั้น ไทยจะเป็นประเทศผู้นำการท่องเที่ยวของโลกอย่างองอาจยืดได้ และบัดนั้น ทบทวนการมีความตกลงยกเว้นวีซ่ากับรัสเซีย กับต่างประเทศอื่นๆ ที่เรามิได้เดินทางไปประเทศของเขา และการผ่อนผันผ.-30 ที่พ้นสมัยเสียที
 
ผู้เขียน คมกริช วรคามิน 
อดีตเอกอัครราชทูต ณ กรุงบูคาเรสต์ โรมาเนีย, ที่ปรึกษาสภาธุรกิจไทย-เวียดนาม, ที่ปรึกษาสมาคมคณะกงสุลกิตติมศักดิ์ (ประเทศไทย)
 
ที่มา แนวหน้า
วันที่ 21 มิถุนายน 2565 

@Admin TVBC

สนใจสมัครสมาชิกหรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

ฝ่ายเลขานุการฯ
โทร: 02-018-6888 ต่อ 4340
Email: tvbc.secretariat@gmail.com

:)