รู้จัก 9 เขตเศรษฐกิจเอเปค หนุนการค้าเสรี - คู่โมเดลบีซีจี
การเป็นเจ้าภาพจัดงานประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (Asia-Pacific Economic Cooperation : APEC) หรือเอเปคในปีนี้ ไทยมุ่งผลักดันโมเดล “เศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว” (Bio-Circular-Green Economy) หรือบีซีจีเป็นอย่างมาก
เอกอัครราชทูตไทยจาก 9 เขตเศรษฐกิจเอเปคเล่าถึงการให้ความสำคัญและความคาดหวังของสมาชิกต่อเวทีเอเปคในไทยผ่านรายการ Good morning ASEAN ของกระทรวงการต่างประเทศ ชี้ให้เห็นแนวทางที่รัฐบาลไทยควรผลักดันความร่วมมือหลังจากนี้
เวียดนาม: นิกรเดช พลางกูร เอกอัครราชทูต ณ กรุงฮานอย
เวียดนามเข้ามามีบทบาทในเวทีเศรษฐกิจด้านพหุภาคีค่อนข้างแข็งขันมากพยายามเข้ามามีบทบาทของเวทีเศรษฐกิจหลายแห่งของโลก และยกขึ้นมาเป็นวาระสำคัญของประเทศ เวียดนามสนใจเรื่องการสร้างขีดความสามารถในด้านต่าง ๆ เพื่อเพิ่มความเข้มแข็งให้กับประเทศ เน้นส่งเสริมบทบาทของธุรกิจเอสเอ็มอี ให้ความสำคัญกับความปลอดภัยและความมั่นคงทางด้านอาหารและพลังงาน รวมทั้งพลังงานหมุนเวียนและการค้าสมัยใหม่ทั้งด้านการบริการและการค้าออนไลน์ข้ามพรมแดน (Cross-Border e-Commerce) นักธุรกิจเวียดนามได้ประโยชน์จากเอเปคมากเพราะเวียดนามสร้างความตื่นตัวให้กับกลุ่มธุรกิจตอนนี้เวียดนามมียูนิคอร์นระดับสตาร์ทอัป 4 รายแล้ว ไทยก็มีความตื่นตัวสูงเช่นกัน นี่อาจเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ไทยและเวียดนามได้แลกเปลี่ยนความรู้กันในอนาคตได้
สิงคโปร์: ชุตินทร คงศักดิ์ เอกอัครราชทูต ณ สิงคโปร์
สิงคโปร์เป็นประเทศพึ่งพาการค้าสูงมาก สัดส่วนการค้ามากกว่าจีดีพี 3 เท่าการค้าเสรี ลดมาตรการภาษีต่าง ๆรวมถึงการให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจดิจิทัลและความปลอดภัยทางข้อมูลซึ่งในมุมมองของสิงคโปร์ เอเปคเป็นเวทีที่เหมาะแก่การเสนอนโยบายใหม่ ๆ และสิงคโปร์ชื่นชอบโมเดลเศรษฐกิจบีซีจีมาก เพราะสอดคล้องกับนโยบาย Singapore Green Plan 2030 ที่มีเป้าหมายให้สิงคโปร์เป็นเมืองธรรมชาติเพื่อความยั่งยืน ส่วนการสนับสนุนสิทธิสตรีกับธุรกิจเอสเอ็มอีมีการเพิ่มโอกาสพัฒนาทักษะการทำธุรกิจ ควบคู่กับเศรษฐกิจสีเขียวในการสนับสนุนเยาวชน มีการเปิดรับฟังความเห็นเพื่อการพัฒนาในด้านต่าง ๆ ล้วนสอดคล้องกับแนวทางเอเปคทั้งนี้สิงคโปร์เป็นนักลงทุนอันดับหนึ่งของอาเซียนในไทย และมีความร่วมมือกันหลายด้าน
บรูไนดารุสซาลาม: บุศรา กาญจนาลัย เอกอัครราชทูต ณ บันดาร์เสรีเบกาวัน
บรูไนเป็นหนึ่งในประเทศก่อตั้งเอเปค เป็นประเทศขนาดเล็ก ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพและอุดมไปด้วยทรัพยากรธรรรมชาติ ทั้งน้ำมัน ถ่านหิน และก๊าซธรรมชาติ จึงเน้นความสำคัญในการอนุรักษ์ธรรมชาติ เพื่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน และนโยบายต่าง ๆ มีความเชื่อมโยงในทิศทางเดียวกันกับเอเปค ในความร่วมมือกับเพื่อนบ้านเอเปคอย่างอินโดนีเซียและมาเลเซีย บรูไนมีโครงการรักษาพื้นที่ป่าและสนับสนุนลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เมื่อครั้งเป็นเจ้าภาพอาเซียน ได้เสนอจัดตั้งศูนย์สภาพภูมิอากาศอาเซียน ซึ่งเชื่อว่าจะเป็นประโยชน์ต่อสมาชิกเอเปคด้วย
เปรู : สรยุท ชาสมบัติ เอกอัครราชทูต ณ กรุงลิมา
เปรูเป็นประเทศหุ้นส่วนยุทศาสตร์ไทยให้ความสำคัญด้านการค้าและการลงทุน และมีทรัพยากรธรรมชาติมาก เช่น ทองแดง เหมืองแร่ ทองคำ สังกะสี และดีบุก จึงต้องการการแลกเปลี่ยนสินค้าด้านเกษตร การประมง และภาคบริการการท่องเที่ยวเป็นส่วนใหญ่ ทั้งนี้ เปรูต้องการให้เอเปคเปิดกว้างทางการค้ามีความยืดหยุ่นและมีความสงบสุข เพราะตั้งแต่เปรูเป็นสมาชิกเอเปค ประเทศมีมูลค่าการค้าเติบโตปีละประมาณ 30% ขณะนี้เปรูต้องการให้มีการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจคำนึงถึงกลุ่มเปราะบางสนับสนุนการบรรเทาความยากจนและความเหลื่อมล้ำ เน้นส่งเสริมธุรกิจเอสเอ็มดีปกป้องสิ่งแวดล้อมและพัฒนาระบบสาธารณสุข นอกจากนี้ มีการส่งเสริมการลงทุนภาคเอกชนด้านพลังงานหมุนเวียน ลดการตัดไม้ทำลายป่า ลดพลาสติกในทะเลและแม่น้ำ
เม็กซิโก: ไพศาล หรูพาณิชย์กิจ เอกอัครราชทูต ณ กรุงเม็กซิโก
เม็กซิโกเป็น 1 ใน 3 ประเทศแถบละตินอเมริกาที่เป็นสมาชิกเอเปค ในปีนี้เม็กซิโกให้การสนับสนุนการค้าเสรีและโมเดลเศรษฐกิจบีซีจีอย่างเต็มที่ รัฐบาลมีกฎหมายสำคัญเกี่ยวกับเศรษฐกิจหมุนเวียน ทำให้ประสบความสำเร็จในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ เม็กซิโกเป็นประเทศส่งออก-นำเข้ามากที่สุดในภูมิภาคละตินอเมริกา และเป็นตลาดส่งออกที่ใหญ่ที่สุดของไทย มีห่วงโซ่การผลิตที่สอดคล้องกัน อาทิ นำเข้าชิ้นส่วนยานยนต์จากไทยราว 1 พันล้านดอลลาร์/ปี และมีการลงทุนซึ่งกันและกันด้วย ทั้งลงทุนด้านอุตสาหกรรมพลาสติก ขุดเจาะน้ำมัน อุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ มีรายได้จากการท่องเที่ยวใกล้เคียงกับไทย ในโอกาสนี้หวังว่าไทยและเม็กซิโกจะให้ความร่วมมือทางเศรษฐกิจมากขึ้นผ่านเวทีเอเปค
สหรัฐ: มนัสวี ศรีโสดาพล เอกอัครราชทูต ณ กรุงวอชิงตัน
เมื่อคามาลา แฮร์ริส รองประธานาธิบดีสหรัฐได้เยือนสิงคโปร์ จึงมีโอกาสแจ้งความประสงค์สหรัฐในการเป็นเจ้าภาพเอเปคในปี 2023 และเป็นการประกาศถึงความสำคัญที่สหรัฐมีต่อเวทีเอเปค ซึ่งสหรัฐเน้นเรื่องการค้าและการลงทุนผลักดันด้านนวัตกรรม ดิจิตอล และสิ่งแวดล้อมที่สหรัฐให้ความสำคัญมาก มีการลดภาษีเพื่อให้มีการค้าสินค้าประเภทนั้นมากขึ้นแก้ปัญหาการประมงผิดกฎหมาย แก้ปัญหาขยะทางทะเล ขยายพื้นที่ป่าไม้สร้างความมั่นคงทางอาหาร โดยเฉพาะการลดขยะจากอาหาร มีการสร้างเครือข่ายของสตรีในด้านธุรกิจผ่านเสวนาผ่านเวทีต่าง ๆ ทั้งมีนโยบายเอื้อให้สตรีเข้ามาดำเนินธุรกิจ และประคับประคองให้สตรีได้พัฒนาธุรกิจตนเอง และภาคธุรกิจสหรัฐได้จัดตั้งศูนย์เอเปคแห่งชาติ (The National Center for APEC :NCAPEC) ซึ่งมีการจัดเสวนาเพื่อนำไปหารือกับภาครัฐและภาคส่วนต่าง ๆ ในสหรัฐตามกรอบเอเปคอย่างสม่ำเสมอ
จีน: อรรถยุทธ์ ศรีสมุทร เอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง
จีนให้ความสำคัญกับการค้าละการลงทุนในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกมาก ในช่วงนี้ภาครัฐและเอกชนจีน ให้ความสำคัญกับพลังงานสะอาดมากขึ้น มีความเป็นผู้นำและมีเทคโนโลยีสีเขียวมากมาย จูงใจให้ทุกคนตระหนักถึงสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับโมเดลบีซีจีที่ไทยให้ความสำคัญ ส่วนบริษัทหลายแห่งเริ่มพยายามสร้างสิ่งแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อสตรีและเยาวชน โดยเฉพาะธุรกิจใหม่ จะมีคนรุ่นใหม่และสตรีเป็นผู้บริหารระดับสูงเพิ่มขึ้น และสนับสนุนข้อริเริ่มบัตรสมาชิกเอเปคของไทย ที่จะทำให้นักธุรกิจเอสเอ็มอีเดินทางทำธุรกิจได้สะดวก ตอนนี้ทางทูตไทยพยายามเชิญชวนบริษัทนวัตกรรมและเทคโนโลยีระดับสูงในจีนมาร่วมลงทุนในไทย เพื่อส่งเสริมเทคโนโลยีและการวิจัยของเรา
ญี่ปุ่น: สิงห์ทอง ลาภพิเศษพันธุ์ เอกอัครราชทูต ณ กรุงโตเกียว
ประเทศญี่ปุ่นมีทรัพยากธรรมชาติน้อย จึงเน้นการค้าระหว่างประเทศเป็นหลัก ต้องการการค้าเสรีเพื่อประโยชน์ของสินค้าในประเทศจึงเห็นความสำคัญของเศรษฐกิจเอเชียแปซิฟิกมาก และมีความคาดหวังจากเอเปคในทิศทางเดียวกับหลายประเทศ ใช้แนวคิดเอเปคผลักดันนโยบายต่าง ๆ เพื่อให้ภูมิภาคนี้เป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของโลก ส่งเสริมในด้านเทคโนโลยีและดิจิทัล เสริมความแข็งแกร่งของห่วงโซ่อุปทานและการเดินทางระหว่างประเทศที่ปลอดภัย ขณะนี้ญี่ปุ่นยังคงผลักดันเรื่องพลังงานสะอาดต่อไป อย่างไรก็ตาม บทบาทของสตรีในญี่ปุ่นยังไม่ไปไกลมาก แต่เริ่มตื่นตัวด้านนี้บ้างแล้ว สตรีเริ่มมีบทบาทมากขึ้น ผู้หญิงญี่ปุ่นออกสู่สังคมเพิ่มขึ้น หลังมีการปรับปรุงนโยบายกฎหมายสิทธิผู้หญิงต่าง ๆ
ออสเตรเลีย: บุษฎี สันติพิทักษ์ เอกอัครราชทูต ณ กรุงแคนเบอร์รา
ออสเตรเลียให้ความสำคัญกับเวทีเอเปคมาโดยตลอด มีนโยบายการส่งเสริมการค้าเสรี จัดสรรงบประมาณสนับสนุนกิจกรรมทางเอเปคเฉลี่ยปีละ 4.6 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย ทั้งด้านความเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทาน พัฒนาด้านการศึกษา และขับเคลื่อนเศรษฐกิจตามแนวคิดของปุตราจายา คิดค้นนวัตกรรมดิจิทัลเพื่อการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน ในปีนี้ออสเตรเลียสนับสนุนการค้าเสรีและสินค้าเป็นมิตรสิ่งแวดล้อม ร่วมจัดทำมาตรฐานยอมรับอาชีพในเอเปค ส่งเสริมธุรกิจดิจิทัล เป็นผู้นำปฏิรูปโครงสร้างส่งเสริมธุรกิจของกลุ่มชนเผ่าท้องถิ่นให้เป็นสากล นอกจากนี้ ออสเตรเลียให้ความสำคัญกับบทบาทเยาวชน สตรี และสิ่งแวดล้อมเสมอ ภายใน 10 ปีข้างหน้าจะลงทุนนวัตกรรมที่ปล่อยมลพิษต่ำ ซึ่งสอดคล้องกับโมเดลบีซีจี ทั้งยังจัดตั้งศูนย์เอเปคศึกษา 2 แห่ง ได้จัดสรรทุนให้ทั้งคนไทยและออสเตรเลีย เพื่อส่งเสริมสตรีและเด็กในสาขาอาชีพ STEM นอกจากนี้ ไทย-ออสเตรเลียมีความสนใจลงทุนด้านพลังงานทดแทนร่วมกันด้วย อาทิ พลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์ และโครงการวิจัยแบตเตอรี เป็นต้น
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ ออนไลน์