3 ซีอีโอแบงก์ใหญ่ ถอดรหัสปี 66 ตั้งรับความเสี่ยงยุคดอกเบี้ยขาขึ้น
3 ซีอีโอแบงก์ใหญ่ "ชาติศิริ-ผยง-ปิติ" ถอดรหัสธุรกิจธนาคารพาณิชย์ปี 66 เผชิญความท้าทาย "ดอกเบี้ยขาขึ้น-เศรษฐกิจโลกชะลอตัว-หนี้เสีย" ประธานสมาคมแบงก์ชี้เศรษฐกิจไทยความไม่แน่นอนสูง-ฟื้นตัวไม่ทั่วถึง โจทย์ใหญ่ธุรกิจธนาคาร “ต้นทุนดอกเบี้ย” เพิ่มขึ้นท่ามกลางความเสี่ยงหนี้เสีย จับตากลุ่มรายย่อย-เอสเอ็มอียังเปราะบางต้องประคองต่อ “ชาติศิริ โสภณพนิช” มองกลุ่มธุรกิจโครงสร้างพื้นฐาน-ESG มีโอกาสเติบโตสูง “ปิติ” ยอมรับปีหน้าเป็นปีที่ยากสำหรับธุรกิจแบงก์ เร่งเครื่องมาตรการ “รวมหนี้” หวังคลายล็อก NPL
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากเมื่อกลางเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ออกมาส่งสัญญาณถึงภาวะเศรษฐกิจปี 2566 ว่า แม้ปีหน้าเศรษฐกิจไทยจะยังเห็นการฟื้นตัว แต่อาจจะไม่ smooth take off เพราะมีปัจจัยเสี่ยงใหม่ ๆ ที่ไม่คาดฝันเข้ามาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะความเสี่ยงโลก ซึ่งสัญญาณชัดว่าเงินเฟ้อมาแรงและอยู่ยาว เศรษฐกิจโลกชะลอตัวมากกว่าที่คาด ขณะที่ตลาดการเงินโลกก็มีสัญญาณความผิดปกติ
“ปีหน้าต้องทำใจเตรียมรับข่าวไม่ดีของตลาดการเงินโลก เมื่อตลาดเกิดภาวะ market dysfunction ทำให้ตลาดเกิดความกังวล เกิดการดึงเงินกลับ ค่าเงินอ่อน และตลาดหุ้นมีปัญหา” ผู้ว่าการแบงก์ชาติกล่าว
“ประชาชาติธุรกิจ” ฉบับนี้จึงขอนำเสนอมุมมองของ 3 นายแบงก์ใหญ่ต่อแนวโน้มเศรษฐกิจและผลกระทบต่อธุรกิจธนาคารพาณิชย์ ทั้งนายชาติศิริ โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ (BBL) นายผยง ศรีวนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย (KTB) และในฐานะประธานสมาคมธนาคารไทย และนายปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารทหารไทยธนชาต (ttb)
“ชาติศิริ” ปีแห่งความไม่แน่นอน
นายชาติศิริ โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า แนวโน้มเศรษฐกิจในปี 2566 ยังคงทยอยฟื้นตัวต่อเนื่องตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) ได้ประมาณการไว้ โดยปัจจัยภาคการท่องเที่ยว จำนวนนักท่องเที่ยวที่กลับมามากขึ้น น่าจะเป็นประโยชน์กับเศรษฐกิจไทย และภาคการส่งออกยังเป็นแรงขับเคลื่อนพื้นฐานสำคัญของประเทศ
สำหรับทิศทางธุรกิจธนาคารพาณิชย์ในปี 2566 มองว่า ภายใต้เศรษฐกิจที่ขยายตัวดีขึ้น แต่ยังคงเผชิญความไม่แน่นอน และมีความผันผวนอยู่ แต่เชื่อว่าระบบธนาคารพาณิชย์ยังสามารถบริหารจัดการได้ดี โดยที่ยังสามารถสนับสนุนลูกค้าทั้งรายย่อย และภาคธุรกิจให้เติบโตต่อไปได้ ซึ่งธนาคารกรุงเทพยังวางแผนขยายการเติบโตต่อเนื่อง
“เราหวังว่าอีก 2 เดือนที่เหลือในปีนี้ จะยังคงเป็นไปตามแผนการเติบโตที่ตั้งไว้ ส่วนปี 2566 ก็น่าจะโตต่อ สำหรับกลุ่มที่น่าจะยังไปได้ดีจะเป็นกลุ่มธุรกิจคอนซูเมอร์ โครงสร้างพื้นฐาน พลังงาน และด้านที่เกี่ยวข้องกับ ESG ซึ่งในส่วนของแบงก์กรุงเทพก็มีการตั้งงบประมาณด้าน ESG แล้วเช่นกัน รวมถึงการค้าขายระหว่างประเทศ น่าจะยังขยายตัวและมีโอกาสมากขึ้น”
“ผยง” เศรษฐกิจฟื้นตัวไม่ทั่วถึง
นายผยง ศรีวนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย และในฐานะประธานสมาคมธนาคารไทย (TBA) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ภาพรวมธุรกิจธนาคารพาณิชย์ปี 2566 โดยรวมยังคงมีความเปราะบาง แม้จะฟื้นตัวดีขึ้น แต่ยังไม่กลับไปเติบโตเหมือนช่วงก่อนโควิด-19 โดยเศรษฐกิจไทยยังมีความไม่แน่นอนสูงและเผชิญกับสภาวะ VUCA
คือ ความผันผวน (volatility) ความไม่แน่นอน (uncertainty) ความสลับซับซ้อน (complexity) ความคลุมเครือ (ambiguity) ซึ่งคาดการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) อยู่ที่ 3.6-3.8% ส่งผลให้สินเชื่อทั้งระบบธนาคารพาณิชย์น่าจะขยายตัวได้ในระดับ 1-1.5% ของจีดีพี
ทั้งนี้ ภายใต้เศรษฐกิจที่ฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป และการฟื้นตัวไม่ทั่วถึง และสถานการณ์การส่งออกชะลอตัว จากความกังวลเศรษฐกิจคู่ค้าเข้าสู่ภาวะถดถอย (recession) รวมถึงปัญหาเงินเฟ้อ และภาระต้นทุนที่สูงขึ้นจากดอกเบี้ย ทำให้ยังมีกลุ่มที่ยังต้องการความช่วยเหลือ
โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางที่มีรายได้น้อยกว่ารายจ่าย หรือกลุ่มลูกค้ารายย่อยและผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ที่ธนาคารจะต้องประคองเพื่อให้ลูกค้าเหล่านี้สามารถปรับตัวได้ภายใต้ความไม่แน่นอน
โจทย์ต้นทุนดอกเบี้ย-หนี้เสีย
นายผยงกล่าวว่า อย่างไรก็ตาม หากดูเงินกองทุนของธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบยังคงมีเสถียรภาพ แต่ต้องระมัดระวังในเรื่องของต้นทุนดอกเบี้ยที่ขยับสูงขึ้น ขณะที่หนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ในระบบยังทรงตัว เนื่องจากยังคงมีเครื่องมือในการบริหารจัดการ เช่น มาตรการช่วยเหลือผ่านการปรับโครงสร้างหนี้ หรือมาตรการอื่น ๆ ที่ยังคงมีอยู่ถึงปี 2566 จะช่วยประคองให้เอ็นพีแอลไม่ได้ปรับเพิ่มขึ้น
“ไตรมาสที่ 4 ปีนี้เทรนด์ปรับตัวดีขึ้น แต่ยังคงต้องเฝ้าระมัดระวังจากปัจจัยเศรษฐกิจที่ยังฟื้นตัวไม่เท่ากัน ทำให้ธุรกิจธนาคารและเศรษฐกิจไทยปีหน้ายังมีความท้าทายจากปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ”
นายผยงกล่าวว่า ในส่วนของธนาคารกรุงไทย ปี 2565 ตั้งเป้าสินเชื่อเติบโต 3-4% ส่วนปี 2566 ธนาคารจะเป็นธุรกิจที่มีการฟื้นตัวตามการฟื้นตัวเศรษฐกิจ รวมถึงการให้ความสำคัญในเรื่องเกี่ยวข้องกับ ESG ที่ผ่านมาธนาคารได้ทำในเรื่องของสังคม (social) และธรรมาภิบาล (governance) ซึ่งในปีหน้าจะโฟกัสและให้ความสำคัญกับ E หรือ environmental สิ่งแวดล้อมมากขึ้น และเชื่อว่าเป็นทิศทางที่ทุกธนาคารเดินไป ซึ่งธนาคารก็มีแผนและเป้าหมายในเรื่องดังกล่าวแล้ว
“ปิติ” ปีหน้าจะเป็นปีที่ยาก
ด้านนายปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารทหารไทยธนชาต หรือทีทีบี เปิดเผยว่า มองไปข้างหน้าในปี 2566 ถือว่าเป็นปีที่มีความท้าทายเข้ามากระทบธุรกิจธนาคารพาณิชย์มากขึ้น ทั้งจากปัจจัยภายในและภายนอก โดยจะมี 3 ประเด็นหลัก ได้แก่ 1.แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นตามการปรับขึ้นของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ที่ทยอยเพิ่มขึ้นในปีหน้า
และ 2.การกลับมาจ่ายเงินนำส่งเข้ากองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) ในอัตรา 0.46% ของเงินฝากทั้งหมด ที่จะมีผลในวันที่ 1 ม.ค. 2566 จากเดิมที่ ธปท.ปรับลดเหลือ 0.23% โดยทั้ง 2 ปัจจัยนี้จะกระทบต่อภาระต้นทุนของธนาคารเพิ่มขึ้น
และ 3.แนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่เข้าสู่ภาวะถดถอย ส่งผลต่อภาคการส่งออก และการท่องเที่ยวของไทยชะลอตัว รวมถึงปัจจัยค่าครองชีพที่สูงขึ้นจากอัตราเงินเฟ้อที่จะมากระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้ของลูกค้า โดยเฉพาะในกลุ่มเปราะบางที่มีรายได้และรายจ่ายใกล้เคียงกัน ที่ยังไม่ฟื้นตัวจากปัญหาโควิด-19
เร่ง “รวมหนี้” ปลดล็อก NPL
นายปิติกล่าวว่า ดังนั้นในปี 2566 ธนาคารจะเน้นเรื่องการทำสินเชื่อรวมหนี้ (debt consolidation) หรือการรีไฟแนนซ์สินเชื่อที่มีดอกเบี้ยสูง เช่น สินเชื่อส่วนบุคคล และบัตรเครดิต มารวมกับสินเชื่อที่อยู่อาศัย และรถ เพื่อช่วยลดภาระดอกเบี้ยให้กับลูกค้าเพื่อให้มีความสามารถในการชำระหนี้ ซึ่งจะเป็นตัวชูธงในปีหน้า
ทั้งนี้แม้ว่ามาตรการรวมหนี้จะทำให้ส่วนต่างรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) ลดลง เพราะช่วยให้ลูกหนี้จ่ายดอกเบี้ยลดลง แต่ขณะเดียวกันก็ช่วยให้ลูกหนี้ไม่กลายเป็นหนี้เสีย ก็จะช่วยเรื่องต้นทุนการตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญของแบงก์ดีขึ้น
“ปีนี้ถือว่าเป็นปีที่ดีเกินคาดสำหรับธุรกิจธนาคารพาณิชย์ แต่ละแห่งผลประกอบการน่าจะออกมาสวย แต่ปีหน้าจะเป็นปีที่ยาก ดังนั้น ทีทีบีจะไม่เน้นเรื่องเป้าการเติบโตสินเชื่อ แต่ควรจะเน้นทำงบดุล (balance sheet) ให้ดี ๆ เพราะปีหน้าเรื่องของความเสี่ยงจากภาระของโควิด-19 ลดลง
แต่เราจะเจอภาระต้นทุนการเงินดอกเบี้ยแทน ซึ่งในช่วงที่เศรษฐกิจไม่ง่าย เราต้องเน้นคุณภาพ และปล่อยสินเชื่อในกลุ่มลูกค้าที่เรารู้จัก โดยด่านแรกที่จะทำคือ ลูกหนี้ที่จ่ายดอกเบี้ยแพง ๆ มาทำเรื่องรวมหนี้ โดยเริ่มจากฐานลูกค้าที่มีบัญชีเงินเดือนผ่านธนาคาร ที่มีอยู่กว่า 1 ล้านราย” นายปิติกล่าว
ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ ออนไลน์