"ไทย" ลงนาม "OECD" ขยายเวลา "Country Programme" 3ปี ชี้ช่วยยกระดับเศรษฐกิจ
ไทยลงนามร่วม OECD ต่ออายุโครงการ Country Programme (CP)ระหว่างรัฐบาลไทยกับ OECD ไปจนถีงปี 2568 ต่อยอดความร่วมมืหลายด้าน ช่วยยกระดับเศรษฐกิจ ความสามารถแข่งขันประเทศ
เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2566 นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน พร้อมด้วยนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายดนุชา พิชยนันท์เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ นายธนา เวสโกสิทธิ์ เอกอัครราชทูตณ กรุงปารีส
พร้อมด้วยผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ฝ่ายไทย เข้าร่วมพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลไทยและ OECD ในการดำเนินโครงการ CP ระยะที่2 ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างกันที่ต่อยอดมาจากความสำเร็จของโครงการ CP ระยะที่1 ที่ได้ดำเนินการไปแล้วในช่วงปี 2561- 2564
นายสุพัฒนพงษ์ และนายมาเทียส คอร์มันน์ เลขาธิการ OECD ได้ร่วมลงนามในบันทึกความเข้าใจเกี่ยวกับการต่ออายุโครงการ Country Programme (CP)ระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ณ สำนักงานใหญ่ OECD กรุงปารีส สาธารณรัฐฝรั่งเศส
การดำเนินโครงการ CP ระยะที่ 2 เป็นความร่วมมือในระยะเวลา 3 ปี (พ.ศ. 2566- 2568) มีวัตถุประสงค์เพื่อผลักดันให้ไทยเข้าถึงองค์ความรู้และแนวปฏิบัติที่ดีของ OECD ได้อย่างต่อเนื่อง โดยเป็นความร่วมมือใน 4 สาขาหลัก ได้แก่
1)ธรรมาภิบาล
2)สภาพแวดล้อมทางธุรกิจและขีดความสามารถในการแข่งขัน
3) ความครอบคลุมทางสังคมและการพัฒนาทุนมนุษย์
และ 4)การฟื้นฟูสีเขียว ประกอบด้วย 20โครงการย่อย และมีหน่วยงานไทยที่เกี่ยวข้องรวม 19 หน่วยงาน
ซึ่งจะเป็นการส่งเสริมศักยภาพและการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขัน สนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ครอบคลุมและยั่งยืน ตลอดจนส่งเสริมหลักธรรมาภิบาลและความโปร่งใส และการปฏิรูปกฎระเบียบภายในประเทศให้ดียิ่งขึ้น อันจะทำให้ประเทศไทยเข้าใกล้การเป็นสมาชิก OECD ได้มากยิ่งขึ้น
ในโอกาสนี้ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และคณะฝ่ายไทย ได้ประชุมหารือร่วมกับเลขาธิการ OECD พร้อมด้วยผู้บริหารและคณะเอกอัครราชทูตประจำOECD เกี่ยวกับแนวทางความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยและ OECD ในช่วงต่อไป
ซึ่งสอดคล้องกับการขับเคลื่อนวาระการพัฒนาประเทศของไทยในหลายด้าน อาทิ การปฏิรูประบบราชการ การปรับปรุงกฎหมายและกฎระเบียบ การพัฒนานโยบายการแข่งขันทางการค้า การศึกษา วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรม พลังงาน และการยกระดับโครงสร้างพื้นฐาน โดยความร่วมมือดังกล่าวจะส่งผลให้ยุทธศาสตร์ชาติและแผนต่าง ๆ เกิดการขับเคลื่อนและนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายได้อย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืน
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ