บทความพิเศษ : ซินจ่าวจากโฮจิมินห์ซิตี้

เมื่อปลายเดือนมีนาคม ข้าพเจ้าวางแผนเดินทางไปเยือนนครโฮจิมินห์ เพื่อเยี่ยมเพื่อนเก่าเพื่อนใหม่ เยี่ยมชมสถานที่และความรุดหน้าของเศรษฐกิจธุรกิจหาซื้อหนังสือภาษาเวียดนามตีพิมพ์ใหม่ๆ รับประทานอาหารฝรั่งเศสและเวียดนาม ซื้อของฝากและกาแฟที่ชอบมาฝากเพื่อนร่วมงานที่กรุงเทพ เป็นต้น เรียกว่า ให้ครบทุกเป้าหมายเท่าที่เวลาอำนวย
 
การเดินทางครั้งนี้ห่างจากครั้งล่าสุดสัก 3-4 ปีสืบเนื่องจากปัญหาโควิด-19 ทั่วโลก ไทยและเวียดนามระงับการเปิดบินระหว่างกันเหมือนหลายๆ ประเทศ หรือมี แต่ก็อยู่ในวงจำกัด แต่บัดนี้มีตัวเลขนักทัศนาจรและนักธุรกิจจำนวนมากขึ้น แสดงถึงความมั่นใจในความมั่นใจในความปลอดภัยจากโรคภัยปีกลาย มีผู้เดินทางต่างชาติเข้าเวียดนามจำนวน3.6 ล้านคน ซึ่งเป็นนักท่องเที่ยวจากไทยจำนวน162,567 คน ส่วนในปีนี้มีนักท่องเที่ยวจากไทยแล้วกว่า97,000 คน ถือได้ว่าเริ่มต้นปีได้ดี ขณะปีกลายที่มีคนเวียดนามไปไทยมากถึง 400,000 คน ถือได้ว่ามากอยู่เมื่อเทียบกับคนไทยมาเวียดนาม
 

ผู้เขียนกับนายหวอ เติน ถ่าน รองประธานหอการค้าและอุตสาหกรรมแห่งเวียดนาม เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2566 ที่สำนักงาน VCCI นครโฮจิมินห์
 
ก่อนโควิด-19 นั้น เคยมีนักท่องเที่ยวต่างประเทศในเวียดนามจำนวน 18 ล้านคน รวมถึงคนจีน 5.5 ล้านคน สถิติปี ค.ศ. 2019 ซึ่งอาจไม่มากเท่ากับในไทยช่วงเดียวกัน (คือ 39.8 ล้านคน)แต่เขาถือว่ามาก เมื่อเร็วๆ นี้ มีข่าวสารเรื่องเวียดนามคาดหมายจะต้อนรับนักท่องเที่ยวจากจีนในจำนวนมากเหมือนสมัยก่อนโควิด-19 เรียกได้ว่า สมัยนั้นคนจีนมีทั่วเมืองใหญ่ๆ และในหลายๆ เมืองเหมือนในประเทศไทย เพราะจีนมีประชากรจำนวนมหาศาลกว่าหนึ่งพันล้านคน ดังนั้น จึงกระจายไปยังประเทศต่างๆ ทั้งทำงานและท่องเที่ยว ข้าพเจ้าเคยได้รับการสอบถามว่าเป็นนักท่องเที่ยวชาวจีนหรือไม่เขาสอบถามอย่างเป็นมิตร แต่คอมเมนท์ไว้แสดงถึงความไม่ประทับใจนักก็ตาม ซึ่งก็เป็นที่เข้าใจได้ถึงความอึดอัด
 
เวียดนามเหมือนประเทศไทยและนานาประเทศ คือมุ่งหวังนักท่องเที่ยวชาวจีน เพราะมีจำนวนมหาศาล จึงคาดหมายว่า จะให้ได้มากถึง 4.5 ล้านคน (จากทั้งสิ้น
8 ล้านคน) แต่มีค่าใช้จ่ายสูงเพราะเส้นทางและวิธีเดินทางณ ขณะนี้ การท่องเที่ยวเป็นอุตสาหกรรมสำคัญ ดังเช่นการส่งออก ส่วนเวียดนามมีความจุดเด่นน่าสนใจอยู่หลายประการสำหรับการค้าการลงทุน คือมิใช่เฉพาะสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติและวัฒนธรรม แต่ได้แก่ พื้นที่ทรัพยากรทางธรรมชาติ ประชากรในวัยทำงานจำนวนมากและมีอัตราว่าจ้างยังย่อมเยา สถิติจีดีพีสูง การค้าที่ได้เปรียบดุลกับมหาอำนาจ การมีเขตการค้าเสรีกับประเทศสำคัญๆ และความมีเสถียรภาพทางการเมือง เหล่านี้อาจทำให้เวียดนามดูมีเสน่ห์ดึงดูดความสนใจ ขณะที่ศักยภาพยังรอให้มีการพัฒนาอีกมากมาย แต่ความอุดมสมบูรณ์ ความมีเสถียรภาพ ไว้วางใจได้ เป็นความได้เปรียบที่ประเทศเพื่อนบ้านทั้งหลายพึงต้องระมัดระวัง
 
ข้าพเจ้าให้ความสำคัญไปเยี่ยมพบอดีตเพื่อนทำงานชาวเวียดนามสมัยเรายังเป็นนักการทูตด้วยกันในต่างประเทศ เพราะความเป็นมิตรมีไมตรี เพื่อน
เจ้าหน้าที่บริหารหอการค้าและอุตสาหกรรมแห่งเวียดนาม และเพื่อนผู้บริหารหน่วยงานของไทยด้านการทูต การพาณิชย์ การท่องเที่ยวที่นครโฮจิมินห์ เพื่อส่งเสริม
ความสัมพันธ์ความร่วมมือ ขณะที่ได้พบเพื่อนนักการทูตชาวเวียดนามยุคปัจจุบัน ซึ่งทุกท่านล้วนดูมีความสุขกับงานในภาระหน้าที่
 

ผู้เขียนกับนายเล เจือง ซุย ผู้ช่วยผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานการต่างประเทศนครโฮจิมินห์ เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2566 ณ ที่พัก
 
การเป็นนักการทูตที่ดี คือต้องช่างสังเกต เพราะหน้าที่ของอาชีพเรามิใช่สื่อมวลชน ซึ่งเขาก็จะรายงานสิ่งต่างๆ ให้เราท่านทราบเสมอ เราจะต้องไปช่างตรองจะเชื่อหรือไม่อย่างไร และให้ข้อสังเกตที่ดี หลังๆ มาคนไปเลือกใช้คำไปกันใหญ่ว่า เสพข่าว ซึ่งดูน่าสงสัยเหมือนกันว่าทำกันอย่างไร อ่าน-ชม-ฟังก็น่าจะเพียงพอกระมัง
 
ขณะที่อยู่ที่นั่น ข้าพเจ้าได้มีโอกาสไปเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์สำคัญๆ 2 แห่งคือ พิพิธภัณฑ์นครโฮจิมินห์ และพิพิธภัณฑ์อาคารรวมประเทศ ชื่อเดิมคือ พิพิธภัณฑ์หรือทำเนียบเอกราช ซึ่งทั้งสองแห่งน่าจะช่วยกล่อมเกลาความรักชาติในหมู่ประชาชนชาวเวียดนาม ข้าพเจ้าไปดูมาหลายครั้ง แต่เมื่อไปเยี่ยมชมนครแห่งนี้ ก็อยากจะไปดูว่า ผู้ไปเยี่ยมชมเป็นเช่นไร ที่นี่อาจดูแตกต่างจากพิพิธภัณฑ์โฮจิมินห์ที่กรุงฮานอย ซึ่งคนจะหนาแน่นกว่ามากๆ ความเป็นสังคมนิยมแตกต่างกัน ที่ฮานอยมีมากกว่ามาก ซึ่งไม่น่าแปลกใจ
 
โดยรวม สาระของการนำเสนอที่พิพิธภัณฑ์คือ การปลูกฝังความรักชาติ การต่อสู้ของบรรพบุรุษกับลัทธิอาณานิคม การรวมประเทศจากสองภาคเข้าด้วยกันเมื่อสิ้นเดือนเมษายน 2518 คือ เกือบ 50 ปีที่แล้ว
 
 
บัดนี้ ประเทศเวียดนามคัดกรองผู้นำรุ่นหนุ่มสาววัยอายุ 50 ปีต้นๆ ขึ้นทดแทนผู้นำวัยชรา พร้อมด้วยผู้บริหารหนุ่มสาวทีละเล็กละน้อย การเมืองมีความชัดเจนว่าจะมีเลือกตั้งระดับใดเมื่อใด อุดมการณ์อาจเน้นอำนาจนิยมโดยพรรคคอมมิวนิสต์แห่งเวียดนาม แต่ทุกคนไม่สงสัย ทำหน้าที่กันไป ไม่มีความขัดแย้งหรือรุนแรง
 
ที่นครโฮจิมินห์ ผู้คนดูจะมุ่งทำงาน ขวักไขว่ชุลมุน แต่บรรดาประชาชนในนครนี้ดูจะเคยชินและสามารถฟันฝ่าชีวิตประจำวันไปอย่างสงบสุข ชีวิตมีการปรับปรุงให้ทันสมัยขึ้นรอเวลาการเปิดเดินรถใต้ดินเชื่อมนครต่างๆ โดยการสนับสนุนของรัฐบาลญี่ปุ่น ซึ่งมีวิสัยทัศน์แหลมคม มองการณ์ไกล
 
ประเทศไทยก็มีการเล็งเห็นถึงอนาคตที่สดใสขึ้นในเวียดนาม เมื่อปีกลาย เรายกระดับสถานะสมาคมนักธุรกิจไทยในเวียดนามเป็นหอการค้าและอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยในเวียดนาม ตั้งมั่นที่นครโฮจิมินห์ รองรับบรรดานักธุรกิจใหม่ๆ ไปลงทุนเพื่อให้รวมตัวกันอย่างเหนียวแน่นยิ่งๆ ขึ้นไป
 
ข้าพเจ้าใช้โอกาสในวันสุดท้ายก่อนเดินทางกลับไปเยี่ยมชมการเปิดทำการประจำวันของห้องสมุดประชาชนแห่งนครโฮจิมินห์ สังเกตการจัดวางหนังสือเกี่ยวกับประธานผู้ล่วงลับ การเข้าอ่านหนังสือค้นคว้าและทำงานอย่างเอาจริงเอาจังของบรรดานักเรียนนักศึกษาพื้นเมือง ข้าพเจ้าสังเกตเห็นถึงความเงียบสงัด แทบจะมิได้ยินเสียงพูดคุย การงดใช้โทรศัพท์มือถือ ความมุมานะของผู้เข้าใช้และผู้ให้บริการในหอสมุดที่มีการตกแต่งด้วยเครื่องปรับอากาศ แต่เขาไม่เปิดใช้กัน จากการสอบถามพบว่า เครื่องปรับอากาศนั้นทำงาน แต่เขาไม่เปิดเพราะอากาศยังพอรับได้ ต้องการประหยัดไฟฟ้าโดยเผินๆ อาจดูว่าอบอ้าวสักนิด แต่เมื่ออยู่ไปสักพัก ลดความคาดหมายลง ห้องกว้างๆ ที่เปิดหน้าต่างเปิดพัดลม ก็พอจะอยู่ได้ นี่แสดงถึงความมุมานะของคนเวียดนามรุ่นปัจจุบัน ดังเช่นในอดีตและในอนาคตที่จะฟันฝ่าสิ่งท้าทายไปสู่เป้าหมายที่ประสงค์ยาวไกลออกไป
 
อีกสองปีข้างหน้า เวียดนามจะครบรอบปีที่ 50 ของการเปลี่ยนแปลงเข้าสู่ระบอบปัจจุบันในสองภาคของประเทศ ผู้คนมากกว่าร้อยละ 60 ของ 100 ล้านคน ไม่เคยเห็นสงครามกู้ชาติ แต่เขาทั้งหลายเรียนรู้จากอดีต พยายามพัฒนาประเทศไปสู่ความเป็นสังคมนิยม ขณะที่ไทยรอดพ้นจากอาณานิคมตะวันตกและให้มีการถอนฐานทัพสหรัฐฯ การส่งเสริมประชาธิปไตย สุขสบาย เตรียมการเลือกตั้งทั่วไปในวันใหม่นี้ไปสู่การจัดตั้งรัฐบาลใหม่ในทิศทางที่เขาเลือกเอง เราน่าจะมาติดตามดูว่าในอีกสองปีประเทศทั้งสองจะไดใช้เวลาที่ผ่านไปพัฒนาประเทศเช่นไรเป็นบทเรียน
 

ผู้เขียนที่พิพิธภัณฑ์ พระราชวังเอกราช นครโฮจิมินห์ถ่ายภาพไปสู่ภายนอก เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2566
 

@Admin TVBC

สนใจสมัครสมาชิกหรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

ฝ่ายเลขานุการฯ
โทร: 02-018-6888 ต่อ 4340
Email: tvbc.secretariat@gmail.com

:)