เปิด 8 อุตสาหกรรมเด่น โอกาสทองบุกตลาดเวียดนาม
เช็คลิสต์ 8 อุตสาหกรรมเด่น มีโอกาสเติบโตสูงในตลาดเวียดนาม หลังเศรษฐกิจเติบโตเร็ว นโยบายสนับสนุนการลงทุนจากต่างประเทศ พร้อมวิเคราะห์จุดอ่อน จุดแข็ง และศักยภาพแบบเจาะลึก
นางสาวธนียา ฟูเจริญ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ กรุงฮานอย เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า การลงทุนในเวียดนามมีความน่าสนใจในหลายอุตสาหกรรม เนื่องจากเศรษฐกิจที่เติบโตอย่างรวดเร็ว นโยบายสนับสนุนการลงทุนจากต่างประเทศ และโครงสร้างพื้นฐานที่พัฒนาอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ประเมินว่า เศรษฐกิจเวียดนามมีแนวโน้มเติบโตเป็นบวกในช่วงครึ่งหลังของปี 2567 จะเติบโตระหว่าง 6.0-6.5% จากการฟื้นตัวของภาคการผลิตในประเทศและการส่งออก นับเป็นการขยายตัวอย่างต่อเนื่องจากในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2567 GDP ของเวียดนามเพิ่มขึ้น 6.42%
นางสาวธนียา ยอมรับว่า ปัจจัยสำคัญที่ช่วยส่งเสริมการดึงดูดการลงทุนในประเทศเวียดนาม แบ่งออกเป็น 4 ข้อ ได้แก่
1. เศรษฐกิจที่เติบโตเร็ว เวียดนามมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่สูงและต่อเนื่อง อีกทั้งมีปัจจัยทางการเมืองที่มั่นคง ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ดึงดูดนักลงทุนต่างชาติ
2. ข้อตกลงการค้าเสรี เวียดนามเป็นสมาชิกในข้อตกลงการค้าเสรีถึง 16 ฉบับ ครอบคลุม ประมาณ 55 ประเทศ และมีข้อตกลงที่สำคัญ เช่น CPTPP และ EVFTA ทำให้การค้าระหว่างประเทศสะดวกขึ้น ทำให้อุตสาหกรรมที่ต้องการใช้เวียดนามเป็นฐานเพื่อการส่งออกมีข้อได้เปรียบในการเข้ามาใช้เวียดนามเป็นฐานผลิตเพื่อการส่งออก
3. แรงงานมีฝีมือ ซึ่งแรงงานในเวียดนามมีฝีมือสูงและประชากร 70% อยู่ในวัยทำงาน ทำให้เป็นที่ต้องการสำหรับโครงการที่ต้องการใช้แรงงานฝีมือ เช่น การผลิตและการบริการ
4. นโยบายสนับสนุนจากรัฐบาล รัฐบาลเวียดนามมีนโยบายและมาตรการเพื่อส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศอย่างชัดเจน
นอกจากนี้ยังโครงสร้างพื้นฐานในการรองรับนักลงทุนต่างชาติ อาทิ ท่าเรือและการขนส่ง ซึ่งมีท่าเรือหลายแห่งที่สามารถรองรับการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศได้ รวมถึงระบบการขนส่งทางบกและทางอากาศที่กำลังพัฒนาอย่างต่อเนื่อง
เช่นเดียวกับการมีนิคมอุตสาหกรรม รองรับการลงทุนมากกว่า 400 แห่งทั่วประเทศ เทคโนโลยีและการสื่อสารระบบ การสื่อสารและอินเทอร์เน็ตมีความทันสมัยและครอบคลุมพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศ
รวมทั้งโครงสร้างทางการเงินมีระบบการแข็งแกร่งและสามารถรองรับการทำธุรกรรมระหว่างประเทศได้ กฎหมายและมาตรการสนับสนุน มีมาตรการที่ชัดเจนเพื่อสนับสนุนและคุ้มครองการลงทุนจากต่างประเทศ
สำหรับอุตสาหกรรมที่น่าเข้าไปลงทุนในเวียดนาม ในช่วงที่เศรษฐกิจเวียดนามมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง เบื้องต้นมีด้วยกัน 8 อุตสาหกรรม ดังนี้
1.อุตสาหกรรมการผลิต
สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ เวียดนามเป็นฐานการผลิตสำคัญสำหรับสินค้าที่ใช้เทคโนโลยี เช่น สมาร์ทโฟน คอมพิวเตอร์ และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อื่นๆ
ชิ้นส่วนยานยนต์ เนื่องจากมีการเจริญเติบโต ตัวด้านการผลิตรถยนต์ในประเทศเวียดนามอย่างต่อเนื่อง ความต้องการด้าน Supply Chain ในอุตสาหกรรมนี้มีสูงขึ้น เป็นโอกาสที่ดีของผู้ผลิตไทยซึ่งมีมาตรฐานและคุณภาพที่เป็นที่ยอมรับของคนเวียดนาม
2.อุตสาหกรรมการเกษตรและอาหาร
การเพาะปลูกและการแปรรูปอาหาร และการประมงและการแปรรูปอาหารทะเล เวียดนามเป็นประเทศที่มีศักยภาพสูงด้านเกษตรกรรม เนื่องจากมีภูมิอากาศที่เอื้ออำนวยต่อการเพาะปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์หลายประเภท
อย่างไรก็ตาม การส่งออกสินค้าเกษตรคิดเป็น 90% เป็นการส่งออกวัตถุดิบหรือมีอัตราการแปรรูปน้อยมาก ทำให้มูลค่าเพิ่มมีไม่มากนัก พร้อมกับการเก็บรักษาผลผลิตทางการเกษตรของเวียดนามยังไม่ดีและใช้เทคโนโลยีในการแปรรูปที่ไม่ทันสมัย
จึงนับเป็นโอกาสของนักลงทุนไทยที่จะเข้าไปลงทุนในอุตสาหกรรมแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรในเวียดนาม เนื่องจากนักลงทุนไทยมีความสามารถด้านการแปรรูปสินค้าเกษตรเป็นอย่างดี และมีเทคโนโลยีการผลิตชั้นสูง
3.อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและการบริการ
ธุรกิจท่องเที่ยวและบริการที่เกี่ยวเนื่อง ถือเป็นธุรกิจที่ถูกจับตามองจากนักลงทุนต่างชาติ เนื่องจากปัจจุบันเวียดนามก้าวขึ้นเป็นจุดหมายปลายทางท่องเที่ยวยอดนิยมแห่งหนึ่งในภูมิภาคเอเชีย ประกอบกับในช่วงหลายปีที่ผ่านมาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของเวียดนามขยายตัวอย่างมาก ซึ่งคาดว่าอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของเวียดนามมีแนวโน้มขยายตัวมากขึ้นในอนาคต
จึงนับเป็นโอกาสของนักลงทุนไทยที่มีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในธุรกิจโรงแรมและรีสอร์ทหรือร้านอาหารที่จะขยายธุรกิจดังกล่าวในเวียดนาม เพื่อรองรับความต้องการของนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น
4.อุตสาหกรรมเทคโนโลยีและสารสนเทศ
ปัจจุบันการพัฒนาซอฟต์แวร์และแอพพลิเคชัน การพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศกำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว รวมไปถึงศูนย์ข้อมูลและบริการคลาวด์ ตามความต้องการในด้านนี้เพิ่มขึ้นเนื่องจากการเติบโตของธุรกิจออนไลน์
5.อุตสาหกรรมพลังงาน
พลังงานหมุนเวียน การลงทุนในพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลมมีโอกาสสูง เนื่องจากการสนับสนุนจากรัฐบาลและความต้องการพลังงานที่เพิ่มขึ้น เช่นเดียวกับการผลิตและการจัดจำหน่ายพลังงาน มีโอกาสในการลงทุนในโรงไฟฟ้าและระบบการจัดจำหน่ายพลังงาน
6.อุตสาหกรรมโครงสร้างพื้นฐาน
การก่อสร้างและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เช่น การสร้างถนน สะพาน และระบบขนส่งมวลชน
การพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ การสร้างและพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยและพาณิชย์
7.อุตสาหกรรมการเงินและธนาคาร
การให้บริการทางการเงินและการธนาคาร การลงทุนในบริการการเงินและการธนาคาร รวมถึงการจัดตั้งสาขาของธนาคารต่างประเทศ
8.อุตสาหกรรมการศึกษาและการฝึกอบรม
การศึกษานานาชาติ การลงทุนในโรงเรียนและมหาวิทยาลัยนานาชาติ รวมทั้งการฝึกอบรมและการพัฒนาทักษะ การลงทุนในศูนย์ฝึกอบรมและการพัฒนาทักษะด้านต่างๆ
ด้านสิทธิประโยชน์การลงทุนของเวียดนามเพื่อดึงดูดนักลงทุน ได้แก่
1. การยกเว้นและลดหย่อนภาษี นักลงทุนสามารถได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลในช่วงระยะเวลาหนึ่ง (ปกติ 2-4 ปี) และหลังจากนั้นจะได้รับการลดหย่อนภาษี 50% เป็นระยะเวลา (4-9) ปีภาษีในอัตราพิเศษ (5-10%) สูงถึง 15 ปี การยกเว้น หรือ การลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคล สำหรับการลงทุนในเขตที่รัฐบาลกำหนด (เช่น เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ) หรือในอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญ
2. การยกเว้นและลดหย่อนภาษีการนำเข้า สำหรับเครื่องจักร อุปกรณ์ และวัสดุที่นำเข้ามาเพื่อใช้ในกระบวนการผลิต โดยเฉพาะในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ การลดหย่อนภาษีการนำเข้า สำหรับวัตถุดิบและส่วนประกอบที่ใช้ในกระบวนการผลิต
3. การสนับสนุนด้านที่ดิน โดยยกเว้นค่าเช่าที่ดิน นักลงทุนสามารถได้รับการยกเว้นค่าเช่าที่ดินในช่วงระยะเวลาหนึ่งสำหรับการลงทุนในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ การลดหย่อนค่าเช่าที่ดิน สำหรับการลงทุนในอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญหรือในเขตที่รัฐบาลกำหนด
4. การสนับสนุนด้านการเงิน การให้เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ รัฐบาลมีโครงการสนับสนุนเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำสำหรับการลงทุนในอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญ รวมถึงการสนับสนุนด้านการฝึกอบรมแรงงาน นักลงทุนสามารถได้รับการสนับสนุนในการฝึกอบรมแรงงานเพื่อเพิ่มทักษะและความสามารถในการทำงาน
5. การสนับสนุนด้านการวิจัยและพัฒนา โดยลดหย่อนภาษีสำหรับการวิจัยและพัฒนา นักลงทุนที่ลงทุนในการวิจัยและพัฒนาจะได้รับ การลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคล เวียดนามมีการกำหนดเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษที่มีการให้สิทธิประโยชน์พิเศษเพิ่มเติม เช่น การยกเว้นและลดหย่อนภาษีที่มากขึ้น
นักลงทุนในเขตนี้จะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีการนำเข้าที่สูงกว่าเขตทั่วไป การสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐาน รัฐบาลมีการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ถนน ไฟฟ้า น้ำ และ การสื่อสารในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ
จุดอ่อน
1.โครงสร้างพื้นฐานยังไม่พัฒนาเทียบเท่าไทย แม้ว่าเวียดนามจะมีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอย่างรวดเร็ว แต่ยังคงต้องปรับปรุงในด้านการขนส่งและโลจิสติกส์
2. ประสบการณ์และทักษะของแรงงาน แรงงานในเวียดนามมีทักษะและประสบการณ์น้อยกว่าแรงงานในไทยในหลายอุตสาหกรรม โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมบริการ
3. ระบบการเงินและการธนาคาร ซึ่งในเวียดนามยังคงต้องการการพัฒนาเพื่อรองรับการลงทุนและการทำธุรกรรมระหว่างประเทศ หนี้เสียและความโปร่งใสของข้อมูลในรายงานของธนาคารยังคงเป็นสองประเด็นที่ต้องแก้ไขเพื่อให้ธนาคารเวียดนามมีความน่าดึงดูดสำหรับนักลงทุนต่างชาติ
นอกจากนี้ จำเป็นต้องดำเนินแนวทางแก้ไขเพื่อสร้างความมั่นคง ความปลอดภัย และมีประสิทธิภาพกับตลาดตราสารหนี้และตลาดหลักทรัพย์ รวมทั้งลดขั้นตอนและกระบวนการปล่อยสินเชื่อให้ง่ายขึ้น เพื่อสร้างเงื่อนไขที่เอื้ออำนวยให้ธุรกิจและประชาชนเข้าถึงเงินทุนของธนาคารมากขึ้น
จุดแข็ง
1.การเมืองในเวียดนามมีเสถียรภาพ เนื่องจากมีพรรคคอมมิวนิสต์พรรคเดียวที่บริหารประเทศ แม้ว่าจะมีการเปลี่ยนผู้นำรัฐบาลหรือผู้บริหารกระทรวงต่างๆ จะไม่กระทบต่อนโยบายทางเศรษฐกิจการค้าของเวียดนาม นโยบายที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเศรษฐกิจสังคมรวมถึงนโยบายการค้าจะขึ้นอยู่กับการเห็นชอบของรัฐสภาเวียดนาม
2. เศรษฐกิจมีการขยายตัวสูงและต่อเนื่อง ทำให้นักลงทุนมีความมั่นใจในศักยภาพการขยายตัวในอนาคต
3. นโยบายสนับสนุนการลงทุนจากรัฐบาล รัฐบาลเวียดนามมีนโยบายส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศที่ชัดเจนและดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติมากขึ้น
4. จำนวนประชากรที่อยู่ในวัยแรงงานมีมาก (52.4 ล้านคน) รวมทั้งค่าแรงยังอยู่ในระดับต่ำ (ค่าแรงขั้นต่ำในเขตเมืองปัจจุบันอยู่ที่ 4,680,000 ด่อง/เดือน เท่ากับ 187 ดอลลาร์สหรัฐฯ)
5. ปัจจุบัน เวียดนามได้ลงนามข้อตกลงทางการค้าเสรี (FTA) 16 ฉบับ โดย FTA ที่สำคัญและเอื้ออำนวยต่อการส่งเสริมการค้าของเวียดนาม เช่น EVFTA, UKVFTA, CPTPP และ RCEP การใช้ประโยชน์จากข้อตกลงการค้าเสรีมีส่วนช่วยในการพัฒนาการส่งออกอย่างรวดเร็วและยั่งยืน โดยค่อยๆ ลดการพึ่งพาตลาดใดตลาดหนึ่ง
ศักยภาพ
ด้านการผลิตและการส่งออก เวียดนามมีศักยภาพในการเป็นศูนย์กลางการผลิตและการส่งออกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เนื่องจากต้นทุนการผลิตต่ำและนโยบายสนับสนุนจากรัฐบาล
ขณะที่ตลาดภายในประเทศที่กำลังเติบโต ส่วนตลาดภายในประเทศของเวียดนามกำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว และมีกำลังซื้อที่สูงขึ้น ทำให้มีโอกาสในการขยายตัวและเพิ่มยอดขายในหลายอุตสาหกรรม เวียดนามมีจุดแข็งในด้านต้นทุนแรงงานต่ำ การเติบโตทางเศรษฐกิจสูง และนโยบายสนับสนุนการลงทุนที่ชัดเจน
แต่ยังมีจุดอ่อนในด้านโครงสร้างพื้นฐานและทักษะแรงงานเมื่อเทียบกับไทย อย่างไรก็ตาม เวียดนามมีศักยภาพในการเติบโตในหลายอุตสาหกรรมและสามารถเป็นตลาดสำคัญสำหรับธุรกิจไทยที่จะขยายศักยภาพด้านการตลาดและการลงทุน
ที่มา: ฐานเศรษฐกิจ