บทความพิเศษ : บทเรียนของไทย จากการเผชิญกับสถานการณ์โควิด–19 ในสายตานักการทูต (ตอนที่ 2)

เมื่อตอนที่แล้ว ผู้เขียนได้กล่าวถึงพัฒนาการของโรคระบาดระดับโลกจากการติดเชื้อจากไวรัสโคโรนา สายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือ โควิด-19ในประเทศต่างๆ และบทเรียนของไทยที่ได้รับจากการเผชิญกับโควิด-19 ในภาพกว้าง วันนี้เป็นตอนที่สองและตอนจบ
 
ล่าสุด ในช่วงสัปดาห์สุดท้ายของเดือนเมษายนนี้ มีกระแสข่าวว่า จากกรณีที่ตรวจพบชาวต่างชาติ 42 คน ที่ศูนย์กักกันคนเข้าเมือง อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา ติดเชื้อโควิด-19 ในเรื่องนี้นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข มีความเห็นว่า มีการระบาดของโรคนี้ในหลายประเทศรวมถึงประเทศเพื่อนบ้าน ดังนั้น เพื่อลดความสูญเสียและลดปัญหาในการควบคุมโรค ตนจะเสนอให้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชานายกรัฐมนตรีและผู้อำนวยการ ศบค.ให้มีคำสั่งระงับการเดินทางเข้ามาของชาวต่างชาติ สำหรับภายในประเทศ สามารถควบคุมโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพแล้ว หากมีหลุดเข้ามาจากต่างชาติ การควบคุมโรคจะประสบปัญหา
 
ในแง่มุมนี้ ผู้เขียนพิจารณาเห็นว่า บัดนี้ รัฐมนตรีอนุทิน ดูเหมือนได้เรียนรู้มากขึ้นกว่าเมื่อสองเดือนก่อนเมื่อครั้งที่มิได้เสนอให้มีการระงับบุคคลสัญชาติจีนเดินทางเข้าราชอาณาจักร ขณะที่ประเทศจำนวนมากประกาศห้ามคนจีนเข้าประเทศและเข้มงวดเรื่องคนต่างด้าวเดินทางเข้าประเทศของตน และในท้ายที่สุดเมื่อวันที่ 28 เมษายน นี้ คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้ต่ออายุพระราชกำหนดฉุกเฉินอีก 1 เดือน คือตั้งแต่ 1 พฤษภาคม เป็นต้นไป รวมถึงมาตรการจำกัดการเข้า-ออกในราชอาณาจักรทางบก น้ำ และอากาศ ตลอดจนเครื่องบินโดยสารต่างๆ ระหว่างประเทศด้วย ก็ให้ขยายไปจนถึงวันที่31 พฤษภาคม นี้ เช่นกัน
 
เกี่ยวกับเรื่องนี้ ผู้เขียนขอเสนอแนะแนวคิดและแนวทางในการเพิ่มประสิทธิภาพในการควบคุมการเดินทางเข้า-ออกราชอาณาจักรของคนต่างชาติ เมื่อมีการอนุญาตให้เข้า-ออกไทยได้หลังวันที่31 พฤษภาคม 2563 ดังนี้
 
1). เห็นควรเข้มงวดและระงับการเดินทางเข้า-ออกของคนต่างชาติขยายออกไปหลังวันที่ 31 พฤษภาคม นี้ หากสถานการณ์ระบาดของโรคโควิด-19 ทั่วโลกและในประเทศเพื่อนบ้านยังไม่น่าไว้วางใจหรือเสื่อมทรามลง
 
2). ในช่วงยังมีปัญหาโควิด-19 แม้มีการอนุญาตให้เข้าประเทศแล้ว เห็นควรให้เพิ่มหลักฐาน ก) เอกสารรับรองทางการแพทย์ว่าไม่เป็นผู้ป่วยจากโรคโควิด-19 และ ข) เอกสารประกันสุขภาพ ครอบคลุมโรคโควิด-19 และคุ้มครองในวงเงินหนึ่งแสนเหรียญอเมริกัน แก่ผู้ขอเข้าเมืองชาวต่างชาติในการยื่นคำร้อง นอกเหนือจากเอกสารประกอบพื้นฐานอื่นๆ ในการขอรับการตรวจลงตราหรือวีซ่าประเภทท่องเที่ยว และคนอยู่ชั่วคราว (non-immigrant) ที่สถานเอกอัครราชทูตและสถานกงสุลใหญ่ของไทย จำนวน 99 แห่งทั่วโลก การนี้จะช่วยคัดกรองผู้เดินทางที่ติดเชื้อมิให้เดินทางเข้าประเทศได้
 
3). เห็นควรให้ยกเลิก “การยกเว้นการตรวจลงตราเพื่อการท่องเที่ยวและพำนักในไทยได้ไม่เกิน 30 วัน” หรือที่เรียกกันสั้นๆ ว่า “ผ.30” (TR-30) ซึ่งไทยได้ให้สิทธินี้แก่บุคคลจากสัญชาติสหรัฐฯ แคนาดา ยุโรป ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ญี่ปุ่น ประเทศตะวันตก และตะวันออกกลาง รวม 44 ประเทศ ซึ่งมีผู้เข้าเมืองจำนวนหนึ่งที่ใช้สิทธินี้ในทางที่ผิด คือ มิได้มาท่องเที่ยว แต่ลักลอบทำงานอยู่เกินกำหนด อีกทั้งก็มิได้ให้สิทธินี้แก่คนไทย ดังนั้น จึงต้องแก้ไขความลักลั่นหรือไม่เสมอภาคนี้ หากเห็นชอบด้วยดำริก็เหมาะสมที่กรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ จะเสนอขอยกเลิกการให้ “การยกเว้นวีซ่า” หรือ “ผ.30” ต่อรัฐบาลให้ความเห็นชอบ เพื่อให้มีมาตรฐานเดียวกันกับทุกๆ ประเทศ คือ ต้องขอวีซ่าเพื่อเข้าเมือง ซึ่งจะทำให้สถานเอกอัครราชทูตสถานกงสุลใหญ่ดำเนินการตามข้อ 2 ได้
 
อนึ่ง หากกระทรวงการต่างประเทศเสนอเรื่องนี้ผ่านศบค. เพื่อให้ความเห็นสนับสนุนไปยังคณะรัฐมนตรี พิจารณาให้ความเห็นชอบเนื่องจากเป็นเรื่องเกี่ยวเนื่องกับการควบคุมการเข้าเมืองของคนต่างชาติซึ่งเร่งด่วน สำคัญและจำเป็นในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ขณะนี้ ก็น่าจะเป็นแนวทางที่ควรให้การสนับสนุนด้วยดี
 
4). เห็นควรให้ยกเลิก “การตรวจลงตราที่ช่องทางอนุญาตของด่านตรวจคนเข้าเมือง” (Visa on Arrival : VoA) หรือ (TR 15)ซึ่งไทยได้ให้สิทธินี้แก่บุคคลจากสัญชาติประเทศต่างๆ จำนวน 19 ประเทศเดินทางเข้าประเทศเพื่อการท่องเที่ยวเป็นเวลาไม่เกิน 15 วัน อาทิ จีน อินเดีย ไต้หวัน ยูเครน เป็นต้น เนื่องจากการพิจารณาให้วีซ่าโดยเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมือง ทำแทนกระทรวงการต่างประเทศ ที่ช่องทางอนุญาต อาจมีปัจจัยความเร่งรีบของเวลา การกดดันจากคนจำนวนมาก เช่น จากไฟลท์บินเข้าคิวยาว ทำให้การพิจารณาหลักฐานหนังสือเดินทาง และเอกสารประกอบต่างๆ ขาดความรัดกุมและรอบคอบได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องคัดกรองบุคคลที่ต้องยื่นหลักฐานเกี่ยวกับใบรับรองแพทย์ว่าปลอดโรคโควิด-19 และการประกันสุขภาพครอบคลุมโควิด-19 อนึ่ง ในปัจจุบัน ไทยมีสถานเอกอัครราชทูตและสถานกงสุลใหญ่จำนวนมากถึง 10 แห่ง ในจีน (มากกว่าในประเทศอื่น) และ 4 แห่งในอินเดีย ซึ่งก็สามารถให้บริการวีซ่าได้อย่างทั่วถึงอยู่แล้ว
 
ขอเรียนเป็นข้อสังเกตว่า การสั่งการให้ระงับการเข้าเมืองของคนต่างชาติจาก 22 ประเทศ อย่างรีบเร่งฉุกละหุกเมื่อวันที่ 12 มีนาคม นี้ (มีผลตั้งแต่วันที่ 13 มีนาคม-30 กันยายน 2563) มีความขลุกขลักในการปฏิบัติและสร้างความไม่สะดวกโกลาหลขึ้น เพราะเป็นการประกาศให้ยกเลิกการบังคับใช้ VoA, ยกเลิก ผ.30 สำหรับบางประเทศ และห้ามบุคคลบางสัญชาติเข้าเมือง แม้ว่าเขาเดินทางจากประเทศที่มีความตกลงยกเว้นวีซ่ากับไทย รวมทั้งสิ้น 22 ประเทศ อย่างกะทันหัน
 
5). กรณียกเว้นวีซ่า วิธีอื่น หากมีการอนุญาตให้คนต่างชาติเข้าประเทศได้แล้ว เห็นควรให้ใช้กับ ก) คนชาติเดินทางจากประเทศที่มีความตกลงยกเว้นวีซ่าหนังสือเดินทางธรรมดากับประเทศไทย หรือในกรอบอาเซียน 10 ประเทศ (การจะให้ยื่นหลักฐาน ก.ใบรับรองแพทย์ว่าปลอดโรคโควิด-19 และ ข.ประกันสุขภาพ ครอบคลุมโรคโควิด-19 เพิ่มเติมก็น่าจะเป็นเอกสารประกอบที่บรรดาประเทศผู้รับอาจเรียกดู ฝ่ายไทยเองก็น่าจะพิจารณาทำตาม) และ ข) ผู้ถือหนังสือเดินทางทูตและราชการ ผู้ที่มีถิ่นพำนักในประเทศไทย เช่น คณะทูต หรือมาจากประเทศที่มีความตกลงยกเว้นวีซ่าหนังสือเดินทางทูตและราชการกับไทย ตามเดิมต่อไป
 
6). เห็นควรปรับปรุงอัตราค่าธรรมเนียมวีซ่าให้สูงขึ้น ขอยกตัวอย่างกรณีวีซ่าประเภทนักท่องเที่ยว ใช้อัตรา 1,000 บาท/คน/ครั้งมาเป็นเวลา 17 ปี ค่าครองชีพทุกวันนี้ต่างจากอดีตหลายเท่าตัว ขณะที่ต่างประเทศก็พาเหรดขึ้นอัตราค่าธรรมเนียมวีซ่าและการกงสุลชนิดต่างๆ มานาน แต่คนไทยก็พร้อมชำระค่าธรรมเนียมสูงขึ้น เมื่อจะไปต่างประเทศเหมือนกับที่คนต่างชาติน่าจะพร้อมที่จะชำระหากมาไทย เกี่ยวกับเรื่องนี้ กรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งมีวิสัยทัศน์สูง น่าจะเสนอเรื่องขอปรับปรุงอัตราค่าธรรมเนียมวีซ่าประเภทต่างๆ ให้สูงขึ้นมีมาตรฐานสากล ซึ่งการปรับขึ้นในเบื้องต้นเพียงหนึ่งเท่าตัวก็จะเพิ่มรายได้แผ่นดินหนึ่งเท่าตัวทันที อันจะเป็นประโยชน์ต่อราชการต่อไป
 
เป็นความโชคดีที่รัฐบาลโดยการทำงานที่มีประสิทธิภาพของศบค. หน่วยงานทางการแพทย์พยาบาล หน่วยงานเกี่ยวข้องทั้งหมด และโดยความร่วมมือของประชาชน ในการปฏิบัติตามมติและคำสั่งของศบค. สามารถต้านการแพร่ระบาดของโควิด-19 ไว้ได้อย่างเป็นผล ดังนั้น จึงต้องดำเนินมาตรการเข้มงวดระงับการเดินทางเข้าประเทศของคนต่างชาติต่อไป และหากได้รับอนุญาตก็ต้องถูกกักตัว 14 วัน ซึ่งประเทศส่วนใหญ่ก็ทำเช่นนี้ขณะนี้
 
บัดนี้ไทยก้าวเข้าสู่เดือนใหม่ พร้อมสถานการณ์โควิด-19 ที่ติดตามมาและยังไม่ทราบว่าจะอีกนานเท่าไร ไทยมิใช่ประเทศเดียวที่เผชิญ ทุกประเทศล้วนดำเนินมาตรการที่คล้ายคลึงกัน คือ “ล็อกดาวน์ภายในประเทศเพื่อควบคุมการระบาด” และ “ระงับการเดินทางเข้าประเทศของคนต่างชาติ” ทุกประเทศกระทำเช่นนี้ต่อกันและกัน
 
โฉมหน้าใหม่ของโลกยุคโควิด-19 คือ New Normal เป็นรูปแบบวิถีชีวิตใหม่ มนุษย์ต้องปรับตัวอย่างมาก ต่างคนต่างอยู่ลัทธิปกป้องคุ้มครองตนเอง เพราะโรคระบาดจากเชื้อโรคภายนอกจะเป็นอันตรายต่อเศรษฐกิจ สังคม ประชากรและการเมืองภายในชาติ ทุกด้านกระทบต่อกันและกัน กรณีนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ภาวะผู้นำที่แสดงออกมาทุกวันและความสามารถของระบบสาธารณสุขสหรัฐฯ ในการตอบโต้กับโควิด-19 จะมีผลต่อการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในเดือนพฤศจิกายน นี้ คืออีก 6 เดือนจากนี้มิใช่คะแนนนิยมของผู้สมัครรับเลือกตั้งประธานาธิบดีจากพรรคเดโมแครต การเมืองไทยก็เช่นกัน หากผู้บริหารรัฐบาลชุดปัจจุบันนำพาประเทศฟันฝ่าโควิด-19 ได้ ชัยชนะจากการเลือกตั้งภายหลังการยุบสภาก่อนครบเทอมย่อมมีความเป็นไปได้สูงมาก ดังนั้น จึงเป็นการทดสอบฝีมือรัฐบาลด้วย
 
ขอสรุปเรื่องบทเรียนของไทยจากการเผชิญกับสถานการณ์โควิด-19 ในฐานะนักการทูต ไว้ตรงนี้ว่า เราจะต้องให้ความสำคัญที่สุดต่อสุขภาพความปลอดภัยในชีวิตของประชาชนคนไทยและผู้พำนักอาศัยในไทย เราจะต้องปรับวิถีความคิดที่ว่า เรามีการส่งออกและการท่องเที่ยวจากต่างชาติเป็นส่วนสำคัญมากถึง ร้อยละ 58 และ 12 ตามลำดับของจีดีพีประเทศ เราจะต้องคิดถึงตนเองมากขึ้นฟื้นฟูเศรษฐกิจ สรรหานวัตกรรมใหม่ๆ การพึ่งพาตนเอง อยู่อย่างพอเพียง แก้ปัญหาค่าเงินบาทแข็งตัวเกินไป ปรับปรุงการต้อนรับจุดขายสิ่งดึงดูดแก่นักท่องเที่ยวคุณภาพ เพื่อให้มีธุรกิจการท่องเที่ยวที่มีคุณภาพ มาตรฐาน และยั่งยืน และไม่ควรไปทุ่มกายทุ่มใจไว้ที่จีนตลาดเดียว โดยมุ่งเพิ่มยอดตัวเลขนักท่องเที่ยวจนกระทั่ง “ปริมาณทำลายคุณภาพ”
 
ดังนั้น ด้วยทุกเหตุผลเหล่านี้ ก็ใคร่ขอเสนอให้รัฐบาลพิจารณาข้อเสนอแนะแนวทางในการเพิ่มประสิทธิภาพในการควบคุมการเดินทางเข้าประเทศของคนต่างชาติเมื่อมีการอนุญาตให้เข้า-ออกได้แล้วด้วย
 
คมกริช วรคามิน
อดีตเอกอัครราชทูต ณ กรุงบูคาเรสต์โรมาเนีย
และมีเขตอาณาครอบคลุมสาธารณรัฐบัลแกเรีย
 
 
ที่มา : แนวหน้า
วันที่ 10 พฤษภาคม 2563
 

@Admin TVBC

สนใจสมัครสมาชิกหรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

ฝ่ายเลขานุการฯ
โทร: 02-018-6888 ต่อ 4340
Email: tvbc.secretariat@gmail.com

:)