สยบโควิดอยู่หมัด ถอดบทเรียนเวียดนาม

“Vietnam economy gradually reboots in May” เป็นพาดหัวข่าวจากสำนักข่าว VnExpress International ของเวียดนาม เมื่อวันที่ 4 มิ.ย. 2563ระบุว่า “เศรษฐกิจเวียดนามกำลังค่อยๆ ฟื้นตัว” จากเดือน เม.ย. 2563 รัฐบาลเวียดนามใช้มาตรการล็อกดาวน์ ปิดกิจการต่างๆ ให้เหลือเท่าที่จำเป็นเพื่อสกัดการรวมกลุ่มคนอันเป็นช่องทางการระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้เศรษฐกิจหยุดชะงัก แต่ต่อมาในเดือนพ.ค. ปีเดียวกัน ซึ่งเป็นช่วงผ่อนคลายล็อกดาวน์แล้ว หลายตัวชี้วัดชี้ให้เห็นว่าเศรษฐกิจเริ่มดีขึ้น
 
อาทิ ยอดขายสินค้าและบริการเพิ่มขึ้นร้อยละ 27 มีมูลค่า 1.66 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 5.3 แสนล้านบาท จำนวนผู้โดยสารเที่ยวบินในประเทศอยู่ที่ 563,700 คน เพิ่มขึ้น 4 เท่า จำนวนรถยนต์บนท้องถนน รวมถึงผู้ใช้บริการรถไฟเพิ่มขึ้น 3 เท่า บริษัทจดทะเบียนใหม่เพิ่มขึ้น 10,700 แห่ง เพิ่มขึ้นร้อยละ36 ขณะที่ธุรกิจซึ่งถูกระงับกิจการลดลงร้อยละ 19 และดัชนีจัดซื้อภาคการผลิต (PMI) เดือน พ.ค. 2563 อยู่ที่ 42.7 เพิ่มขึ้นจากเดือน เม.ย. 2563 ซึ่งอยู่ที่ 32.7 เป็นต้น
 
ซึ่ง “เวียดนามเป็นอีกประเทศหนึ่งที่สามารถคุมการระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้ดี” โดยสื่ออีกสำนักของเวียดนาม สำนักข่าว Vietnam Plus เสนอข่าว “Vietnam goes through 50 days without local transmission of COVID-19” เมื่อวันที่ 5 มิ.ย. 2563 ระบุว่า “เป็นเวลา 50 วันแล้วที่เวียดนามไม่มีผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่แบบระบาดในประเทศ” โดยนับตั้งแต่วันที่ 16 เม.ย. 2563 นอกจากนี้ แม้จะทยอยให้กิจการต่างๆ กลับมาเปิดดำเนินการได้ตั้งแต่วันที่ 23 เม.ย. 2563 เป็นต้นมา ก็ไม่ทำให้เกิดการระบาดใหญ่ระลอก 2 อย่างที่กังวลกันแต่อย่างใด
 
เมื่อเร็วๆ นี้ สถาบันเอเชียตะวันออกศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดเสวนาออนไลน์ เรื่อง “จับตาความเคลื่อนไหวสถานการณ์เอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ : เบื้องหลังการประกาศชัยชนะต่อโควิด-19 ของเวียดนาม” โดยผู้บรรยายคือ ผศ.มรกตวงศ์ภูมิพลับ อาจารย์คณะศิลปศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์เล่าถึงขั้นตอนการรับมือโรคระบาดของเวียดนาม เริ่มตั้งแต่วันที่ 23 ม.ค. 2563 กระทรวงสาธารณสุขของเวียดนาม ออกหนังสือแจ้งเตือนทุกหน่วยงานให้เฝ้าระวังการระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้เริ่มมาตรการตรวจและกักโรคได้รวดเร็ว
 
“มีการแกะรอยผู้ติดต่อกับผู้ติดเชื้อในทุกระดับ ตั้งแต่ผู้ติดต่อโดยตรง ผู้ติดต่อระดับ 2 ระดับ 3 และระดับ 4 ซึ่งทั้งหมดจะถูกควบคุมการเคลื่อนไหวอย่างเข้มงวด เพื่อให้แน่ใจว่าจะไม่แพร่กระจายเชื้อไปยังบุคคลอื่นอีก จึงตัดสินใจเด็ดขาดและรวดเร็วในการใช้มาตรการล็อกดาวน์ หรือปิดเมือง ตัวอย่างหนึ่งคือเมืองเล็กๆ ในจังหวัดหวิงฟุก ใกล้กรุงฮานอย ประชาชนทั่วเมืองราว 10,000 คน ถูกสั่งให้กักตัวนานกว่า 3 สัปดาห์ หลังพบผู้ติดเชื้อภายในเมือง” อาจารย์มรกตวงศ์ กล่าว
 
จากจำนวนผู้ติดเชื้อสะสมในเวียดนาม ณ ขณะนั้น จำนวน 16 คน แต่หลังจากนั้นเพียง 20 วัน เวียดนามก็ไม่พบผู้ติดเชื้อเพิ่มแม้แต่รายเดียว ความสำเร็จขั้นต้นนี้
 
ทำให้ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคระบาดสหรัฐอเมริกา (CDC) ถอดเวียดนามออกจากบัญชีประเทศกลุ่มเสี่ยงที่แพร่ระบาดโควิด-19 ต่อมารัฐบาลเวียดนามประกาศให้สถานการณ์ระบาดของโควิด-19 เข้าสู่เฟส 2 ตั้งแต่วันที่ 8 มี.ค. 2563 ขณะที่มีผู้ติดเชื้อสะสม 30 ราย ก่อนจะห้ามชาวต่างชาติเข้าประเทศในวันที่ 22 มี.ค. 2563 จากนั้นจึงประกาศเข้าสู่เฟส 3 ในวันที่ 23 มี.ค. 2563 หลังพบผู้ติดเชื้อ 2 กลุ่ม ในฮานอยและโฮจิมินห์ซิตี้ ซึ่งยอดผู้ติดเชื้อสะสมขณะนั้นอยู่ที่ 123 ราย
 
ทั้งนี้ ความสำเร็จในการรับมือโควิด-19 ของเวียดนาม ถือเป็นตัวอย่างราคาประหยัด เมื่อเทียบกับจีน ไต้หวัน หรือเกาหลีใต้ ที่มีทรัพยากรมากพอจะทำการทดสอบหาผู้ติดเชื้อแบบจำนวนมาก เมื่อเวียดนามไม่มีทรัพยากรและบุคลากรด้านสาธารณสุขที่มากมายเช่นนั้น ทางเลือกที่เหมาะสมและจำเป็นคือการดำเนินมาตรการป้องกันการระบาดในเชิงรุก ก่อนที่การระบาดจะลุกลาม
 
อีกหนึ่งปัจจัยความสำเร็จของรัฐบาลเวียดนามคือการขับเคลื่อนกระแส “ชาตินิยม” ในภาวะการระบาดของไวรัส “รัฐบาลเวียดนามตีกรอบโควิด-19 ให้เป็นศัตรูต่างชาติ และเรียกร้องให้ประชาชนร่วมมือกันเอาชนะ สะท้อนถึงประวัติศาสตร์ของประเทศที่ต้องเผชิญภัยสงครามจากการรุกรานของต่างชาติ” คำขวัญ“สู้กับโรคระบาด ก็เหมือนสู้กับศัตรู” ถูกใช้นับตั้งแต่วันแรกที่เริ่มมีสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19
 
“การสื่อสารที่โปร่งใสและเป็นไปในเชิงรุก ทำให้รัฐบาลเวียดนามได้รับความมั่นใจจากประชาชน ด้วยสื่อหลากหลายรูปแบบ ตั้งแต่การทำมิวสิกวีดีโอ ด้วยเนื้อหาและรูปแบบที่จำง่าย ติดหู โปสเตอร์ที่บอกถึงความสำคัญของการล้างมือใส่หน้ากาก ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่สามารถป้องกันการติดเชื้อโรคนี้ได้ จึงทำให้ชาวเวียดนามได้แสดงความเห็นว่ารัฐบาลเวียดนามดำเนินการอย่างเพียงพอ และประชาชนก็ทำตามอย่างเคร่งครัด” อาจารย์มรกตวงศ์ ระบุ
 
ขณะเดียวกัน “รัฐบาลเวียดนามก็ไม่ละเลยที่จะบรรเทาความเดือดร้อนทางเศรษฐกิจของประชาชน” โดยใช้งบประมาณ 2.6 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 8.32 หมื่นล้านบาท จ่ายเยียวยาประชาชน“รัฐบาลเวียดนามใช้วิธีจ่ายเงินโดยให้ท้องถิ่นกระจายเงินช่วยเหลือประชาชนในแต่ละชุมชน โดยไม่ต้องลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์แบบกรณีเงินเยียวยา 5,000 บาทของไทย” เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาผู้ที่เดือดร้อนแต่เข้าไม่ถึงสิทธิ์
 
โดยสรุปแล้ว..ความสำเร็จของเวียดนามที่สามารถจัดการโควิด-19 ได้ มีทั้งการตัดสินใจที่รวดเร็วของผู้นำประเทศทั้งในการประกาศรับมือกับโรคระบาดตั้งแต่ช่วงเริ่มต้น มาตรการกักกันโรค กักบริเวณไปจนถึงการเร่งตรวจโรค ทำให้แม้เวียดนามอาจจะดูไม่พรั่งพร้อมทรัพยากรแบบประเทศอื่น แต่ก็สามารถจัดการโรคได้ดีเพราะมีการตัดสินใจและการบริหารที่ดีมากพอ
 
 
ที่มา : แนวหน้า
วันที่  7 มิถุนายน  2563

@Admin TVBC

สนใจสมัครสมาชิกหรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

ฝ่ายเลขานุการฯ
โทร: 02-018-6888 ต่อ 4340
Email: tvbc.secretariat@gmail.com

:)