ภาคเอกชนแข่งส่งดาวเทียมสู่อวกาศ เก็บข้อมูลทุกชนิดบนพื้นโลก

การใช้ประโยชน์จากภาพถ่ายดาวเทียมเดิมถูกจำกัดอยู่แค่ในวงของหน่วยงานรัฐบาลเท่านั้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการสอดแนมหาข้อมูลภัยคุกคามทางความมั่นคงของประเทศ อย่างไรก็ตามปัจจุบันหลายบริษัทเอกชนเริ่มหันมาลงทุนส่งดาวเทียมขึ้นไปเก็บภาพถ่ายมากขึ้นเป็นอย่างมากเพื่อรองรับความต้องการจากภาคธุรกิจที่เพิ่มสูงขึ้น
 
โดยล่าสุดระหว่างการประท้วงกรณีการเสียชีวิตของ “จอร์จ ฟลอยด์” ที่กรุงวอชิงตัน ดีซี ดาวเทียมของ “แพลนแนท แล๊บส์” ได้เก็บภาพการพ่นสีบนถนนใกล้ทำเนียบขาวว่า Black Lives Matter จากกลุ่มผู้ประท้วง ซึ่งเป็นเหตุการณ์ล่าสุดที่บ่งชี้ว่าปัจจุบันดาวเทียมของเอกชนสามารถอาจมีศักยภาพสอดแนมข้อมูลแทบทุกอย่างบนพื้นโลกไม่ต่างจากรัฐบาล
 
ในอดีตการถ่ายภาพจากดาวเทียมเป็นสิ่งที่ทำได้ยาก อีกทั้งยังมีต้นทุนที่สูงจึงส่งผลให้การเก็บข้อมูลรูปแบบดังกล่าวจำกัดอยู่แค่หน่วยงานรัฐบาลเท่านั้น ดังเช่นเมื่อปี 1960 สหรัฐอเมริกาได้มีโครงการลับเพื่อสอดแนมสหภาพโซเวียตผ่านการถ่ายรูปจากดาวเทียม ซึ่งทำให้ทางหน่วยงานความมั่นคงสหรัฐสามารถวิเคราะห์ความคืบหน้าของโครงการนิวเคลียร์ของโซเวียต รวมถึงปฏิบัติการทางการทหารอื่น ๆ
 
อย่างไรก็ตาม เทคโนโลยที่ก้าวหน้าขึ้นทำให้บริษัทเอกชนต่างหันมาให้บริการทางด้านนี้เพื่อตอบรับกับความต้องการที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่ง “บลูมเบิร์ก” รายงานว่า สตาร์ทอัพที่ให้บริการภาพถ่ายจากดาวเทียมอย่าง “แพลนเนท แล๊บส์” เตรียมประกาศโครงการพัฒนาในอีก 2-3 เดือนข้างหน้าเพื่อพัฒนาคุณภาพของการบริการรูปถ่ายจากดาวเทียมของบริษัท นอกจากนี้ยังมี “คาเปลลา สเปซ” และ “ไอส์ไซ” ที่กำลังพัฒนาดาวเทียมขนาดเล็กติดเรดาร์ที่สามารถถ่ายภาพในเวลากลางคืนและถ่ายภาพผ่านก้อนเมฆอีกด้วย
 
ทั้งนี้ ปัจจุบัน “แพลนแนท แล๊บส์” มีดาวเทียมกว่าร้อยดวงโคจรรอบโลกซึ่งเป็นจำนวนที่เพียงพอสำหรับการเก็บภาพทุกจุดจากทุกพื้นที่ของโลก ซึ่งหากโครงการพัฒนาประสบความสำเร็จจะส่งผลให้สตาร์ทอัพดาวเทียมรายนี้สามารถเก็บภาพทุกมุมโลกได้สูงสุดถึง 12 ภาพ/วัน เพิ่มขึ้นจากระดับเดิมที่ทำได้เพียงจุดละ 2 ภาพ/วัน เท่านั้น และยังสามารถเพิ่มความละเอียดของภาพได้ถึง 25% อีกด้วย
 
โดยความก้าวหน้าด้านนี้เป็นสิ่งที่น่าตื่นเต้นเป็นอย่างมากและสร้างประโยชน์ต่องานวิจัยทางธุรกิจ จากการมีภาพถ่ายสำหรับการวิเคราะห์ที่มากขึ้นและละเอียดขึ้น อย่างไรก็ตาม “เจฟรีย์ เลวิส” ผู้อำนวยการโครงการศึกษาเกี่ยวกับสนธิสัญญาการไม่แพร่ขยายอาวุธจากสถาบัน “มิดเดิลเบอรรี่” กล่าวว่า กระบวนการเจรจาขอส่งดาวเทียมไปยังบางพื้นที่เพื่อเก็บภาพมีขั้นตอนที่ยุ่งยากและใช้เวลานาน อีกทั้งยังมีต้นทุนที่สูง ซึ่งยังเป็นอุปสรรคในการดำเนินธุรกิจ
 
 
ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ
วันที่ 10 มิถุนายน 2563

@Admin TVBC

สนใจสมัครสมาชิกหรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

ฝ่ายเลขานุการฯ
โทร: 02-018-6888 ต่อ 4340
Email: tvbc.secretariat@gmail.com

:)