รู้จัก "เป่าติ้ง" เมืองที่จีนประกาศ "กฎอัยการศึก" เพื่อต้าน โควิด-19
ทำความรู้จัก “เป่าติ้ง” (Baoding) ของจีน มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจแดนมังกรอย่างไร หลังจากเมืองใกล้กรุงปักกิ่งแห่งนี้ประกาศใช้ “กฎอัยการศึก” รับมือการระบาดรอบใหม่ของโควิด-19
แม้ว่าชื่อของเมืองเป่าติ้ง ในมณฑลเหอเป่ย์ ทางตะวันออกเฉียงเหนือของจีน อาจไม่เป็นที่รู้จักมากนักเมื่อเทียบกับเมืองอื่น ๆ เช่น เสิ่นเจิ้น กวางโจว หรืออู่ฮั่น แต่ตอนนี้กำลังกลายเป็นที่สนใจสำหรับคนทั่วโลก เมื่อทางการจีนประกาศใช้กฎอัยการศึกในเมืองนี้เพื่อสกัดการระบาดระลอกใหม่ของไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ ต้นตอโรคโควิด-19
สาเหตุหลัก ๆ ที่ต้องประกาศกฎเหล็กที่เคยใช้สมัยสงครามในเมืองเป่าติ้ง เป็นเพราะทำเลที่ตั้งของเมืองอยู่ไม่ไกลจากกรุงปักกิ่งที่เกิดการระบาดเป็นกลุ่มใหญ่ หรือ “คลัสเตอร์” ช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา และยังมีการสัญจรกับเมืองหลวงในระดับหนาแน่นมาก
เมื่อวันเสาร์ (13 มิ.ย.) เทศบาลนครปักกิ่งสั่งปิดตลาด “ซินฟาตี้” ซึ่งเป็นตลาดค้าส่งขนาดใหญ่ที่สุดในกรุงปักกิ่งเพื่อฆ่าเชื้อโรค หลังเจ้าหน้าที่พบผู้ป่วยโควิด-19 แบบไม่แสดงอาการ 46 คนซึ่งเชื่อมโยงกับตลาดแห่งนี้
“เนื่องจากเป่าติ้งตั้งอยู่ใกล้กับกรุงปักกิ่ง และมีการเคลื่อนย้ายสินค้าและผู้คนระหว่าง 2 เมืองนี้อย่างหนาแน่นมาก จึงต้องมีมาตรการเฝ้าระวังขั้นสูง” ทางการมณฑลเหอเป่ย์ระบุเหตุผลในประกาศใช้กฎอัยการศึกเมื่อวันจันทร์ (15 มิ.ย.)
ภูมิประเทศ :
ทำเลที่ตั้งของเมืองเป่าติ้งอยู่ห่างจากกรุงปักกิ่งไปทางตะวันตกเฉียงใต้ราว 145 กม. โดยตั้งอยู่กลางมณฑลเหอเป่ย์และยังเป็นหนึ่งในเมืองที่อยู่กึ่งกลางระหว่างภูมิภาค “ปักกิ่ง-เทียนจิน-เหอเป่ย์” และมีพื้นที่รวมประมาณกว่า 22,000 ตร.กม.
ส่วนระบบเขตการปกครองของเมืองเป่าติ้งในปัจจุบันแบ่งออกเป็น 5 เทศบาล 15 เทศมณฑล และ 4 เขตท้องถิ่น
ในอดีต เมืองเป่าติ้งมีความสำคัญในฐานะศูนย์กลางด้านการสื่อสาร และยังมีความสำคัญด้านการค้าสำหรับจีน โดยเป็นฮับของเครือข่ายถนนยุคก่อนสมัยใหม่ที่ค่อนข้างแออัด และในช่วงทศวรรษ 1900 เมืองเป่าติ้งสร้างทางรถไฟเชื่อมกับกรุงปักกิ่งกับเทศบาลนครเทียนจิน ซึ่งเป็นเมืองสำคัญละแวกใกล้เคียง
ขณะเดียวกัน เป่าติ้งยังเคยเป็นศูนย์กลางการค้าสินค้าอย่างธัญพืช ขนแกะ เสื้อผ้า ฝ้าย น้ำมันเมล็ดฝ้าย และผลิตภัณฑ์เกษตรต่าง ๆ และมีความสำคัญในการปกครองทั้งในยุคใต้อาณานิคมญี่ปุ่นก่อนและในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 และในยุครัฐบาลคอมมิวนิสต์จีนที่เข้าสู่อำนาจในปี 2492
เศรษฐกิจ :
เมืองเป่าติ้งซึ่งมีประชากรราว 11 ล้านคน มากที่สุดติดใน 20 อันดับแรกของจีน ตั้งอยู่ใจกลาง “เขตเศรษฐกิจรอบทะเลโป๋ไห่” (Bohai Economic Rim) ซึ่งครอบคลุมกรุงปักกิ่ง เทศบาลนครเทียนจิน และฉือเจียจวง เมืองเอกของมณฑลเหอเป่ย์
หนึ่งในบริษัทรายใหญ่ที่สุดในเมืองนี้คือ “ไชน่า ลักกี้ ฟิล์ม” (China Lucky Film) ผู้ผลิตตัวรับแสงและสื่อบันทึกข้อมูลแบบแม่เหล็ก เช่น ฮาร์ดดิสก์ รายใหญ่ที่สุดในจีน นอกจากนี้ยังเป็นที่ตั้งสำนักงานใหญ่ของบริษัทชื่อดังรายอื่น ๆ เช่น จงหาง ฮุ่ยเถิง วินด์เพาเวอร์ อีควิปเมนท์ (ZhongHang HuiTeng Windpower Equipment) ผู้ผลิตกังหันลม และ เกรท วอลล์ มอเตอร์ส (Great Wall Motors) ผู้ผลิตรถรายใหญ่
ในปี 2560 รัฐบาลจีนของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง กำหนดให้พื้นที่ส่วนหนึ่งในเมืองเป่าติ้งเป็นเขตเมืองใหม่ที่เรียกว่า “สงอัน” (Xiong'an New Area) ซึ่งเป็นเขตการพัฒนาพื้นที่ใหญ่ถึง 2,000 ตร.กม. ซึ่งจะกลายเป็นเมืองและฮับแห่งใหม่ของพื้นที่การพัฒนา “ปักกิ่ง-เทียนจิน-เหอเป่ย์”
นอกจากนี้ รัฐบาลยังก่อตั้งนิคมอุตสาหกรรมไฮเทคในเมืองเป่าติ้งเมื่อปี 2535 และเศรษฐกิจท้องถิ่นเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ จนมีตัวเลขจีดีพี (GDP) แตะ 3.26 แสนล้านหยวนนับถึงปี 2561
คมนาคม :
ความสะดวกในการสัญจรไปมากับกรุงปักกิ่งเป็นอีกหนึ่งจุดเด่นของเมืองเป่าติ้ง แต่ก็เป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ทางการประกาศใช้กฎอัยการศึกในเมืองนี้แทบจะทันที หลังเกิดโควิด-19 ระบาดรอบใหม่ในเมืองหลวง
นอกจากนี้ เป่าติ้งถือเป็นหนึ่งในเส้นทางหลักทั้งขาเข้าและขาออกกรุงปักกิ่ง โดยมีทางด่วนสาย “จิ้งซื่อ” เชื่อมระหว่างสองเมือง และทางด่วนสาย “เป่าติ้ง” เชื่อมกับเทศบาลนครเทียนจิน ซึ่งอยู่ทางตะวันตกของเป่าติ้ง
สถานีรถไฟแห่งล่าสุดในเมืองเป่าติ้งคือสถานีเป่าติ้งตะวันออก ซึ่งเปิดให้บริการเมื่อเดือน ธ.ค. 2555 โดยให้บริการรถไฟความเร็วสูงสายตะวันออกที่มีปลายทางในกรุงปักกิ่ง เมืองกวางโจว เมืองเสิ่นเจิ้น และฮ่องกง และยังมีทางรถไฟสาย “จิ้งกวง” ที่ให้บริการรถไฟเที่ยวประจำไปสถานีรถไฟปักกิ่งตะวันตกด้วย
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
วันที่ 16 มิถุนายน 2563