ผู้ส่งออกเอเชียเจอ “เบี้ยวเงิน” พุ่ง เสี่ยงขาดเงินหมุน-ล้มละลาย
การระบาดของไวรัสโควิด-19 เป็นปัจจัยส่งผลให้ภาคธุรกิจหยุดชะงักลงทั่วโลก โดยเฉพาะผู้ส่งออกที่นอกจากจะเผชิญกับความยากลำบากในการขนส่งสินค้าแล้ว เวลานี้ยังต้องเจอกับปัญหาการชำระเงินค่าสินค้าที่ล่าช้าอีกด้วย ปัญหาดังกล่าวสร้างแรงกดดันอย่างหนักต่อสภาพคล่องธุรกิจและอาจส่งผลให้ผู้ส่งออกหลายแห่งต้องล้มละลาย
ข้อมูลจากองค์การการค้าโลก (ดับเบิลยูทีโอ) ระบุว่า การชำระเงินการซื้อขายสินค้าระหว่างประเทศส่วนใหญ่เป็นลักษณะ “เครดิตการค้า” ระยะเวลาราว 30-120 วัน ซึ่งวิธีการดังกล่าวผู้ส่งออกสินค้าจะต้องเป็นผู้รับความเสี่ยงจากการได้รับชำระเงินล่าช้า หรืออาจไม่ได้รับชำระเงินเลย
ทั้งนี้ สถานการณ์ระบาดของไวรัสได้สร้างผลกระทบต่อผู้นำเข้าสินค้าที่ไม่สามารถขายหรือกระจายสินค้าออกไปได้ จนส่งผลต่อความสามารถในการชำระเงิน รวมทั้งผู้นำเข้าบางแห่งก็ฉวยโอกาสกล่าวอ้างโควิด-19 ในการจ่ายเงินล่าช้า
“เซาท์ไชน่า มอร์นิ่ง โพสต์” รายงานอ้างอิงผลงานศึกษาของ “แอทเรเดียส” (Atradius) บริษัทผู้ให้บริการประกันสินเชื่อการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยผลสำรวจบริษัทส่งออกกว่า 1,400 แห่ง ใน 6 ประเทศเอเชีย ได้แก่ จีน, อินเดีย, อินโดนีเซีย, ไต้หวัน, ฮ่องกง และสิงคโปร์ พบว่าบริษัทเหล่านี้เผชิญกับปัญหาที่ได้รับชำระเงินล่าช้ากว่ากำหนดมากขึ้น
โดยพบว่าขณะนี้มีใบแจ้งหนี้ (อินวอยซ์) มูลค่ากว่า 52% เลยกำหนดชำระเงินไปแล้ว ซึ่งตัวเลขนี้เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปี 2019 ซึ่งอยู่ที่ 29.8% เท่านั้น
ประเทศผู้ส่งออกที่เผชิญกับการถูกเบี้ยวเงินมากที่สุดคือ “อินเดีย” โดยเจอปัญหาการชำระเงินล่าช้ากว่ากำหนดเพิ่มขึ้น 69% ขณะที่ไต้หวัน, อินโดนีเซีย, ฮ่องกง, จีน และสิงคโปร์ เผชิญกับความเสี่ยงการเบี้ยวเงินเพิ่มขึ้น 67%, 47%, 37% และ 29% ตามลำดับ
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ
วันที่ 18 มิถุนายน 2563