8 แอร์ไลน์ ดาวน์ไซซ์องค์กร นกสกู๊ตปิดกิจการ
8 แอร์ไลน์ ทนรอซอฟต์โลน 2.41 หมื่นล้านบาท จากรัฐบาลไม่ไหว ดิ้นดาวน์ไซซ์ธุรกิจประคองตัว รอธุรกิจฟื้นปี 64 นกสกู๊ต เลิกกิจการ ไทยไลอ้อนแอร์ คืนเครื่องบิน 22 ลำ บางกอกแอร์ เปิดโครงการร่วมใจจาก ไทยแอร์เอเชีย จี้รัฐเร่งปล่อยซอฟต์โลน ก่อนจะเหลือสายการบินไม่กี่สายช่วยรัฐฟื้นท่องเที่ยว
ใกล้จะร่วม 3 เดือนแล้วที่ 8 สายการบินเอกชนของไทย ได้ร้องขอการสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ(ซอฟต์โลน)วงเงิน 2.41 หมื่นล้านบาทจากรัฐบาล แต่จนถึงวันนี้ก็ยังไร้วี่แวว ทำให้ในขณะนี้สายการบินต่างๆ ต้องช่วยเหลือตัวเอง เพื่อประคองตัวให้อยู่รอดได้ จนกว่าธุรกิจการบินจะกลับมาเติบโตอีกครั้งในปี2564 โดยต่างโฟกัสไปที่การรักษากระแสเงินสดให้ได้มากที่สุด การดาวน์ไซด์ธุรกิจ และลดการจ้างงาน บริหารต้นทุนเป็นสำคัญ
เนื่องจากแม้รัฐบาลจะทยอยปลดล็อกการเดินทางเที่ยวในประเทศแล้ว และสายการบินต่างๆทยอยกลับมาเปิดทำการบินในประเทศได้ รวมถึงเปิดให้ขายตั๋วได้ทุกที่นั่งแล้ว แต่สายการบินก็เปิดให้บริการได้เพียง 20-30% เท่านั้น เพราะการดีมานต์ของการเดินทางยังน้อย ส่วนใหญ่เป็นการเดินทางโดยมีวัตถุประสงค์ที่ต้องไปทำงาน ทำธุรกิจ เยี่ยมญาติ การท่องเที่ยวโดยใช้บริการเครื่องบินยังน้อยมาก ประกอบกับรายได้ของธุรกิจการบินจะมาจากนักท่องเที่ยวต่างชาติเป็นหลัก ทั้งการเดินทางด้วยเที่ยวบินระหว่างประเทศ และใช้บริการเที่ยวบินในประเทศเพื่อการท่องเที่ยว
ดังนั้นตราบใดที่ไทยยังไม่เปิดเรื่องการท่องเที่ยว การดำเนินธุรกิจในปีนี้ของทุกสายการบินล้วนแต่ขาดทุนทั้งหมด ทำให้ขณะนี้ทั้ง 8 สายการบินต่างปรับลดค่าใช้จ่ายที่เข้มข้นกว่าเดิม โดยทยอยเซ็ทซีโรธุรกิจ ดาวน์ไซด์ธุรกิจ ด้วยการคืนเครื่องบิน และทยอยการลดจำนวนพนักงานลง ส่งผลกระทบต่อแรงงานร่วม2-3 หมื่นคน จากมาตรการต่างๆที่สายการบินทยอยนำมาใช้
ล่าสุด “สายการบินนกสกู๊ต” ซึ่งเป็นสายการบินโลว์คอสต์ระยะกลาง ที่เป็นการร่วมทุนระหว่างนกมั่งคั่ง (บริษัทในเครือนกแอร์) และสายการบินสกู๊ตของสิงคโปร์ โดยบอร์ดของสายการบินนกสกู๊ต มีมติเมื่อวันที่ 26 มิ.ย.63 ประกาศยกเลิกกิจการ ส่งผลให้พนักงานจำนวน 425 คนต้องถูกเลิกจ้าง หลังจากเปิดให้บริการมาตั้งแต่ปี 2557
ส่วน “สายการบินไทยไลอ้อนแอร์” จากเดิมมีเครื่องบินมากถึง 37 ลำก็ทยอยส่งคืนเครื่องบิน เหลือ 15 ลำ ทยอยเลิกจ้างพนักงานมาแล้วหลายร้อยคน การลดเงินเดือนพนักงาน 60% ส่วนนักบินของสายการบินร่วม 300 กว่าคน สายการบินก็ใช้วิธีให้ลาหยุด จ่ายเงินให้เดือนละ 5 พันบาท ส่วนสายการบินอื่นๆปัจจุบันยังรักษาพนักงานไว้อยู่ แต่จะใช้วิธีการลดเงินเดือน อาทิ “นกแอร์” ก็ลดเงินเดือนพนักงานลง10-30% ตามฐานเงินเดือน เป็นต้น
ขณะที่ “สายการบินบางกอกแอร์เวย์ส” ซึ่งจัดว่าเป็นสายการบินที่มีความเข้มแข็งในการดำเนินธุรกิจมากที่สุด และไม่มีปัญหาการขาดทุนเหมือนสายการบินอื่นๆ ในปีนี้ก็จะต้องเผชิญกับการขาดทุนครั้งแรกในรอบ 50 ปี ล่าสุดมื่อวันที่ 22 มิ.ย.ที่ผ่านมา สายการบินได้ออกประกาศถึงมีความจำเป็นต้องปรับโครงสร้างองค์กรให้มีจำนวนบุคคลากรในระดับที่เหมาะสม เพื่อให้สอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจ รวมถึงจำนวนเที่ยวบิน และเส้นทางบินที่ลดลง โดยจัด “โครงการร่วมใจจากองค์กร ปี2563” และ “โครงการลาโดยไม่รับค่าจ้าง (ระยะยาว)ด้วยความสมัครใจ ซึ่งผู้ประสงค์จะลาออกจะได้การชดเชยตามกฏหมายแรงงาน และคนที่ลาโดยไม่รับค่าจ้างจะให้ลาได้ถึงเดือนธันวาคมปีหน้า แต่ถ้าหากสถานการณ์ดีขึ้นจะทยอยเรียกกลับมาทำงานก่อน
นายพุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัทการบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 มีผลกระทบกับทุกสายการบิน ไม่ใช่แค่ บางกอกแอร์เวย์ส เพราะฉะนั้น การฟื้นตัวของธุรกิจการบินจึงเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา แต่สิ่งที่ต้องช่วยกันคือ ต้องสร้างความเชื่อมั่นร่วมกันที่จะให้ประชาชนกลับมาใช้ชีวิตตามปกติ หรือเริ่มกลับมาเดินทางตามปกติตามมาตรการที่มี ซึ่งคาดว่าจะมีการปลดล็อคมากขึ้นเรื่อยๆ จากการที่ไม่พบผู้ติดเชื้อภายในประเทศมา 32 วันติดต่อกัน และจะทำให้สภาพแวดล้อมโดยรวมของเศรษฐกิจกลับมาดีขึ้น
ทั้งนี้เมื่อคนเริ่มเดินทางมากขึ้น เงินที่มีก็จะกระจายไปเอง ก็เชื่อว่าจะค่อยๆดีขึ้น เราหวังว่านักท่องเที่ยวไทย ซึ่งคาดว่าช่วงปลายปีนี้น่าจะกลับมา ส่วนนักท่องเที่ยวต่างประเทศ เราคาดว่าจะกลับมาประมาณต้นปีหน้า รวมแล้วน่าจะช่วงกลางปี – ปลายปีหน้าสถานการณ์น่าจะเริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติ
นายธรรศพลฐ์ แบเลเว็ดล์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัทเอเชียเอวิเอชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ AAV กล่าวว่า คาดว่าในปี 64 จะกลับมามีกำไร จากปีนี้ที่ได้รับกระทบอย่างหนักจากไวรัสโควิด-19 โดยสถานการณ์ของ ไทยแอร์เอเชีย ได้ผ่านจุดต่ำสุดแล้วเมื่อเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา เพราะเริ่มกลับมาทำการบินเส้นทางในประเทศตั้งแต่เดือน มิ.ย. ซึ่งได้ใช้เครื่องบิน 15 ลำ จากเครื่องบินทั้งหมด 60 ลำ และในเดือน ก.ค.จะเพิ่มการใช้เครื่องบินเป็น 20 ลำ โดยบินได้ทุกจังหวัด แต่ความถี่ยังไม่เท่าเดิม
ทั้งภาครัฐควรจะเริ่มเปิดให้ทำการบินเส้นทางต่างประเทศ โดยไม่จำเป็นต้องให้มีความพร้อมทั้งหมด ในเบื้องต้น ก.ค.น่าจะทำการบินในกลุ่มอินโดจีน อาทิ เมียนมา เวียดนาม กัมพูชา ลาว ซึ่งประเทศเหล่านี้มีผู้ติดเชื้อโควิดน้อย และแทบไม่มีการระบาด เพราะไม่เช่นนั้นผู้ประกอบการสายการบิน โรงแรม หรือแม้แต่ร้านอาหารก็จะไม่สามารถฟื้นกลับมาได้ หรือจับคู่แต่ละประเทศเที่ยว เช่นจีน โดยให้ท่องเที่ยวเป็นพื้นที่ที่กำหนดไว้ เช่น ชายหาดหัวหิน เป็นต้น
การเปิดไม่ควรมองเป็นทั้งประเทศ อย่างจีนเมืองที่ไม่มีการระบาด ได้แก่ กวางเจา เซินเจิ้น คุนหมิง น่าจะบินระหว่างกันได้ เช่นเดียวกับญี่ปุ่นก็น่าจะดูเป็นเมืองๆไป อย่างไรก็ดีหากยังมีการกักตัว 14 วันก็คาดว่าจะไม่มีใครเดินทางมาท่องเที่ยว และเห็นว่าเป็นการตรวจหาเชื้อที่รู้ผลเร็วและแม่นยำได้ เพราะขณะนี้มีเทคโนโลยีและหลายวิธีการตรวจหาเชื้อแล้ว
“การขอให้ภาครัฐปล่อยเงินกู้ซอฟต์โลน ขณะนี้ยังไม่ได้รับการตอบรับ ทั้งนี้ หากยังไม่ได้รับเงินกู้ดังกล่าวภายในสิ้นมิ.ย.ก็ไม่แน่ใจว่าเมื่อรัฐบาลเปิดการท่องเที่ยวและออกแคมเปญกระตุ้นการท่องเที่ยวมาจะเหลือกี่สายการบินที่ทำการบินได้” นายธรรศพลฐ์ กล่าวทิ้งท้าย
ที่มา ฐานเศรษฐกิจ
วันที่ 29 มิถุนายน 2563